ระบบการเลือกตั้ง/การเลือกตั้งเสียงข้างมากอย่างง่าย
การเลือกตั้งเสียงข้างมากอย่างง่าย
แก้ไขระบบการลงคะแนนเสียงที่ใช้ในการเลือกตั้งผู้นำฝ่ายบริหาร หรือสมาชิกรัฐสภาในเขตเลือกตั้งหนึ่ง บางคนเรียกระบบการลงคะแนนเสียงแบบนี้ว่า ระบบที่ผู้ชนะได้ทั้งหมด (winner-takes-all) หรือระบบเสียงข้างมากโดยสัมพัทธ์ (relative majority) เนื่องจากผู้สมัครที่ได้คะแนนเสียงสูงสุดจะเป็นผู้ที่ได้รับชัยชนะและได้ที่นั่ง/ตำแหน่งนั้นไป โดยที่ผู้ชนะอาจได้คะแนนเสียงข้างมากสมบูรณ์ (absolute majority) หรือไม่ก็ได้[1] ระบบนี้เป็นระบบที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในประเทศสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร แคนาดา ญี่ปุ่น และอินเดีย
การเลือกตั้งระบบเสียงข้างมากอย่างง่ายนี้ กำหนดให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งที่ได้คะแนนสูงสุดเป็นผู้ที่ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งนั้น โดยไม่พิจารณาว่าผู้ที่ได้รับคะแนนสูงสุดนั้นจะได้จำนวนคะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งหรือไม่ เมื่อเป็นเช่นนี้ผู้ชนะในการเลือกตั้งอาจชนะคู่แข่งขันด้วยคะแนนเสียงไม่มากนักในกรณีที่มีผู้สมัครจำนวนมากและคะแนนเสียงในการเลือกตั้งนั้นกระจายไปอย่างใกล้เคียงกันระหว่างผู้สมัครแต่ละคน ดังนั้นระบบแบบนี้จึงถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า เป็นระบบที่ดูเหมือนกับว่าคะแนนเสียงของผู้ลงคะแนนให้กับผู้สมัครที่ไม่ได้รับการเลือกตั้งไม่ได้ถูกนำมาพิจารณาหรือไม่มีความหมาย ถูกละเลย และถือว่าสูญเปล่าแม้ว่าคะแนนเสียงรวมระหว่างผู้ที่ได้คะแนนเป็นอันดับหนึ่งซึ่งเป็นผู้ชนะกับผู้ที่ได้คะแนนเสียงรวมเป็นอันดับสองอาจมีความแตกต่างกันไม่มากนัก ภายใต้ระบบการเลือกตั้งแบบนี้ ผู้ชนะจะทำหน้าที่เสมือนเป็นตัวแทนของผู้ลงคะแนนเสียงทั้งหมดในการเลือกตั้งนั้นหรือในเขตเลือกตั้งนั้น
ผู้ที่สนับสนุนการเลือกตั้งระบบเสียงข้างมากอย่างง่ายอธิบายว่า ระบบดังกล่าวนี้มีเป็นการดำเนินการตามหลักการ “หนึ่งคนหนึ่งคะแนนเสียง” (one person, one vote) นั่นคือ ผู้ลงคะแนนมีสิทธิในการลงคะแนนให้กับผู้สมัครอย่างเท่าเทียมกัน โดยผู้ที่ได้รับคะแนนเสียงสูงสุดเป็นบุคคลที่ได้รับความนิยมสูงสุดและเป็นผู้ชนะ[2]
แต่ผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับระบบเสียงข้างมากอย่างง่ายมีทัศนะว่า ระบบดังกล่าวนี้ทำให้คะแนนที่ผู้สมัครที่มิได้รับเลือกตั้งสูญเปล่า และส่งผลให้จำนวนที่นั่งของพรรคการเมืองที่ได้รับการเลือกตั้งไม่ได้เป็นสัดส่วนกับจำนวนคะแนนเสียงที่ได้รับตามจริง นั่นคือ พรรคการเมืองที่ได้จำนวนที่นั่งมากที่สุด หรือในกรณีที่ได้จำนวนที่นั่งเกินครึ่งหนึ่งของจำนวนที่นั่งทั้งหมด อาจได้คะแนนเสียงในการเลือกตั้งไม่ถึงร้อยละ 50 หรืออาจน้อยกว่านั้นมากในกรณีที่คะแนนเสียงมีการกระจายไปสู่พรรคการเมืองจำนวนหลายพรรคในการเลือกตั้งนั้น พรรคการเมืองขนาดเล็กที่ระดมคะแนนเสียงได้น้อยกว่าจะเสียเปรียบและได้รับจำนวนที่นั่งในการเลือกตั้งน้อยเกินจริงเมื่อเทียบสัดส่วนกับคะแนนทั้งหมดที่ได้รับในการเลือกตั้ง