# เลขที่ ใจความ หมายเหตุ
สภาพแห่งหนี้
1 2095/2524   สิทธิในการเป็นลูกวงแชร์ เป็นทรัพย์สินชนิดหนึ่ง เพราะมีราคาและอาจถือเอาได้ตาม ป.พ.พ. ม. 99 (ปัจจุบันคือ ม. 138) สิทธินี้จึงจำหน่ายและซื้อขายกันได้

  จำเลยขายสิทธิดังกล่าวให้แก่โจทก์ ในสัญญาซื้อขาย โจทก์จึงเป็นเจ้าหนี้ และจำเลยเป็นลูกหนี้ โจทก์มีสิทธิบังคับให้จำเลยปฏิบัติตามสัญญาซื้อขายได้ ตาม ป.พ.พ. ม. 194

2 4820/2529   สิทธิการเช่าอาคารพิพาทเป็นสิทธิเกี่ยวกับกับทรัพย์สิน และจำหน่ายจ่ายโอนกันได้ เมื่อจำเลยโอนสิทธิให้แก่ผู้ร้อง และผู้ร้องได้ชำระเงินให้ครบถ้วนตามสัญญาทั้งได้เข้าครอบครองอาคารแล้ว ผู้ร้องจึงเป็นเจ้าของสิทธิ ไม่ใช่จำเลยอีกต่อไป โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้จะนำยึดสิทธินั้นโดยอ้างว่ายังเป็นของจำเลยลูกหนี้หาได้ไม่ ต้องเพิกถอนการยึดดังกล่าว
หนี้โดยธรรม
1 1566/2499   จำเลยฉุดคร่าน้องสาวของโจทก์ซึ่งมีอายุเกินยี่สิบปีแล้ว ต่อมา จำเลยขอขมาโจทก์ และรับปากว่าจะชำระค่าเสียหายให้ แต่ไม่ชำระ โจทก์จึงฟ้องขอให้ศาลบังคับให้ชำระ ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า น้องสาวโจทก์อายุเกินยี่สิบปีแล้ว ย่อมบรรลุนิติภาวะ และไม่อยู่ในอำนาจปกครองอีก โจทก์จึงไม่ใช่ผู้ปกครองซึ่งจะมีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากจำเลย เหตุผล คือ เป็นหนี้กันทางใจ ไม่ได้เป็นหนี้กันทางกฎหมาย ศาลบังคับให้ไม่ได้
หนี้พ้นวิสัย
1 960/2509   จำเลยรับเงินจากโจทก์และยอมให้โจทก์ก่อสร้างอาคารบนที่ดินของจำเลย แต่เทศบาลไม่อนุญาตให้โจทก์ก่อสร้าง การชำระหนี้ของจำเลยกลายเป็นพ้นวิสัยโดยที่จำเลยไม่ต้องรับผิด
2 831/2512   การเช่ากระบือไปทำนา ถ้ามิได้ตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่น ผู้เช่าจะส่งกระบือคนแก่ผู้ให้เช่าก็ต่อเมื่อได้เก็บเกี่ยวข้าวตลอดจนนำข้าวขึ้นยุ้งเรียบร้อยแล้ว ซึ่งถือว่าเสร็จฤดูทำนา

  ก่อนถึงกำหนดส่งกระบือคืน คนร้ายปล้นเอากระบือไป สุดวิสัยที่ผู้เช่าจะป้องปัดขัดขวางได้ ความสูญหายของกระบือที่เช่าจึงไม่ใช่ความผิดของผู้เช่า ผู้เช่าไม่ต้องรับผิดคืนหรือใช้ราคากระบือ

3 473/2519   จำเลยรับจ้างลากจูงแพไม้ของโจทก์แล้วแพไม้แตก เพราะชนเสาสะพานขณะลากจูงไป จำเลยทราบดีว่า กระแสน้ำไหลเชี่ยว จึงต้องระมัดระวังอย่างดีในการลากจูง เมื่อแพไม้ชนเสาสะพานแตก จึงเป็นความบกพร่องของฝ่ายจำเลยเอง ไม่ใช่เหตุสุดวิสัย จำเลยต้องชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์
