ความรู้เรื่องประชากรและชุมชนเมือง/ชานเมือง

จากปรากฎการทางสังคมในปัจจุบันจะพบว่า ความเจริญก้าวหน้าของชุมชนเมืองทำให้เกิดการอพยพของประชากรในเขตชนบทเข้ามาในเขตเมืองมากขึ้น เมื่อในเขตเมืองมีความหนาแน่นมากขึ้น เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม ความเสื่อมโทรมในตัวเมืองมีมากขึ้น การขยายตัวของเมืองก็จะเกิดขึ้นตามมา ทำให้มีการกระจายตัวของประชากรเมือง (Decentralization) เข้าครอบครอง (Dominate) พื้นที่ใหม่ที่อยู่บริเวณรอบ ๆ เมือง พื้นที่ที่รองรับการขยายตัวของเมืองก็คือ ชานเมือง (Suburb)

พจนานุกรมศัพท์สังคมวิทยา (ราชบัณฑิตยสถาน 2524 : 387) อธิบายว่า ชานเมือง หมายถึง ส่วนที่อยู่รอบ ๆ เมืองใหญ่หรือเมืองเล็ก และมีระบบเศรษฐกิจขึ้นอยู่กับเมือง ถึงแม้จะจัดเขตบริหารการปกครองแยกออกมาจากเมืองก็ตาม

ฮาร์แลน พอล ดวงกลาสส์ (Douglass 1970 : 387) อธิบายว่า ชานเมืองสามารถพิจารณาได้จากความหนาแน่นของประชากร โดยประชากรที่อยู่ในชานเมืองจะมีความหนาแน่นน้อยกว่าประชากรที่อยู่บริเวณใจกลางเมือง อีกทั้งมีระยะห่างจากศูนย์กลางเมืองมาก

สก็อตต์ โดนัลสัน (Donalson 1969 : ix) อธิบายว่า ชานเมืองคือบริเวณที่ประชาชนตั้งถิ่นฐานที่อยู่อาศัยอยู่ในรัศมีที่สามารถเดินทางมาทำงานในเขตเมืองได้เป็นประจำวัน มีการพึ่งพาอาศัยระบบเศรษฐกิจและสังคมจากเขตเมืองศูนย์กลาง แต่บางทีก็เป็นอิสระจากเมืองศูนย์กลาง

เอดวิน อาร์. เอ. ซีลิกแมน (Seligman 1934 : 433) อธิบายว่า ชานเมืองเป็นกลุ่มชุมชนที่อยู่ล้อมรอบติดกับเขตเมืองศูนย์กลาง

จอร์ด เอ. ดิโอเดอร์เสน และอาร์อิลเลส จี. ดิโอเดอร์สัน (Theodorsen and Theodorson 1969 : 425-426) อธิบายว่า ชานเมือง หมายถึง ชุมชนเล็ก ๆ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเมือง มีพื้นที่ติดต่อและขึ้นอยู่กับเมืองศูนย์กลาง เมืองศูนย์กลางนั้นอาจจะเป็นไม่เป็นเมืองหลวงของประเทศก็ได้ ชานเมืองจะแยกการปกครองจากเมืองศูนย์กลาง แต่ยังพึ่งพาอาศัยระบบเศรษฐกิจจากเมืองศูนย์กลางอยู่

สรุปได้ว่า ชานเมืองเป็นพื้นที่ที่อยู่รอบ ๆ เมือง มีประชากรอาศัยอยู่ร่วมกันหนาแน่นน้อยกว่าเมืองแต่มากกว่าชนบท ประชากรในเขตชานเมืองสามารถมาทำงานที่เมืองแบบไปกลับได้ ถึงแม้ว่าเขตชานเมืองจะแยกการปกครองจากเขตเมืองแต่ก็ยังพึ่งพาอาศัยระบบเศรษฐกิจจากเมืองอยู่บ้าง

ก่อนที่ชานเมืองจะกลายมาเป็นเมือง (Urbanization) พื้นที่ของชานเมืองจะมีลักษณะเป็นที่โล่งว่างและมีประชากรอาศัยอยู่อย่างเบาบาง การที่ชานเมืองเป็นบริเวณมีสามารถรองรับการกระจายตัวของเมืองได้เป็นอย่างดีนั้น มีปัจจัยสนับสนุนดังนี้ (ไพบูลย์ ช่างเรียน 2516 : 250-251)

1.ปัจจัยด้านการคมนาคม (Mass communication) การสร้างเส้นทางคมนาคมติดต่อระหว่างชานเมืองกับตัวเมือง ทำให้เกิดความสะดวกรวดเร็วในการเคลื่อนไหว เมื่อมีการเคลื่อนไหวได้รวดเร็วและได้มากณ ที่นั้นก็จะมีความเจริญเกิดขึ้น ผู้คนอพยพไปอยู่มากขึ้น

2.ปัจจัยด้านที่อยู่อาศัย การออกไปจัดทำที่ดินหรือที่อยู่อาศัยบริเวณชานเมืองนั้น ทำให้สามารถมีบริเวณบ้านกว้างขวาง ราคาพอสมควรพอที่จะทำให้ผู้มีรายได้ปานกลางหาซื้อได้

3.ปัจจัยด้านที่ตั้ง (Location) การสร้างสถานที่ราชการของรัฐบาล มีส่วนช่วยให้เกิดชุมชนขึ้นอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้เพราะประชาชนเห็นว่าเมือมีสถานที่ราชการของรัฐบาลเกิดขึ้นแล้ว การบริการสาธารณต่าง ๆ เช่น ไฟฟ้า น้ำประปา ถนนหนทางและความปลอดภัยก็จะติดตามมาด้วยรวมทั้งสืบเนื่องมาจากนโยบายของรัฐบาลที่สนับสนุนให้มีการสร้างโรงงานอุตสาหกรรมขึ้นในเขตชานเมือง เมื่อเกิดย่านอุตสาหกรรมขึ้นแล้ว ก็จำเป็นจะต้องมีคนงาน จึงทำให้เกิดแหล่งที่อยู่อาศัยบริเวณเขตอุตสาหกรรมเพื่อความสะดวกในการทำงาน

4.ปัจจัยด้านการลงทุนของนักจัดสรรที่ดิน เมื่อบริเวณรอบ ๆ เมืองมีระบบคมนาคมที่สะดวกรวดเร็วในการเคลื่อนไหว ทำให้มีนักเก็งกำไรในการจัดสรรที่ดินเกิดขึ้น โดยทำการจัดสรรที่ดินและจัดทำสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ เช่น ไฟฟ้า น้ำประปา ถนน เพื่อเป็นการจูงใจความต้องการของประชาชนที่อยู่อาศัย

5.ปัจจัยด้านบทบาทของการเดินทางไปกลับ (Commuter) โดยอาศัยผลจากความสะดวกรวดเร็วของการคมนาคมเข้ามาทำงานและอาศัยบริการต่าง ๆ ในตัวเมืองกลับออกไปในตอนเย็นซึ่งก่อให้เกิดการอพยพของประชากรที่อยู่อาศัยในเมืองออกไปอยู่ในเขตชานเมืองมากขึ้น

หน้า

แก้ไข