กรีฑา/กีฬาประเภทลาน
กรีฑาประเภทลาน (Field)
แก้ไขกรีฑาประเภทลาน ประกอบด้วยการวิ่งกระโดดไกล การวิ่งกระโดดสูง การทุ่มน้ำหนัก การขว้างจักร และการพุ่งแหลน แต่ละประเภทต้องอาศัยทักษะที่แตกต่างกัน โดยการวิ่งกระโดดไกล ระบบการทำงานของร่างกายระหว่างประสาทและกล้ามเนื้อต้องมีความสัมพันธ์กัน จะช่วยให้สามารถบังคับส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้อย่างนิ่มนวลและถูกต้องตามจังหวะที่ต้องการ การวิ่งกระโดดสูงต้องรู้จักจังหวะการกระโดด การสปริงตัวขึ้น การลอยตัวในอากาศ และการลงสู่พื้นได้อย่างปลอดภัย การทุ่มลูกน้ำหนักต้องรู้จักการทรงตัว การกระโดดได้อย่างคล่องแคล่วว่องไว และการใช้แรงส่งลูกน้ำหนักให้ไปไกลที่สุด การขว้างจักรต้องอาศัยการเหวี่ยงตัว และจังหวะที่ดีในการเหวี่ยงจักร รวมทั้งต้องมีความรวดเร็วว่องไว ประสาทและทักษะในการเคลื่อนไหวดี การพุ่งปล่อยแหลนออกไปในท่าที่ถูกต้องรู้จักจังหวะการวิ่ง การบังคับแหลนควรเรียนรู้ทำความเข้าใจ และฝึกปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ
การวิ่งกระโดดไกล (Long Jump)
แก้ไขการวิ่งกระโดดไกลมีหลายแบบ เช่น การวิ่งกระโดดไกลแบบงอตัว แบบก้าวขาในอากาศแบบแอ่นตัว ในที่นี้จะขอยกตัวอย่างการวิ่งกระโดดไกลแบบงอตัว ซึ่งมีเทคนิคและกติกาดังนี้
1) เทคนิคการวิ่งกระโดดไกล การวิ่งกระโดดไกลแบบงอตัวนับว่าเป็นท่าพื้นฐานเบื้องต้น เพราะเป็นแบบที่ลอยตัวง่าย ๆ เหมาะกับเด็กหรือผู้ที่ฝึกหัดใหม่ ซึ่งมีเทคนิคโดยทั่วไป ดังนี้
1.1) การวิ่งก่อนกระโดด การวิ่งก่อนการกระโดดจะเริ่มตั้งแต่ก่อนออกวิ่งจนกระทั่งวิ่งไปเหยียบกระดานเพื่อกระโดด ในท่าเตรียมพร้อมก่อนออกวิ่ง ให้ยืนเท้าใดเท้าหนึ่งอยู่ข้างหน้า อีกเท้าหนึ่งอยู่ข้างหลังโน้มตัวไปข้างหน้าเล็กน้อย ยกมือข้างที่อยู่ตรงกันข้ามกับเท้าที่อยู่หน้าขึ้นระดับหน้าผาก ส่วนมืออีกข้างหนึ่งยกขึ้นระดับเอว งอศอกขึ้นข้างหลังเล็กน้อย ระยะทางวิ่งก่อนการกระโดดสำหรับผู้ฝึกหัดใหม่นั้นไม่ควรเกิน 20 เมตร ผู้วิ่งจะต้องวิ่งเพิ่มความเร็วขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่งถึงความเร็วสูงสุด เพื่อให้มีกำลังในการกระโดดมากขึ้น มีการทรงตัวที่ดี มีจังหวะและความแม่นยำในการเหยียบไม้กระดานเริ่มกระโดดได้อย่างถูกต้อง จึงควรกำหนดช่วงระยะทางและอัตราความเร็ว ในการวิ่งโดยทั่วไปนิยมแบ่งออกเป็น 3 ช่วง ดังนี้
ช่วงที่ 1 จากจุดเริ่มต้นไปประมาณ 4 เมตร ใช้ความเร็วในการวิ่งประมาณ ครึ่งหนึ่ง ของความเร็วสูงสุด
ช่วงที่ 2 ระยะทางต่อจากระยะทางช่วงแรกไปอีกประมาณ 6 เมตร ใช้ความเร็วในการวิ่งประมาณ 3 ใน 4 ส่วน ของความเร็วสูงสุด
ช่วงที่ 3 ระยะทางต่อจากช่วงที่สองจนถึงกระดานเริ่มกระโดดประมาณ 10 เมตร ใช้ความเร็วในการวิ่งประมาณ 95 – 100 % ของความเร็วสูงสุด