4 928/2521   ผู้ให้เช่าซื้อที่ดินไม่ยอมทำถนนคอนกรีตและท่อน้ำตามสัญญาโดยอ้างวัสดุขึ้นราคา ไม่เป็นเหตุสุดวิสัยที่ทำให้การชำระหนี้เป็นพ้นวิสัย ผู้ให้เช่าซื้อต้องถูกบังคับให้ปฏิบัติตามสัญญา และเสียเบี้ยปรับอีกหนึ่งเท่าของเงินค่าเช่าซื้อที่ส่งแล้วตามสัญญา กับดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี
5 2934/2522   "พ้นวิสัย" หมายถึง เหตุการณ์เกิดขึ้นแล้วทำให้การชำระหนี้เป็นไปไม่ได้ ผลผลิตของน้ำมันดิบขาดแคลนเพราะต่างประเทศขึ้นราคาน้ำมันดิบ ไม่เป็นเหตุพ้นวิสัยที่ทำให้ผู้ขายส่งยางแอสฟัลท์แก่ผู้ซื้อไม่ได้ตามกำหนดเวลา ผู้ขายจึงต้องรับผิดที่ส่งชักช้า
6 2653/2526   จำเลยไม่สามารถหาเรือมาบรรทุกน้ำมันเพื่อส่งมอบให้โจทก์ได้นั้น เป็นเรื่องด้อยความสามารถของจำเลยเอง และที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกสูงขึ้นจนเป็นเหตุให้จำเลยขาดทุน ก็เป็นธรรมดาของการค้าขายซึ่งมีทั้งกำไรและขาดทุน พฤติการณ์ดังกล่าวมิใช่เหตุสุดวิสัยตาม ป.พ.พ. ม. 8
7 1371/2527   พนักงานขับรถของจำเลยขับรถบรรทุกของหนักออกนอกผิวการจราจร เป็นเหตุให้ดินที่ขอบไหล่ถนนทรุดหรือยุบ และรถบรรทุกเสียหลักแล่นตะแคงพลิกคว่ำตกลงไปข้างถนน กรณีเช่นนี้ พนักงานขับรถมีทางที่จะป้องกันได้โดยขับรถไปตามผิวการจราจร เมื่อมิได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควร เหตุที่เกิดขึ้นจึงเป็นความประมาทเลินเล่อ มิใช่เหตุสุดวิสัย
8 2046/2531   จำเลยอ้างว่า ส่งมอบดินขาวให้แก่โจทก์ตามสัญญาไม่ได้ เพราะมีโจรแบ่งแยกดินแดนข่มขู่เรียกค่าคุ้มครองจากโรงงานที่ผลิตดินขาวของจำเลยจนคนงานไม่กล้าเข้าไปทำงาน ดังนี้ เมื่อตามสัญญามิได้เจาะจงให้ส่งมอบดินขาวจากแหล่งผลิตของโรงงานจำเลย จำเลยย่อมจัดหาดินขาวจากแหล่งอื่นได้ ดินขาวมิใช่เป็นทรัพย์เฉพาะสิ่ง จำเลยจะอ้างว่าการชำระหนี้ตกเป็นพ้นวิสัยและปฏิเสธความรับผิดไม่ได้
9 3342/2532   โจทก์ทำสัญญาซื้อวิทยุหาทิศขนาดเล็กจากจำเลย จำเลยจึงมีหน้าที่จัดหาวิทยุหาทิศตามสัญญาส่งมอบให้แก่โจทก์ การที่บริษัทผู้ผลิตไม่ส่งวิทยุหาทิศมาให้จำเลย จึงเป็นความผิดของจำเลยเอง หาใช่เหตุสุดวิสัยหรือพ้นวิสัยไม่
10 1185/2533   จำเลยนำรถยนต์เข้ามาในราชอาณาจักรไทย โดยทำสัญญากับโจทก์ว่า จะส่งรถยนต์กลับออกไปภายในเวลาที่กำหนด มิฉะนั้น จะยอมรับผิดชำระเงินแก่โจทก์ ต่อมา จำเลยไม่ปฏิบัติตามสัญญาโดยอ้างว่า เป็นการพ้นวิสัย เนื่องจากประเทศที่จำเลยจะส่งรถยนต์กลับออกไปตามสัญญานั้นเปลี่ยนไปใช้ระบอบการปกครองที่แตกต่างจากของประเทศไทย จำเลยไม่กล้านำรถยนต์กลับออกไปยังประเทศดังกล่าว ดังนี้ จำเลยไม่กล้านำรถยนต์กลับออกไป ไม่ใช่จำเลยกระทำไม่ได้ การชำระหนี้ของจำเลยไม่พ้นวิสัย จำเลยจึงต้องชำระเงินแก่โจทก์
