ในความคิดของนักปรัชญามี 2 ระดับคือ ปัญหาระดับสัญชาตญาณเพื่อความอยู่รอด และปัญหาระดับปัญญาเกิดจากการตรึกตรองจนเห็นคำถาม ตอบสนองด้วยคำตอบที่มาจากปัญญาเช่นกัน อาจจะมีสัญชาตญาณทำการควบคู่มาด้วย ถ้าถูกครอบงำโดยสัญชาตญาณก็จะอยู่แค่ระดับสัญชาตญาณ จึงสรุปได้ว่า ปรัชญามีมาพร้อมกับมนุษย์ตั้งแต่ยังไม่รู้จักใช้ภาษา และวิวัฒนาการเรื่อยมา ด้วยเหตุที่ชาวกรีกได้จัดทำเรื่องนี้ไว้อย่างเป็นระบบ จึงได้รับเกียรติเป็นปัญญาชนชาติแรก

สมัยโบราณ ทุกอย่างที่เรียนเพื่อรู้ มิใช่เรียนเพื่อประกอบอาชีพ ถือว่าเป็นปรัชญาทั้งสิ้น สมัยกรีกยุคศึกษิต ปรัชญาก่อนซาคเครอทิสนั้นศึกษากันถึงเรื่องการเกิดการดับของทุกสิ่ง และพยายามจะรู้ขนาดของดวงดาว ระยะทาง วงโคจร และปรากฏการณ์ทั้งหลายในห้วงเวหา ซาคเครอทิสเป็นคนแรกที่นำปรัชญามาศึกษาเรื่องในโลก คือ ให้หันมาสนใจเรื่องจิตและจริยธรรม

กระบวนทรรศน์ที่ 2 กระบวนทรรศน์โบราณ (Ancient paradigm) เริ่มนับจากปีที่ Thales เสนอความคิด ก.ค.ศ.650 จนถึง ค.ศ.529 ซึ่งจักรพรรดิ Justinian ประกาศให้ศาสนาคริสต์เป็นศาสนาประจำอาณาจักรโรมันและห้ามนับถือศาสนาอื่นใดทั้งสิ้น มนุษย์น่าจะเริ่มไม่พอใจคำตอบของกระบวนทรรศน์ดึกดำบรรพ์เพราะต้องการความแน่นอนกว่าเดิม ศาสนาโบราณจึงมีกฎชัดเจนเป็นเบื้องต้น การอ้างเบื้องบนในการอธิบายต่างๆ ไม่ทำให้คนในช่วงรอยต่อนี้พอใจได้ เพราะโลกมีสิ่งที่ดำเนินไปอย่างสม่ำเสมอ มนุษย์จึงใช้ปัญญาสังเกตและพัฒนาเป็นกฎ ทำให้สร้างสรรค์สิ่งต่างๆ จำนวนมาก

จึงได้คติแห่งยุคว่า “ทุกอย่างอยู่ที่กฎ” โลกตามทรรศนะนี้ได้ชื่อว่าเอกภพ (cosmos) นักปรัชญาต่างมุ่งเร่งค้นหากฎของโลก กฎความจริง และกฎความสุข แบ่งได้เป็น 3 ยุค

  • Pre-Socratic philosophy เป็นช่วงเร่งหากฎของโลก คือ ยุคปรัชญากรีกสมัยเริ่มต้น (ก.ค.ศ.650-450)
  • Classical Greek philosophy เป็นช่วงเร่งหากฎความจริง คือ ยุคปรัชญากรีกสมัยรุ่งเรือง (ก.ค.ศ.450-322)
  • Hellenistic philosophy เป็นช่วงเร่งหากฎความสุข คือ ยุคปรัชญากรีกสมัยเสื่อม (ก.ค.ศ.322- ค.ศ.529)

Pre-Socratic philosophy ปรัชญากรีกสมัยเริ่มต้น (ก.ค.ศ.650- 450) ช่วงเร่งหากฎของโลก คือ อะไรคือความเป็นจริง (reality) บทบาทสำคัญอยู่ที่สำนักปรัชญาแห่ง Miletus และ สำนักปรัชญาแห่ง Elea