1.2) การกระโดดขึ้นจากพื้น เมื่อวิ่งมาด้วยความเร็วสูงสุด ลำตัว ศีรษะ หน้าอก อยู่ในลักษณะตั้งตรง ก้าวสุดท้ายที่จะเหยียบกระดานเริ่มนี้ให้ก้าวยาวกว่าเดิมเล็กน้อย เมื่อส้นเท้าจรดพื้นริมกระดานเริ่มนั้น เท้าเกือบตึง ต่อจากนั้นให้งอเข่าเล็กน้อย จังหวะติดต่อกันนั้นน้ำหนักตัวจะเคลื่อนไปข้างหน้าตามแรงส่งที่วิ่งมา ฝ่าเท้าจะตบกระแทกกระดานเริ่ม สปริงข้อเท้าและถีบส่งขึ้นด้วยปลายเท้าในลักษณะเขย่งเต็มที่ ส่วนเท้าอีกข้างหนึ่งงอเข่า ยกขาท่อนล่างขึ้นพร้อมที่จะเหวี่ยงสลับกันกับขาที่ใช้ก้าวเพื่อช่วยในการทรงตัว ขาข้างที่เหวี่ยงนำจะเหวี่ยงขึ้นในลักษณะงอเข่า ขณะที่ตัวลอยขึ้นพยายามให้ตัวตั้งตรง
1.3) การลอยตัวในอากาศ ขณะเหวี่ยงขานำขึ้นเข่าจะงอและส่งตัวขึ้นจากพื้นด้วยขาข้างที่เหยียบกระดานเริ่ม แขนจะเหวี่ยงไปข้างหน้าให้สัมพันธ์กับขา ตามองไปข้างหน้าขนานกับพื้นและกระตุกเข่าขึ้นมาข้างหน้ารวบชิดกับขาข้าที่เหวี่ยงนำซึ่งคอยอายู่แล้ว
1.4) การลงสู่พื้น ขณะที่ลำตัวเริ่มทำมุมตกลงสู่พื้นให้เหยียบขาทั้งสองไปข้างหน้าให้มากที่สุด โดยไม่เหยียดเอว แขนทั้งสองจะเหวี่ยงไปข้างหน้าทันที ที่ส้นเท้าทั้งสองสัมผัสพื้นทรายให้เหวี่ยงแขนทั้งสองไปข้างหลัง แล้วก้มตัวไปข้างหน้าโดยเร็วพร้อมกับงอเข่า พับเอว เหวี่ยงแขนไปข้างหน้าตามลำดับ ท่าการลงสู่พื้นควรเน้นและฝึกหัด คือ พยายามเหยียดเท้าไปข้างหน้าด้วยการเหยียดเข่าส่วนเอวยังคงพับและเหวี่ยงแขนกลับหลัง เพื่อให้ตัวโน้มไปข้างหน้ามากที่สุด
กติกาในการแข่งขันเบื้องต้น การทำผิดกติกาของผู้เข้าแข่งขัน มีดังนี้
ล้ำกระดานกระโดดด้วยส่วนหนึ่งส่วนใดของร่างกาย ไม่ว่าจะกระโดดหรือไม่ก็ตาม กระโดดจากนอกกระดานเริ่มนอกปลายสุดด้านใดด้านหนึ่ง ไม่ว่าจะล้ำเส้นเริ่ม หรือก่อนถึงเส้นเริ่มในแนวของเส้นเริ่มที่ยื่นออกมา ถูกพื้นภายนอกหลุมทรายก่อนที่จะลงสู่หลุมทราย หลังจากการกระโดดสมบูรณ์แล้วเดินย้อนกลับมาทางกระดานเริ่ม ใช้ท่ากระโดดแบบลังกาหน้า
วิ่งกระโดดสูง (High Jump)
แก้ไขจุดหมายของการวิ่งกระโดดสูงหรือการกระโดดสูง คือ การที่ผู้กระโดดวิ่งมาแล้วสามารถกระโดดขึ้นและลอยตัวข้ามไม้พาดที่อยู่สูงไปได้ โดยใช้ท่าที่เหมาะสมกับรูปร่าง ความถนัด และเป็นท่าที่ตนเองกระโดดได้สูงที่สุด ท่าทางที่ใช้ในการกระโดดสูงนี้มีหลายแบบซึ่งได้เปลี่ยนแปลง ปรับปรุง และวิวัฒนาการมาเรื่อย ๆ โดยการคิดค้นหาเทคนิคและท่าทางการกระโดดขึ้นมา เพื่อให้ผู้กระโดดทำสถิติการกระโดดสูงมากขึ้นเรื่อย ๆ สำหรับการเริ่มฝึกของนักเรียน ควรฝึกจากท่าง่าย ๆ ไปก่อน เพื่อให้รู้จักจังหวะการกระโดด รู้จักการสปริงตัวขึ้น รู้จักการลอยตัวในอากาศและการลงสู่พื้นได้อย่างปลอดภัย
1.) เทคนิคในการวิ่งกระโดดสูง มีดังนี้
