1
บททั่วไป

ลักษณะของสัญญา

แก้ไข
  อันว่า ให้ นั้น คือ สัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่า ผู้ให้ โอนทรัพย์สินของตนให้โดยเสน่หาแก่บุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่า ผู้รับ และผู้รับยอมรับเอาทรัพย์สินนั้น
ป.พ.พ. ม. 521
  การให้อันจะให้เป็นผลต่อเมื่อผู้ให้ตายนั้น ท่านให้บังคับด้วยบทกฎหมายว่าด้วยมรดกและพินัยกรรม
ป.พ.พ. ม. 536

เมื่อพิจารณา ป.พ.พ. ม. 521 แล้ว จะเห็นว่า ให้ เกิดจากการที่ผู้ให้โอนทรัพย์สินโดยเสน่หาให้แก่ผู้รับ และผู้รับก็ยอมรับทรัพย์สินนั้นด้วย ซึ่งเป็นกระบวนการปรกติของการเกิดสัญญาที่เรียก "คำเสนอสนองต้องตรงกัน"[1] กล่าวคือ จะสำเร็จเป็นการให้ได้ ต่อเมื่อผู้ให้แสดงเจตนาโอนทรัพย์สินให้ และผู้รับก็รับการโอนนั้นแล้วด้วย ใช่แต่ว่าผู้ให้แสดงเจตนาดังกล่าวแล้วก็เป็นอันเกิดการให้ ดังที่มีผู้เข้าใจผิดกันเป็นอันมาก[2] เพราะฉะนั้น ให้จึงเป็นสัญญา กล่าวคือ เป็นนิติกรรมหลายฝ่าย

มีนักกฎหมายหลายคนพยายามจัดประเภทสัญญาให้ บางคนเห็นว่า ให้เป็น "สัญญาฝ่ายเดียว" (unilateral contract) หรือ "สัญญาไม่ต่างตอบแทน" (irreciprocal contract) เพราะผู้ให้ให้แต่ฝ่ายเดียว และผู้รับไม่จำต้องตอบแทนแต่ประการใด[3][4] แต่ก็มีผู้คัดค้านว่า สัญญาฝ่ายเดียวจึงไม่มีอยู่จริง เพราะขึ้นชื่อว่าสัญญา ย่อมอาศัยเจตนาร่วมกันของคู่สัญญาทุกฝ่าย เช่น ในสัญญาให้นี้ต้องอาศัยการที่ผู้ให้แสดงเจตนาว่าจะให้ และผู้รับแสดงเจตนาว่าจะรับการให้ นอกจากนี้ ที่กล่าวว่า ให้เป็นสัญญาไม่ต่างตอบแทน เพราะผู้รับไม่จำต้องตอบแทนผู้ให้นั้น ยิ่งไม่ถูก เพราะที่จริง ผู้ให้ก็ไม่ได้มีหน้าที่ต้องให้เช่นกัน กล่าวคือ ไม่มีฝ่ายใดมีหน้าที่ต้องให้ประโยชน์แก่ฝ่ายใด เพียงแต่สัญญานี้ส่งผลให้มีผู้ได้ลาภทางทรัพย์สินอยู่ฝ่ายเดียวเท่านั้น เหล่าผู้ที่มีความเห็นทางนี้เสนอว่า ถ้าจะจัด ก็ควรจัดว่า ให้เป็น "สัญญาไม่มีค่าตอบแทน" (contract without charge) มากกว่า[5]

องค์ประกอบของสัญญา

แก้ไข
  ผู้เยาว์จะทำนิติกรรมใด ๆ ต้องได้รับความยินยอมของผู้แทนโดยชอบธรรมก่อน การใด ๆ ที่ผู้เยาว์ได้ทำลงปราศจากความยินยอมเช่นว่านั้น เป็นโมฆียะ เว้นแต่จะบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น
ป.พ.พ. ม. 21
  การใดมิได้เป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยความสามารถของบุคคล การนั้นเป็นโมฆียะ
ป.พ.พ. ม. 153

คู่สัญญา

แก้ไข

สัญญาให้มีคู่สัญญาสองฝ่าย ฝ่ายหนึ่งคือ ผู้ให้ และอีกฝ่ายคือ ผู้รับ

ผู้ให้ (donor) ถ้าเป็นบุคคลธรรมดา ต้องมีความสามารถทำนิติกรรม มิฉะนั้น การให้เป็นโมฆียะตาม ป.พ.พ. ม. 153[6] หรือถ้าเป็นนิติบุคคล การให้ต้องอยู่ในกรอบวัตถุประสงค์ของนิติบุคคลนั้นตามที่ระบุไว้ในกฎหมายหรือตราสารจัดตั้งด้วย[6] แต่ไม่ว่าในกรณีใด ผู้ให้ต้องเป็นเจ้าของทรัพย์สินที่ให้ เพราะการให้มีผลเป็นการโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินไปยังผู้รับ ถ้าผู้ให้ไม่มีกรรมสิทธิ์ ก็ย่อมโอนกรรมสิทธิ์มิได้[6]

ผู้รับ (donee) ถ้าเป็นบุคคลธรรมดา ไม่ว่าจะหย่อนความสามารถทำนิติกรรมหรือไม่ ก็รับการให้ได้เสมอ เพราะมีแต่ประโยชน์ถ่ายเดียว[6] แต่ในกรณีที่ผู้รับหย่อนความสามารถทำนิติกรรม และการให้นั้นก่อภาระให้แก่ผู้รับ กล่าวคือ มีเงื่อนไขหรือค่าภาระติดพันด้วยก็ดี หรือถ้าผู้รับจะไม่รับการให้ก็ดี ผู้รับต้องขอความยินยอมหรืออนุญาตจากผู้เกี่ยวข้องก่อน มิฉะนั้น การรับหรือการไม่รับเป็นโมฆียะไปตาม ป.พ.พ. ม. 153[7]

เช่น นางสาวปูยกดาวเทียมดวงหนึ่งให้แก่เด็กชายแม้วซึ่งเป็นผู้เยาว์ แต่มีเงื่อนไขว่า ให้กรรมสิทธิ์โอนไปต่อเมื่อเด็กชายแม้วสอบเข้าโรงเรียนสาธิตมูลเมืองได้แล้ว ถ้าเด็กชายแม้วจะตกลงรับดาวเทียมดวงนั้น ก็ต้องขออนุญาตผู้แทนโดยชอบธรรม คือ บิดามารดา หรือผู้ปกครอง ตาม ป.พ.พ. ม. 21 เสียก่อน หรือถ้าผู้แทนโดยชอบธรรมจะตกลงรับดาวเทียมนั้นแทนเด็กชายแม้ว ผู้แทนก็ต้องขออนุญาตศาลตามกฎหมายลักษณะครอบครัว (ป.พ.พ. ม. 1574 (9)) เสียก่อน

