ความเป็นมา
|
สังคมไทยเป็นสังคมที่มีวัฒนธรรมที่แตกต่างกันภายในภูมิภาค จึงมีจารีตประเพณีในระบอบแตกต่างกัน ในที่นี้จะขอกล่าวถึงประวัติของเพลงสำคัญของชาติไทย มีการบันทึกการบรรเลงเพลงในช่วงสมัยอยุธยาสันนิษฐานว่าเป็นวงมโหรีปรากฏนามว่า อะสยามมีสซองค์ (A Siamese Song) จากบันทึกของนีกอลา แฌร์แวซ ซึ่งเป็นนักเดินทางชาวฝรั่งเศสในช่วงปี พ.ศ. 2224–2229 เพลงนี้ได้รับการเขียนลงในบันทึกของซีมง เดอ ลาลูแบร์เมื่อครั้งเดินทางมาอยุธยาในปี พ.ศ. 2230
เพลงนี้ปรากฏแต่เนื้อร้องส่วนต้นสันนิษฐานเป็นเพลง "สายสมร" (Say Samon) โดยบันทึกอย่างหยาบเป็นทำนองเดียวมิได้เป็นตามเนื้อร้องแต่อย่างใด นักวิชาการสันนิษฐานว่าเป็นเพลงบรรเลงสำคัญเพื่อใช้กล่อมสมเด็จพระนารายณ์มหาราชขณะบรรทมในเขตพระราชฐานสอดคล้องกับพระยาวิไชเยนทร์ (คอนสแตนติน ฟอลคอน) ผู้เป็นขุนนางผู้ใหญ่ชาวตะวันตกสันนิษฐานเป็นผู้ถอดเนื้อร้องเพลงนี้ให้ซีมง เดอ ลา ลูแบร์บันทึกแต่รวบรวมโดยนีกอลา แฌร์แวซไว้ในหนังสือ ประวัติศาสตร์ธรรมชาติและการเมืองแห่งราชอาณาจักรสยาม บันทึกร่วมกับเพลง "สุดใจ" (Sout Chai)
เพลงเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงพัฒนาการ แต่หาเป็นเพลงทางการที่บรรเลงในกิจกรรมทางจารีตไม่ ต่อมา ช่วงสมัยการบรรเลงเพลงโดยวงดุริยางค์ รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ร้อยเอกอิมเปย์ (Impey) และร้อยเอกทอมัส จี. น๊อกซ์ (Thomas G. Knox) ใช้เพลงก็อดเซฟเดอะคิง (God Save The King) บรรเลงเพื่อฝึกแถวกองหทารครูฝึกชาวตะวันตก ซึ่งเรียกว่า เพลงสรรเสริญพระบารมี เพราะเป็นเพลงชาติและเพลงสรรเสริญพระมหากษัตริย์แห่งสหราชอาณาจักร ในช่วงปี พ.ศ. 2395–2414 พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) ประพันธ์เนื้อร้องถวายเป็นเพลงสำหรับพระมหากษัตริย์ไทย ถือได้ว่าเป็นเพลงสำคัญของชาติไทย และเป็นเพลงชาติสยามโดยอนุโลม
กล่าวข้างต้นเป็นความเป็นมาของต้นกำเนิดของเพลงสำคัญของชาติ อันเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีเห็นชอบในคราวประชุมเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2546 เสนอโดยสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ทั้งหมดเพลง 6 เพลง ดังนี้
- เพลงชาติ
- เพลงสรรเสริญพระบารมี
- เพลงมหาชัย
- เพลงมหาฤกษ์
- เพลงสดุดีมหาราชา
- เพลงภูมิแผ่นดินนวมินทร์มหาราชา
โดยสั่งการให้หน่วยงานราชการหรือรัฐและรัฐวิสาหกิจใช้เพลงสำคัญนี้ที่จัดทำโดยคณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติจัดทำดนตรีบรรเลงและขับร้องขึ้นใหม่เป็นต้นฉบับในโอกาสต่าง ๆ นับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2547 โดยภาคประชาชนให้ถือแนวปฏิบัติไปในแนวทางเดียวกับคณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ เพลงสำคัญนี้เป็นเพลงเกี่ยวข้องกับระบอบการปกครองและจารีต สะท้อนค่านิยมของประชาชาติไทย
ต่อมา สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเสนอเพลงสำคัญของแผ่นดิน 2 เพลง ซึ่งมีมติคณะรัฐมนตรีเห็นชอบในคราวประชุมเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2563 เป็นเพลงประพันธ์โดยกระทรวงวัฒนธรรมตามที่คณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติเสนอประพันธ์ ดังนี้
- เพลงสดุดีจอมราชา
- เพลงสดุดีพระแม่ไทย
เพลงสำคัญของชาติกล่าวอีกนัยเป็นเพลงที่คณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติเสนอนั้น และหน่วยงานรัฐกับประชาชนชาวไทยจักต้องดำเนินเป็นแนวปฏิบัติในการบรรเลงเพลงสำคัญของชาติเนื่องในวโรกาสที่เกี่ยวข้องทั้งในพระราชพิธี รัฐพิธี หรือพิธีการตามวโรกาสนั้น