ศาสนาคริสต์/ความรู้เบื้องต้นของศาสนาคริสต์/การเผยแพร่คริสตศานานิกายโปรเตสแตนต์ในประเทศ
คณะเผยแพร่ของนิกายโปรเตสแตนต์ที่ได้เข้ามาประเทศไทย ได้แก่ พวกมิชชันนารี 2 คน คือ ศาสนาจารย์ของเนเธอร์แลนด์ มิชชันนารี (Netherland Missionary Society) คาร์ล ออกัสตัส เฟรดเดอริค กุตสลาฟ เอ็ม.ดี (Rev. Carl Frildrich Augustus Gutzlaff) ชาวเยอรมัน และศาสนาจารย์ จาคอบทอมลิน (Rev. Jacob Tomlin) ชาวอังกฤษมาจากลอนดอน มิชชันนารี (London Missionary Society) มาถึงประเทศไทย วันที่ 23 สิงหาคม ค.ศ. 1828 ทั้งสองท่านได้ช่วยกันเผยแพร่ศาสนาด้วยความเข้มแข็ง
ต่อมาได้มีศาสนาจารย์ท่านอื่น ๆ ซึ่งเป็นพวกอเมริกันบอร์ดได้เข้ามาเผยแพร่อีก ในบรรดานักเผยแพร่ศาสนานั้น ผู้เริ่มต้นสัมพันธภาพที่ดีและยาวนานที่สุดระหว่างคนไทยกับศาสนาคริสต์ คือ ศาสนาจารย์แดน บีช บรัดเลย์ เอ็ม.ดี (Rev. Dan Beach Bradley, M.D.) ซึ่งเป็นเพรสไบทีเรียนในคณะอเมริกันบอร์ด (The American Board of Commissioners for Fcreign Missions) หรือ A.B.C.F.M ท่านได้เข้ามากรุงเทพฯ พร้อมภรรยา เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม ค.ศ. 1835 ตลอดเวลาที่ท่านอาศัยอยู่ในเมืองไทยนั้นท่านได้สร้างคุณประโยชน์อย่างมหาศาลในการรักษาพยาบาลคนไข้ไทย และคนจีนที่ป่วยด้วยโรคไข้ทรพิษและอหิวาตกโรค การผ่าตัดช่วยชีวิตผู้คนในสมัยนั้น จากการระเบิดของปืนใหญ่ ซึ่งนับว่าเป็นการผ่าตัดครั้งแรกในไทยที่ประสพผลสำเร็จอย่างดีเยี่ยม การทดลองปลูกฝีดาษในประเทศไทยซึ่งประสพผลสำเร็จมากทำให้คนไทยรอดตายจากโรคนี้หลายคน นอกจากนี้ยังริเริ่มการสร้างโรงพิมพ์และจัดพิมพ์ใบประกาศห้ามฝิ่นเป็นเรื่องแรก โดยพิมพ์ทั้งหมด 9,000 ฉบับ จากนั้นได้จัดพิมพ์หนังสือชื่อ "บางกอกกาลันเดอร์" ซึ่งเป็นบันทึกรายวันที่ เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ และวรรณคดีไทยที่ปรากฏเป็นเล่ม (McFarland. 1928 : 10 - 26)
นอกจากพวกสมาคมอเมริกันมิชชันนารีจะนำความเจริญมาให้ประเทศไทยควบคู่ไปกับการเผยแพร่ศาสนาแล้ว ยังมีนักเผยแพร่ศาสนากลุ่มอื่น ๆ อีก เช่น กลุ่มอเมริกันแบพติสมิชชัน (The American Baptist Mission) ซึ่งเป็นพวกที่สร้างคริสตจักรโปรเตสแตนต์แห่งแรกในกรุงเทพฯ ประมาณกลางปี ค.ศ. 1837 และได้จัดพิมพ์หนังสือภาษาไทยและภาษาอังกฤษรวมทั้งออก หนังสือพิมพ์ "สยามสมัย" (McFarland.1928 : 27-34)
กลุ่มเพรสไบทีเรียนอเมริกัน (The American Presbyterian Board) เป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่สร้างความเจริญให้กับประเทศไทยไม่น้อยไปกว่ากลุ่มอื่น ๆ เช่น ดร.เฮ้าส์ (Samuel R.House) ซึ่งเป็นแพทย์ผ่าตัดคนแรกในประเทศไทยที่ใช้อีเทอร์เป็นยาสลบ และเป็นแพทย์ผู้ช่วยชีวิตคนไทยจากโรคอหิวาต์ นายและนางแมตตูน (Rev. and Mrs. Stephen Mattoon) เป็นผู้ที่มีความสำคัญอีกเช่นกัน เพราะเป็นผู้ริเริ่มเปิดโรงเรียนแบบเช้าไปเย็นกลับ ซึ่งต่อมาโรงเรียนนี้ได้ร่วมกับโรงเรียนประจำของมิชชัน และได้พัฒนามาเป็นโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัยในปัจจุบัน (McFarland. 1928 : 35-50)