อนึ่ง นิติบุคคลก็เป็นผู้รับได้ ในการนี้ มีข้อควรคำนึงอย่างเดียวกับกรณีผู้ให้ คือ การรับทรัพย์สินนั้นต้องไม่ขัดกับวัตถุประสงค์ของนิติบุคคลตามที่ระบุไว้ในกฎหมายหรือตราสารจัดตั้ง[7]

เจตนาและวัตถุประสงค์

แก้ไข

ในการให้นั้น ผู้ให้จะมีเหตุผลอะไรก็ได้ เป็นความอยากส่วนตัวของผู้ให้ และเป็นเจตนาที่แสดงออกโดยอิสระ ไม่มีข้อผูกมัดใด ๆ ทั้งนั้น เรียกว่า "เจตนาในการให้" (animus donandi หรือ donative intent)[8] เช่น ให้เพราะแทนคุณ เอาบุญ หวังประโยชน์แอบแฝง สุรุ่ยสุร่าย หรือเอาหน้า

ส่วนวัตถุประสงค์ที่ให้ ก็คือ ให้เปล่า กล่าวคือ ฝ่ายผู้รับไม่ต้องตอบแทนผู้ให้แต่ประการใด ดังนั้น หากให้โดยมีผู้รับต้องตอบแทนแล้ว ก็มิใช่สัญญาให้ แต่อาจเป็นสัญญาอย่างอื่นไปแล้วแต่รายละเอียด[7] เช่น ให้เงินแล้วบอกว่าให้มาช่วยงานที่บ้านตอบแทน อาจเป็นการจ้างแรงงาน หรือให้ของอย่างหนึ่งแล้วมีเงื่อนไขว่า ให้เอาของอีกอย่างมาแลก อาจเป็นการแลกเปลี่ยน

วัตถุประสงค์ดังกล่าวนี้เป็นองค์ประกอบสำคัญของการให้ เพราะคำว่า "โดยเสน่หา" หมายความว่า โดยไม่มีค่าตอบแทน[ก] ในภาษาอังกฤษใช้ว่า "gratuitous" ซึ่งมีความหมายอย่างเดียวกัน คือ ไม่รับของมีค่าอันใดตอบแทน (without receiving any return value)[ข] และในภาษาฝรั่งเศสใช้ว่า "à titre gratuit"[ฃ] ซึ่งมีความหมายตรงตัวว่า ไม่มีค่าตอบแทน (at no charge)

  การใดมิได้ทำให้ถูกต้องตามแบบที่กฎหมายบังคับไว้ การนั้นเป็นโมฆะ
ป.พ.พ. ม. 152
  การให้นั้น ท่านว่าย่อมสมบูรณ์ต่อเมื่อส่งมอบทรัพย์สินที่ให้
ป.พ.พ. ม. 523
  ถ้าผู้ให้ผูกตนไว้ว่าจะชำระหนี้เป็นคราว ๆ ท่านว่า หนี้นั้นเป็นอันระงับสิ้นไปเมื่อผู้ให้หรือผู้รับตาย เว้นแต่จะขัดกับเจตนาอันปรากฏแต่มูลหนี้
ป.พ.พ. ม. 527

สัญญาให้มีแบบ (form) สี่แบบ คือ (1) การส่งมอบทรัพย์สินซึ่งให้ (2) การทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ (3) การส่งมอบตราสารแห่งนี้และบอกกล่าวลูกหนี้ให้ทราบ และ (4) การปลดหนี้หรือชำระหนี้แทน

แบบตาม (1) นั้นใช้สำหรับการให้ทรัพย์สินโดยทั่วไป ส่วน (2) ถึง (4) นั้นสำหรับการให้ทรัพย์สินบางประเภทหรือบางวิธี แต่ไม่ว่ากรณีใด ถ้าไม่ปฏิบัติตามแบบแล้ว การให้จะเป็นโมฆะไปตาม ป.พ.พ. ม. 152

การส่งมอบทรัพย์สินซึ่งให้

แก้ไข

ตาม ป.พ.พ. ม. 523 การให้จะสมบูรณ์ต่อเมื่อผู้ให้ส่งมอบทรัพย์สินให้แก่ผู้รับ การส่งมอบทรัพย์สินนี้เป็นแบบทั่วไปสำหรับการให้ กฎหมายประสงค์ให้ผู้ให้โอนการครอบครองทรัพย์สินให้แก่ผู้รับ เพื่อผู้รับจะได้สามารถจัดการทรัพย์สินนั้นได้[9]

นักกฎหมายบางคนเห็นว่า การแสดงเจตนาว่าจะให้ทรัพย์สิน การตกลงรับทรัพย์สิน และการส่งมอบทรัพย์สิน ต้องเกิดขึ้นต่อเนื่องกันในคราวเดียวกัน เพราะเป็นเครื่องยืนยันซึ่งกันและกัน[9] ถ้าไม่ได้ส่งมอบทรัพย์สินให้เสียเดี๋ยวนั้น การให้ย่อมเป็นโมฆะ และผู้รับไม่มีสิทธิฟ้องร้องบังคับให้ผู้ให้ส่งมอบทรัพย์สิน เพราะการให้เป็นอิสระของผู้ให้ดังอธิบายมาแล้ว จึงมิใช่หน้าที่ที่จะเรียกร้องให้ปฏิบัติกันได้[10]

แต่ก็มีนักกฎหมายเห็นว่า แสดงเจตนาว่าจะให้ทรัพย์สิน แล้วค่อยส่งมอบทรัพย์สินนั้นให้ภายหลังก็ได้[11]

มีข้อต้องพิจารณาอีกประการ คือ ถ้าไม่ได้ส่งมอบทรัพย์สินให้เสร็จสิ้นไปในคราวเดียว การให้จะเป็นโมฆะหรือไม่ กรณีนี้ ป.พ.พ. ม. 527 ว่า ผู้ให้จะให้ทรัพย์สินแก่ผู้รับ โดยวิธีชำระหนี้แทนผู้รับเป็นคราว ๆ ไปก็ได้ แต่ปรกติแล้ว ความผูกพันดังกล่าวเป็นเรื่องเฉพาะตัวของผู้ให้กับผู้รับ ถ้าฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดถึงแก่ความตาย ความผูกพันก็เป็นอันสิ้นสุดลง ไม่ตกทอดแก่ทายาทของผู้ตายต่อไป เว้นแต่จะขัดกับ "เจตนาอันปรากฏแต่มูลหนี้" (intention appearing from the obligation)[10]