11 2684/2534   จำเลยเช่าซื้อรถยนต์พิพาทมาเพื่อส่งมอบให้แก่โจทก์ แต่จำเลยผิดสัญญาเช่าซื้อโดยไม่ชำระค่าเช่าซื้อ บริษัทผู้ให้เช่าซื้อจึงยึดรถยนต์กลับไป เป็นเหตุจำเลยไม่มีรถยนต์มาส่งมอบแก่โจทก์ ดังนี้ เป็นเรื่องที่จำเลยไม่ขวนขวายจัดการปัญหาของจำเลยเองให้เรียบร้อย มิใช่เรื่องนอกเหนืออำนาจจำเลย จึงเป็นความผิดของจำเลย มิใช่เป็นเหตุพ้นวิสัยหรือสุดวิสัยซึ่งอยู่นอกเหนือความสามารถที่จำเลยจะป้องกันได้แต่อย่างใด
12 4968-5050/2543   จำเลยมีหนี้ต้องนำหุ้นที่โจทก์ทั้งแปดสิบสามเหลืออยู่ในขณะถูกเลิกจ้างออกจำหน่ายให้แก่บุคคลอื่น ข้อเท็จจริงฟังเป็นที่ยุติว่า กระทรวงการคลังมีคำสั่งให้ระงับการดำเนินกิจการของจำเลย เป็นเหตุให้จำเลยไม่สามารถทำธุรกรรมทางการเงินได้ตามปรกติ จำเลยจึงมีคำสั่งเลิกจ้างพนักงานทั้งหมดรวมทั้งโจทก์ทั้งแปดสิบสามด้วย ในวันที่โจทก์ทั้งแปดสิบสามถูกจำเลยเลิกจ้างนั้น จำเลยย่อมไม่มีอำนาจตามกฎหมายที่จะนำหุ้นที่เหลือของโจทก์ทั้งแปดสิบสามออกขายให้แก่บุคคลอื่นอีกต่อไป จึงถือได้ว่า ภายหลังที่ได้ก่อหนี้ขึ้นแล้ว จำเลยกลายเป็นคนไม่สามารถชำระหนี้ได้ และ ป.พ.พ. ม. 219 ว. 2 ให้ถือเสมือนว่า เป็นพฤติการณ์ที่ทำให้การชำระหนี้ตกเป็นอันพ้นวิสัย

  เมื่อปรากฏว่า การชำระหนี้ของจำเลยกลายเป็นการพ้นวิสัย โดยที่โทษจำเลยไม่ได้ เพราะจำเลยถูกกระทรวงการคลังห้ามไม่ให้ทำธุรกรรมทางการเงิน จำเลยจึงหลุดพ้นจากการชำระหนี้ตาม ป.พ.พ. ม. 219 ว. 1 และถือไม่ได้ว่า จำเลยผิดข้อตกลงดังที่โจทก์ทั้งแปดสิบสามอ้าง จำเลยจึงไม่ต้องชำระเงินค่าหุ้นและค่าเสียหายรวมทั้งดอกเบี้ยแก่โจทก์ตามฟ้อง

13 1076/2546   โจทก์ว่าจ้างจำเลยสีข้าวเปลือกเป็นข้าวสาร โดยโจทก์ให้ค่าตอบแทนเป็นปลายข้าวและรำข้าว เมื่อสีข้าวเสร็จแล้ว จำเลยเก็บข้าวสารไว้ที่โรงสีของจำเลย แต่เพลิงไหม้โรงสีนั้นเสียก่อนจะได้ส่งมอบข้าวสารให้แก่โจทก์ครบถ้วน

  มีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า การที่จำเลยส่งมอบข้าวสารไม่ได้เป็นเหตุสุดวิสัยซึ่งจำเลยไม่ต้องรับผิดหรือไม่ เห็นว่า เมื่อโจทก์ส่งมอบข้าวเปลือกของโจทก์ให้จำเลยสีเป็นข้าวสาร จำเลยจึงมีหน้าที่นำข้าวเปลือกนั้นซึ่งเป็นจำนวนที่โจทก์กำหนดเอาไว้แน่นอนแล้วมาสีเป็นข้าวสาร และข้าวสารที่จำเลยจะต้องส่งมอบแก่โจทก์จึงเป็นทรัพย์เฉพาะสิ่ง สำหรับประเด็นเพลิงไหม้นั้น ไม่ปรากฏว่าเกิดจากการกระทำของผู้ใด และไม่พบร่องรอยหรือหลักฐานที่ทำให้เกิดเพลิงไหม้ในครั้งนี้ด้วย จึงถือไม่ได้ได้ว่า เป็นพฤติการณ์ที่จำเลยต้องรับผิดชอบ ดังนั้น การชำระหนี้ของจำเลยย่อมกลายเป็นพ้นวิสัยเพราะพฤติการณ์ซึ่งจำเลยผู้เป็นลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดชอบตาม ป.พ.พ. ม. 219 ว. 1

14 1678/2546   จำเลยฎีกาว่า ที่จำเลยไม่สามารถชำระหนี้แก่โจทก์ได้ เพราะบริษัทธนินี จำกัด ผู้ซื้อผ้าจากจำเลยอีกทอด มีปัญหาทางการเงินไม่สามารถชำระหนี้ให้แก่จำเลย เป็นเหตุสุดวิสัย ทำให้จำเลยหลุดพ้นไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า เหตุสุดวิสัยตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. ม. 8 หมายถึง เหตุใด ๆ อันจะเกิดขึ้นหรือจะให้ผลพิบัติไม่มีใครอาจป้องกันได้ แต่กรณีของจำเลยเป็นเรื่องการประกอบธุรกิจ การประสบปัญหากำไรหรือขาดทุนเป็นปกติทางการค้า ย่อมเกิดขึ้นได้เสมอ กรณีไม่อาจถือได้ว่าเป็นเหตุสุดวิสัยอันจะทำให้จำเลยหลุดพ้นจากความรับผิดตาม ป.พ.พ. ม. 219 ว. 1 ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
15 3506/2546   ภายหลังจำเลยก่อหนี้แล้ว ประเทศไทยเกิดวิกฤติทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรง ส่งผลให้จำเลยไม่สามารถชำระหนี้ได้ เป็นพฤติการณ์ที่จำเลยไม่ต้องรับผิดชอบ จำเลยไม่ผิดนัดชำระหนี้ และย่อมหลุดพ้นจากการชำระหนี้ ตาม ป.พ.พ. ม. 205 และ 219 เมื่อหลุดพ้นจากการชำระหนี้แล้ว จำเลยย่อมหลุดพ้นจากการบังคับคดีด้วย

  ศาลฎีกาเห็นว่า ลูกหนี้จะหลุดพ้นจากการชำระหนี้ ก็ต่อเมื่อการชำระหนี้กลายเป็นพ้นวิสัยเพราะพฤติการณ์ซึ่งเกิดขึ้นหลังก่อหนี้ โดยเป็นพฤติการณ์ที่ลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดชอบตาม ป.พ.พ. มาตรา 219 ว. 1 ด้วย ในการนี้ แม้วิกฤติทางเศรษฐกิจของประเทศไทยอาจกระทบลูกหนี้บางคน ทำให้ไม่สามารถชำระหนี้สินที่ตนมีต่อสถาบันการเงินได้ตามปรกติ แต่จะถือเป็นพฤติการณ์ที่ทำให้การชำระหนี้กลายเป็นพ้นวิสัยเสียทีเดียวไม่ได้ ต้องพิจารณาเป็นกรณีไป โดยเฉพาะจำเลยซึ่งได้จำนองที่ดินเป็นประกันเงินกู้ยืมไว้กับโจทก์ และโจทก์มีสิทธิร้องขอต่อศาลให้สั่งบังคับชำระหนี้เอาจากที่ดินนั้นได้ตาม ป.พ.พ. ม. 213 และ 728 การชำระหนี้ของจำเลยจึงอยู่ในวิสัยที่พึงปฏิบัติได้อยู่ จำเลยมีหน้าที่ต้องชำระหนี้ให้แก่โจทก์ต่อไป จะอ้างวิกฤติทางเศรษฐกิจของประเทศมาปลดเปลื้องให้ตนหลุดพ้นจากการบังคับไม่ได้

