ดังที่อาจได้ศึกษามาแล้วว่า หนี้เป็นความสัมพันธ์ทางกฎหมายระหว่างบุคคลตั้งแต่สองฝ่ายขึ้นไป ฝ่ายหนึ่งเรียกว่า "เจ้าหนี้" มีสิทธิบังคับให้อีกฝ่ายซึ่งเรียก "ลูกหนี้" ทำหรือไม่ทำการใด ๆ เพื่อประโยชน์ของฝ่ายเจ้าหนี้ได้ และหนี้เกิดขึ้นจากสิ่งสองสิ่ง คือ นิติกรรม และนิติเหตุ[1]

นิติกรรม (legal transaction) คือ การที่บุคคลกระทำลงด้วยใจสมัครและโดยชอบด้วยกฎหมาย เพื่อก่อความสัมพันธ์ทางกฎหมายขึ้น ส่วนนิติเหตุ (legal cause) นั้นตรงกันข้าม กล่าวคือ เป็นเหตุการณ์ที่ผู้เกี่ยวข้องต้องเกิดมีความสัมพันธ์ทางกฎหมายกันขึ้นเพราะกฎหมายบัญญัติไว้เช่นนั้น ไม่ว่าเขาจะสมัครใจหรือไม่ก็ตาม

นิติเหตุแบ่งเป็นสี่อย่าง คือ[1]

  1. ละเมิด (tort) เป็นการจงใจหรือประมาทเลินเล่อทําต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมาย เป็นเหตุให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิต ร่างกาย อนามัย เสรีภาพ ทรัพย์สิน หรือสิทธิ
  2. จัดการงานนอกสั่ง (agency without specific authorisation) เป็นการที่บุคคลคนหนึ่งเข้าทำบางสิ่งบางอย่างแทนอีกบุคคลหนึ่ง โดยที่เขามิได้มอบหมาย หรือโดยไม่มีสิทธิทำเช่นนั้น
  3. ลาภมิควรได้ (unjust enrichment) เป็นการที่บุคคลได้ทรัพย์สินจากมูลเหตุที่ไม่มีกฎหมายรองรับ และ
  4. บุคคลสถานะ (personal status) เช่น หน้าที่ของบิดามารดาต่อบุตร หรือหน้าที่ของคู่สมรส

ในการศึกษานิติศาสตร์ในสถาบันอุดมศึกษาไทยทั่วไป นิติเหตุเป็นวิชาที่เรียก "ละเมิด จัดการงานนอกสั่ง และลาภมิควรได้" มักเล่าเรียนกันในปีที่สอง ถัดจากวิชาความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับกฎหมายและระบบกฎหมาย กฎหมายบุคคล กฎหมายหนี้: หลักทั่วไป และกฎหมายนิติกรรมและสัญญา ตามลำดับ

เชิงอรรถ

แก้ไข
  1. 1.0 1.1 จิ๊ด เศรษฐบุตร. (2554). หลักกฎหมายแพ่งลักษณะหนี้. (พิมพ์ครั้งที่ 20). กรุงเทพฯ: โครงการตำราและเอกสารประกอบการสอน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. ISBN 9789744665577. หน้า 22.



ขึ้น