เช่น อิเหนากล่าวแก่จินตะหราว่า จะออกค่าสร้างภัตตาคารอาหารเจบนภูเขาวิลิศมาหราให้เรื่อย ๆ จนกว่าจะสร้างเสร็จ เป็นการที่อิเหนาแสดงเจตนาผูกพันตนเองว่าจะให้ทรัพย์สินโดยเสน่หาแก่จินตะหราด้วยวิธีชำระหนี้ให้เป็นคราว ๆ ซึ่งทำได้ ต่อมา จินตะหราทะเลาะกับพูนลาบ และถูกพูนลาบทำร้ายถึงแก่ความตายขณะที่ภัตตาคารยังสร้างไม่เสร็จ ปรกติแล้วอิเหนาะย่อมหมดหน้าที่ออกค่าสร้างภัตตาคารให้เพียงเท่านั้น แต่เมื่อปรากฏว่า อิเหนาะแสดงเจตนาไว้ว่า จะออกค่าสร้างให้จนกว่าจะสร้างเสร็จ ความผูกพันของอิเหนากับจินตะหราจึงไม่สิ้นสุดลงเพราะความตายของจินตะหรา และทายาทของจินตะหราได้รับสิทธิของจินตะหราต่อไป ฉะนั้น อิเหนาะจึงต้องออกค่าสร้างอยู่ โดยออกให้แก่ทายาทของจินตะหรา จนกว่าภัตตาคารจะสร้างเสร็จ

อย่างไรก็ดี ป.พ.พ. ม. 527 นี้ชวนสงสัยหลายประการดังนี้

1.   ดังอธิบายมาแล้วว่า สัญญาให้ย่อมไม่ก่อหนี้แก่ทั้งผู้ให้และผู้รับ กล่าวคือ ผู้ให้ไม่มีหน้าที่ต้องให้ และผู้รับไม่มีหน้าที่ต้องตอบแทน แต่ ป.พ.พ. ม. 527 บัญญัติไว้ว่า เมื่อแสดงเจตนาว่าจะให้ทรัพย์สินเป็นคราว ๆ ไปแล้ว ก็เกิดหน้าที่จะต้องให้ตามเจตนานั้น จนกว่าหน้าที่จะสำเร็จหรือสิ้นสุดลง ดังนี้ กฎหมายจะขัดกันเองหรือไม่ ข้อนี้ นักกฎหมายเห็นว่า การให้โดยทั่วไป กับการให้ตาม ป.พ.พ. ม. 527 เป็นคนละกรณีกัน อย่างหลังนั้นเป็นการให้เป็นคราว ๆ และ ป.พ.พ. ม. 527 ไม่ได้หมายความว่า การให้โดยเสน่หาก่อหนี้ทุกกรณี[12]

2.   สำหรับการให้ทรัพย์สินเป็นคราว ๆ นั้น การส่งมอบที่ทำแล้วย่อมนับเป็นการให้ที่สมบูรณ์ แต่ที่ยังมิได้ทำนั้นจะเป็นอะไร เป็นการให้ที่สมบูรณ์เช่นกัน หรือเป็นสัญญาว่าจะให้ เพราะถ้าพิจารณาว่าเป็นสัญญาว่าจะให้แล้ว ก็ต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม ป.พ.พ. ม. 526 ดังจะได้อธิบายข้างหน้า

ข้อนี้ นักกฎหมายเห็นต่างกันเป็นสองทาง ทางแรกเห็นว่า ทรัพย์สินส่วนไหนถึงมือผู้รับแล้ว ก็เป็นการให้ที่สมบูรณ์เฉพาะส่วนนั้น ที่ยังไม่ถึงนับเป็นแต่คำมั่นว่าจะให้ และต้องทำเป็นหนังสือแล้วจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม ป.พ.พ. ม. 526[13] ทางที่สองเห็นว่า ส่วนที่ยังไม่ได้ให้นั้นควรเป็นสัญญาว่าจะให้ มากกว่าจะเป็นคำมั่นว่าจะให้ แต่แม้เป็นคำมั่น ก็ต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม ป.พ.พ. ม. 526 เช่นกัน[14]

3.   ปรกติแล้ว การให้ในระหว่างชีวิตย่อมมีผลแต่ในระหว่างชีวิตของผู้ให้ แต่ ป.พ.พ. ม. 527 ยกเว้นว่า ในกรณีให้ทรัพย์สินเป็นคราว ๆ นั้น ถ้าผู้ให้และผู้รับถึงแก่ความตาย การให้ไม่สิ้นสุดลงด้วยถ้าขัดกับเจตนาที่ปรากฏจากมูลหนี้ ดังนี้ ผู้ให้จะแสดงเจตนาไว้ว่า แม้ตนตาย แต่การให้ทรัพย์สินเป็นคราว ๆ นั้นก็ให้ดำเนินต่อไป โดยอาศัยข้อยกเว้นดังกล่าวก็ได้ ใช่หรือไม่ ข้อนี้ นักกฎหมายเห็นว่า การให้ที่มีผลเมื่อผู้ให้ตายแล้ว ต้องทำเป็นพินัยกรรม และอยู่ในบังคับแห่งกฎหมายลักษณะมรดก[14]

  การซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ ถ้ามิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เป็นโมฆะ วิธีนี้ให้ใช้ถึงซื้อขายเรือมีระวางตั้งแต่ห้าตันขึ้นไป ทั้งซื้อขายแพและสัตว์พาหนะด้วย

  สัญญาจะขายหรือจะซื้อ หรือคำมั่นในการซื้อขายทรัพย์สินตามที่ระบุไว้ในวรรคหนึ่ง ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อฝ่ายผู้ต้องรับผิดเป็นสำคัญ หรือได้วางประจำไว้ หรือได้ชำระหนี้บางส่วนแล้ว จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่

  บทบัญญัติที่กล่าวมาในวรรคก่อนนี้ ให้ใช้บังคับถึงสัญญาซื้อขายสังหาริมทรัพย์ซึ่งตกลงกันเป็นราคาสองหมื่นบาท หรือกว่านั้นขึ้นไปด้วย

