นิติกรรมและสัญญา

(เปลี่ยนทางจาก สัญญา)




ในกฎหมายแพ่งมีความสัมพันธ์อยู่รูปแบบหนึ่งเรียกว่า หนี้ (obligation) เป็นสภาพที่บุคคลฝ่ายหนึ่งซึ่งเรียกว่า "ลูกหนี้" (obligor) ต้องทำหรือไม่ทำการอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อประโยชน์ของบุคคลอีกฝ่ายซึ่งเรียกว่า "เจ้าหนี้" (obligee) เช่น พวงทองแท้ขอซื้อที่ดินย่านรัชดาภิเษกจากพิณทองชุบ และพิณทองชุบตกลงขาย พวงทองแท้กับพิณทองชุบจึงเป็นหนี้ต่อกัน กล่าวคือ พวงทองแท้มีหนี้ต้องชำระราคาที่ดิน ส่วนพิณทองชุบมีหนี้ต้องส่งมอบที่ดิน

หนี้ดังกล่าวนี้เกิดขึ้นได้จากเหตุสองประการ คือ นิติกรรม และนิติเหตุ เหตุทั้งสองนี้เรียกว่า "มูลหนี้" (source of obligation)

นิติเหตุ (legal cause) คือ เหตุการณ์ที่ผู้เกี่ยวข้องต้องกลายเป็นหนี้เพราะกฎหมายกำหนดไว้ ไม่ว่าเขาจะสมัครใจเป็นหนี้หรือไม่ก็ตาม เช่น นางสาวแพปลาใช้โทรจิตขณะขับรถยนต์อยู่บนทางด่วน จึงชนรถตู้โดยสารสาธารณะเข้าอย่างจัง และเป็นเหตุให้เก้าชีวิตต้องตาย ผู้คนอีกหกรายต้องบาดเจ็บ นางสาวแพปลาจึงมีหนี้ที่จะต้องใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้เสียหาย เพราะกฎหมายถือว่า เธอทำละเมิดต่อผู้เสียหาย ไม่ใช่เพราะเธอสมัครใจจะเป็นหนี้

ส่วนนิติกรรม (legal transaction,[1] juristic act[2] หรือ juridical act[3]) นั้นอธิบายคร่าว ๆ ก่อนว่า ต่างจากนิติเหตุตรงที่เกิดจากความสมัครใจของผู้เกี่ยวข้อง ดังตัวอย่างพวงทองแท้กับพิณทองชุบข้างต้น คู่กรณีในนิติกรรมจะมีกี่ฝ่ายก็ได้ ถ้ามีตั้งแต่สองฝ่ายขึ้นไป นิติกรรมนั้นเรียก สัญญา (contract)

การแบ่งแยกระหว่างนิติกรรมกับสัญญาเป็นแนวคิดซึ่งพัฒนาขึ้นในวงการนิติศาสตร์เยอรมัน และแพร่หลายมาถึงประเทศที่ใช้กฎหมายเยอรมันเป็นแม่แบบกฎหมายของตัว เช่น ประเทศญี่ปุ่น และประเทศไทย ขณะที่บางท้องที่ในโลก เช่น ประเทศฝรั่งเศส แม้ใช้กฎหมายระบบซีวิลลอว์ (civil law) เหมือนประเทศเยอรมัน แต่ก็ไม่รู้จักนิติกรรม ท้องที่เหล่านี้เรียกความผูกพันทำนองนิติกรรมว่า "สัญญา" ทั้งสิ้น ไม่แบ่งแยกเป็นนิติกรรมและสัญญา รายละเอียดเกี่ยวกับนิติกรรมและสัญญานั้นจะได้ว่ากันต่อไปภายหน้า

สำหรับประเทศไทย กฎหมายนิติกรรมและสัญญา[4] (law of legal transactions and contracts) ปรากฏอยู่ใน ป.พ.พ. บ. 1 ล. 4 และ บ. 2 ล. 2 เป็นหลัก ส่วนในสถาบันอุดมศึกษาไทยโดยทั่วไปนั้น ศึกษากฎหมายนิติกรรมและสัญญากันในปีแรก ถัดจากวิชาความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับกฎหมายและระบบกฎหมาย และวิชากฎหมายบุคคล

เพื่อประโยชน์ในการศึกษากฎหมายนิติกรรมและสัญญา ตำรานี้จึงแบ่งส่วนดังนี้

  ภาค 1   บททั่วไป: ว่าด้วยนิยาม ลักษณะ ความเป็นมา ทฤษฎี หลักการ และประเภทของนิติกรรมและสัญญา

  ภาค 2   นิติกรรม: ว่าด้วยนิติกรรม ตั้งแต่การเกิด ความเป็นไป และความสิ้นสุดลง

  ภาค 3   สัญญา: ว่าด้วยสัญญา ตั้งแต่การเกิด ความเป็นไป และความสิ้นสุดลง

  ภาค 4   ความคุ้มครองพิเศษ: ว่าด้วยกฎหมายพิเศษซึ่งให้ความคุ้มครองแก่บุคคลในการทำนิติกรรมและสัญญาบางประเภท