Thales of Miletus (ก.ค.ศ.625-547) เริ่มสอนว่า “เราจะอธิบายเหตุการณ์ทั้งหลายของเอกภพด้วยกฎของเอกภพเอง” ปัญหาสำคัญทางปรัชญา คือ เราจะรู้กฎของโลกได้อย่างไร จะรู้กฎของโลกต้องรู้ให้ได้ก่อนว่าอะไรคือวัตถุแรกของโลก ซึ่งเป็นต้นตอของสรรพสิ่ง นั่นคือ ปฐมธาตุ (First element) กฎต่างๆ ย่อมเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของปฐมธาตุไปสู่สิ่งต่างๆ

Classical Greek philosophy เป็นช่วงเร่งหากฎความจริง คือ ยุคปรัชญากรีกสมัยรุ่งเรือง (ก.ค.ศ.450-322) ยุคสั้นๆ ตั้งแต่ Socrates จนถึง Aristotle และเหล่า Sophists แห่งกรุงเอเธนส์ สนใจมาตรการความจริง จึงเกิดคำถามสำคัญคือ ความจริงที่แน่นอนตายตัวมีหรือไม่ มีมาตรการสากลหรือไม่ ถ้าไม่มีทำไมจึงไม่มี ถ้ามีอยู่ที่ไหน

  • Sophists ต่างตอบว่า ไม่มี เพราะโครงสร้างสมองของมนุษย์แต่ละคนไม่เหมือนกัน
  • Socrates ตอบว่า มี อยู่ในสมองของมนุษย์ เพราะโครงสร้างสมองของมนุษย์เหมือนกัน
  • Plato ตอบว่ามี อยู่ใน world of Idea เพราะสมองของเราไม่สามารถค้ำประกันความสากลได้
  • Aristotle ตอบว่ามี อยู่ในโลกนี้ เพราะโลกแห่งมโนคติเป็นสิ่งสมมติ

Hellenistic philosophy เป็นช่วงเร่งหากฎความสุข คือ ยุคปรัชญากรีกสมัยเสื่อม (ก.ค.ศ.322-ค.ศ.529) ยุคนี้นับตั้งแต่ Aristotle เสียชีวิต จนถึงจักรพรรดิ Justinian ประกาศรับรองศาสนาคริสต์เป็นศาสนาประจำอาณาจักรโรมัน เมื่อ Alexander the great สิ้นพระชนม์ (ครองราชย์ ก.ค.ศ.336-323) ทำให้อาณาจักร Macedon แตก แม่ทัพแต่ละส่วนได้แยกปกครองตนเอง แย่งชิงอำนาจระหว่างกัน นครรัฐในกรีกรบกันเอง นักการเมืองแบ่งฝักแบ่งฝ่าย มีการลอบสังหาร และติดสินบนอย่างรุนแรง นักปรัชญาเพียงรื้อฟื้นคำสอนเพื่อชี้ถึงการดำรงชีวิตอย่างมีความสุขในสังคมได้ เน้นจริยศาสตร์ 6 สำนักเพื่อตอบคำถาม How to live well?


เราอาจแบ่งการค้นหาความเป็นจริงตามแนวคิดทางอภิปรัชญาที่เกิดขึ้นตามแนวคิดกระบวนทรรศน์ที่ 2 ยุคโบราณ แบ่งแนวคิดออกเป็น 3 กลุ่ม คือ จิตนิยม สสารนิยม และทวินิยม