1.1) การวิ่งกระโดดสูงแบบกรรไกรทางเฉียง การวิ่งกระโดดสูงแบบกรรไกรทางเฉียง มีขั้นตอนและเทคนิคต่าง ๆ ดังนี้
1.1.1 การวิ่งก่อนการกระโดด ท่าตั้งต้นก่อนการวิ่งกระโดดสูง เพียงแต่ยืนตรงเตรียมพร้อมที่จุดเริ่มต้น หันหน้าไปยังทิศทางที่จะวิ่งไป เป็นมุมกับไม้พาดประมาณ 45 องศา ก่อนการวิ่งควรกำหนดที่หมายด้วยการหาระยะก้าวก่อนกระโดด เพื่อให้การจรดเท้าและการกระโดดขึ้นให้ได้ความสูงเหนือไม้พาดพอดี สมมุติว่าวิ่งเข้ากระโดดจำนวนก้าว 8 ก้าว ให้เท้าขวาเตะนำขึ้น จึงควรทำที่หมายไว้ตามทางที่วิ่ง 3 แห่ง แล้วออกวิ่งตามาจำนวนก้าวและความเร็ว ดังนี้
จากที่หมายที่1 ถึงที่หมายที่ 2 ควรวิ่งก้าวสั้น ๆ ด้วยปลายเท้าลักษณะโหย่ง ๆ ตัว ความเร็วประมาณครึ่งหนึ่ง ของความเร็วสูงสุด จำนวน 4 ก้าว จากที่หมายที่ 2 ถึงที่หมายที่ 3 วิ่งด้วยปลายเท้าก้าวยาว ๆ ความเร็วประมาณ 3 ใน 4 ของความเร็วสูงสุดจำนวน 4 ก้าว ที่หมายที่ 3 นี้จะอยู่ห่างจากไม้พาดประมาณ 1 ช่วงแขนของผู้กระโดด
1.1.2 การกระโดดขึ้นจากพื้น เมื่อเท้าซ้ายวิ่งมาเหยียบที่หมายที่ ซึ่งเป็นจุดที่จะกระโดดขึ้นให้จรดด้วยส้นเท้าก่อนแล้วจึงผ่อนน้ำหนักตัวไปทางปลายเท้า เอนตัวมาข้างหลังทำมุมกับพื้นประมาณ 45 องศา เข่างอเล็กน้อย ตามองเหนือไม้พาด ก้าวสุดท้ายจะกระโดดขึ้นจะก้าวไม่ยาวเกินไป แต่ต้องก้าวเท้าเร็ว ทันทีที่ส้นเท้าซ้ายจรดพื้นเท้าขวาจะเตะนำขึ้นไปข้างหน้า พร้อมกับเหวี่ยงแขนทั้งสองขึ้นเหนือศีรษะ และถ่ายน้ำหนักตัวไปสู่ปลายเท้าซ้ายถีบพื้นกระโดดขึ้นทันที
1.1.3 การลอยตัวในอากาศ ขณะที่ลอยตัวขึ้นขาขวาจะเหยียบนำข้ามไม้พาดไปก่อน ลำตัวจะเอนไปข้างหลัง และแอ่นสะโพกขึ้นจนตัวนอนหงายขนานกับไม้พาด ไม่เงยหน้า แต่ก้มหน้าเก็บคางในช่วงเวลาติดต่อกันนี้ เท้าซ้ายจะเตะข้ามไม้พาดตามเท้าขวาไปตามลำดับ ขณะตัวอยู่เหนือไม้พาด จะมีลักษณะคล้ายนอนหงายหันหลังให้ไม้พาด โดยไม่เกร็งส่วนใดของร่างกาย
1.1.4 การลงสู่พื้น เมื่อทุกส่วนของร่างกายผ่านพ้นไม้พาดไปแล้ว ให้กดเท้าที่เป็นเท้านำสู่พื้นโดยเร็ว แล้วกดเท้าตามสู่พื้นในท่ายืนย่อตัวลง ถ้ามีเบาะรองรับอาจจะปล่อยให้ตัวลงสู่พื้นในลักษณะนอนหงายก็ได้
1.2) การวิ่งกระโดดสูงแบบฟอสบูรี ฟลอบ การวิ่งกระโดดสูง แบบฟอสบูรี ฟลอบเป็นท่าที่ใช้ในการแข่งขันมากที่สุดในปัจจุบันที่มีขั้นตอน ดังนี้
1.2.1 การวิ่งก่อนกระโดด การวิ่งก่อนกระโดดจะมีทางวิ่งประกอบด้วยส่วนที่เป็นทางตรงกับส่วนที่เป็นทางโค้ง ให้วิ่งส่วนที่เป็นทางตรง 3 – 6 ก้าว และวิ่งส่วนที่เป็นทางโค้งอีก 4-5 ก้าว การวิ่งในทางตรง ลำตัวต้องยืดตรง แล้วเพิ่มความเร็วของการวิ่งด้วยการก้าวท้าวอย่างมีพลัง เอนตัวเข้าในโค้งระหว่างวิ่งทางโค้ง หัวไหล่ทางด้านในโค้งทางด้านในโค้งจะต่ำกว่าหัวไหล่ทางด้านนอกโค้ง แล้ววิ่งเร่งความเร็วอย่างต่อเนื่อง เพื่อส่งแรงขับไปที่ก้าวสุดท้ายของการวิ่ง