อนึ่ง เพื่อประโยชน์ในการศึกษา ตำรานี้ได้แทรกศัพท์กฎหมายและศัพท์อื่นที่เป็นภาษาต่างประเทศไว้ โดยใช้ประมวลกฎหมายแพ่งเยอรมัน ญี่ปุ่น หรือฝรั่งเศส ซึ่งเป็นแม่แบบ ป.พ.พ. เป็นหลัก กับทั้งยังแทรก ฎ. บางฉบับไว้ด้วย แต่พึงทราบว่า ในระบบซีวิลลอว์ซึ่งเป็นระบบกฎหมายที่ใช้ในประเทศไทยนั้น คำพิพากษาไม่เป็นกฎหมาย เป็นเพียงการปรับใช้กฎหมายเป็นรายกรณีไปเท่านั้น

ภาคผนวก

แก้ไข

เชิงอรรถ

แก้ไข
  1. "Legal transaction" เป็นถ้อยคำที่ใช้อยู่ในกฎหมายเยอรมัน ตรงกับภาษาเยอรมันว่า "Rechtsgeschäft" เช่น ประมวลกฎหมายแพ่งเยอรมัน ม. 111 ว่า

    "Section 111 Unilateral legal transactions

    "A unilateral legal transaction that a minor undertakes without the necessary consent of the legal representative is ineffective. If the minor undertakes such a legal transaction with regard to another person with this consent, the legal transaction is ineffective if the minor does not present the consent in writing and the other person rejects the legal transaction for this reason without undue delay. Rejection is not possible if the representative had given the other person notice of the consent."

  2. "Juristic act" เป็นถ้อยคำที่ใช้อยู่ในกฎหมายญี่ปุ่น ตรงกับภาษาญี่ปุ่นว่า "法律行為" (hōritsu kōi) เช่น ประมวลกฎหมายแพ่งญี่ปุ่น ม. 90 ว่า

    "Article 90 (Public Policy)

    "A juristic act with any purpose which is against public policy is void."

    ศาสตราจารย์ธานินทร์ กรัยวิเชียร ว่า คำ "juristic act" นี้แปลมาจาก "นิติกรรม" ในภาษาไทย (นิตยา กาญจนะวรรณ, ม.ป.ป.: ออนไลน์) แต่ความจริงแล้วกลับกัน คือ คำว่า "นิติกรรม" ในภาษาไทยแปลมาจากคำ "juristic act" ในภาษาอังกฤษซึ่งปรากฏในประมวลกฎหมายแพ่งญี่ปุ่นดังข้างต้น เนื่องจากไทยใช้ประมวลกฎหมายแพ่งญี่ปุ่นเป็นแม่แบบในการร่าง ป.พ.พ. (ชาญชัย แสวงศักดิ์, 2539: 68) ดังที่ศาสตราจารย์หยุด แสงอุทัย (2507: 129) กล่าวถึงการร่างบทบัญญัติเกี่ยวกับนิติกรรมและสัญญาใน ป.พ.พ. ไว้ว่า

    "เมื่อได้นำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 1 และบรรพ 2 ที่ถูกยกเลิกมาเปรียบเทียบกับกฎหมายปัจจุบัน ก็ปรากฏว่า กฎหมายเก่าได้ร่างขึ้นโดยเทียบเคียงจากกฎหมายฝรั่งเศสและสวิสซึ่งใช้หลัก 'สัญญา' เป็นหลักทั่วไป ซึ่งอาจถือได้ว่าล่วงพ้นสมัย ส่วนกฎหมายปัจจุบันนั้นใช้หลัก 'นิติกรรม' เป็นหลักทั่วไป โดยเทียบมาจากกฎหมายเยอรมันและญี่ปุ่น ซึ่งนับว่าเป็นกฎหมายที่ทันสมัยกว่า เพราะได้บัญญัติขึ้นหลังกฎหมายฝรั่งเศสตั้งเกือบร้อยปี นอกจากนี้ ยังปรากฏว่า มีข้อขาดตกบกพร่องในกฎหมายเก่าอีกมาก แต่ทั้งนี้ ไม่ควรจะถือว่า การทำประมวลกฎหมายฉบับที่ถูกยกเลิกไม่อำนวยประโยชน์เสียเลย เพราะได้ทำให้การทำประมวลกฎหมายแพ่ง บรรพ 1 และบรรพ 2 ฉบับปัจจุบัน สำเร็จได้รวดเร็วยิ่งขึ้น"

  3. "Juridical act" เป็นถ้อยคำที่ใช้อยู่ในกฎหมายอเมริกัน ยูเอสลีกัล (USLegal, 2013: online) นิยามว่า "Juridical act as used in civil law refers to a lawful act or expression of will intended to have legal consequences." และยังปรากฏในบทกฎหมายของรัฐในสหรัฐอเมริกา เช่น ประมวลกฎหมายแพ่งลุยเซียนา ม. 28 ว่า

    "Art. 28. Capacity to make juridical acts

    "A natural person who has reached majority has capacity to make all sorts of juridical acts, unless otherwise provided by legislation."

  4. "กฎหมายนิติกรรมและสัญญา" บางทีเรียกเพียง "กฎหมายนิติกรรม" (law of legal transactions) หรือ "กฎหมายสัญญา" (law of contracts) ส่วนภาษาเก่าเรียก "กฎหมายลักษณะนิติกรรมและสัญญา", "กฎหมายลักษณะนิติกรรม" หรือ "กฎหมายลักษณะสัญญา"



ขึ้น