ป.พ.พ. ม. 456
  การให้ทรัพย์สินซึ่งถ้าจะซื้อขายกันจะต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่นั้น ท่านว่า ย่อมสมบูรณ์ต่อเมื่อได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ในกรณีเช่นนี้ การให้ย่อมเป็นอันสมบูรณ์โดยมิพักต้องส่งมอบ
ป.พ.พ. ม. 525

การทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่

แก้ไข

สำหรับทรัพย์สินซึ่งถ้าจะซื้อขายกันแล้วต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ กล่าวคือ ทรัพย์สินตาม ป.พ.พ. ม. 456 ได้แก่ อสังหาริมทรัพย์ เรือมีระวางตั้งแต่ห้าตัน แพ และสัตว์พาหนะนั้น ป.พ.พ. ม. 525 บัญญัติว่า ถ้าจะให้กันโดยเสน่หา ก็ต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ด้วย และเมื่อจดทะเบียนแล้ว การให้เป็นอันสมบูรณ์ทันที กล่าวคือ กรรมสิทธิ์โอนจากผู้ให้ไปยังผู้รับทันที แม้ยังไม่ได้ส่งมอบทรัพย์สินให้แก่กันก็ตาม[15]

ที่กฎหมายบังคับให้ต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ เพราะทรัพย์สินข้างต้นมีหลักฐานทางทะเบียน เมื่อมีการเปลี่ยนมือก็จำต้องเปลี่ยนแปลงข้อมูลในทะเบียนด้วย[16]

ส่วนที่ดินมือเปล่า หรือที่ดินที่ปราศจากเอกสารรับรองกรรมสิทธิ์นั้น เจ้าของที่ดินมีเพียงสิทธิครอบครองที่ดิน ตราบที่เจตนาถือครองที่ดินไว้เพื่อตนเอง ทว่า ไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินแต่ประการใด[17] ด้วยเหตุผลนี้ การซื้อขายที่ดินมือเปล่า โดยสภาพแล้วเป็นการซื้อขายสิทธิครอบครอง มิใช่ซื้อขายกรรมสิทธิ์ จึงไม่ต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่[18] เพราะฉะนั้น การยกที่ดินมือเปล่าให้แก่ผู้อื่นโดยเสน่หา จึงไม่ต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เช่นกัน แต่จะตกอยู่ในบังคับแห่งแบบทั่วไป คือ ผู้ให้ต้องส่งมอบที่ดินให้แก่ผู้รับ[18] การส่งมอบที่ดินเช่นว่านี้ หมายถึง การโอนการครอบครองให้ในทางกายภาพ[19] เช่น ย้ายออกไปจากที่ดินเพื่อให้ผู้รับเข้ามาอยู่แทน

การส่งมอบตราสารแห่งนี้และบอกกล่าวลูกหนี้

แก้ไข
  การโอนหนี้อันจะพึงต้องชำระแก่เจ้าหนี้คนหนึ่งโดยเฉพาะเจาะจงนั้น ถ้าไม่ทำเป็นหนังสือ ท่านว่า ไม่สมบูรณ์ อนึ่ง การโอนหนี้นั้น ท่านว่า จะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ลูกหนี้หรือบุคคลภายนอกได้ แต่เมื่อได้บอกกล่าวการโอนไปยังลูกหนี้ หรือลูกหนี้จะได้ยินยอมด้วยในการโอนนั้น คำบอกกล่าวหรือความยินยอมเช่นว่านี้ ท่านว่า ต้องทำเป็นหนังสือ

  ถ้าลูกหนี้ทำให้พอแก่ใจผู้โอนด้วยการใช้เงินหรือด้วยประการอื่นเสียแต่ก่อนได้รับบอกกล่าวหรือก่อนได้ตกลงให้โอนไซร้ ลูกหนี้นั้นก็เป็นอันหลุดพ้นจากหนี้

ป.พ.พ. ม. 306
  การให้สิทธิอันมีหนังสือตราสารเป็นสำคัญนั้น ถ้ามิได้ส่งมอบตราสารให้แก่ผู้รับ และมิได้มีหนังสือบอกกล่าวแก่ลูกหนี้แห่งสิทธินั้น ท่านว่า การให้ย่อมไม่สมบูรณ์
ป.พ.พ. ม. 524

สิทธิเป็นทรัพย์สินประเภทหนึ่ง จึงยกให้แก่กันได้เช่นเดียวกับทรัพย์สินประเภทอื่น[20]

สำหรับสิทธิซึ่งมีตราสาร (instrument) กล่าวคือ เอกสารแสดงสิทธิ กำกับอยู่นั้น ถ้าจะให้แก่กันโดยเสน่หาแล้ว โดยสภาพจึงเป็นการโอนสิทธิ และต้องปฏิบัติ ป.พ.พ. ม. 524 ประกอบกับ ป.พ.พ. ม. 306 อันเป็นบทบัญญัติว่าด้วยการโอนสิทธิเรียกร้อง กล่าวคือ การให้สิทธิดังกล่าวต้องทำเป็นหนังสือ ผู้ให้ต้องส่งมอบตราสารให้แก่ผู้รับ และผู้ให้ต้องมีหนังสือแจ้งให้ลูกหนี้แห่งสิทธินั้นทราบถึงการให้ด้วย[21]

เช่น หม่ำยืมเงินเท่งหนึ่งแสนบาท ทำหนังสือสัญญากู้ยืมลงลายมือชื่อหม่ำและเท่งเรียบร้อย หนังสือสัญญานี้จึงเป็นตราสารแสดงสิทธิของเท่งในอันที่จะได้รับเงินหนึ่งแสนบาทคืน ต่อมา เท่งต้องการยกสิทธิดังกล่าวให้แก่โหน่งโดยเสน่หา เพราะซาบซึ้งน้ำใจโหน่งที่มาช่วยทำคลอดสุนัขที่บ้านเป็นผลสำเร็จ ในการนี้ เท่งต้องทำหนังสือโอนสิทธิให้แก่โหน่ง พร้อมกับส่งมอบหนังสือสัญญากู้ยืมนั้นให้โหน่ง แล้วทำหนังสือแจ้งให้หม่ำทราบด้วยว่า โอนสิทธิไปให้โหน่งแล้ว ต่อไปหม่ำจะได้ชำระหนี้เงินกู้ให้แก่โหน่งแทน