1.2.2 การกระโดด ขณะที่วิ่งก่อนกระโดด ช่วงก้าวสุดท้ายให้สั้นกว่าปกติเล็กน้อยแล้วตบเท้ากระโดดอย่างรวดเร็วผสานกับ ความเร็วที่เร่งมา ปลายเท้าชี้ตรงไปยังจุดลงพื้น เท้าจะไม่ขนานกับไม้พาด แล้วเหวี่ยงขาอิสระท่อนบนให้สูงขนานกับพื้น อย่างรวดเร็ว และคงท่าทางนั้นไว้ (1) พร้อมกับเหวี่ยงแขนทั้งสองขึ้นให้กำปั้นสูงในระดับศีรษะ และคงท่าทางนั้นไว้ (2) ข้อต่อ ข้อเท้า เข่าและสะโพกเหยียดสุดตัว
1.2.3 การลอยตัวข้ามไม้พาด เมื่อกระโดดขึ้นคงท่าทางของขาอิสระท่อนบนที่เหวี่ยงสูงขนานกับพื้น ขาข้างที่กระโดดเหยียบสุดตัว เหวี่ยงแขนซ้าย ซึ่งเป็นแขนข้ามไม้พาดไปก่อน แล้วแตะสะโพกขึ้นระหว่างช่วงที่สะโพกผ่านไม้พาด เมื่อสะโพกผ่านไม้พาดไปแล้ว ให้เก็บคางชิดหน้าอก และเหยียดขาทั้งสอง
1.2.4 การลงสู่พื้น หลังจากผ่านข้ามไม้พาดแล้วลงเบาะด้วยแผ่นหลังทั้งหมด ประคองด้วยแขนทั้งสองข้าง ให้แยกเข่าออกจากกันเพื่อป้องกันขากระแทกใบหน้า
กติกาในการแข่งขันเบื้องต้น
แก้ไขผู้เข้าแข่งขันจะต้องกระโดดด้วยเท้าข้างเดียว ซึ่งในกรณีที่ทำผิดกติกา มีดังนี้
หลังจากกระโดดแล้ว ไม้พาดหล่นอันเกิดจากการกระทำของผู้กระโดด ไม่ได้กระโดดแต่ปล่อยให้ส่วนหนึ่งส่วนใดของร่างกายถูกพื้นรวมทั้งเบาะรองรับระหว่างเสากระโดดสูงทั้งสอง หรือภายนอกเสาที่อยู่หลังขอบหน้าของเสา อย่างไรก็ตามเมื่อนักกรีฑากระโดดขึ้นไปแล้วเท้าไปถูกเบาะ ถ้าผู้ตัดสินเห็นว่าไม่มีการได้เปรียบให้ถือว่าการกระโดดครั้งนั้นมีผลสมบูรณ์
ทุ่มลูกน้ำหนัก (Shot Putting)
แก้ไขการทุ่มลูกน้ำหนักเป็นกรีฑาประเภทลานอีกชนิดหนึ่ง ผู้เล่นหรือผู้แข่งขันแต่ละคนจะต้องลูกน้ำหนักที่มีน้ำหนักเท่าๆกัน ภายในพื้นที่วงกลมที่ราบเรียบตามกติกากำหนดไว้ โดยทุ่มตรงออกไปข้างหน้า ผู้ที่ทุ่มได้ไกลที่สุดเป็นผู้ชนะ
1) เทคนิคในการทุ่มลูกน้ำหนักการทุ่มน้ำหนักมีทั้งการยืนอยู่กับที่ทุ่มลูกน้ำหนักและการเคลื่อนที่ทุ่มน้ำหนัก จะขอยกตัวอย่างการทุ่มน้ำหนักแบบอยู่กับที่ การยืนอยู่กับที่ทุ่มลูกน้ำหนักมีเทคนิคดังนี้
1.1) การถือลูกน้ำหนัก การถือลูกน้ำหนักที่ถูกต้องตามวิธีการ มีส่วนช่วยในการทุ่มลูกน้ำหนักไปข้างหน้าได้ไกลขึ้น
1.2) การยืนเตรียมทุ่ม การแข่งขันทุ่มลูกน้ำหนักผู้ทุ่มต้องยืนและทุ่มภายในวงกลมตามกติกากำหนดไว้ สมมุติว่าทุ่มด้วยมือขวา เริ่มต้นด้วยการหยิบลูกน้ำหนักด้วยมือซ้าย(เพื่อสงวนกำลังของมือขวาไว้) วางลงบนมือขวาถือลูกน้ำหนักวางทาบที่ใต้ขากรรไกร คือระหว่างคอกับไหล่ หันฝ่ามือไปข้างหน้าใช้แก้มแนบกระชับไว้ตลอดแขนจนถึงปลายนิ้ว ไม่เกร็ง แบะข้อศอก ยืนหันข้างซ้ายให้ทิศทางที่จะทุ่มเหยียบแขนข้างที่ไม่ได้ทุ่มไปข้างหน้า มือสูงกว่าระดับไหล่ เท้าขวาแยกห่างจากเท้าซ้ายประมาณ 1 ช่วงไหล่ ปลายเท้าขนานกัน
