วิกิเยาวชน:ธงชาติไทย
สวัสดี! เราทุกคนคงเคยได้ยินกันว่า ธงชาติไทยมีสามสี สีแดงคือชาติ สีขาวคือศาสนา สีน้ำเงินงามตาพระมหากษัตริย์ไทย แต่ประวัติของธงชาติไทยก่อนเป็นสามสีนั้นเป็นอย่างไร
ธงแดงเกลี้ยง: อยุธยาสู่ที่มาของธงชาติไทย
แก้ไขประวัติของธงชาติในประเทศไทย ปรากฏพบว่า เริ่มมีการใช้ในสมัยอยุธยา รัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชแห่งกรุงศรีอยุธยา ตอนนั้น เรือค้าขายของฝรั่งเศสลำหนึ่งได้เดินทางมากรุงศรีอยุธยา เมื่อมาถึงที่ป้อมวิชัยประสิทธิ์ของไทย ปกติเรือสินค้าสำคัญ เรือที่มากับราชทูตที่จะผ่านต้องมีธรรมเนียมประเพณีคือ ชักธงประเทศของเขาบนเรือ เพื่อแสดงสัญลักษณ์ว่า มาถึงแล้ว เมื่อเรือฝรั่งเศสชักธงชาติของตัวเองขึ้น ฝ่ายสยามยิงสลุตคำนับตามธรรมเนียม ซึ่งขณะเดียวกันสยามเองต้องชักธงขึ้นด้วย เพื่อตอบกลับว่า ยินดีต้อนรับ แต่ตอนนั้นทหารประจำป้อมวิไชยเยนทร์ไม่เคยพบประเพณีแบบนี้ และสยามไม่มีธงสัญลักษณ์ที่ใช้เป็นธงชาติมาก่อน จึงคว้าผ้าที่วางอยู่แถวนั้น ซึ่งดันหยิบธงชาติฮอลันดาชักขึ้นเสาแบบส่งเดช เมื่อทหารฝรั่งเศสเห็นก็ตกใจไม่ยอมชักธงและไม่ยอมยิงสลุต จนกว่าจะเปลี่ยน เพราะการที่ได้ชักเอาธงชาติฮอลันดา ซึ่งในขณะนั้นฝรั่งเศสกับฮอลันดาเป็นศัตรูกัน ฝ่ายไทยได้แก้ปัญหาโดยชักผ้าสีแดงขึ้นแทนธงชาติฮอลันดา ฝรั่งเศสจึงยอมยิงสลุตคำนับตอบ
เหตุการณ์ดังกล่าวจึงถือกันว่าเป็นจุดเริ่มต้นของประวัติศาสตร์ธงชาติไทย โดยทหารสยามประจำป้อมก็เปลี่ยนเป็นผ้าสีแดงที่หาได้ในตอนนั้น และต้นกำเนิดธงก็เริ่มขึ้น นับจากนั้น ธงที่ใช้ไม่ว่าจะใช้บนเรือหลวง เรือราษฎร ใช้บนป้อมประจำการก็ล้วนเป็นสีแดง
ธงวงจักร: ธงเรือหลวงแห่งราชวงศ์จักรี
แก้ไขในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ เรือหลวงและเรือค้าขายยังคงใช้ธงแดงล้วนเป็นธงชาติ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงกำหนดให้เพิ่มวงจักร สำหรับธงเรือหลวงเท่านั้น สาเหตุที่พระองค์กำหนดให้ใช้วงจักร ลงไว้กลางธงผ้าพื้นแดงสำหรับชักในเรือกำปั่นหลวง เพื่อแสดงความแตกต่างระหว่างเรือของพระมหากษัตริย์ กับเรือค้าขายของราษฎรสยาม ที่ใช้ธงผ้าพื้นแดงเกลี้ยง
ต่อมา รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระองค์ได้ช้างเผือกเอก 3 ช้าง คือ พระยาเศวตกุญชร พระยาเศวตไอยรา และพระยาเศวตคชลักษณ์ นับเป็นเกียรติยศยิ่งต่อแผ่นดิน จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เพิ่มรูปช้างเข้าภายในวงจักรของเรือหลวงไว้ด้วย อันมีความหมายว่า พระเจ้าแผ่นดินอันมีช้างเผือก แต่ธงช้างอยู่ในวงจักรใช้แต่เรือหลวงเท่านั้น เรือพ่อค้ายังคงใช้ธงแดงตามเดิม
-
ผังธงโลก พ.ศ. 2380
-
ธงวงจักร
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่ 1) -
ธงช้างเผือกในวงจักร
พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ 2)
ธงช้างเผือก: ธงสยามทางการ
แก้ไขหากเราพิจารณา พบว่า ธงช้างเผือก มีมาตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ปรากฏในผังธงโลกของนักเดินทางสำรวจพิมพ์ในฝรั่งเศส มีลักษณะเป็นช้างเผือกปล่อยหรือช้างเผือกเปล่า ต่อมา รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริว่า ธงพื้นสีแดงที่เอกชนสยามใช้ทั่วไปนั้นซ้ำกับประเทศอื่นในการติดต่อระหว่างประเทศ สยามจึงจำเป็นต้องมีธงชาติใช้เป็นของตัวเอง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ใช้ธงพื้นสีแดงมีรูปช้างเผือกเปล่าอยู่ตรงกลางเป็นธงชาติสยามแต่เอารูปจักรออก เนื่องจากเหตุผลว่า จักรเป็นเครื่องหมายเฉพาะพระองค์พระมหากษัตริย์ ให้ใช้ได้ทั่วไปทั้งเรือหลวงและเรือค้าขาย แต่เรือหลวงนั้นทรงกำหนดให้ใช้พื้นเป็นสีน้ำเงินขาบชักขึ้นที่หัวเรือ ธงนี้มีชื่อว่า ธงเกตุ เพื่อเป็นเครื่องหมายสำหรับแยกแยะว่าเป็นเรือหลวงด้วย
และรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้มีการตราพระราชบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับธง คือ พระราชบัญญัติว่าด้วยแบบอย่างธงสยาม รัตนโกสินทรศก 110 ซึ่งกำหนดให้ธงชาติเป็นรูปช้างเผือกบนพื้นสีแดง
ธงช้างเผือกทรงเครื่องยืนแท่น และธงแดงขาวห้าริ้ว
แก้ไขธงช้างเผือกได้ใช้เป็นธงชาติสยามอย่างยาวนาน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพึงตระหนักว่า ในยุคนั้นธงช้างถือว่าเป็นของหายาก มีราคาแพง เพราะต้องสั่งทำจากต่างประเทศ อีกทั้งธงช้างที่มีขายบางแบบนั้นผลิตมาจากประเทศที่ไม่รู้จักช้าง รูปร่างของช้างที่ปรากฏจึงไม่น่าดู แม้กระนั้น ก็ยังมีราษฎรคนหนึ่งซึ่งตั้งใจรอรับเสด็จหาธงช้างมาได้ แต่ด้วยความประมาทจึงประดับธงผิดด้าน กลายเป็นประดับกลับหัว ซึ่งเป็นการสื่อเจตนาที่เสื่อมเสียแก่พระเกียรติยศ
พระองค์ทอดพระเนตรเห็นเหตุการณ์ดังนั้นจึงทรงมีพระราชดำริว่า ธงชาติต้องมีรูปแบบที่สมมาตร และราษฎรสามารถทำใช้เองได้จากวัสดุภายในประเทศ เพื่อมิให้เกิดปัญหาดังกล่าวขึ้นอีก จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนรูปแบบธงชาติ เป็นธงรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีแถบยาวสีแดง 3 แถบ สลับกับแถบสีขาว 2 แถบ ซึ่งเหมือนกับธงชาติไทยในปัจจุบัน แต่มีเพียงสีแดงสีเดียว ซึ่งธงนี้เรียกว่า ธงแดงขาวห้าริ้ว ตามความพระราชบัญญัติเรียกว่า ธงค้าขาย ทั้งนี้ สำหรับหน่วยงานราชการสยามใช้ธงช้างเผือกเป็นสัญลักษณ์แบบทรงเครื่องยืนแท่น ธงนี้เป็นธงสำหรับราษฎรสยามและมีฐานะเป็นธงราชการตั้งแต่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2459
ธงไตรรงค์: ธงชาติของประเทศไทย
แก้ไขเมื่อวันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2460 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติแก้ไขพระราชบัญญัติธง พระพุทธศักราช 2460 เพราะประเทศไทยได้เข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง กับประเทศฝ่ายสัมพันธมิตร ซึ่งธงชาติส่วนใหญ่จะมีสามสี อย่างธงดาวของสหรัฐ ธงสามสีของฝรั่งเศส และธงยูเนียนแจ็คของสหราชอาณาจักร จึงให้เรียกว่า ธงไตรรงค์ มีแถบสีแดง สีขาว และสีน้ำเงินแก่
การเปลี่ยนแปลงมาเป็นธงไตรรงค์นี้ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงออกแบบธงไตรรงค์ และได้ให้ความหมายของสีที่อยู่ในธงชาติดังนี้
สีขาว หมายถึง ความบริสุทธิ์แห่งศาสนา
สีน้ำเงิน หมายถึง สีส่วนพระองค์ของพระมหากษัตริย์สำหรับสีส่วนพระองค์ของพระมหากษัตริย์ ทรงรำลึกสีน้ำเงินเป็นสีวันพระราชสมภพ ทั้งเครื่องแบบของทหารมหาดเล็กคงใช้สีขาบ ตรงกับสีน้ำเงินแก่ เมื่อประดับในพิธีงานเป็นที่พอพระราชหฤทัย เพราะได้ลักษณะสมพระราชปราถนา สะดวกสบาย ประหยัด และสวยงาม ดังนั้น ทุกวันที่ 28 กันยายน ของทุกปี จึงเป็นวันธงชาติไทย
บรรณานุกรม
แก้ไข- สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ. อธิบายเรื่องธงไทย. ประเสริฐสมุด. 2476.