พุทธทาสภิกขุ
ท่านพุทธทาสภิกขุ เป็นพระภิกษุสงฆ์ชาวไทยผู้มอบคำสอนทางพุทธศาสนาไว้มากมาย โดยคำสอนจำนวนมากเป็นธรรมะระดับโลกุตระ อันมีนิโรธเป็นรส และมีนิพพานเป็นอารมณ์ ซึ่งพุทธศาสนิกชนส่วนใหญ่เห็นว่าเป็นธรรมะขั้นสูง และไม่เหมาะกับฆราวาสผู้ยังเวียนว่ายอยู่ในวังวนแห่งโลกียะ แต่ท่านพุทธทาสภิกขุตระหนักว่าธรรมะเหล่านี้คือแก่นแท้ของพระพุทธศาสนา และพุทธมามกะไม่ว่าจะระดับชั้นใดก็ควรจะได้รับรู้ ได้รับปฏิบัติ และได้รับผลจากธรรมะเหล่านี้ ซึ่งถึงแม้จะเป็นธรรมะที่ละเอียดลึกซึ้ง แต่ท่านพุทธทาสภิกขุก็ได้ถ่ายทอดให้อยู่ในรูปแบบที่คนทั่วไปสามารถเข้าถึงและเข้าใจ โดยยังคงเนื้อหาสำคัญไว้ได้อย่างครบถ้วน คำสอนทั้งหลายของท่านพุทธทาสภิกขุ แท้จริงแล้วก็คือการสกัดพระสูตรให้ออกมาเป็นภาษาพูด และพระอภิธรรมให้ออกมาเป็นภาษาชาวบ้านนั่นเอง โดยข้อธรรมที่ท่านพุทธทาสภิกขุเน้นย้ำมากที่สุดคือเรื่องสุญญตา จนทำให้ผู้ศึกษาพระพุทธศาสนาหลายคนเรียกท่านว่า นักรบเพื่อความว่าง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นคำสอนของท่านพุทธทาสภิกขุยังรวมไปถึงเรื่องพื้นฐาน เช่น เรื่องการทำงาน และเรื่องการศึกษา ซึ่งคนทั่วไปสามารถนำธรรมะเหล่านี้ไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้ทันที
นอกจากพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทแล้ว ท่านพุทธทาสภิกขุยังมีใจเปิดกว้างทำการศึกษาคำสอนของต่างศาสนาและต่างนิกาย ด้วยความคิดว่าศาสนาทั้งหลายล้วนมุ่งหมายในสิ่งเดียวกัน ในสมัยที่ท่านพุทธทาสภิกขุจำพรรษาอยู่ที่สวนโมกขพลาราม นอกจากสาธุชนคนไทยผู้สนใจในธรรมะทั้งหลายจะแวะเวียนมาสนทนา และฟังเทศน์ฟังธรรมจากท่านพุทธทาสภิกขุอย่างไม่ขาดสายแล้ว ยังมีชาวต่างชาติผู้ต้องการเรียนรู้พระพุทธศาสนา นักศึกษาและอาจารย์ทางด้านศาสนศาสตร์จากต่างประเทศ รวมถึงประมุขของศาสนจักรต่างๆ แวะเวียนมาพูดคุยแลกเปลี่ยนทัศนคติความคิดเห็น รวมทั้งสนทนาธรรมกับท่านเป็นอันมาก ทำให้สวนโมกขพลารามเปรียบเสมือนตักศิลาสำหรับผู้ศรัทธาในพระพุทธศาสนา และทำให้วงการพระพุทธศาสนากลับมาตื่นตัวอีกครั้ง
คำสอนของมารดา