ส่วนสิทธิในตราสารประเภทคำสั่งให้ใช้เงิน คือ ตั๋วแลกเงิน ตั๋วสัญญาใช้เงิน และเช็คนั้น ไม่ต้องปฏิบัติตามวิธีการข้างต้น เพราะมีกฎหมายลักษณะตั๋วเงินบัญญัติไว้ต่างหาก[22]

  อันการชำระหนี้นั้น ท่านว่า บุคคลภายนอกจะเป็นผู้ชำระก็ได้ เว้นแต่สภาพแห่งหนี้จะไม่เปิดช่องให้บุคคลภายนอกชำระ หรือจะขัดกับเจตนาอันคู่กรณีได้แสดงไว้

  บุคคลผู้ไม่มีส่วนได้เสียด้วยในการชำระหนี้นั้น จะเข้าชำระหนี้โดยขืนใจลูกหนี้หาได้ไม่

ป.พ.พ. ม. 314
  ถ้าเจ้าหนี้แสดงเจตนาต่อลูกหนี้ว่าจะปลดหนี้ให้ ท่านว่า หนี้นั้นก็เป็นอันระงับสิ้นไป

  ถ้าหนี้มีหนังสือเป็นหลักฐาน การปลดหนี้ก็ต้องทำเป็นหนังสือด้วย หรือต้องเวนคืนเอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งหนี้ให้แก่ลูกหนี้ หรือขีดฆ่าเอกสารนั้นเสีย

ป.พ.พ. ม. 340
  การให้นั้นจะทำด้วยปลดหนี้ให้แก่ผู้รับ หรือด้วยชำระหนี้ซึ่งผู้รับค้างชำระอยู่ก็ได้
ป.พ.พ. ม. 522

การปลดหนี้หรือชำระหนี้แทน

แก้ไข

ผู้ให้จะให้ทรัพย์สินแก่ผู้รับ โดยที่มิได้ให้ตัวทรัพย์สินโดยตรง แต่โดยปลดหนี้ที่ผู้รับค้างชำระต่อตนอยู่นั้นให้แก่ผู้รับ หรือโดยเข้าชำระหนี้ของผู้รับแทนผู้รับก็ได้ ดังที่ ป.พ.พ. ม. 522 อนุญาตไว้[23]

การปลดหนี้ก็ดี หรือการเข้าชำระหนี้แทนก็ดี ย่อมอยู่ในบังคับแห่งกฎหมายลักษณะหนี้ สำหรับการปลดหนี้นั้น ป.พ.พ. ม. 340 ว. 2 ว่า ถ้าหนี้มีเอกสารกำกับเป็นหลักฐานอยู่ การปลดหนี้ก็ต้องทำเป็นหนังสือ หรือต้องเวนคืนเอกสารนั้นให้ผู้รับซึ่งเป็นลูกหนี้ หรือขีดฆ่าเอกสารนั้นเสียด้วย[23] ส่วนการชำระหนี้แทนนั้น ป.พ.พ. ม. 314 ว่า ย่อมทำได้ เว้นแต่ (1) ตามสภาพแห่งหนี้แล้ว ต้องเป็นเจ้าตัวเท่านั้นถึงจะชำระหนี้ได้, (2) ขัดกับเจตนาที่ผู้รับกับเจ้าหนี้ของเขาได้แสดงไว้ หรือ (3) ลูกหนี้ ซึ่งก็คือ ผู้รับ ไม่ยินยอม[24]

สัญญาให้บางประเภท

แก้ไข
  ถ้าการให้ทรัพย์สินหรือให้คำมั่นว่าจะให้ทรัพย์สินนั้นได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่แล้ว และผู้ให้ไม่ส่งมอบทรัพย์สินนั้นแก่ผู้รับไซร้ ท่านว่า ผู้รับชอบที่จะเรียกให้ส่งมอบตัวทรัพย์สินหรือราคาแทนทรัพย์สินนั้นได้ แต่ไม่ชอบที่จะเรียกค่าสินไหมทดแทนอย่างหนึ่งอย่างใดด้วยอีกได้
ป.พ.พ. ม. 526

โดยทั่วไป สัญญาให้เกิดขึ้นเสร็จเด็ดขาด กล่าวคือ เมื่อให้แล้วก็ไม่ต้องทำอันใดต่อไปในภายหลังเพื่อก่อความผูกพันกันอีก แต่สัญญาให้เกิดขึ้นโดยที่ก่อความผูกพันกันชั้นหนึ่งก่อน แล้วจึงค่อยทำสัญญาให้เสร็จเด็ดขาดในภายหลัง เช่น ให้คำมั่นว่าจะให้ หรือทำสัญญาว่าจะให้ แล้วในอนาคตค่อยทำสัญญาให้ตามคำมั่นหรือสัญญาดังกล่าวนั้นอีก เช่นนี้จะได้หรือไม่

คำมั่นว่าจะให้ เป็นกรณีที่บุคคลออกปากเองว่า ในอนาคต ตนจะทำสัญญาให้ทรัพย์สินแก่ผู้อื่นโดยเสน่หา ส่วนสัญญาว่าจะให้นั้น เป็นกรณีที่บุคคลหนึ่งตกลงว่า ในอนาคต ตนจะทำสัญญาให้ทรัพย์สินแก่อีกบุคคลหนึ่งโดยเสน่หา และบุคคลหลังตกลงว่าจะรับทรัพย์สินนั้น เพราะฉะนั้น คำมั่นว่าจะให้กับสัญญาว่าจะให้จึงต่างกันตรงที่คำมั่นเป็นความผูกพันฝ่ายเดียว คือ ผูกพันผู้ให้คำมั่นแต่ฝ่ายเดียว ขณะที่สัญญาว่าจะให้เป็นความผูกพันหลายฝ่าย คือ ผูกพันผู้จะให้และผู้จะรับ[25]

โดยสภาพแล้ว ทั้งคำมั่นว่าจะให้ และสัญญาว่าจะให้ จึงส่งผลให้ผู้เกี่ยวข้องต้องมาทำสัญญาให้ เสมือนว่า สัญญาให้นั้นเกิดจากหน้าที่ มิใช่ความเสน่หาอีกต่อไป ย่อมขัดกับลักษณะของสัญญาให้ และความจริงแล้วจึงทำไม่ได้[25] แต่เนื่องจาก ป.พ.พ. ม. 526 รับรองให้ทำได้ ก็เป็นอันว่า ทำคำมั่นว่าจะให้หรือสัญญาว่าจะให้ได้ แต่มีเงื่อนไขว่า ถ้าคำมั่นหรือสัญญานั้นทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ แล้วผู้ให้ไม่ปฏิบัติตาม ผู้รับมีสิทธิเรียกให้ผู้ให้ส่งมอบทรัพย์สินแก่ตน หรือเรียกให้ผู้ให้ใช้ราคาทรัพย์สินนั้นให้แก่ตนแทนได้ แต่ไม่มีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทน เพราะค่าสินไหมทดแทนมีไว้ทดแทนความเสียหาย แต่ผู้รับไม่มีอะไรต้องเสียหายในการนี้เลย[26]