วัตถุแห่งหนี้เป็นทรัพย์
1 339/2506   จำเลยทำสัญญาขายไม้สักให้โจทก์ และรับเงินค่าไม้ไปแล้ว ต่อมา เจ้าหน้าที่ของโจทก์ได้ตรวจไม้ที่จำเลยเตรียมไว้ตามสัญญา และตีตราของโจทก์ลงไว้ ย่อมถือได้ว่า ไม้ที่ตีตราแล้วนั้นเป็นทรัพย์เฉพาะสิ่งตาม ป.พ.พ. ม. 370 เพราะมีการบ่งตัวทรัพย์ลงไว้แน่นอน กรรมสิทธิ์ในไม้จึงตกเป็นของโจทก์แล้ว เมื่อมีคนลอบวางเพลิงโรงเลื่อยจำเลย ซึ่งมิใช่ความผิดของจำเลย โจทก์จะเรียกร้องราคาไม้คืนจากจำเลยไม่ได้
2 455/2518   ผู้ขายขายข้าวเปลือกในยุ้งที่มีอยู่สามสิบเกวียนให้แก่ผู้ซื้อ แม้ผู้ขายรับฝากข้าวเปลือกนั้นไว้ต่อไป กรรมสิทธิ์ย่อมโอนไปเป็นของผู้ซื้อแล้ว เมื่อผู้ซื้อขายข้าวนั้นให้แก่แก่ผู้อื่นอีก ย่อมเป็นยักยอก
3 149/2539   จำเลยมีหนี้ต้องส่งมอบไม้ฟืนให้แก่โจทก์ ต่อมา มีคำสั่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้สัมปทานทำไม้ในเขตป่าไม้ของจำเลยสิ้นสดลง การชำระหนี้ของจำเลยจึงตกเป็นพ้นวิสัยเพราะเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งอันจะโทษฝ่ายใดมิได้ เป็นผลให้จำเลยหลุดพ้นจากการชำระหนี้ แต่เมื่อสัญญาดังกล่าวเป็นสัญญาต่างตอบแทน โจทก์ไม่ได้รับชำระหนี้ตอบแทนแล้ว จำเลยก็ไม่มีสิทธิได้รับเช่นกัน โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องมัดจำคืนจากจำเลยได้
4 5243/2550   จำเลยเปิดรับจองพระจากประชาชนทั่วไป โจทก์สั่งจองพระพิมพ์จิตรลดาชุดทองคำและชำระเงินแล้ว ต่อมา จำเลยสั่งจ่ายแคชเชียร์เช็คให้โจทก์แทนการส่งมอบพระชุดพิพาท เพราะจำเลยส่งมอบพระดังกล่าวให้แก่ผู้อื่นไปจนหมดสิ้นแล้ว จึงไม่มีพระชุดพิพาทเหลืออยู่ที่จำเลยอีก โจทก์ไม่รับเช็คและมาฟ้องเรียกค่าเสียหาย

  จำเลยฎีกาว่า ที่ส่งมอบพระให้แก่ผู้อื่น เพราะบุคคลเหล่านั้นมีสิทธิก่อนจำเลย ตามลำดับโควตาที่ได้เพิ่มหรือลดในภายหลัง การชำระหนี้ของจำเลยกลายเป็นพ้นวิสัยโดยที่ไม่ใช่ความผิดของจำเลย จำเลยหลุดพ้นจากการชำระหนี้ และไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ด้วย ศาลฎีกาเห็นว่า การเพิ่มหรือลดโควตาเป็นปัญหาทางธุรกิจของจำเลยเอง ไม่ใช่เหตุสุดวิสัยที่จะทำให้การชำระหนี้ของจำเลยกลายเป็นพ้นวิสัย เมื่อจำเลยรับพระมาจากผู้สร้างแล้วไม่ส่งมอบให้โจทก์ตามสัญญา จำเลยจึงชื่อว่าผิดสัญญาและต้องรับผิดต่อโจทก์

วัตถุแห่งหนี้เป็นเงินตรา