แก้ไขมารดาของท่านพุทธทาสภิกขุมีอุปนิสัยที่เน้นเรื่องความประหยัด และความละเอียดลออในการใช้จ่าย ซึ่งท่านพุทธทาสภิกขุกล่าวถึงเรื่องนี้เอาไว้ว่า
- ถ้าจะให้บอกว่ามีอะไรมาจากโยมหญิงบ้าง เห็นจะเป็นเรื่องประหยัด เรื่องละเอียดลออในการใช้จ่าย เพราะว่าถูกสอนให้ประหยัดแม้แต่น้ำที่จะล้างเท้า ห้ามใช้มาก แม้แต่น้ำกินจะตักมากินนิดหนึ่งแล้วสาดทิ้งไม่ได้ แม้แต่ใช้ฟืนก็ต้องใช้พอดี ไม่ให้สิ้นเปลือง ถ้ายังติดไม่หมดต้องดับ เก็บเอาไว้ใช้อีก ทุกอย่างที่มันประหยัดได้ต้องประหยัด มันมากเหมือนกัน ประหยัดไปได้ทุกวิธี มันก็เลยติดนิสัย มันมองเห็นอยู่เสมอ ไอ้ทางที่จะประหยัดเพื่อประโยชน์ มองเห็นอยู่ว่าต้องทำอย่างไร [1]
นอกจากนี้ มารดาของท่านพุทธทาสภิกขุยังได้อบรมสั่งสอน และเป็นแบบอย่างให้ท่านพุทธทาสภิกขุในอีกหลายเรื่อง ซึ่งท่านพุทธทาสภิกขุเคยกล่าวไว้ในธรรมเทศนาตอนหนึ่งว่า
- จะขอยกตัวอย่างที่แม่ได้ทำหน้าที่ของแม่ในการสร้างนิสัยอันละเอียดให้แก่ลูก เช่น ในความเรียบร้อย แม่กวดขันให้ล้างจานข้าวให้สะอาดเรียบร้อยและเก็บให้เรียบร้อย เสื้อผ้าต้องเรียบร้อย ปูที่นอนต้องเรียบร้อย ล้างมือล้างเท้าสะอาด...
- แม่สร้างนิสัยอ่อนน้อมถ่อมตน แม่สอนว่ายอมแพ้นั้นไม่ถือว่าเป็นการเสียเกียรติ เพราะให้เรื่องมันระงับไป แต่ก็ไม่ต้องเสียหายอะไรเนื่องจากว่าต้องยอมแพ้ มันเป็นการปลอดภัย และใครๆ ก็รักคนที่ยอมแพ้ไม่ให้เรื่องเกิด
- แม่สอนให้เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ แม่สอนว่าให้ลูกแมวได้กินข้าวก่อน แล้วคนจึงกิน สัตว์เดรัจฉานเป็นเพื่อนของเรา...
- แม่อบรมนิสัยให้รักน้องให้รักเพื่อน แม่สอนว่าน้องเอาเปรียบพี่ได้ แต่พี่เอาเปรียบน้องไม่ได้... แม่สอนว่าให้ดูว่าไก่ไม่มีเห็บเพราะมันช่วยจิกให้กันและกัน ลูกไก่เล็กๆ ยังช่วยจิกเห็บให้ลูกไก่ตัวใหญ่ เห็บที่มันอยู่ตามหน้าตามหงอนซึ่งมันจิกเองไม่ได้ แต่ไก่ก็ไม่มีเห็บ เพราะมันปฏิบัติหน้าที่เพื่อนของกันและกัน...
- แม่อบรมนิสัยกตัญญูรู้คุณ ให้เด็กเล็กๆ ช่วยทำงานให้แม่บ้าง ทำอะไรไม่ได้มากก็เพียงแต่ช่วยตำน้ำพริกแกงให้ก็ยังดี เหยียบขาให้แม่หายเมื่อย เอาใจใส่แม่เมื่อเจ็บไข้...