1.3) การเคลื่อนไหวก่อนทุ่ม เมื่อยืนเตรียมพร้อมแล้วให้โน้มตัวไปหาเท้าขวา ย่อเข่าขวางอแขนซ้ายมาด้านหน้า น้ำหนักตัวอยู่บนเท้าขวา ยกส้นเท้าซ้ายขึ้นเล็กน้อย พร้อมกับบิดไหล่ สะเอวข้างขวาต่ำลง ให้ลูกน้ำหนัก เข่า และปลายเท้าขวาอยู่บนเส้นดิ่งเดียวกัน
1.4) การทุ่ม เริ่มจากการโล้น้ำหนักตัวไปยังทิศทางที่จะทุ่ม พร้อมกับเหยียดเข่าขวาขึ้น บิดไหล่ สะเอว แอ่นหน้าอกและดันลูกน้ำหนักออกจากซอกคอเฉียดปลายคางไปข้างหาหน้าทำมุม 45 องศา เหยียดแขนดันลูกน้ำหนักไปให้สุดแขนอย่างแรงและส่งตามด้วยเท้าขวาโดยฉับพลันขณะเดียวกันแขนซ้ายและไหล่ซ้ายจะเหวี่ยงกลับไปข้างหลัง
1.5) การทรงตัวหลังการทุ่ม เมื่อทุ่มลูกน้ำหนักไปแล้วให้กระโดดลอยตัวด้วยแรงส่งของเท้าขวา โดยใช้เท้าก้าวไปในลักษณะกระโดดเล็กน้อยแทนที่เท้าซ้าย แล้วลงสู่พื้นด้วยปลายเท้าขวาพร้อมกับย่อเข่า แขนซ้ายที่เหวี่ยงไปข้างหลังกางออกเล็กน้อยเพื่อช่วยในการทรงตัว ตามองลูกน้ำหนักที่ทุ่มไป
กติกาการแข่งขันเบื้องต้น
แก้ไขผู้เข้าแข่งขันจะต้องเริ่มต้นทุ่มจากท่านิ่งภายในวงกลม ไม่อนุญาตให้วิ่งหรือกระโดดเข้าไปในวงกลม แต่อนุโลมให้ผู้แข่งขันสัมผัสกับด้านในของขอบวงกลม และกระดานหยุดได้ ลูกน้ำหนักจะทุ่มออกไปจากไหล่ ด้วยมือข้างเดียวเท่านั้น เมื่อผู้เข้าแข่งขันยืนเพื่อเตรียมทุ่มในวงกลม ลูกน้ำหนักจะติดอยู่ที่คอหรือคางและมือต้องไม่ลดต่ำไปกว่านี้ ในขณะที่ทุ่มออกไป ห้ามเงื้อลูกน้ำหนักออกจนเลยแนวไหล่ ห้ามใช้เครื่องช่วยใด ๆ เช่น ใช้เทปพันนิ้วมือ 2 นิ้วหรือมากกว่าเข้าด้วยกัน เว้นแต่ในกรณีที่ใช้เพื่อปิดบาดแผลเท่านั้น ห้ามสวมถุงมือทำการแข่งขัน เพื่อช่วยให้จับลูกน้ำหนักได้ดีขั้น ผู้เข้าแข่งขันสามารถใช้สารที่คณะกรรมการระบุว่าไม่ผิดกติกาทาบนฝ่ามือได้ เพื่อป้องกันการบาดเจ็บที่ข้อมือ ผู้เข้าแข่งขันใช้ผ้าพันยึดที่ข้อมือได้ เพื่อป้องกันการบาดเจ็บที่กระดูกสันหลัง อนุญาตให้ผู้เข้าแข่งขันอาจคาดเข็มขัดหนังหรือวัสดุอื่นที่เหมาะสมได้ ผู้เข้าแข่งขันจะฉีดหรือโรยสารใด ๆ ลงในบริเวณวงกลมหรือบนพื้นรองเท้าของตนเองไม่ได้ ถือเป็นการผิดกติกา ถ้าส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายสัมผัสกับขอบบนของวงกลมขอบบนของที่ยันเท้าหรือพื้นนอกวงกลม ในการแข่งขันผู้เข้าแข่งขันจะขอหยุดการแข่งขันก็ได้ แม้ว่าจะเริ่มไปแล้วก็ตามโดยวางลูกทุ่มน้ำหนักลงภายนอกหรือภายในวงกลมก็ได้ หรือถ้าจะเดินออกจากวงกลมให้ก้าวเท้าออกทางด้านหลัง จากนั้นจะกลับเข้าไปในวงกลมในท่านิ่งและเริ่มต้นทำการแข่งขันต่อไปก็ได้ ผลการแข่งขันจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อ ลูกทุ่มน้ำหนักที่ทุ่มไปจะต้องตกลงอย่างสมบูรณ์ ภายในขอบด้านในของรัศมีของการทุ่ม ผู้เข้าแข่งขันจะออกจากวงกลมไม่ได้ จนกว่าลูกน้ำหนักจะตกถึงพื้นแล้ว โดยออกทางครึ่งหลังซึ่งมีเส้นสีขาวเขียนไว้ เส้นนี้จะต่อจากเส้นผ่านศูนย์กลางของวงกลมออกไปนอกวงกลมทั้งสองข้าง ลูกน้ำหนักที่ทุ่มไปแล้วต้องถือกลับมาที่วงกลม ห้ามทุ่มกลับมาคานกับหมา
