ประวัติศาสตร์ไทย/ประวัติศาสตร์ไทยก่อนสมัยสุโขทัย/อาณาจักรน่านเจ้า
หลังจากนครเพงายเสียแก่จีนแล้ว ก็ได้มีการอพยพครั้งใหญ่กันอีกครั้งหนึ่ง ลงมาทางทิศใต้และทางทิศตะวันตก ส่วนใหญ่มักเข้ามาตั้งอยู่ตามลุ่มแม่น้ำ ในเวลาต่อมาได้เกิดมีเมืองใหญ่ขึ้นถึง ๖ เมือง ทั้ง ๖ เมืองต่างเป็นอิสระแก่กัน ประกอบกับในห้วงเวลานั้นกษัตริย์จีนกำลังเสื่อมโทรม แตกแยกออกเป็นสามก๊ก ก๊กของเล่าปี่ อันมีขงเบ้งเป็นผู้นำ ได้เคยยกมาปราบปรามนครอิสระของไทย ซึ่งมีเบ้งเฮกเป็นหัวหน้าได้สำเร็จ ชาวไทยกลุ่มนี้จึงต้องอพยพหนีภัยจากจีน
ต่อมาเมื่อ พ.ศ. ๘๕๐ พวกตาดได้ยกกำลังเข้ารุกราน อาณาจักรจีนทางตอนเหนือ เมื่อตีได้แล้วก็ตั้งตนขึ้นเป็นกษัตริย์ทางเหนือมี ปักกิ่งเป็นเมืองหลวง ส่วนอาณาจักรทางใต้ กษัตริย์เชื้อสายจีนก็ครองอยู่ที่เมืองน่ำกิง ทั้งสองพวกได้รบพุ่งกันเพื่อแย่งชิงความเป็นใหญ่ ทำให้เกิดการจลาจลไปทั่วอาณาจักร ผลแห่งการจลาจลครั้งนั้น ทำให้นครอิสระทั้ง ๖ ของไทย คือ ซีล่ง ม่งเส ล่างกง มุ่งซุย เอี้ยแซ และเท่งเซี้ยง กลับคืนเป็นเอกราช
นครม่งเสนับว่าเป็นนครสำคัญ เป็นนครที่ใหญ่กว่านครอื่นๆ และตั้งอยู่ต่ำกว่านครอื่น ๆ จึงมีฐานะมั่นคงกว่านครอื่น ๆ ประกอบกับมีกษัตริย์ที่มีพระปรีชาสามารถ และเข้มแข็ง คือ พระเจ้าสินุโล พระองค์ได้รวบรวมนครรัฐทั้ง ๖ เข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันรวมเรียกว่า อาณาจักรม่งเส หรือ หนองแส จากนั้นพระองค์ได้วางระเบียบการปกครองอาณาจักรอย่างแน่นแฟ้น พระองค์ได้ดำเนินนโยบายผูกมิตรกับจีน เพื่อป้องกันการรุกราน เนื่องจากในระยะนั้นไทยกำลังอยู่ในห้วงเวลาสร้างตัวจนมีอำนาจ เป็นอาณาจักรใหญ่ที่มีอาณาเขตประชิดติดกับจีน ทางฝ่ายจีนเรียกอาณาจักรนี้ว่า อาณาจักรน่านเจ้า
แม้ว่าอาณาจักรน่านเจ้าจะสิ้นรัชสมัยพระเจ้าสินุโลไปแล้วก็ตาม พระราชโอรสของพระองค์ซึ่งสืบราชสมบัติ ต่อมาก็ทรงพระปรีชาสามารถ นั่นคือพระเจ้าพีล่อโก๊ะ พระองค์ได้ทำให้อาณาจักรน่านเจ้าเจริญรุ่งเรืองยิ่งขึ้นไปกว่าเดิม อาณาเขตก็กว้างขวางมากขึ้นกว่าเก่า งานชิ้นสำคัญของพระองค์อย่างหนึ่งก็คือ การรวบรวมนครไทยอิสระ ๕ นครเข้าด้วยกัน และการเป็นสัมพันธไมตรีกับจีน
ในสมัยนี้อาณาจักรน่านเจ้า ทิศเหนือจดมณฑลฮุนหนำ ทิศใต้จดมณฑลยูนาน ทิศตะวันตกจดธิเบต และพม่า และทิศตะวันออกจดมณฑลกวางไส บรรดาอาณาจักรใกล้เคียงต่างพากันหวั่นเกรง และยอมอ่อนน้อมต่ออาณาจักรน่านเจ้าโดยทั่วหน้ากัน พระเจ้าพีล่อโก๊ะมีอุปนิสัยเป็นนักรบ จึงโปรดการสงคราม ปรากฎว่าครั้งหนึ่ง พระองค์เสด็จเป็นจอมทัพไปช่วยจีนรบกับชาวอาหรับ ที่มณฑลซินเกียง และพระองค์ได้รับชัยชนะอย่างงดงาม ทางกษัตริย์จีนถึงกับยกย่องให้สมญานามพระองค์ว่า ยูนานอ๋อง พระองค์เป็นกษัตริย์ที่เห็นการณ์ไกล มีนโยบายในการแผ่อาณาเขตที่ฉลาดสุขุมคัมภีรภาพ วิธีการของพระองค์คือ ส่งพระราชโอรสให้แยกย้ายกันไปตั้งบ้านเมืองขึ้นใหม่ทางทิศใต้ และทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่บริเวณ หลวงพระบาง ตังเกี๋ย สิบสองปันนา สิบสองจุไทย (เจ้าไทย) หัวพันทั้งห้าทั้งหก
