จากสารัตถะของเอกสารที่ยกมาเป็นกรณีศึกษาว่าชาวฝรั่งเศสได้ให้ความสนใจต่อภาษาและวัฒนธรรมไทยก็ดี หรือคำอธิบายเกี่ยวกับเอกสารเรื่อง “ปูมราชธรรม” ก็ดี สามารถสรุปเป็นประเด็นต่างๆ ได้ ดังนี้
๑. ในนัยทางประวัติศาสตร์ แสดงให้เห็นความสืบเนื่องของความสนใจในวัฒนธรรมตะวันออกของเหล่านักคิด นักเขียน นักเดินทางต่างชาติในสมัยคริสต์ศตวรรษที่ ๑๗ ที่พยายามแสวงหาข้อมูลใหม่จากอีกโลกหนึ่งเพื่อเติมความรู้เดิมของตนให้เพิ่มมากขึ้น ขณะเดียวกันองค์ความรู้นี้จะพัฒนาต่อมาจนกระทั่งเป็นรูปธรรมในการผลิตหรือทดลองกิจการต่างๆ เช่น การสังเกตตำแหน่งดวงดาว การสังเกตการเกิดสุริยุ-จันทรุปราคา ล้วนเป็นความพยายามในการกำหนดตำแหน่งที่ตั้งและลักษณะทางภูมิศาสตร์ของโลกซึ่งจะยังผลให้การกำหนดเส้นรุ้ง-เส้นแวงและการเดินเรือมายังภูมิภาคอื่นๆ สะดวกง่ายดายขึ้น ยิ่งไปกว่านั้นในศตวรรษต่อมา พื้นฐานความรู้เช่นนี้จะเป็นปัจจัยหนึ่งที่กำหนดนโยบายอาณานิคมของประเทศในยุโรปต่อดินแดนในทวีปอื่นๆ ด้วย
๒. กรณีความสนใจของชาวฝรั่งเศสนั้นแสดงให้เห็นว่ามิได้สนใจเพียงการศาสนา การปกครอง การทูตและการค้าเพียงแต่อย่างเดียว หากแต่ยังรวมไปถึงวัฒนธรรมของชนทุกชั้น ผ่านสื่อกลางที่เป็น “ภาษา” และสันนิษฐานได้ว่าแนวคิดที่ว่าภาษาเป็นรากฐานหนึ่งของสังคมนั้นได้เริ่มพัฒนาการขึ้นอย่างเป็นระบบและพัฒนาขึ้นเป็นทฤษฎีทางภาษาศาสตร์ในศตวรรษต่อมา
๓. เอกสารไทยที่ได้รับการจัดเก็บ ณ ต่างประเทศยังกระจัดกระจายอยู่ตามห้องสมุดใหญ่ๆ เช่น ห้องสมุดเอกชนและห้องสมุดมหาวิทยาลัยต่างๆ ในอีกหลายประเทศ สำหรับที่ประเทศฝรั่งเศสนั้น หอสมุดคณะมิซซังต่างประเทศ หอจดหมายเหตุแห่งชาติ และห้องสมุดเอกชนอื่นๆ ยังคงเก็บรักษาเอกสารไทยไว้อีกเป็นจำนวนมาก ซึ่งสมควรได้รับการศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมต่อไป[๑]
การนำเสนอความสนใจของชาวฝรั่งเศสที่มีต่อเอกสารไทย ในช่วงรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชและการศึกษาวรรณคดีเรื่อง “ปูมราชธรรม” นี้ จึงเป็นเพียงอีกหนึ่งความพยายามที่จะกระตุ้นให้คนไทยหันกลับมารักษามรดกของตนและใส่ใจกับความเป็นไทยในทุก ๆด้าน ทั้งนี้การศึกษาแบบสหวิทยาการในเรื่องต่าง ๆ เป็นกระบวนการที่สำคัญและน่าสนใจ เพื่อการอภิวัฒน์ขององค์ความรู้เรื่องไทยศึกษาในอนาคต