ขว้างจักร (Throwing a Discus)
แก้ไขการขว้างจักรเป็นกรีฑาประเภทลานอีกชนิดหนึ่ง ผู้เข้าแข่งขันแต่ละคนต้องขว้างจักรออกจากพื้นที่ภายในวงกลมให้จักรไปตามทิศทางตามกติกากำหนดไว้ ผู้ที่ขว้างจักรได้ไกลที่สุดเป็นผู้ชนะ
1) เทคนิคในการขว้างจักร การขว้างจักรมีทั้งการยืนอยู่กับที่ และการหมุนตัวขว้างจักรมีเทคนิคดังนี้
1.1 ) การจับจักร การจับจักรก่อนขว้าง ควรเลือกจับจักรตามความถนัดความยาว และ ความแข็งแรงของนิ้วมือ
1.2) การยืนเตรียมตัวก่อนขว้างจักร ตามปกติผู้แข่งขันขว้างจักรจะต้องเข้าไปยืนอยู่ในพื้นที่ของวงกลมตามที่กติกากำหนดไว้ แต่สำหรับการเรียนของนักเรียนอาจจะขีดเส้นหรือทำเครื่องหมายที่เริ่มขว้างจักรไว้ก็เพียงพอแล้ว ถ้าจับจักรด้วยมือขวา ให้ยืนหันไหล่ซ้ายไปในทิศทางที่จะขว้าง เท้าซ้ายอยู่ชิดขอบในด้านหน้าวงกลม เท้าขวาแยกห่างจากเท้าซ้ายประมาณ 1 ช่วงไหล่
1.3) การเหวี่ยงจักร การเหวี่ยงจักรควรฝึกหัดเหวี่ยงจักรอยู่กับที่ผ่านหน้าไปมาในลักษณะคว่ำมือให้คล่องแคล่วโดยไม่เกร็ง ส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย จนสามารถบังคับจักรได้ดีโดยไม่รู้สึกว่าจักรหลุดออกจากมือไปเสียก่อน อาจใช้สายหนังรัดจักรติดกับมือแล้วเหวี่ยงผ่านหน้าไปมา ฝึกทำหลาย ๆ ครั้ง จนเกิดความเคยชินกับจักร
1.4) การปล่อยจักร เมื่อเริ่มเหวี่ยงจักรไปข้างหลังให้ย่อเข่าทั้งสองลง เข่าขวาจะแบะออก พร้อมกับบิดลำตัวตามไปเล็กน้อย จักรเหวี่ยงไปข้างหลังสูงระดับไหล่ และคว่ำฝ่ามือ เมื่อสุดจังหวะที่เหวี่ยงไปข้างหลังแล้วให้เริ่มขว้างจักร โดยเหยียดเท้าขวาและเท้าซ้าย (อาจก้าวเท้าซ้ายเฉียงไปข้างหน้าประมาณครึ่งก้าว) พร้อมกับเหวี่ยงจักรไปข้างหน้าอย่างรวดเร็วในลักษณะคว่ำฝ่ามือ โดยใช้กำลังส่งจากการบิดไหล่ สะโพก แขนตึง แอ่นหน้าอก แขนซ้ายและไกล่ซ้ายต้องหมุน พร้อมทั้งวาดแขนซ้ายไปข้างหลัง จักรจะทำมุมเหวี่ยงเฉียงขึ้นข้างหน้าประมาณ 30 องศา เมื่อจักรมาถึงระดับหน้าก็ปล่อยทำมุมขึ้นไปประมาณ 40 องศา ซึ่งอาศัยแรงช่วยส่งจากปลายเท้าขวา การบิดไหล่และสะโพก
1.5) การทรงตัวเมื่อขว้างจักรไปแล้ว เมื่อปล่อยจักรหลุดจากมือไปแล้วให้ก้าวเท้าขวามาแทนเท้าซ้ายทันที อาจใช้การกระโดดเปลี่ยนเท้ามาข้างหน้าก็ได้ 2.) กติกาการแข่งขันเบื้องต้น
