เวลา ศักราช วิธีการทางประวัติศาสตร์/วิธีการทางประวัติศาสตร์

วิธีการทางประวัติศาสตร์ หมายถึง กระบวนการสืบค้นเรื่องราวในอดีตของสังคมมนุษย์ เริ่มต้นที่ความอยากรู้อยากเห็นของผู้ต้องการศึกษาและต้องการสอบสวนค้นคว้าหาคำตอบด้วยตนเอง จากร่องรอยที่คนในอดีตได้ทำไว้และตกทอดเหลือมาถึงปัจจุบัน โดยไม่หลงเชื่อคำพูดของใครคนใดคนหนึ่ง หรืออ่านหนังสือเพียงเล่มใดเล่มหนึ่งแล้วเชื่อว่าเป็นจริง สิ่งที่ต้องทำเป็นอันดับแรกของการสืบค้นอดีต เมื่อมีประเด็นที่ต้องการสืบค้นแล้ว คือการเก็บรวบรวมข้อมูลจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์อย่างกว้างขวางและละเอียดลออ ด้วยวิธีการต่างๆ เช่น สอบถามผู้รู้ ศึกษาเอกสาร เรียนรู้จากแหล่งเรียนรู้ด้วยตนเอง ตรวจสอบข้อมูลจากหลักฐานทุกชิ้นด้วยจิตสำนึกว่า หลักฐานไม่ได้บอกความจริงทั้งหมด หรือบอกความจริงเสมอไป แล้วรวบรวมข้อเท็จจริงที่ได้ จากนั้นนำเสนอผลที่ศึกษาได้พร้อมอ้างอิงหลักฐานให้ชัดเจนเพื่อให้ผู้อื่นตรวจสอบ หรือศึกษาค้นคว้าต่อไปได้

ขั้นตอนของวิธีการทางประวัติศาสตร์ ประกอบด้วย

แก้ไข

1. การกำหนดหัวข้อเรื่องที่ต้องการศึกษาให้ชัดเจน (เรื่องอะไร ช่วงเวลาใด ที่ไหน)

2. รวบรวมข้อมูลจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ให้ครบถ้วน ครอบคลุม

3.  ตรวจสอบความจริงจากหลักฐาน ที่เรียกว่า การวิพากษ์วิธีทางประวัติศาสตร์

4.  วิเคราะห์ข้อมูลและตีความเพื่อค้นหาข้อเท็จจริง

5.  นำเสนอผลงานความรู้ที่ค้นพบ โดยปราศจากอคติและความลำเอียง

วิธีการทางประวัติศาสตร์กับวิธีการทางวิทยาศาสตร์

แก้ไข

วิธีการทางประวัติศาสตร์ กับวิธีการทางวิทยาศาสตร์ มีบางส่วนที่คล้ายคลึงกัน และมีบทส่วนแตกต่างกันดังนี้

1. วิธีการทางประวัติศาสตร์มีการกำหนดประเด็นปัญหา เพื่อสืบค้นหาคำตอบ เช่นเดียวกับวิธีการทางวิทยาศาสตร์ที่มีการสร้างสมมติฐานขึ้นแล้วทดลองเพื่อตรวจสอบสมมติฐานนั้น

2. วิธีการทางวิทยาศาสตร์ใช้วิธีการสร้างสถานการณ์ใหม่ หรือ ทดลองเพื่อทดสอบสมมติฐานที่ตั้งขึ้น แต่นักประวัติศาสตร์ไม่สามารถสร้างสถานการณ์ขึ้นใหม่ให้เหมือนกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในอดีตได้  เพราะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีตจะเกิดขึ้นครั้งเดียว มีลักษณะเฉพาะ และไม่สามารถสร้างซ้ำได้อีก แต่นักประวัติศาสตร์จะรวบรวมข้อมูลจากหลักฐานอย่างหลากหลาย ตรวจสอบความน่าเชื่อถือของหลักฐาน จนกระทั่งได้ข้อมูลที่จะสร้างความมั่นใจว่าจะสามารถอธิบายและสรุปเป็นหลักการได้ ดังนั้นแม้นักประวัติศาสตร์จะมิได้เห็นเหตุการณ์นั้นโดยตรง แต่พยายามหาข้อมูลให้มาก เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงให้ถูกต้องตามความเป็นจริงที่น่าเป็นไปได้ แต่นักวิทยาศาสตร์จะทดสอบหรือทดลองให้ได้ผลสรุปด้วยตนเอง

3. การนำเสนอผลงานของนักวิทยาศาสตร์ และนักประวัติศาสตร์ก็อาศัยหลักการความเป็นไปได้มาคาดคะเน และสรุปผลเช่นกัน แต่ผลสรุปทางวิทยาศาสตร์ จะสามารถนำไปทดลองซ้ำๆ ก็จะได้ผลเช่นนั้นทุกครั้ง แต่ผลสรุปทางประวัติศาสตร์ไม่สามารถนำไปทดลองได้ และมีความแตกต่างที่เป็น “มิติของเวลา” เช่นเดียวกับศาสตร์ทางสังคมศาสตร์อื่นๆ ที่ไม่สามารถควบคุมปัจจัยที่เป็นตัวแปรได้ทั้งหมด

4. ประวัติศาสตร์เป็นศาสตร์ที่ไม่สามารถนิยามคำเฉพาะ เพราะความหมายจะไม่ชัดเจนตายตัวในทุกกาลและเทศะ เช่น ประชาธิปไตยของท้องถิ่นหนึ่ง กับอีกท้องถิ่นหนึ่งจะมีนัยแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับผู้ใช้หรือผู้นิยาม  ซึ่งแตกต่างกับวิทยาศาสตร์ที่สามารถให้นิยามคำเฉพาะที่มีความหมายตายตัวไม่เปลี่ยนแปลงตามเวลา และสถานที่

คุณค่าของวิธีการทางประวัติศาสตร์

แก้ไข

คุณค่าของวิธีการทางประวัติศาสตร์ ได้แก่

1.  วิธีการทางประวัติศาสตร์เป็นวิธีการวิจัยเอกสารและหลักฐานอื่นๆ ที่เป็นร่องรอยจากอดีตอย่างกว้างขวาง เพื่อให้ได้มาซึ่งความรู้ใหม่บนพื้นฐานของการวิเคราะห์ข้อมูลที่รวบรวมมาอย่างเป็นระบบ และมีเหตุมีผล

            2.  ขั้นตอนการวิพากษ์วิธีทางประวัติศาสตร์หรือการตรวจสอบความจริงจากข้อมูลและหลักฐาน ซึ่งเป็นขั้นตอนของการค้นหาความหมายที่ซุกซ่อนอยู่ในหลักฐานจะทำให้ผู้ศึกษาประวัติศาสตร์ระมัดระวัง และคิดพิจารณาข้อเท็จ และข้อจริงที่แฝงอยู่ในหลักฐานให้ชัดเจน

            3. วิธีการทางประวัติศาสตร์เน้นการเข้าใจอดีต  คือ การให้ผู้ศึกษาเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ต้องทำความเข้าใจยุคสมัยที่ตนศึกษา เพื่อให้เข้าถึงความคิดของผู้คนในยุคนั้น โดยไม่นำความคิดของปัจจุบันไปตัดสินอดีต            

ดูเพิ่ม

แก้ไข