1 5020/2544   คดีนี้ ผู้ร้องขอให้บังคับผู้คัดค้านชำระหนี้เป็นเงินตราต่างประเทศ คือ โครเนอนอร์เวย์ (Norwegian krone) เท่านั้น ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้คิดอัตราแลกเปลี่ยนเป็นเงินไทยในวันที่มีคำพิพากษา จึงไม่เป็นไปตามบทบัญญัติ ป.พ.พ. ม. 196 ว. 2 ที่ให้คิดอัตราแลกเปลี่ยน ณ สถานที่และในเวลาที่ใช้เงิน ทั้งยังเป็นการพิพากษาเกินคำขอ ไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2539 ม. 26 ประกอบ ป.วิ.พ. ม. 142 ว. 1 ปัญหานี้เกี่ยวข้องกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศมียกขึ้นวินิจฉัยได้
2 5020/2547   ป.พ.พ. ม. 196 ให้ลูกหนี้มีสิทธิเลือกเองว่าจะชำระหนี้เป็นเงินตราต่างประเทศหรือเงินไทย ศาลไม่มีอำนาจบังคับลูกหนี้หรือเลือกแทนลูกหนี้ จึงไม่จำเป็นที่ศาลจะสั่งให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์คำนวณยอดหนี้จากเงินดอลลาร์สหรัฐเป็นเงินไทย
3 568/2548   คดีนี้ โจทก์ขอให้บังคับจำเลยชำระหนี้เป็นเงินต่างประเทศ คือ ฟรังก์ฝรั่งเศส (French franc) พร้อมดอกเบี้ย จำเลยจะชำระเป็นเงินไทยก็ได้โดยให้คิดอัตราแลกเปลี่ยน ณ สถานที่และในเวลาที่ใช้เงินตาม ป.พ.พ. ม. 196 ว. 2 ทว่า ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางได้พิพากษาให้ใช้อัตราแลกเปลี่ยนในวันฟ้อง หากอัตราในวันฟ้องสูงกว่าอัตราในเวลาชำระเงินจริง ย่อมมีผลให้จำเลยต้องชำระหนี้สูงกว่าที่ควร เท่ากับเป็นการพิพากษานอกเหนือหรือเกินไปกว่าคำฟ้อง จึงไม่ชอบ ปัญหานี้เกี่ยวข้องกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ปัญหานี้เกี่ยวข้องกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศมียกขึ้นวินิจฉัยได้
วัตถุแห่งหนี้มีหลายอย่าง
1367/2510   คำพิพากษาศาลชั้นต้นซึ่งถึงที่สุดแล้วบังคับให้จำเลยส่งมอบห้องพิพาทให้โจทก์ ถ้าไม่สามารถส่งมอบห้องได้ ก็ให้จำเลยคืนเงินแก่โจทก์ ดังนี้ เป็นการกำหนดให้จำเลยชำระหนี้ตามลำดับ ไม่ใช่ให้เลือกชำระอย่างใดก็ได้ตาม ป.พ.พ. ม. 198 จำเลยจะอ้างว่า จำเลยต้องใช้ห้องพิพาทประกอบอาชีพ จึงขอไม่ส่งมอบห้องแล้วจะคืนเงินให้แก่โจทก์แทน หาได้ไม่ แต่ถ้าโจทก์ยินยอม ก็ได้
982/2513   ในกรณีผิดสัญญา คู่สัญญาย่อมมีสิทธิบังคับเอาแก่คู่สัญญาฝ่ายผิดสัญญานั้นสองประการ คือ บังคับชำระหนี้ตามมูลหนี้ ประการหนึ่ง กับบอกเลิกสัญญาแล้วเรียกค่าเสียหาย ประการหนึ่ง เมื่อจำเลยใช้สิทธิเลิกสัญญาและเรียกค่าเสียหายจากโจทก์ผู้ผิดสัญญาแล้ว ก็ย่อมจะบังคับให้โจทก์ชำระหนี้ตามสัญญาไม่ได้อีก ที่จำเลยฟ้องแย้งเรียกเอาราคาตึกซึ่งโจทก์ไม่ได้ชำระตามสัญญานั้น ก็เท่ากับฟ้องบังคับให้โจทก์ปฏิบัติตามสัญญานั่นเอง จำเลยจะใช้สิทธิดังนี้หาได้ไม่
