ประวัติศาสตร์ไทย/ประวัติศาสตร์ไทยก่อนสมัยสุโขทัย/แคว้นโยนกเชียงแสน

ดังได้ทราบแล้วว่าโอรสของพระเจ้า พีล่อโก๊ะ องค์หนึ่ง ชื่อพระเจ้าสิงหนวัติ ได้มาสร้างเมืองใหม่ขึ้นทางใต้ ชื่อเมืองโยนกนาคนคร เมืองดังกล่าวนี้อยู่ในเขตละว้า หรือในแคว้นโยนก เมื่อประมาณปี พ.ศ. 1111  เป็นเมืองที่สง่างามของย่านนั้น

ในเวลาต่อมาก็ได้รวบรวมเมืองที่อ่อนน้อมตั้งขึ้นเป็นแคว้น ชื่อโยนกเชียงแสน มีอาณาเขตทางทิศเหนือตลอดสิบสองปันนา  ทางใต้จดแคว้นหริภุญชัย  มีกษัตริย์สืบเชื้อสายต่อเนื่องกันมา จนถึงสมัยพระเจ้าพังคราชจึงได้เสียทีแก่ขอมดังกล่าวแล้ว

อย่างไรก็ตาม พระเจ้าพังคราชตกอับอยู่ไม่นานนัก ก็กลับเป็นเอกราชอีกครั้งหนึ่ง  ด้วยพระปรีชาสามารถของพระโอรสองค์น้อย คือ พระเจ้าพรหม  ซึ่งมีอุปนิสัยเป็นนักรบ และมีความกล้าหาญ  ได้สร้างสมกำลังผู้คน ฝึกหัดทหารจนชำนิชำนาญ แล้วคิดต่อสู้กับขอม ไม่ยอมส่งส่วยให้ขอม เมื่อขอมยกกองทัพมาปราบปราม ก็ตีกองทัพขอมแตกพ่ายกลับไป และยังได้แผ่อาณาเขตเลยเข้ามาในดินแดนขอม  ได้ถึงเมืองเชลียง และตลอดถึงลานนา ลานช้าง แล้วอัญเชิญพระราชบิดา กลับไปครองโยนกนาคนครเดิม  แล้วเปลี่ยนชื่อเมืองเสียใหม่ว่าชัยบุรี ส่วนพระองค์เองนั้นลงมาสร้างเมืองใหม่ทางใต้ชื่อเมืองชัยปราการ ให้พระเชษฐา คือ เจ้าทุกขิตราช ดำรงตำแหน่งอุปราช  นอกจากนั้นก็สร้างเมืองอื่น ๆ เช่น เมืองชัยนารายณ์  นครพางคำ  ให้เจ้านายองค์อื่น ๆ ปกครอง

เมื่อสิ้นรัชสมัยพระเจ้าพังคราช พระเจ้าทุกขิตราช ก็ได้ขึ้นครองเมืองชัยบุรี  ส่วนพระเจ้าพรหม และโอรสของพระองค์ก็ได้ครองเมืองชัยปราการต่อมา  ในสมัยนั้นขอมกำลังเสื่อมอำนาจจึงมิได้ยกกำลังมาปราบปราม  ฝ่ายไทยนั้น แม้กำลังเป็นฝ่ายได้เปรียบ แต่ก็คงยังไม่มีกำลังมากพอที่จะแผ่ขยาย อาณาเขตลงมาทางใต้อีกได้ ดังนั้นอาณาเขตของไทยและขอมจึงประชิดกันเฉยอยู่

เมื่อสิ้นรัชสมัยพระเจ้าพรหม  กษัตริย์องค์ต่อ ๆ มาอ่อนแอและหย่อนความสามารถ ซึ่งมิใช่แต่ที่นครชัยปราการเท่านั้น  ความเสื่อมได้เป็นไปอย่างทั่วถึงกันยังนครอื่น ๆ เช่น ชัยบุรี ชัยนารายณ์ และนครพางคำ ดังนั้นในปี พ.ศ. 1731  เมื่อมอญกรีฑาทัพใหญ่มารุกรานอาณาจักรขอมได้ชัยชนะแล้ว ก็ล่วงเลยเข้ามารุกรานอาณาจักรไทยเชียงแสน  ขณะนั้นโอรสของพระเจ้าพรหม คือ พระเจ้าชัยศิริ ปกครองเมืองชัยปราการ ไม่สามารถต้านทานศึกมอญได้ จึงจำเป็นต้องเผาเมือง เพื่อมิให้พวกข้าศึกเข้าอาศัย แล้วพากันอพยพลงมาทางใต้ของดินแดนสุวรรณภูมิ จนกระทั่งมาถึงเมืองร้างแห่งหนึ่งในแขวงเมืองกำแพงเพชร ชื่อเมืองแปป ได้อาศัยอยู่ที่เมืองแปปอยู่ห้วงระยะเวลาหนึ่ง  เห็นว่าชัยภูมิไม่สู้เหมาะ เพราะอยู่ใกล้ขอม จึงได้อพยพลงมาทางใต้จนถึงเมืองนครปฐมจึงได้พักอาศัยอยู่ ณ ที่นั้น ส่วนกองทัพมอญ หลังจากรุกรานเมืองชัยปราการแล้ว ก็ได้ยกล่วงเลยตลอดไปถึงเมืองอื่น ๆ

