ความรู้เรื่องประชากรและชุมชนเมือง/ประเภทของชุมชน

ในทางสังคมวิทยาแบ่งชุมชนออกเป็น 2 แบบ คือ ชุมชนชนบท (Rural) และเมือง (Urban) และราชบัณฑิตยสถาน (2524: 316,408) ได้ให้ความหมายของคำว่า ชนบทและเมืองไว้ดังนี้

1.ชนบท หมายถึง ส่วนที่อยู่นอกเขตเมืองหรือเขตเทศบาล มีประชากรที่เลี้ยงชีพด้วยการเกษตรกรรมเป็นสำคัญ มีระเบียบสังคมที่สอดคล้องกับลักษณะชุมชนแบบหมู่บ้าน ตั้งบ้านเรือนเป็นกลุ่มก้อน หรือกระจัดกระจายตามลักษณะภูมิประเทศหรือตามประเพณีนิยม

2.เมือง เป็นชุมชนแบบหนึ่ง เช่น ในสหรัฐอเมริกา ชุมชนเมือง ก่อน พ.ศ. 2453หมายถึงเขตที่มีจำนวนประชากรตั้งแต่ 8,000 คนขึ้นไป แต่หลังจากปี พ.ศ. 2453 หมายถึงเขตที่มีจำนวนประชากรตั้งแต่ 2,500 คนขึ้นไป ส่วนในประเทศไทยกำหนดให้เขตเทศบาล ที่มีจำนวนประชากรตั้งแต่ 10,000 คนขึ้นไป เป็นเขตเมือง

เนื่องจากชนบทและเมืองมีความแตกต่างกันทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม ประชากร และสิ่งแวดล้อม นักสังคมวิทยาจึงได้อธิบายความแตกต่างระหว่างชุมชนชนบทและเมืองในด้านต่าง ๆ ไว้ดังนี้ (Sorokin and Zimmerman, 1929: 56-57)

1.ด้านอาชีพ (Accupation)

ชนบท เป็นชุมชนที่ประกอบด้วยประชากรและครอบครัวที่ประกอบอาชีพการเกษตร ส่วนอาชีพอื่น ๆ มีน้อยกว่าอาชีพเกษตรกรรม

เมือง ประชากรส่วนใหญ่มีอาชีพเกี่ยวกับเครื่องจักรกล อุตสาหกรรม การค้าพาณิชยกรรม นักวิชาการ การปกครอง และอาชีพอื่น ๆ ที่ไม่ใช่เกษตรกรรม

2.ด้านสิ่งแวดล้อม (Environment)

ชนบท เป็นสิ่งแวดล้อมที่เกิดตามธรรมชาติและมีอิทธิพลต่อสิ่งแวดล้อมทางสังคมและวัฒนธรรม ความเป็นอยู่ของประชาชนมีความสัมพันธ์กับธรรมชาติโดยตรง

เมือง สิ่งแวดล้อมส่วนใหญ่เป็นสิ่งแวดล้อมที่มนุษย์สร้างขึ้นและมีอิทธิพลต่อความเป็นอยู่ของประชาชน ประชาชนห่างไกลจากสิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติ

3.ด้านขนาดของชุมชน (Size of community)

ชนบท เป็นชุมชนของเกษตรกรขนาดเล็ก ๆ แต่ใช้พื้นที่ขนาดใหญ่ในการประกอบอาชีพ

เมือง เป็นชุมชนขนาดใหญ่ ขนาดของชุมชนจะมีความสัมพันธ์กับความเป็นเมือง

4.ด้านความหนาแน่นของประชากร (Density of population)

ชนบท ความหนาแน่นของประชากรในชนบทจะต่ำกว่าในเมือง

เมือง ความหนาแน่นของประชากรสูงกว่าชนบท และมีความสัมพันธ์กับความเป็นเมือง

5.ด้านความต่างแบบกันหรือความเป็นแบบเดียวกันของประชากร (Heterogeneity andhomogeneity of population)

ชนบท ประชากรมีความเป็นแบบเดียวกันในลักษณะของเชื้อชาติและความรู้สึกทางสังคม

เมือง ประชากรมีความต่างแบบกันมาก และความเป็นเมืองจะมีความสัมพันธ์กับความต่างแบบของประชากร

6.ด้านความแตกต่างทางสังคมและการแบ่งชั้นทางสังคม (Social differentiation and stratification)

ชนบท มีความแตกต่างทางสังคมและการแบ่งชั้นทางสังคมน้อย

เมือง มีความแตกต่างทางสังคมและการแบ่งชั้นทางสังคมมาก

7.ด้านการเคลื่อนที่ทางสังคม (Social mobility)

ชนบท การเปลี่ยนแปลงในด้านที่อยู่อาศัย อาชีพ และอื่น ๆ มีการเปลี่ยนแปลงน้อย ส่วนการย้ายถิ่นจะเป็นในลักษณะจากชนบทไปสู่เมือง

เมือง มีการเคลื่อนที่ทางสังคมมากกว่าชนบท การเคลื่อนที่ทางสังคมจะมีความสัมพันธ์กับความเป็นเมือง โดยปกติจะมีการย้ายถิ่นจากชนบทเข้ามาอยู่ในเมือง แต่ถ้าเกิดเหตุการณ์วิกฤต คนในเมืองจะมีการอพยพจากเมืองไปสู่ชนบท

8.ด้านระบบของการกระทำระหว่างกัน (System of interaction)

ชนบท มีการติดต่อและสื่อสารกันน้อยกว่าคนในเมือง มีการติดต่อและมีความสัมพันธ์แบบปฐมภูมิ (Primary relation) ความสัมพันธ์จะเป็นแบบส่วนตัวง่าย ๆ แต่จริงใจ

เมือง มีการติดต่อและสื่อสารกันมาก อาณาเขตของการกระทำระหว่างกันกว้างมากกว่าในชนบท มีการติดต่อและมีความสัมพันธ์แบบทุติยภูมิ (Secondary relation) ไม่มีความเป็นกันเอง ความสัมพันธ์คงอยู่เพียงระยะเวลาสั้น ๆ รูปแบบความสัมพันธ์มีความซับซ้อน ยุ่งยาก ผิวเผิน และมีแบบ

หน้า

แก้ไข