2442/2520   ศาลพิพากษาว่า หนี้ที่จำเลยต้องชำระมีสองอย่างอย่างใดอย่างหนึ่ง คือ ส่งมอบกระดาษหรือใช้ราคา สิทธิเลือกย่อมอยู่ที่จำเลยผู้เป็นลูกหนี้ตาม ป.พ.พ. ม. 198 หาใช่โจทก์ไม่
484/2525   ศาลพิพากษาให้จำเลยไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่โจทก์ ถ้าจดทะเบียนไม่ได้ ก็ให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ ดังนี้ การชำระหนี้ต้องเป็นไปตามลำดับ มิใช่ว่าจำเลยมีสิทธิเลือกตาม ป.พ.พ. ม. 195 และ 198 เมื่อยังโอนที่ดินได้อยู่ จำเลยจะขอชดใช้ค่าเสียหายแทนโดยที่โจทก์มิได้ยินยอมหาได้ไม่
6157/2544   ศาลพิพากษาให้จำเลยไปจดทะเบียนให้โจทก์เช่าที่ดินเป็นเวลาสามสิบปีเพื่อโจทก์จะได้ใช้ทำการค้าขาย ถ้าจดทะเบียนไม่ได้ ก็ให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ จำเลยยอมจดทะเบียน แต่ปรากฏว่า หนังสือสัญญาเช่าที่จะจดทะเบียนนั้นมีข้อความจำกัดสิทธิผู้เช่าเกินกว่าที่ผู้เช่าโดยทั่วไปจะปฏิบัติได้ เช่น ผู้อยู่อาศัยต้องเป็นญาติของผู้เช่าเท่านั้น ห้ามชาวต่างประเทศอยู่หรือทำงานในที่เช่า ห้ามทุกคนอยู่บริเวณเฉลียงอาคารในเวลากลางวัน ผู้เช่าต้องค้าขายภายในสี่ปีนับแต่วันทำสัญญาเช่า มิฉะนั้น ต้องเสียค่าปรับเป็นรายวัน เป็นต้น โจทก์จึงมีสิทธิไม่ยอมรับการจดทะเบียนได้ ตาม ป.พ.พ. ม. 207 และ 320 กรณีต้องถือว่าจำเลยที่ไม่สามารถชำระหนี้ลำดับแรกตามคำพิพากษาได้ เพราะฉะนั้น โจทก์มีสิทธิขอให้ออกหมายบังคับคดีเพื่อให้จำเลยชำระหนี้ลำดับหลัง และการที่ศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดีไม่ขัดต่อ ป.วิ.พ. ม. 296 ว. 1 แต่ประการใด
2671/2550   ศาลพิพากษาให้โจทก์ชำระหนี้ตามลำดับ คือ ส่งมอบรถยนต์เช่าซื้อคืนจำเลย ถ้าคืนไม่ได้ ก็ให้ใช้ราคา แม้ไม่ใช่หนี้เลือกชำระได้ตาม ป.พ.พ. ม. 198 แต่เมื่อโจทก์ชำระราคาเป็นเงินตลอดจนค่าธรรมเนียมครบถ้วน และจำเลยรับไว้โดยไม่โต้แย้งคัดค้าน แสดงว่า จำเลยสละสิทธิบังคับชำระหนี้ลำดับแรกแล้ว
5888/2551   ศาลพิพากษาให้จำเลยคืนนกเขาชวาสีขาวบริสุทธิ์ ตาสีฟ้า จำนวนแปดตัว แก่โจทก์ ถ้าคืนไม่ได้ ก็ให้ใช้ราคา เป็นหนี้ที่จำเลยต้องชำระตามลำดับ มิใช่หนี้หลายอย่างซึ่งจำเลยจะเลือกชำระอย่างใดก็ได้ แต่เมื่อโจทก์ขอให้บังคับเอาราคาเงินจากทรัพย์สินของจำเลย แสดงว่าโจทก์สละสิทธิบังคับชำระหนี้ลำดับแรกแล้ว