ดังนั้น ภายใต้ระบบเสียงข้างมากอย่างง่ายที่ถูกปรับใช้กับเขตเลือกตั้งขนาดเล็กแบบเขตเดียวคนเดียว (single-member district) จะเป็นไปตามกฏของดูเวอร์เจอร์ (Duverger’s Law) นั่นคือ มีแนวโน้มที่จะพัฒนาไปสู่ระบบพรรคการเมืองแบบสองพรรคใหญ่ เนื่องจากความจำเป็นในการอยู่รอดของพรรคการเมืองส่งผลให้พรรคการเมืองขนาดเล็กที่มีความแตกต่างในเชิงอุดมการณ์หรือจุดยืนไม่มากนักมองเห็นความจำเป็นในเชิงยุทธศาสตร์ที่จะต้องรวมเข้าด้วยกันเพื่อโอกาสในการแข่งขันในการเลือกตั้ง มิฉะนั้นอาจจะถูกกำจัดออกไปจากระบบการเมือง[3]
ในกรณีที่มีการปรับเอาระบบเสียงข้างมากอย่างง่ายไปใช้กับเขตเลือกตั้งที่มิใช่แบบเขตเดียวคนเดียว ตัวอย่างเช่น ประเทศญี่ปุ่นก่อนการปฏิรูปการเมือง ค.ศ. 1993 ใช้ระบบเสียงข้างมากอย่างง่ายกับระบบเขตเลือกตั้งขนาดกลาง (medium-sized district) ที่มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวน 3-5 คน โดยที่ผู้ลงคะแนนเสียงสามารถลงคะแนนให้กับผู้สมัครเพียงแค่คนเดียวและคะแนนดังกล่าวโอนให้กันไม่ได้ หรือที่เรียกกันว่า Single Non-transferable Voting System แต่ละพรรคการเมืองจะส่งผู้สมัครจำนวนมากกว่า 1 คนในแต่ละเขต โดยส่วนใหญ่จะส่งจำนวนเท่ากับจำนวนของผู้ชนะที่มีได้ในเขตเลือกตั้งนั้น และผู้สมัครแต่ละคนจะแข่งขันกันอย่างรุนแรง แม้แต่ผู้สมัครที่มาจากพรรคการเมืองเดียวกันก็จะต่อสู้กันอย่างดุเดือด ผลที่ตามมาก็คือ ผู้ที่ได้รับชัยชนะในแต่ละเขตเลือกตั้งจะได้รับสัดส่วนของคะแนนไม่สูงนัก หรือในบางเขตเลือกตั้ง ผู้ชนะอาจได้คะแนนเสียงเพียงร้อยละ 20 เศษๆ เท่านั้น
หากพิจารณาในเชิงตัวผู้ลงคะแนนเสียงแล้ว ระบบเสียงข้างมากอย่างง่ายในเขตเลือกตั้งแบบเขตเดียวคนเดียวอาจส่งผลให้ผู้ลงคะแนนเสียงตัดสินใจลงคะแนนเสียงในเชิงยุทธศาสตร์ นั่นคือ เมื่อเล็งเห็นว่าผู้สมัครที่ตนจะลงคะแนนเสียงให้อาจไม่ได้เป็นผู้ที่ได้รับคะแนนเสียงสูงสุด ซึ่งจะส่งผลให้คะแนนเสียงของตนสูญเปล่า ดังนั้นเพื่อป้องกันมิให้คะแนนเสียงของตนเองสูญเปล่า ผู้ลงคะแนนอาจตัดสินใจเลือกลงคะแนนให้กับผู้สมัครที่ตนเองชอบเป็นอันดับรองลงมา หรือเป็นผู้สมัครที่มีโอกาสในการชนะสูงกว่าผู้สมัครที่ตนเองชื่นชอบเป็นอันดับหนึ่ง หรือลงคะแนนให้กับผู้สมัครที่มีโอกาสในการชนะสูงและเป็นคู่แข่งกับผู้สมัครที่ตนเองไม่ชอบเพื่อเป็นการลดโอกาสชัยชนะของผู้สมัครที่ตนไม่ชอบ ภายใต้การลงคะแนนเชิงยุทธศาสตร์ การลงคะแนนเลือกของผู้ลงคะแนนจึงไม่ได้เป็นการเลือกผู้สมัครตามเจตจำนงที่แท้จริงของผู้ลงคะแนน แต่เป็นการลงคะแนนโดยพิจารณาตามสถานการณ์และโอกาสของชัยชนะของผู้สมัครในเขตเลือกตั้งมากกว่า
- ↑ “Plurality voting system” (Retrieved from http://en.wikipedia.org/wiki/Plurality_voting_system 26 November 2008)
- ↑ ibid
- ↑ ดู Maurice Duverger, “Factors in a Two-party and Multi-party System,” in Party Politics and Pressure Groups, (New York: Thomas Y. Crowell, 1972), pp. 23-32 (retrieved from http://www.janda.org/c24/Readings/Duverger/Duverger.htm 26 November 2008)