ผลของสัญญา

แก้ไข

ผลทางทรัพย์สิน

แก้ไข

สัญญาให้นั้น เมื่อเกิดขึ้นโดยสมบูรณ์แล้ว กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินจะโอนจากผู้ให้ไปยังผู้รับทันที[27] เช่น การให้ที่ต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่นั้น ได้อธิบายมาแล้วว่า จะสมบูรณ์เมื่อจดทะเบียน เพราะฉะนั้น เมื่อจดทะเบียนแล้ว กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินย่อมโอนไปสู่ผู้รับทันที แม้ยังมิได้ส่งมอบทรัพย์สินให้กันก็ตาม ในกรณีนี้ ถ้าจดทะเบียนแล้ว ต่อมา ผู้ให้ไม่ส่งมอบทรัพย์สินให้แก่ผู้รับ ผู้รับชอบจะฟ้องคดีบังคับให้ผู้ให้ส่งมอบทรัพย์สินได้ โดยเป็นการที่ผู้รับ ซึ่งที่เป็นเจ้าของทรัพย์สิน เพราะได้กรรมสิทธิ์แล้ว ใช้อำนาจแห่งกรรมสิทธิ์นั้นติดตามเอาทรัพย์สินคืน มิได้หมายความว่า สัญญาให้ก่อหน้าที่ให้ผู้ให้ต้องส่งมอบทรัพย์สินแต่ประการใด[28]

ผลอีกประการของสัญญาให้ คือ เพิกถอนการให้มิได้ กล่าวคือ ให้แล้วให้เลย เรียกทรัพย์สินคืนมิได้ ยกเว้นกรณีที่กฎหมายกำหนด คือ กรณีถอนคืนซึ่งการให้ และกรณีเรียกทรัพย์สินคืน[28]

ผลทางหนี้

แก้ไข

สัญญาให้นั้นไม่ก่อหนี้ (obligation) ใด ๆ ทั้งสิ้น คู่สัญญาไม่มีหนี้ต้องชำระเลย กล่าวคือ ผู้ให้ไม่มีหน้าที่ต้องให้ทรัพย์สิน และผู้รับไม่มีหน้าที่ต้องทำสิ่งใดตอบแทนผู้ให้[29]

อนึ่ง ผู้ให้ยังไม่ต้องรับผิดในความชำรุดบกพร่องของทรัพย์สิน หรือในการที่ผู้รับถูกรอนสิทธิด้วย เพราะผู้ให้อุตส่าห์ยกทรัพย์สินให้เปล่า ๆ อยู่แล้ว ครั้นทรัพย์สินนั้นเกิดมีปัญหาขึ้นมา จะให้เขาชดใช้อีก ก็ดูไม่สมควร ทั้งนี้ เว้นแต่กรณีที่ทรัพย์สินซึ่งให้นั้นมีค่าภาระติดพัน[30]

ฎ. บางฉบับเกี่ยวกับการให้

แก้ไข
# เลขที่ ใจความ หมายเหตุ
คู่สัญญา
1 38/2537   การยกอสังหาริมทรัพย์ให้โดยเสน่หา อันจะตกอยู่ในบังคับแห่ง ป.พ.พ. ม. 525 คือ ต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่นั้น ต้องปรากฏว่ามีคู่สัญญาสองฝ่าย คือ ผู้ให้ กับผู้รับ ตามนัยแห่ง ป.พ.พ. ม. 521

  แต่ตามบันทึกข้อตกลงแบ่งทรัพย์สินระหว่างโจทก์กับจำเลยแล้ว โจทก์กับจำเลยยอมให้ที่ดินจำนวนสองแปลง และบ้านอีกหนึ่งหลัง ตกเป็นของบุตรผู้เยาว์ทั้งสองคนหลังจากโจทก์และจำเลยจดทะเบียนหย่ากัน สัญญาดังกล่าวจึงเป็นสัญญาแบ่งทรัพย์สินระหว่างสามีภรรยาตาม ป.พ.พ. ม. 1532 และเป็นสัญญาเพื่อประโยชน์บุคคลภายนอกตาม ป.พ.พ. ม. 374 มิใช่สัญญาให้ จึงไม่ตกอยู่ในบังคับของมาตรา 525 แม้ไม่จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก็มีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย

2 480/2539   มูลนิธิจะเป็นนิติบุคคลได้ต่อเมื่อจดทะเบียนนิติบุคคลแล้ว ขณะรับการให้ มูลนิธิยังไม่เป็นนิติบุคคล ย่อมถือว่า ผู้ให้สำคัญผิดในสาระสำคัญแห่งนิติกรรม นิติกรรมการให้จึงเป็นโมฆะไปตาม ป.พ.พ. ม. 156 และจำเลยซึ่งเป็นเจ้าพนักงานสามารถเพิกถอนการจดทะเบียนนิติกรรมการให้นั้นได้ โดยที่ผู้ให้ไม่จำต้องฟ้องร้องขอให้เพิกถอนเสียก่อน   มีแต่บุคคลเท่านั้นที่จะเป็นคู่สัญญาได้ ไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล แต่มูลนิธิในคดีนี้ยังไม่มีสภาพบุคคล ณ เวลาที่รับการให้

  เมื่อผู้ให้ให้ทรัพย์สินแก่มูลนิธิโดยเข้าใจว่ามูลนิธิเป็นบุคคลแล้ว จึงถือว่า ผู้ให้สำคัญผิดในตัวบุคคลซึ่งเป็นคู่กรณี อันเป็นความสำคัญผิดในสาระสำคัญแห่งนิติกรรมตาม ป.พ.พ. ม. 156 และเป็นเหตุให้นิติกรรมเป็นโมฆะ

