ระบบศาลและหลักทั่วไปว่าด้วยวิธีพิจารณาคดี




ในการศึกษากฎหมาย นอกจากต้องศึกษากฎหมายสารบัญญัติ (substantive law) คือ กฎหมายที่บัญญัติในทางเนื้อหาสาระ เช่น กฎหมายแพ่ง กฎหมายอาญา แล้ว ยังต้องศึกษากฎหมายวิธีสบัญญัติ[1] (procedural law) ซึ่งเป็นกฎหมายที่บัญญัติในทางวิธีการ คือ วิธีการดำเนินกิจกรรมของฝ่ายตุลาการ ด้วย และในการศึกษานิติศาสตร์ตามหลักสูตรของสถาบันอุดมศึกษาไทยทั่วไปนั้น กฎหมายวิธีสบัญญัติจะเริ่มเล่าเรียนกันในปีที่สอง วิชาประเดิมคือวิชา ระบบศาลและหลักทั่วไปว่าด้วยวิธีพิจารณาคดี (Judicial System and General Principles of Procedural Law)[2] ซึ่งปูพื้นฐานเกี่ยวกับระบบตุลาการในประเทศไทย และเกี่ยวกับการดำเนินกิจกรรมขององค์กรตุลาการไทย สำหรับเป็นหนทางไปสู่การเรียนรู้กฎหมายวิธีพิจารณาคดีที่ละเอียดลึกซึ้งยิ่งขึ้นไปอีก

เพื่อประโยชน์ในการศึกษาระบบศาลและหลักทั่วไปว่าด้วยการพิจารณาคดี ตำรานี้จึงแบ่งส่วนดังนี้

  ภาคที่ 1   ระบบศาล: ภาพรวมของระบบศาลไทยและกฎหมายจัดองค์กรศาลไทย

  ภาคที่ 2   ศาลยุติธรรม: การจัดองค์กรของศาลยุติธรรม และหลักเบื้องต้นว่าด้วยการปฏิบัติหน้าที่ของศาลยุติธรรม

รายละเอียดของแต่ละภาคปรากฏอยู่ในกล่องท้ายหน้านี้แล้ว

อนึ่ง เพื่อประโยชน์ในการศึกษา ตำรานี้ได้แทรกศัพท์กฎหมายที่เป็นภาษาอังกฤษหรือภาษาอื่นไว้ และตำรานี้ยังแทรก ฎ. บางฉบับไว้ด้วย แต่พึงทราบว่า ในระบบซีวิลลอว์ (civil law) ซึ่งเป็นระบบกฎหมายที่ใช้ในประเทศไทยนั้น คำพิพากษาไม่เป็นกฎหมาย เป็นเพียงการปรับใช้กฎหมายเป็นรายกรณีไปเท่านั้น

เชิงอรรถ

แก้ไข
  1. "กฎหมายวิธีพิจารณาความ" หรือ "กฎหมายวิธีพิจารณาคดี" ก็เรียก
  2. บางสำนักเรียกวิชานี้ว่า
    • กระบวนการยุติธรรมและระบบศาล (Judicial Process and Court System)
    • ระบบศาลและพระธรรมนูญศาลยุติธรรม (Judicial System and Statute of Courts of Justice)
    • พระธรรมนูญศาลยุติธรรมและระบบตุลาการ (Statute of Courts of Justice and Judicial System)
    • พระธรรมนูญศาลยุติธรรม (Statute of Courts of Justice)
    • กฎหมายวิธีพิจารณาความเบื้องต้น (Introduction to Procedural Law)