สารละลาย/ความเข้มข้นของสารละลาย
สารละลาย เป็นสารเนื้อเดียวที่มีองค์ประกอบของสารตั้งแต่ 2 ชนิดขึ้นไปมารวมกันในอัตราส่วนที่ไม่คงที่ ประกอบด้วย ตัวทำละลายและตัวละลาย มีทั้ง 3 สถานะ ดังนี้
1. สารละลายสถานะแก๊ส เช่น อากาศ
2. สารละลายสถานะของเหลว เช่น น้ำเกลือ น้ำเชื่อม ทิงเจอร์ไอโอดีน เป็นต้น
3. สารละลายสถานะของแข็ง เช่น นาก ทองเหลือง ทองสัมฤทธิ์ ฟิวส์ เป็นต้น
เกณฑ์ในการพิจารณาว่าสารใดเป็นตัวทำละลายหรือตัวละลาย
1. ตัวทำละลายและตัวละลายมีสถานะต่างกัน
เกณฑ์ ตัวทำละลาย คือ สารที่มีสถานะเดียวกันกับสารละลาย ตัวละลาย คือ สารที่มีสถานะต่างจากสารละลาย
ตัวอย่าง
สารละลายน้ำตาลทราย ประกอบด้วย น้ำ + น้ำตาลทราย ( ของเหลว ) ( ของเหลว ) ( ของแข็ง )
ดังนั้น
ตัวทำละลาย คือ น้ำ
ตัวละลาย คือ น้ำตาลทราย
2. ตัวทำละลายและตัวละลายมีสถานะเดียวกัน
เกณฑ์ ตัวทำละลาย คือ สารที่มีปริมาณมาก
ตัวละลาย คือ สารที่มีปริมาณน้อย
ตัวอย่าง
ฟิวส์ ประกอบด้วย บิสมัท 50% + ตะกั่ว 25% + ดีบุก 25% มีปริมาณ ดังนี้ ( มาก ) ( น้อย ) ( น้อย )
ดังนั้น ตัวทำละลาย คือ บิสมัท
ตัวละลาย คือ ตะกั่ว ดีบุก
ความเข้มข้นของสารละลาย เป็นค่าที่บอกให้ทราบถึงปริมาณตัวละลายที่มีในสารละลาย ว่ามีจำนวนมากน้อยเพียงใด
สารละลายเข้มข้น คือ สารละลายที่มีปริมาณตัวละลายมาก
สารละลายเจือจาง คือ สารละลายที่มีปริมาณตัวละลายน้อย
สารละลายอิ่มตัว คือ สารละลายที่ไม่สามารถละลายตัวละลายได้อีกต่อไป ณ อุณหภูมิขณะนั้น ซึ่งถ้าใส่ตัวละลายเพิ่มลงไปอีก จะเหลือตะกอนอยู่ที่ก้นภาชนะ การบอกความเข้มข้นของสารละลายแสดงด้วยหน่วยร้อยละ ดังนี้
1. ร้อยละโดยมวล
เป็นการบอกมวลของตัวละลายเป็นกรัมในสารละลาย 100 กรัม เช่น สารละลายน้ำตาลเข้มข้นร้อยละ 10 โดยมวล หมายความว่า มีน้ำตาล 10 กรัม ละลายอยู่ในสารละลายน้ำตาล 100 กรัม หรือสารละลายน้ำตาลประกอบด้วยน้ำตาล 10 กรัม ละลายอยู่ในน้ำ 90 กรัม (100-10 = 90) [ การใช้หน่วยของมวลเป็น กรัม เขียนสัญลักษณ์ คือ g ]
2. ร้อยละโดยปริมาตร
เป็นการบอกปริมาตรของตัวละลายเป็นลูกบาศก์เซนติเมตรในสารละลาย 100 ลูกบาศก์เซนติเมตร เช่น สารละลายเอทานอลในน้ำเข้มข้นร้อยละ 15 โดยปริมาตร หมายความว่า สารละลายเอทานอลในน้ำ 100 ลูกบาศก์เซนติเมตร มีเอทานอลละลายอยู่ 15 ลูกบาศก์เซนติเมตร ดังนั้นจึงมีน้ำซึ่งเป็นตัวทำละลาย 85 ลูกบาศก์เซนติเมตร (100-15 = 85) [ การใช้หน่วยของปริมาตรเป็น ลูกบาศก์เซนติเมตร เขียนสัญลักษณ์ คือ cm3 ]
3. ร้อยละโดยมวลต่อปริมาตร
เป็นการบอกมวลตัวละลายเป็นกรัมในสารละลาย 100 ลูกบาศก์เซนติเมตร เช่น สารละลายยูเรียเข้มข้นร้อยละ 25 โดยมวลต่อปริมาตร หมายความว่า สารละลายยูเรีย 100 ลูกบาศก์เซนติเมตร มียูเรียละลายอยู่ 25 กรัม [ การใช้หน่วยของมวลเป็น กรัม เขียนสัญลักษณ์ คือ g และ การใช้หน่วยของปริมาตรเป็น ลูกบาศก์เซนติเมตร เขียนสัญลักษณ์ คือ cm3 ]