ผู้เข้าแข่งขันจะใช้ท่าใดขว้างจักรก็ได้ หรือจะหมุนตัวกี่รอบก็ได้ ถ้าการกระทำนั้นไม่ผิดกติกา แต่จักรจะต้องขว้างออกไปจากวงกลมและเริ่มต้นขว้างจากท่านิ่ง อนุญาตให้ผู้เข้าแข่งขันสัมผัสขอบด้านในของวงกลมได้ ห้ามใช้เครื่องช่วยเหลือใด ๆ เช่น ใช้เทปพันนิ้วมือ 2 นิ้ว หรือมากกว่าเข้าด้วยกัน ไม่อนุญาตให้ใช้เทปพันมือนอกจากในกรณีที่ใช้ปิดบาดแผลเท่านั้น ห้ามสวมถุงมือทำการแข่งขัน เพื่อช่วยให้การจักจักรได้ดีขึ้นผู้เข้าแข่งขันสามารถใช้สารที่ไม่ผิดกติกาทาบนมือได้ เพื่อป้องกันกระดูกสันหลังบาดเจ็บผู้เข้าแข่งขันอาจคาดเข็มขัดหนังหรือวัสดุอื่นที่เหมาะสมได้ ห้ามผู้เข้าแข่งขันโรยสารใด ๆ ลงบนวงกลมหรือบนพื้นรองเท้า
การขว้างจักรที่ผิดกติกา คือ หลังจากที่ผู้เข้าแข่งขันได้ก้าวเข้าไปในวงกลม และทำการขว้างจักรออกไปแล้ว ส่วนหนึ่งส่วนใดของร่างกายสัมผัสขอบวงกลม ในการแข่งขันนั้นผู้เข้าแข่งขันจะหยุดการแข่งขัน หรือออกไปจากวงกลมก็ได้ เมื่อออกจากวงกลมจะต้องก้าวออกข้างหลัง จากนั้นจะกลับเข้ามาอยู่ในทางนิ่ง และเริ่มต้นการแข่งขันใหม่อีกครั้ง การแข่งขันที่ได้ผลนั้นจักรจะต้องตกอย่างสมบูรณ์ในขอบในของรัศมีการขว้างเท่านั้น การแข่งขันจะออกจากวงกลมไม่ได้จนกว่าจักรจะตกพื้นดินเรียบร้อยแล้ว เมื่อออกจากวงกลมจะต้องออกทางครึ่งหลัง ซึ่งมีเส้นสีขาวเป็นเส้นกำหนดเขต เส้นนี้ต่อออกจากด้านนอกของวงกลมโดยต่อจากเส้นผ่านศูนย์กลาง จักรที่ขว้างไปแล้วจะต้องถือกลับมาที่วงกลม ห้ามขว้างกลับมานาสา
พุ่งแหลน (Throwing the Javelin)
แก้ไขพุ่งแหลนเป็นกรีฑาประเภทลาน ผู้เข้าแข่งขันแต่ละคนจะต้องพุ่งแหลนที่มีน้ำหนักเท่า ๆ กันโดยพุ่งแหลนออกไปข้างหน้า ผู้ที่พุ่งได้ไกลที่สุดเป็นผู้ชนะ การพุ่งแหลนเป็นกรีฑาที่ต้องใช้อุปกรณ์ที่มีน้ำหนัก นักกรีฑาจึงต้องอาศัยกำลังและความเร็วเพื่อพุ่งแหลนออกไปให้ได้ระยะทางไกลที่สุด การพุ่งแหลนมีทั้งยืนอยู่กับที่และวิ่งพุ่งแหลน
1.) เทคนิคในการพุ่งแหลนยืนอยู่กับที่ ทักษะเบื้องต้นของการพุ่งแหลนเป็นการฝึกหัดให้นักเรียนรู้จักวิธีการจับแหลนและการยืนพุ่งแหลนอยู่กับที่ เพื่อให้นักเรียนเกิดความชำนาญในการบังคับแแหลนการฉุดแหลน การพุ่งปล่อยแหลนออกไปในท่าทางที่ถูกต้องและเป็นไปตามทิศทางที่ต้องการ การจับแหลนทั้งสองวิธีนี้ นิ้วทั้งหมดต้องไม่เกร็งจนแน่นเกินไป กำแหลนไว้เพียงหลวม ๆ จะกำแน่นเข้าเมื่อจะเริ่มพุ่งออกไปข้างหน้าเท่านั้น เมื่อจับแหลนตามวิธีที่ 1 หรือวิธีที่ 2 เรียบร้อยแล้วให้ยกแหลนขึ้นอยู่ในลักษณะเตรียมพร้อมที่จะพาแหลนวิ่งหรือยืนพุ่งแหลนไปได้ จะเลือกจับยกแหลนแบบใดก็ได้ ตามที่ถนัด และสามารถบังคับแหลนไม่ให้ส่ายไปมา
1.1) การพุ่งแหลนยืนอยู่กับที่ การฝึกหัดพุ่งแหลนยืนอยู่กับที่เพื่อให้เกิดความชำนาญในการบังคับแหลน การฉุดแหลนและการปล่อยแหลนอย่างมีประสิทธิภาพ ครั้งแรกพุ่งใกล้ ๆ แล้วค่อย ๆ ไกลออกไปตามลำดับ โดยใช้กำลังส่งจากไหล่ ลำตัว เอว สะโพกและขา ตลอดจนการฝึกเปลี่ยนเท้า ซึ่งการพุ่งแหลนมีวิธีฝึก ดังนี้