ในแคว้นโยนกเชียงแสน จึงทำให้พระญาติของพระเจ้าชัยศิริ ซึ่งครองเมืองชัยบุรี ต้องอพยพหลบหนีข้าศึกเช่นกัน ปรากฎว่าเมืองชัยบุรีนั้นเกิดน้ำท่วม บรรดาเมืองในแคว้นโยนกต่างก็ถูกทำลายลงหมดแล้ว  พวกมอญเห็นว่าหากเข้าไปตั้งอยู่ก็อาจเสียแรง เสียเวลา และทรัพย์สินเงินทองเพื่อที่จะสถาปนาขึ้นมาใหม่ ดังนั้นพวกมอญจึงยกกองทัพกลับ เป็นเหตุให้แว่นแคว้นนี้ว่างเปล่า ขาดผู้ปกครองอยู่ห้วงระยะเวลาหนึ่ง ในระหว่างที่ฝ่ายไทย กำลังระส่ำระสายอยู่นี้ เป็นโอกาสให้ขอมซึ่งมีราชธานีอุปราชอยู่ที่เมืองละโว้ ถือสิทธิ์เข้าครองแคว้นโยนก แล้วบังคับให้คนไทยที่ตกค้างอยู่นั้นให้ส่งส่วยให้แก่ขอม ความพินาศของแคว้นโยนกครั้งนี้ ทำให้ชาวไทยต้องอพยพแยกย้ายกันลงมาเป็นสองสายคือ สายของพระเจ้าชัยศิริ อพยพลงมาทางใต้ และได้อาศัยอยู่ชั่วคราวที่เมืองแปปดังกล่าวแล้ว ส่วนสายพวกชัยบุรีได้แยกออกไปทางตะวันออกของสุโขทัย จนมาถึงเมืองนครไทย

จึงได้เข้าไปตั้งอยู่ ณ เมืองนั้นด้วยเห็นว่าเป็นเมืองที่มีชัยภูมิเหมาะสม  เพราะเป็นเมืองใหญ่ และตั้งอยู่สุดเขตของขอมทางเหนือ  ผู้คนในเมืองนั้นส่วนใหญ่ก็เป็นชาวไทย อย่างไรก็ตามในชั้นแรกที่เข้ามาตั้งอยู่นั้น ก็คงต้องยอมขึ้นอยู่กับขอม ซึ่งขณะนั้นยังมีอำนาจอยู่

ในเวลาต่อมา เมื่อคนไทยอพยพลงมาจากน่านเจ้าเป็นจำนวนมาก  ทำให้นครไทยมีกำลังผู้คนมากขึ้น ข้างฝ่ายอาณาจักรลานนาหรือโยนกนั้น เมื่อพระเจ้าชัยศิริทิ้งเมืองลงมาทางใต้ แล้วก็เป็นเหตุให้ดินแดนแถบนั้นว่างผู้ปกครองอยู่ระยะหนึ่งแต่ในระยะต่อมาชาวไทยที่ค้างการอพยพ อยู่ในเขตนั้นก็ได้รวมตัวกัน ตั้งเป็นบ้านเมืองขึ้นหลายแห่งตั้งเป็นอิสระแก่กัน  บรรดาหัวเมืองต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในครั้งนั้นที่นับว่าสำคัญ มีอยู่สามเมืองด้วยกัน คือ นครเงินยาง อยู่ทางเหนือ นครพะเยา อยู่ตอนกลาง และเมืองหริภุญไชย อยู่ลงมาทางใต้  ส่วนเมืองนครไทยนั้นด้วยเหตุที่ว่ามีที่ตั้งอยู่ปลายทางการอพยพ และอาศัยที่มีราชวงศ์เชื้อสายโยนกอพยพมาอยู่ที่เมืองนี้ จึงเป็นที่นิยมของชาวไทยมากกว่าพวกอื่น จึงได้รับยกย่องขึ้นเป็นพ่อเมืองที่ตั้งของเมืองนครไทยนั้นสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นเมืองเดียวกันกับเมืองบางยาง  ซึ่งเป็นเมืองใหญ่ มีเมืองขึ้นและเจ้าเมืองมีฐานะเป็นพ่อขุน

เมื่อบรรดาชาวไทย เกิดความคิดที่จะสลัดแอก ของขอมครั้งนี้  บุคคลสำคัญในการนี้ก็คือ พ่อขุนบางกลางท่าว ซึ่งเป็นเจ้าเมืองบางยาง และพ่อขุนผาเมือง เจ้าเมืองราดได้ร่วมกำลังกันยกขึ้นไปโจมตีขอม จนได้เมืองสุโขทัยอันเป็นเมืองหน้าด่านของขอมไว้ได้ เมื่อปี พ.ศ. 1800  การมีชัยชนะของฝ่ายไทยในครั้งนั้น นับว่าเป็นนิมิตหมายเบื้องต้น แห่งความเจริญรุ่งเรืองของชนชาติไทย  และเป็นลางร้ายแห่งความเสื่อมโทรมของขอม เพราะนับแต่วาระนั้นเป็นต้นมา ขอมก็เสื่อมอำนาจลงทุกที จนในที่สุดก็สิ้นอำนาจไปจากดินแดนละว้า แต่ยังคงมีอำนาจปกครองเหนือลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนใต้อยู่

สารบัญ

แก้ไข