ภาษาละติน/หลักการแบ่งพยางค์

กฎการแบ่งพยางค์

แก้ไข

คำภาษาละตินประกอบด้วยหลายพยางค์ กฏการแบ่งพยางค์มีดังต่อไปนี้

  1. หากพยัญชนะนำหน้าด้วยสระและตามหลังด้วยสระ ให้ออกเสียงพยัญชนะคู่กับสระตัวหลัง เช่น amābilis /อะมาบิลิส/, memoria /เมโมริอะ/, intereā /อินเทเรอา/, abest /อะเบสท์/, peregit /เพเรกิท/
  2. หากพยัญชนะตามหลังด้วย l หรือ r ให้ออกเสียงควบกล้ำ เช่น pūblicus /พูบลิคุส/, agrī /อะกรี/
    • ยกเว้นคำที่เกิดจากการประสมของบุพบท ให้ออกเสียงบุพบทแยกออกมา เช่น abluō /อับ-ลุโอ/, abrumpō /อับ-รุมโพ/
  3. หากมีพยัญชนะสองตัว ให้ออกเสียงพยัญชนะทั้งสองแยกออกเป็นสองพยางค์ เช่น magnus /มักนุส/, egestās /เอเกสทาส/, victōria /วิคโทริอะ/, hospes /โฮสเพส/, annus /อันนุส/, subāctus /ซุบัคทุส/
  4. กรณี nct จะแยกเป็น nc-t เช่น fūnctus /ฟูงค์ทุส/, sānctus /ซางค์ทุส/

โครงสร้างของคำระดับพยางค์

แก้ไข

การแบ่งโครงสร้างระดับพยางค์มีความสำคัญกับการออกเสียงเน้นหนักภายในคำ ตำแหน่งพยางค์ที่สำคัญอยู่ที่สามพยางค์สุดท้าย

พยางค์ พยางค์ พยางค์ ... พยางค์ พยางค์ พยางค์
antepenult penult ultima
  • พยางค์สุดท้าย เรียกว่า ultima (แปลตรงตัวว่า สุดท้าย)
  • พยางค์รองสุดท้าย เรียกว่า penult หรือ penultima (แปลตรงตัวว่า รอง ultima)
  • พยางค์ก่อนรองสุดท้าย เรียกว่า antepenult หรือ antepenultima (แปลตรงตัวว่า ก่อนรอง ultima)

เช่น คำว่า audiendus แบ่งออกเป็นสี่พยางค์ แบ่งได้ดังนี้

au di en dus
- antepenult penult ultima

ความยาวของพยางค์

แก้ไข

พยางค์แบ่งตามความยาวได้เป็นสองประเภท

  • พยางค์สั้น คือ พยางค์ที่มีสระเสียงสั้นและไม่มีตัวสะกด เช่น amō /อะโม/, pigrī /พิกรี/
  • พยางค์ยาว คือ พยางค์ที่มีสระเสียงยาวหรือสระผสม หรือมีสระเสียงสั้นแต่มีตัวสะกด เช่น cūrō /คูโร/, poenae /พอยไน/, aestāte /ไอสทาเท/

ทั้งนี้ ตัว h ที่เป็นตัวสะกด จะไม่นับเป็นตัวสะกดแต่อย่างใด

การลงเสียงเน้นหนัก

แก้ไข

การลงเสียงเน้นหนักของภาษาละติน มีกฎแน่นอนตายตัวดังต่อไปนี้

  • ถ้าคำมีสองพยางค์ จะเน้นพยางค์แรกเสมอ เช่น 'mēnsa /'เมนสะ/, 'Caesar /'ไคซาร์/
  • ถ้าคำมีมากกว่าสองพยางค์
    • ถ้าพยางค์ penult เป็นพยางค์เสียงยาว ให้เน้นที่พยางค์ penult เช่น mo'nēmus /โม'เนมุส/, a'mandus /อะ'มันดุส/
    • ถ้าพยางค์ penult เป็นพยางค์เสียงสั้น ให้เน้นที่พยางค์ antepenult แทน เช่น 'regitur /'เรกิทุร์/, a'gricola /อะ'กริโคลา/
  • คำกลุ่ม enclitics ซึ่งไม่มีความหมายเมื่อปรากฎขึ้นเดี่ยวๆ เมื่อรวมกับคำอื่นแล้ว ให้เน้นเสียงที่พยางค์ก่อนหน้า enclitics นั้น คำกลุ่ม enclitics ได้แก่ -que (และ), -ve (หรือ), -ne (หรือเปล่า?) เช่น popu'lusque /โพพุ'ลุสเคฺว/, de'aque /เดอะ'เคฺว/, rēg'nave /เรก'นะเว/, au'ditne /เอา'ดิทเน/