- ให้ปลูกฝังคือว่าให้ใช้เวลาว่าง ปลูกพริก ปลูกมะเขือ ปลูกตะไคร้ ดอกมะลิ ดอกราตรี แม้แต่สับปะรด กล้วย ก็ยังสอนให้ปลูก แล้วยังสอนคาถากันขโมยให้ด้วยว่า ถ้านกกินเป็นบุญ ถ้าคนกินเป็นทาน อาตามายังจำได้อยู่กระทั่งบัดนี้ ว่าถ้านกกินให้ถือว่าเราเอาบุญ ถ้าคนมันขโมยเอาไปก็ถือว่าให้ทาน แล้วมันก็จะไม่ถูกขโมยเลยจนตลอดชีวิต มันกลายเป็นให้ทานไปเสียทุกที ถ้าสัตว์มากินก็เอาบุญ ก็ไม่ต้องฆ่าสัตว์ไม่ต้องยิงสัตว์ [2]
อุดมคติก่อตัว
แก้ไขในพรรษาที่หก ความมุ่งหมายของท่านพุทธทาสภิกขุเริ่มเปลี่ยนไปจากเดิม ความรู้ทั้งหลายที่ท่านพุทธทาสภิกขุสั่งสมมานานจากการอ่านหนังสือธรรมะ รวมถึงความคิดมากมายและข้อสงสัยเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาที่เคยมีมาในอดีตเริ่มตกผลึกอย่างช้าๆ และก่อตัวเป็นอุดมการณ์ที่แจ่มชัดขึ้นทุกที ทำให้ไฟในการเรียนต่อเพื่อที่จะสอบเอาเปรียญธรรมที่สูงขึ้นไปได้อ่อนกำลังลง สุดท้าย ท่านพุทธทาสภิกขุก็สอบตกเปรียญธรรม 4 ประโยค ในปีนั้น และล้มเลิกความตั้งใจในการไขว่คว้าพัดยศพระเปรียญอย่างสิ้นเชิง
จากการศึกษาคัมภีร์ที่เป็นหลักดั้งเดิมในภาษาบาลี ทำให้ท่านพุทธทาสภิกขุแน่ใจว่าเส้นทางที่ตนเองได้เดินมา และกำลังจะเดินไปนั้น ไม่ใช่เส้นทางแห่งความบริสุทธิ์ที่พระพุทธองค์ทรงชี้แนะแต่อย่างใด หากแต่เป็นเส้นทางที่เจือด้วยยศศักดิ์และความลุ่มหลงเมามัว ท่านพุทธทาสภิกขุจึงตัดสินใจอย่างเด็ดขาดที่จะไม่เลือกเดินในเส้นทางสายนี้อีกต่อไป ดังในจดหมายที่ท่านพุทธทาสภิกขุส่งถึงนายธรรมทาสน้องชายว่า
- เราตกลงใจกันแน่นอนแล้วว่ากรุงเทพฯ ไม่ใช่เป็นที่ที่จะค้นพบความบริสุทธิ์ การถลำเข้าเรียนปริยัติธรรมทางเจือด้วยยศศักดิ์ เป็นผลดีให้เรารู้สึกตัวว่าก้าวผิดไปหนึ่งก้าว หากรู้ไม่ทันก็จะต้องก้าวไปอีกหลายก้าว และยากที่จะถอนออกได้เหมือนบางคน จากการรู้สึกว่าก้าวผิดนั่นเองทำให้พบเงื่อนว่าทำอย่างไรเราจะก้าวถูกด้วย
- เราเดินตามโลกตั้งแต่นาทีที่เกิดมาจนถึงนาทีที่มีความรู้สึกนี้ ต่อนี้ไปเราจะไม่เดินตามโลก และลาโลกไปค้นหาสิ่งที่บริสุทธิ์ตามรอยพระอริยะที่ค้นแล้วจนพบ หากเราขืนเดินตามโลกและเป็นการเดินตามหลังโลก ตามหลังอย่างไม่มีเวลาทัน ถึงแม้ว่าเราจะได้เกิดอีกตั้งแสนชาติก็ดี บัดนี้เราจะไม่เดินตามหลังโลกอีกต่อไป จะอาศัยโลกสักแต่กาย ส่วนใจเราจะทำให้เป็นอิสระจากโลกอย่างที่สุด เพื่อเราจะได้พบความบริสุทธิ์ในขณะนั้น [3]
กำเนิดนามพุทธทาส
แก้ไขเนื่องจากท่านพุทธทาสภิกขุพบว่าตำราธรรมะภาษาไทยนั้นยังอธิบายไว้ไม่เพียงพอสำหรับผู้ที่ปฏิบัติธรรมเพื่อความหลุดพ้นจริงๆ ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2475 ท่านพุทธทาสภิกขุจึงเริ่มเขียนหนังสือ ตามรอยพระอรหันต์ โดยมุ่งหวังเพื่อให้เป็นแผนที่สำหรับการเดินทางไปสู่ความเป็นพระอรหันต์ อันเป็นอุดมคติสูงสุดของพระพุทธศาสนา ซึ่งคำประณมพจน์และคำประกาศใช้นาม พุทธทาส ได้ปรากฏเป็นครั้งแรกในหนังสือตามรอยพระอรหันต์นี้ ว่า