เจตนาและวัตถุประสงค์
1 936/2522   เมื่อโจทก์มิได้ยกที่ดินพิพาทให้จำเลยโดยเสน่หา แต่เป็นการยกที่ให้เพื่อตอบแทนจำเลยที่ออกเงินชำระหนี้แทนโจทก์ โจทก์ฟ้องขอถอนคืนซึ่งการให้เพราะเหตุเนรคุณไม่ได้
2 4056/2533   โจทก์ฟ้องเรียกชำระหนี้จากจำเลย ศาลพิพากษาให้โจทก์ชนะคดีและสั่งให้บังคับชำระหนี้เอาจากที่ดินของจำเลย จำเลยจึงจดทะเบียนยกที่ดินนั้นให้แก่ผู้ร้องโดยเสน่หา ดังนี้ เป็นพฤติการณ์ที่จำเลยกับผู้ร้องสมคบกันเพื่อหลีกเลี่ยงมิให้ที่ดินพิพาทถูกยึดใช้หนี้โจทก์ การให้ที่ดินแก่กันระหว่างจำเลยกับผู้ร้องจึงเป็นการแสดงเจตนาลวง และตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. ม. 118 (ม. 155 ปัจจุบัน)
แบบ
1 227/2532   จำเลยทำสัญญายกที่ดินมีโฉนดให้โจทก์ และรับรองว่า จะแบ่งแยกให้ในภายหน้า หากไม่แบ่งให้ตามสัญญา ยอมให้โจทก์ฟ้องบังคับตามสัญญา ข้อสัญญาดังกล่าวแสดงว่า จำเลยประสงค์จะยกที่ดินให้โจทก์โดยเสน่หา หาใช่เป็นกรณีสละการครอบครองไม่ เมื่อการให้รายนี้ยังไม่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ นิติกรรมให้ก็ย่อมไม่สมบูรณ์ตามกฎหมาย

  การที่โจทก์เข้าครอบครองที่พิพาท จึงเป็นการครอบครองโดยอาศัยสิทธิของจำเลย อันเป็นการยึดถือที่พิพาทไว้แทนจำเลย มิใช่ยึดถือในฐานะเป็นเจ้าของ ดังนั้น แม้โจทก์ครอบครองที่พิพาทติดต่อกันเป็นเวลาเกินสิบปี โจทก์ก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์

2 371/2532   ผู้ตายซึ่งมีสิทธิครอบครองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ ได้ยกที่ดินดังกล่าวให้ผู้ร้องและได้ส่งมอบการครอบครองให้ผู้ร้องแล้ว ย่อมเป็นการยกให้ที่สมบูรณ์ตาม ป.พ.พ. ม. 1378 ผู้ร้องย่อมได้

ไปซึ่งสิทธิครอบครอง โดยมิพักต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่

3 812/2533   โจทก์เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของนายชวน กฤษณวรรณ กับนางเชื้อ กฤษณวรรณ นายชวนมีภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายอีกคน คือ นางละมัย กฤษณวรรณ

  บ้านพิพาทเป็นสินสมรสของนายชวนกับนางละมัย นายชวนยกกรรมสิทธิ์ในบ้านเฉพาะส่วนของตนให้แก่โจทก์ จึงถือได้ว่า นายชวนกับนางละมัยแบ่งบ้านนั้นออกเป็นสองส่วน ส่วนหนึ่งเป็นของนายชวน อีกส่วนเป็นของนางละมัย เป็นเหตุให้บ้านหมดสภาพความเป็นสินสมรสไป

  ต่อมา นางละมัยไปขอจดทะเบียนยกกรรมสิทธิ์ในส่วนของตนให้แก่โจทก์ แต่ยังไม่มีการจดทะเบียน การให้ในส่วนของนางละมัยจึงไม่สมบูรณ์ กรรมสิทธิ์ในส่วนนี้ยังเป็นของนางอยู่ ครั้นนางละมัยตายลง กรรมสิทธิ์ดังกล่าวย่อมตกทอดแก่ทายาทของนาง

  ก่อนวันที่ 1 ตุลาคม 2478 (ก่อน ป.พ.พ. บรรพ 5 เริ่มใช้บังคับ) ชายมีภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายได้หลายคน
4 20/2534   มารดาโจทก์ยกที่ดินพิพาทให้โจทก์ด้วยวาจา ไม่ได้ทำหลักฐานเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ การให้ดังกล่าวจึงไม่สมบูรณ์ตาม ป.พ.พ. ม. 525 ประกอบ ม. 456 โจทก์จึงไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท ที่ดินพิพาทยังเป็นของมารดาโจทก์ และโจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องเรียกที่ดินพิพาทจากจำเลยซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกของมารดาโจทก์
5 663/2538   นายทองคำประสงค์จะให้ที่ดินตามฟ้องแก่โจทก์โดยเสน่หา จึงต้องบังคับตาม ป.พ.พ. ม. 525 และประมวลกฎหมายที่ดิน ม. 4 ทวิ กล่าวคือ นายทองคำต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ การให้จึงจะสมบูรณ์ แต่นายทองคำถึงแก่ความตายเสียก่อนจะได้จดทะเบียน การให้รายนี้จึงยังไม่สมบูรณ์ตามบทกฎหมาย โจทก์จะฟ้องขอให้บังคับจำเลยในฐานะทายาทโดยธรรมและผู้จัดการมรดกของนายทองคำไปจดทะเบียนโอนที่ดินให้แก่โจทก์หาได้ไม่
6 8530/2544   โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทำสัญญาให้เครื่องวิทยุคมนาคมพร้อมด้วยอุปกรณ์แก่โจทก์โดยเสน่หา แล้วทำสัญญาเช่าเครื่องวิทยุคมนาคมและอุปกรณ์ดังกล่าวจากโจทก์เป็นเวลาหนึ่งปีไปพร้อมกัน แต่จำเลยเช่าได้หนึ่งเดือนแล้วไม่ชำระค่าเช่าอีก โจทก์เสียหาย ขอให้บังคับจำเลยใช้ค่าเช่าและค่าเสียหายแก่โจทก์ กับทั้งคืนเครื่องวิทยุคมนาคมกับอุปกรณ์แก่โจทก์

  จำเลยให้การว่า โจทก์ยังไม่เป็นเจ้าของเครื่องวิทยุคมนาคมและอุปกรณ์ ทั้งไม่ได้รับความเสียหาย เพราะยังไม่มีการส่งมอบหรือรับมอบเครื่องวิทยุคมนาคมและอุปกรณ์ใด ๆ ทั้งสิ้น ขอให้ยกฟ้อง

