เศรษฐศาสตร์เบื้องต้น/ฉันทมติแห่งวอชิงตัน
ฉันทมติแห่งวอชิงตัน (Washington Consensus)
แก้ไขโดย จอห์น วิเลียนสัน (John Williamson,1989) นักเศรษฐศาสตร์แห่งสถาบันเพื่อการเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศ (The Institute for International Economics) สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้
1. การเปิดเสรีทางเศรษฐกิจ (Economic Liberalization)
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปิดเสรีการค้า การเงิน และการลงทุน เพื่อให้กลไกตลาดทำงานอย่างเสรีและมีประสิทธิภาพ โดยไม่มีอุปสรรคกีดขวางการไหลเวียนของการค้า การเงิน และการลงทุนระหว่างประเทศ
2. การลดการกำกับและควบคุมโดยรัฐบาล (Deregulation)
เช่น รัฐบาลเลิกการแทรกแซงตลาด โดยจำกัดบทบาทของรัฐเหลือเป็นเพียงผู้ออกกฎกติกาและคุ้มครองดูแลรักษากฎกติกา รวมถึงอำนวยความสะดวกและส่งเสริมบทบาทของภาคเอกชน
3.การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ (Privatization)
เป็นความพยายามที่จะลดภาระของรัฐ เช่น ลดภาระด้านงบประมาณ ลดขนาดของภาครัฐให้เล็กลง โดยผลักภาระให้แก่ภาคเอกชนและตลาดเข้ามารับหน้าที่แทน ด้วยหวังว่าจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ
โดยการให้เอกชนเพิ่มระดับความเป็นเจ้าของในกิจการสาธารณะ เช่น การให้บริษัทเอกชนเข้ามาประกอบกิจการที่เคยทำโดยรัฐวิสาหกิจ การกระจายหุ้นของรัฐวิสาหกิจเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ การยกเลิกการผูกขาดของรัฐวิสาหกิจแล้วเปิดโอกาสให้เกิดการแข่งขันกับบริษัทเอกชน เป็นต้น
4. การรักษาเสถียรภาพของระดับราคาในระบบเศรษฐกิจ (Price Stabilization)
เป้าหมายหลักในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจมหภาค คือ การธำรงอัตราเงินเฟ้อให้อยู่ในระดับต่ำและสามารถควบคุมได้ ในส่วนของรัฐบาลก็ผสมผสานการใช้นโยบายการคลัง ด้วยการรักษาวินัยทางการคลัง