กาลต่อมาปรากฎว่าโอรสองค์หนึ่งได้ไปสร้างเมืองชื่อว่า โยนกนคร ขึ้นทางใต้ เมืองต่าง ๆ ของโอรสเหล่านี้ต่างก็เป็นอิสระแก่กัน เมื่อสิ้นสมัยพระเจ้าพีล่อโก๊ะ (พ.ศ. ๑๒๘๙) พระเจ้าโก๊ะล่อฝง ผู้เป็นราชโอรสได้ครองราชยสืบต่อมา และได้ดำเนินนโยบายเป็นไมตรีกับจีนตลอดมา จนถึง พ.ศ. ๑๒๙๓ จึงมีสาเหตุขัดเคืองใจกันขึ้น มูลเหตุเนื่องจากว่า เจ้าเมืองฮุนหนำได้แสดงความประพฤติดูหมิ่นพระองค์ พระองค์จึงขัดเคืองพระทัย ถึงขั้นยกกองทัพไปตีได้เมืองฮุนหนำ และหัวเมืองใหญ่น้อยอื่น ๆ อีก ๓๒ หัวเมือง แม้ว่าทางฝ่ายจีนจะพยายามโจมตีกลับคืนหลายครั้งก็ไม่สำเร็จ ในที่สุดฝ่ายจีนก็เข็ดขยาด และเลิกรบไปเอง ในขณะที่ไทยทำสงครามกับจีน ไทยก็ได้ทำการผูกมิตรกับธิเบต เพื่อหวังกำลังรบ และเป็นการป้องกันอันตรายจากด้านธิเบต
เมื่อสิ้นสมัยพระเจ้าโก๊ะล่อฝง ราชนัดดาคือเจ้าอ้ายเมืองสูง (อีเหมาซุน) ได้ขึ้นครองราชย์สืบต่อมา มีเหตุการณ์ในตอนต้นรัชกาล คือไทยกับธิเบตเป็นไมตรีกัน และได้รวมกำลังกันไปตีแคว้นเสฉวนของจีนแต่ไม่เป็นผลสำเร็จ ในเวลาต่อมา ธิเบตถูกรุกรานและได้ขอกำลังจากไทยไปช่วยหลายครั้ง จนฝ่ายไทยไม่พอใจ ประจวบกันในเวลาต่อมา ทางจีนได้แต่งฑูตมาขอเป็นไมตรีกับไทยเจ้าอ้ายเมืองสูงจึงคิดที่จะเป็นไมตรีกับจีน เมื่อทางธิเบตทราบระแคะระคายเข้าก็ไม่พอใจ จึงคิดอุบายหักหลังไทย แต่ฝ่ายไทยไหวทันจึงสวมรอยเข้าโจมตีธิเบตย่อยยับ ตีได้หัวเมืองธิเบต ๑๖ แห่งทำให้ธิเบตเข็ดขยาดฝีมือของไทยนับตั้งแต่นั้นมา
ในเวลาต่อมากษัตริย์น่านเจ้าในสมัยหลังอ่อนแอ และไม่มีนิสัยเป็นนักรบ ดังปรากฎในตามบันทึกของฝ่ายจีนว่า ในสมัยที่พระเจ้าฟ้า ขึ้นครองราชย์ เมื่อปี พ.ศ. ๑๔๒๐ นั้น ได้มีพระราชสาส์นไปถึงอาณาจักรจีน ชวนให้เป็นไมตรีกัน ทางฝ่ายจีนก็ตกลง เพราะยังเกรงในฝีมือ และความเข้มแข็งของไทยอยู่ แต่กระนั้นก็ไม่ละความพยายามที่จะหาโอกาสรุกรานอาณาจักรน่านเจ้า ปรากฎว่าพระเจ้าแผ่นดินจีนได้ส่งราชธิดา หงางฝ่า ให้มาอภิเษกสมรสกับพระเจ้าฟ้า เพื่อหาโอกาสรุกเงียบในเวลาต่อมา โดยได้พยายามผันแปรขนบธรรมเนียมประเพณีในราชสำนัก ให้มีแบบแผนไปทางจีนทีละน้อย ๆ ดังนั้นราษฎรน่านเจ้าก็พากันนิยมตาม จนในที่สุด อาณาจักรน่านเจ้าก็มีลักษณะคล้ายกับอาณาจักรจีน แม้ว่าสิ้นสมัยพระเจ้าฟ้า กษัตริย์น่านเจ้าองค์หลัง ๆ ก็คงปฎิบัติตามรอยเดิม ประชาชนชาวจีนก็เข้ามาปะปนอยู่ด้วยมาก แม้กษัตริย์เองก็มีสายโลหิตจากทางจีนปะปนอยู่ด้วยแทบทุกองค์ จึงก่อให้เกิดความเสื่อม ความอ่อนแอขึ้นภายใน มีการแย่งชิงราชสมบัติกันในบางครั้ง จนในที่สุดเกิดการแตกแยกในอาณาจักรน่านเจ้า ความเสื่อมได้ดำเนินต่อไปตามลำดับ จนถึงปี พ.ศ. ๑๘๒๓ ก็สิ้นสุดลงด้วยการโจมตีของกุบไลข่าน (Kublai Khan) กษัตริย์แห่งราชอาณาจักรจีน อาณาจักรน่านเจ้าก็ถึงกาลแตกดับลงในครั้งนั้น