  ปัญหาที่ศาลฎีกาต้องวินิจฉัยมีว่า สัญญาให้เครื่องวิทยุคมนาคมและอุปกรณ์ข้างต้นสมบูรณ์หรือไม่ เห็นว่า ตาม ป.พ.พ. ม. 523 การให้สมบูรณ์ต่อเมื่อส่งมอบทรัพย์สินที่ให้ หนังสือสัญญาให้ระหว่างจำเลยกับโจทก์ระบุว่า จำเลยตกลงโอนกรรมสิทธิ์ในเครื่องวิทยุคมนาคมตามบัญชีต่อท้ายสัญญานี้ให้แก่โจทก์นับแต่วันทำสัญญา และโจทก์ได้รับมอบเครื่องวิทยุคมนาคมพร้อมอุปกรณ์ดังกล่าวแล้ว แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่า ในวันทำสัญญาให้นั้น จำเลยไม่ได้ส่งมอบเครื่องวิทยุคมนาคมและอุปกรณ์ให้แก่โจทก์แต่ประการใด ฉะนั้น สัญญาย่อมไม่สมบูรณ์ โจทก์ยังไม่เป็นเจ้าของเครื่องวิทยุคมนาคมและอุปกรณ์ ทั้งยังไม่ได้รับความเสียหายใด ๆ ด้วย โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าเช่าและค่าเสียหายจากจำเลย ตลอดจนไม่มีสิทธิบังคับให้จำเลยคืนเครื่องวิทยุคมนาคมพร้อมอุปกรณ์แก่โจทก์ด้วย

7 8706/2547   ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์และสามีเป็นเจ้าของที่ดินพิพาท โจทก์ยินยอมยกที่ดินพิพาทให้แก่จำเลย โดยทำบันทึกว่าจะโอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยไว้ตามเอกสารหมาย ล. 1 และ ล. 2 แต่ยังมิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่แต่ประการใด

  ศาลฎีกาเห็นว่า การให้ที่ดินนั้นต้องเป็นไปตาม ป.พ.พ. ม. 525 คือ ต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ เมื่อปรากฏว่า ยังไม่ได้ทำเช่นนั้น การให้รายนี้ย่อมไม่สมบูรณ์ตามกฎหมาย จำเลยจึงไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท ให้ขับไล่จำเลยและบริวารออกจากที่ดินตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

8 4377/2549   ยกทางพิพาทให้แก่สาธารณะ สมบูรณ์ทันทีที่แสดงเจตนา ไม่ต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนกับพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม ป.พ.พ. ม. 525 อีก
สัญญาให้บางประเภท
1 586/2538   การให้หรือคำมั่นว่าจะให้ที่ดิน จะต้องได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ จึงบังคับกันได้ตาม ป.พ.พ. ม. 526

  บันทึกข้อตกลงระหว่าง ป. กับจำเลย ที่ระบุว่า จำเลยซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทยินยอมยกที่ดินดังกล่าวส่วนหนึ่งให้โจทก์ แต่มิได้จดทะเบียน จึงไม่มีผลผูกพันจำเลย โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องเอาที่พิพาทโดยอาศัยบันทึกดังกล่าวได้

เชิงอรรถ

แก้ไข

อ้างอิง

แก้ไข
  1. ศนันท์กรณ์ โสตถิพันธุ์; 2552: 377.
  2. ศนันท์กรณ์ โสตถิพันธุ์; 2552: 364.
  3. ศนันท์กรณ์ โสตถิพันธุ์; 2552: 364-365.
  4. อักขราทร จุฬารัตน, 2542: 239.
  5. ศนันท์กรณ์ โสตถิพันธุ์; 2552: 365.
  6. 6.0 6.1 6.2 6.3 ศนันท์กรณ์ โสตถิพันธุ์; 2552: 366.
  7. 7.0 7.1 7.2 ศนันท์กรณ์ โสตถิพันธุ์; 2552: 367.
  8. ศนันท์กรณ์ โสตถิพันธุ์; 2552: 368.
  9. 9.0 9.1 ศนันท์กรณ์ โสตถิพันธุ์; 2552: 369.
  10. 10.0 10.1 ศนันท์กรณ์ โสตถิพันธุ์; 2552: 370.
  11. ปรีชา สุมาวงศ์, 2532: 710.
  12. ศนันท์กรณ์ โสตถิพันธุ์; 2552: 370-371.
  13. ปรีชา สุมาวงศ์, 2532: 727.
  14. 14.0 14.1 ศนันท์กรณ์ โสตถิพันธุ์; 2552: 371.
  15. ศนันท์กรณ์ โสตถิพันธุ์; 2552: 372.
  16. ศนันท์กรณ์ โสตถิพันธุ์; 2552: 372-373.
  17. มานิตย์ จุมปา, 2551: 328.
  18. 18.0 18.1 ศนันท์กรณ์ โสตถิพันธุ์; 2552: 373.
  19. มานิตย์ จุมปา, 2551: 332.
  20. ศนันท์กรณ์ โสตถิพันธุ์; 2552: 381.
  21. ศนันท์กรณ์ โสตถิพันธุ์; 2552: 373-374.
  22. ศนันท์กรณ์ โสตถิพันธุ์; 2552: 374-375.
  23. 23.0 23.1 ศนันท์กรณ์ โสตถิพันธุ์; 2552: 375.
  24. ศนันท์กรณ์ โสตถิพันธุ์; 2552: 376.
  25. 25.0 25.1 ศนันท์กรณ์ โสตถิพันธุ์; 2552: 378.
  26. ศนันท์กรณ์ โสตถิพันธุ์; 2552: 377-378.
  27. ศนันท์กรณ์ โสตถิพันธุ์; 2552: 383.
  28. 28.0 28.1 ศนันท์กรณ์ โสตถิพันธุ์; 2552: 384.
  29. ศนันท์กรณ์ โสตถิพันธุ์; 2552: 384-385.
  30. ศนันท์กรณ์ โสตถิพันธุ์; 2552: 385.

หมายเหตุ

แก้ไข

ราชบัณฑิตยสถาน; 2551.02.07: ออนไลน์.

"ให้โดยเสน่หา (กฎ) ก. โอนทรัพย์สินให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่งโดยไม่มีค่าตอบแทน."

Dictionary.com, 2011: Online.

"Law. given without receiving any return value."

เช่น ประมวลกฎหมายแพ่งฝรั่งเศส ม. 893 ว่า

"La libéralité est l'acte par lequel une personne dispose à titre gratuit de tout ou partie de ses biens ou de ses droits au profit d'une autre personne."



ขึ้น บทที่ 2 การถอนคืนซึ่งการให้