- พุทฺธสฺสาหํ นิยฺยาเทมิ สรีรญฺชีวิตญฺจิทํ พุทฺธสฺสาหสฺมิ ทาโส ว พุทฺโธ เม สามิกิสฺสโร - อิติ พุทฺธทาโส
- ข้าพเจ้ามอบชีวิตและร่างกายนี้ ถวายแด่พระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าเป็นทาสของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าเป็นนายของข้าพเจ้า เพราะเหตุดังว่ามานี้ ข้าพเจ้าจึงชื่อว่า พุทธทาส
ท่านพุทธทาสภิกขุเล่าถึงที่มาของนามพุทธทาสไว้ดังนี้
- เราเกิดความรู้สึกที่จะรับใช้พระพุทธศาสนาขึ้นมา โดยที่เราเริ่มเข้าใจพระพุทธเจ้าและเริ่มเข้าใจพุทธศาสนา ว่าเป็นสิ่งที่มีประโยชน์สูงสุดสำหรับมนุษย์ แต่แล้วมันก็ไม่ค่อยจะได้รู้จักกัน ฉะนั้นจึงอุทิศตั้งจิตว่า เราจะทำงานเผยแผ่พระพุทธศาสนา อย่างกับว่ารับใช้พระพุทธองค็ให้สมกับหน้าที่ของพระสาวก ทีนี้ทุกเย็นไม่ว่าวัดไหนเขาก็สวดทำวัตรเย็น ในบททำวัตรเย็นมันก็มีคำชัดเลยว่า "ข้าพเจ้าเป็นทาสของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าเป็นนายมีอิสระเหนือข้าพเจ้า ข้าพเจ้ามอบกายถวายชีวิตนี้แด่พระพุทธเจ้า" มันก็ยิ่งเข้ารูปกันกับ เราที่ตั้งใจอยู่ว่าจะรับใช้พระพุทธเจ้า ในฐานะที่เป็นทาส จึงสมกับที่เรียกตัวเองว่า "พุทธทาส"
- นี่คือความหมายของคำว่า "พุทธทาส" เกิดขึ้นจากความรู้สึกว่าไม่มีอะไรดีกว่า ชีวิตของเราจะอยู่ต่อไปอีกกี่ปีก็ตามใจ ถ้าจะใช้ให้เป็นประโยชน์ที่สุด และสูงสุด ก็ควรจะทำงานนี้ คือรับใช้พระพุทธเจ้า ด้วยการทำให้พุทธศาสนาแพร่หลายไป มีประโยชน์แก่คนทุกคนในโลกก็แล้วกัน แล้วอาตมายังคิดด้วยความรู้สึกบริสุทธิ์ใจว่า พุทธบริษัททุกคนเป็นพุทธทาสอยู่แล้วในตัว ไม่ใช่แต่เรา แต่เขาทำงานอย่างพุทธทาสอยู่แล้วทุกคน ช่วยรักษาบำรุงเผยแผ่พระพุทธศาสนา ฉะนั้นเราก็ไม่ยกตัว ไม่อวดดี ไม่จองหองพองขนว่า เป็นพุทธทาสแต่เราคนเดียวเท่านั้น [4]
- นายธรรมทาสเขาตั้งชื่อของเขาก่อน ธรรมทาส ทีนี้เราเห็นว่ามันว่างอยู่ตำแหน่งหนึ่ง ก็เลยเห็นว่ามันน่าจะชื่อพุทธทาส แล้วเจ้าคุณวัดสามพระยาสมัยนั้น สมเด็จวัดสามพระยาตอนนี้แหละ ท่านเกิดชอบขึ้นมา ท่านก็เลยใช้ชื่อสังฆทาสอยู่พักหนึ่ง และท่านก็จัดการเรื่องของคณะสงฆ์เป็นการใหญ่ ปฏิรูป ปฏิวัติอะไรกัน ในเรื่องเกี่ยวกับคณะสงฆ์ ก็เลยใช้ชื่อตัวเองว่าสังฆทาสเลยได้มีครบชุด [1]
ปณิธานในชีวิต
แก้ไขปณิธานในชีวิตของท่านพุทธทาสภิกขุมี 3 ข้อ คือ:
- ให้พุทธศาสนิกชนหรือศาสนิกแห่งศาสนาใดก็ตามเข้าถึงความหมายอันลึกซึ้งที่สุดแห่งศาสนาของตน
- ทำความเข้าใจอันดีระหว่างศาสนา
- ดึงเพื่อนมนุษย์ให้ออกมาเสียจากวัตถุนิยม