ประวัติศาสตร์ไทย/ประวัติศาสตร์ไทยก่อนสมัยสุโขทัย/ความเจริญของอาณาจักรน่านเจ้า

ตามบันทึกของจีนโบราณกล่าวไว้ว่า นอกจากน่านเจ้าจะเป็นอาณาจักรใหญ่ที่มีประชากรหนาแน่นแล้ว ยังมีความเจริญรุ่งเรืองอย่างสูง  ทางด้านการปกครองได้จัดแบ่งออกเป็น ๙ กระทรวง คือ

กระทรวงว่าการทหาร 

กระทรวงจัดการสำมะโนครัว 

กระทรวงราชประเพณี 

กระทรวงยุติธรรม

กระทรวงมหาดไทย 

กระทรวงโยธา 

กระทรวงพาณิชย์ 

กระทรวงการคลัง

และกระทรวงการต่างประเทศ

มีเจ้าพนักงานสำหรับสอบคัดเลือกผู้เข้ารับราชการ  กองทหารก็จัดเป็น หมู่ หมวด กองร้อย กองพัน มีธงประจำกอง  ทหารแต่งกายด้วยเสื้อกางเกงทำด้วยหนังสัตว์ สวมหมวกสีแดงมียอด ถือโลห์หนังแรด มีหอกหรือขวานเป็นอาวุธ หากใครมีม้าก็เป็นทหารม้า ทรัพย์สินของรัฐมียุ้งฉางสำหรับเสบียงของหลวง มีโรงม้าหลวง มีการเก็บภาษีอากร มีการแบ่งปันที่นาให้ราษฎรตามส่วน  อาชีพทั่วไปของราษฎรคือการเพาะปลูก เมื่อรู้จักปลูกฝ้ายก็มีการทอผ้า นอกจากนั้นก็มีอาชีพขุดทอง

ศาสนาประจำชาติ  ส่วนมากนับถือพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน  รวมทั้งนับถือศาสนาเดิมที่นับถือบรรพบุรุษ

การศึกษา  ชนชาติไทยในสมัยน่านเจ้ามีภาษาใช้ประจำชาติโดยเฉพาะแล้ว  แต่เรื่องของตัวหนังสือเรายังไม่สามารถทราบได้ว่ามีใช้หรือยัง

ชนชาติต่าง ๆ ในแหลมสุวรรณภูมิก่อนที่ไทยจะอพยพมาอยู่ ชนชาติดั้งเดิม และมีความเจริญน้อยที่สุดก็คือพวก นิโกรอิด (Negroid) ซึ่งเป็นบรรพบุรุษของ พวกเงาะ เช่น เซมัง ซาไก (Sakai) ปัจจุบันชนชาติเหล่านี้มีเหลืออยู่น้อยเต็มที  แถวปักษ์ใต้อาจมีเหลืออยู่บ้าง ในเวลาต่อมาชนชาติที่มีอารยธรรมสูงกว่า เช่น มอญ  ขอม  ละว้า  ได้เข้ามาตั้งถิ่นฐาน

ขอม  มีถิ่นฐานทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของแหลมสุวรรณภูมิ  ในบริเวณแม่น้ำโขงตอนใต้ และทะเลสาบเขมร

ลาวหรือละว้า  มีถิ่นฐานอยู่บริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นดินแดนตอนกลางระหว่างขอมและมอญ

มอญ  มีถิ่นฐานอยู่บริเวณลุ่มแม่น้ำสาละวิน และแม่น้ำอิรวดี

ทั้งสามชาตินี้มีความละม้ายคล้ายคลึงกันมาก ตั้งแต่รูปร่าง หน้าตา ภาษา และขนบธรรมเนียมประเพณีสันนิษฐานได้ว่า น่าจะเป็นชนชาติเดียวกันมาแต่เดิม

อาณาจักรละว้า  เมื่อประมาณ พ.ศ. ๗๐๐ ชนชาติละว้าซึ่งเข้าครอบครองถิ่นเจ้าพระยา ได้ตั้งอาณาจักรใหญ่ขึ้นสามอาณาจักรคือ

อาณาจักรทวาราวดี  มีอาณาเขตประมาณตั้งแต่ราชบุรี ถึงพิษณุโลก มีนครปฐมเป็นเมืองหลวง

อาณาจักรโยนกหรือยาง  เป็นอาณาจักรทางเหนือในเขตพื้นที่เชียงราย และเชียงแสน มีเงินยางเป็นเมืองหลวง

อาณาจักรโคตรบูรณ์  มีอาณาเขตตั้งแต่นครราชสีมาถึงอุดรธานี มีนครพนมเป็นเมืองหลวง

อารยธรรมที่นำมาเผยแพร่  แหลมสุวรรณภูมิได้เป็นศูนย์กลางการค้าของจีน และอินเดียมาเป็นเวลาช้านาน จนกลายเป็นดินแดนแห่งอารยธรรมผสม ด้วยความอุดมสมบูรณ์ของบริเวณนี้ เป็นเหตุดึงดูดให้ชาวต่างชาติเข้ามาอาศัย และติดต่อค้าขาย  นับตั้งแต่ พ.ศ. ๓๐๐ เป็นต้นมา  ได้มีชาวอินเดียมาอยู่ในดินแดนสุวรรณภูมิเป็นจำนวนมากขึ้นตามลำดับ รวมทั้งพวกที่หนีภัยสงครามทางอินเดียตอนใต้ ซึ่งพระเจ้าอโศกมหาราช กษัตริย์แห่งแคว้นโกศลได้กรีฑาทัพไปตีแคว้นกลิงคราฎร์  ชาวพื้นเมืองอินเดียตอนใต้ จึงอพยพเข้ามาอยู่ที่พม่า ตลอดถึงพื้นที่ทั่วไปในแหลมมลายู และอินโดจีน อาศัยที่พวกเหล่านี้มีความเจริญอยู่แล้ว จึงได้นำเอาวิชาความรู้และความเจริญต่าง ๆ มาเผยแพร่ คือ

ศาสนาพุทธ  พระพุทธศาสนา ซึ่งเหมาะสมในทางอบรมจิตใจ  ให้ความสว่างกระจ่างในเรื่อง บาป บุญ คุณ โทษ  สันนิษฐานว่า พุทธศาสนาเข้ามาเผยแผ่เป็นครั้งแรกโดย พระโสณะ และพระอุตระ ในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราชแห่งอินเดีย

ศาสนาพราหมณ์  มีความเหมาะสมในด้านการปกครอง ซึ่งต้องการความศักดิ์สิทธิ์ และเด็ดขาด ศาสนานี้สอนให้เคารพในเทพเจ้าทั้งสามคือ พระอิศวร  พระพรหม  และพระนารายณ์

นิติศาสตร์  ได้แก่การปกครอง ได้วางแผนการปกครองหัวเมืองตลอดจนการตั้งมงคลนาม ถวายแก่พระมหากษัตริย์ และตั้งชื่อเมือง

อักษรศาสตร์  พวกอินเดียตอนใต้ได้นำเอาตัวอักษรคฤณฑ์เข้ามาเผยแพร่  ต่อมาภายหลังได้ดัดแปลงเป็นอักษรขอม และอักษรมอญ พ่อขุนรามคำแหงมหาราชได้ทรงประดิษฐ์อักษรไทย โดยดัดแปลงจากอักษรขอม เมื่อปี พ.ศ. ๑๘๒๓

ศิลปศาสตร์  ได้แก่ฝีมือในการก่อสร้าง แกะสลัก ก่อพระสถูปเจดีย์ และหล่อพระพุทธรูป

สารบัญ

แก้ไข