1.1.1 การพุ่งแหลนลงดิน การฝึกพุ่งแหลนลงดิน เพื่อให้นักเรียนเกิดความชำนาญในการบังคับแหลน ให้เป็นไปตามทิศทางและเป้าหมายที่ต้องการ โดยยกหางแหลนสูงในลักษณะแทงปลา ครั้งแรกควรพุ่งแหลนไปข้างหน้าลงพื้นดินห่างจากตัวประมาณ 10 ฟุต เมื่อเกิดความชำนาญดีแล้วจึงทำเครื่องหมายห่างตัวออกไปเรื่อย ๆ โดยพุ่งแหลนให้ลงตรงที่หมายที่กำหนด
1.1.2 การพุ่งแหลนขึ้นอากาศ เมื่อจับแหลนตามวิธีที่ตนถนัดแล้ว ขณะที่จะเริ่มพุ่งแหลน ให้ทิ้งน้ำหนักตัวมาข้างหลังพร้อมกับเหยียดแขนข้างที่จับแหลนเกือบตึง บิดไหล่ เอวและสะโพกไปทางซ้าย พร้อมกับดึงแหลนเต็มแรง กลั้นหายใจพุ่งแหลนออกไปข้างหน้าทันที เมื่อพุ่งแหลนออกไปแล้วน้ำหนักตัวจะล้ำไปข้างหน้าให้รีบก้าวเท้าขวาไปข้างหน้า เพื่อรับน้ำหนักของลำตัวพร้อมกับเหวี่ยงเท้าซ้ายไปข้างหลัง ตามองตามแหลนไป
1.1.3 มุมของการพุ่งแหลน ขณะดึงแหลนมาข้างหน้าให้แหลนผ่านไหล่และทำมุมขึ้นจากพื้นประมาณ 45 องศา ลักษณะของแหลนที่พุ่งไปในอากาศจะถูกบังคับด้วยปลายนิ้ว ทั้งหมดและข้อมือไม่ให้แหลนเชิดเกินไป โดยสามารถบังคับให้หัวแลนลงสู่พื้นดินได้อย่างดี
กติกาการแข่งขันเบื้องต้น
แก้ไขต้องจับแหลนตรงที่จับ การพุ่งแหลนจะต้องพุ่งออกไปเหนือไหล่ หรือเหนือท่อนบนของแขนที่ใช้พุ่ง และต้องไม่เหวี่ยงหรือขว้างหรือรูปแบบการพุ่งซึ่งไม่เป็นไปตามแบบแผน การพุ่งแหลนจะได้ผลเมื่อหัวแหลน ซึ่งเป็นโลหะถูกพื้นก่อนส่วนอื่น ๆ ของแหลน ในขณะที่แหลนพุ่งไปในอากาศแล้ว ผู้เข้าแข่งขันจะหมุนตัวหรือหันหลังให้กับส่วนโค้งก็ได้ ห้ามใช้เครื่องช่วยเหลือใด ๆ ในการแข่งขัน เช่น ใช้ผ้าเทปพันนิ้วมือ 2 นิ้ว หรือมากกว่าเข้าด้วยกัน การใช้ผ้าเทปพันมือไม่อาจทำได้ ยกเว้นในกรณีที่ใช้ปิดบาดแผลเท่านั้น ห้ามสวมถุงมือ เพื่อช่วยให้จับแหลนได้กระชับยิ่งขึ้น ผู้เข้าแข่งขันสามารถคาดเข็มขัดหนังหรือวัสดุที่เหมาะสม เมื่อเริ่มการพุ่งแล้ว ถ้าส่วนหนึ่งส่วนใดของร่างกายผู้แข่งขันสัมผัสที่ลากต่อออกไปจากปลายของส่วนโค้งหรือพื้นข้างนอก หรือปล่อยแหลนออกไปด้วยวิธีที่ไม่เหมาะสม ให้ถือว่าการแข่งขันนั้นไม่มีผล ผู้เข้าแข่งขันอาจหยุดการแข่งขันได้ แม้ว่าจะเริ่มการแข่งขันแล้ว โดยวางแหลนลงภายในหรือภายนอกทางวิ่ง รวมทั้งอาจจะออกไปจากทางวิ่งก็ได้ จากนั้นจะกลับเข้ามาที่ทางวิ่งและเริ่มต้นการแข่งขันใหม่ก็ได้เช่นกัน ถ้าแหลนหักในขณะพุ่งออกไปหรือขณะที่ลอยอยู่ในอากาศ ถือว่าไม่มีผลต่อการแข่งขัน ทำการแข่งขันใหม่ได้โดยมีข้อแม้ว่าการพุ่งแหลนนั้นปฏิบัติถูกต้องตามกติกา แต่ถ้าผู้แข่งขันเสียการทรงตัวและกระทำผิดกติกาการแข่งขันนั้นถือว่าไม่มีผล สำหรับการแข่งขันที่มีผลนั้น ส่วนหัวของแหลนจะต้องตกลงภายในขอบของรัศมีการพุ่งอย่างสมบูรณ์ ผู้เข้าแข่งขันต้องไม่ออกจากทางวิ่ง จนกว่าแหลนจะตกลงพื้น ให้ผู้เข้าแข่งขันเดินออกทางด้านหลังของส่วนโค้งและด้านหลังเส้นที่ต่อออกไปจากปลายของส่วนโค้ง จะต้องถือแหลนกลับมาที่เส้นเริ่ม ห้ามพุ่งกลับมา