การค้นความเป็นจริงตามแนวคิดกลุ่มจิตนิยม มีดังนี้

  • อภิปรัชญาของเพลโทว์ (Plato ก.ค.ศ.427 - 347) ถือว่าความเป็นจริงที่แท้นั้นเป็นสิ่งสากล (Universal) มีอยู่จริง ๆ โดยวัตถุวิสัย แต่ตามองไม่เห็น จึงต้องใช้ปัญญาเข้าใจส่วนรวม และเนื่องจากผัสสะแปรปรวนไปตามอารมณ์ เพลโทว์จึงแนะให้แยก ความรู้กับประสบการณ์ออกจากกัน ปรากฏการณ์ได้มาทางผัสสะ ส่วนความรู้ได้มาทางปัญญา ความเป็นจริง (Reality) มีมาก่อนปัญญาและไม่ขึ้นกับปัญญา ขณะที่ปัญญาต้องขึ้นกับความเป็นจริงนี้ เพราะถ้าปัญญารู้ไม่ตรงกับความเป็นจริง ความรู้ของปัญญาก็เท็จ เมื่อไรปัญญารู้ตรงกับความเป็นจริง จึงกล่าวได้ว่าปัญญารู้ความจริง ไม่มีใครมีสิทธิเปลี่ยนความเป็นจริงได้ อยากรู้ความจริงก็ต้องหมั่นศึกษาค้นคว้าให้เข้าถึงความเป็นจริงเท่านั้น
  • อภิปรัชญาของโพลทายเนิส (Plotinus ค.ศ.205-270) ถือว่าความเป็นจริงดั้งเดิมมีหนึ่งเดียวเรียกว่า องค์เอกะ (The one) องค์เอกะนี้มีแต่ความดี สมบูรณ์อย่างเหลือล้นแต่ด้านเดียว ไม่มีความเลวหรือความบกพร่องเจือปนอยู่เป็นการจำกัดขอบเขตเลย ความสมบูรณ์นี้จึงท่วมท้นล้นออกมานอกขอบเขตดั้งเดิม ส่วนที่ล้นออกมานี้ยิ่งออกห่างจากศูนย์กลางหรือขอบเขตความสมบูรณ์ดั้งเดิมมากเท่าไร ความสมบูรณ์ก็ยิ่งเจือจางมากขึ้นทุกที แต่แรกเริ่มมีเพียง องค์เอกะ แต่ผู้เดียว ความเป็นจริงแต่สิ่งเดียว มีความเป็นอยู่เองแต่นิรันดร พระปัญญาหรือพระวจนะมีความสมบูรณ์เหลือล้นจึงต้องล้นออกด้วยความจำเป็นต่อมาเกิดพระวิญญาณใหญ่ ซึ่งเป็นจิตหรือดวงวิญญาณของโลก เนื่องจากวิญญาณของโลกออกห่างจากความสมบูรณ์มากขึ้นเรื่อยๆ ความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ซึ่งเป็นความบกพร่องประการหนึ่ง บันดาลให้สะเก็ดวิญญาณโลกบางส่วนถลำเข้าคลุกเคล้ากับสสาร กลายเป็นคนขึ้นมาแต่ละคน คนเราแต่ละคนจึงมีส่วนของจิตสูงส่งซึ่งเนื่องจากพระเจ้า ส่วนร่างกายมาจากสสารซึ่งเป็นของเฉื่อยหนักไร้อุดมคติ ชีวิตจึงเป็นการต่อสู้ดิ้นรนระหว่างธาตุพระเจ้ากับธาตุวัตถุ

การค้นหาความเป็นจริง ตามแนวทางของกลุ่มสสารนิยม มีดังนี้

  • อภิปรัชญาของเธลิส (Thales ก.ค.ศ. 625-547) ถือเป็นบิดาของปรัชญาตะวันตก เสนออภิปรัชญาด้วยภาษาที่มีความหมายตรง โดยเสนอไว้ว่า สิ่งที่เป็นจริงทั้งหลายทั่วเอกภพมีต้นกำเนิดจากน้ำ และความเป็นจริงแท้คือน้ำ ปรากฏการณ์อย่างอื่นนอกเหนือไปจากน้ำเป็นภาวะชั่วคราว เพราะทุกอย่างมาจากน้ำในที่สุดก็ต้องคืนสู่สภาพน้ำ ดังนั้น น้ำจึงเป็นภาวะแท้ (ปฐมธาตุ) ของทุกสิ่ง และเป็นความเป็นจริงอันติมะของสรรพสิ่ง เทพเทวีทั้งหลายแม้นมีจริงก็ย่อมถือกำเนิดจากน้ำ ดังที่คัมภีร์โบราณทั้งหลายระบุไว้
  • อภิปรัชญาของอแนกเสอแมนเดอร์และเอินแนกซีเมอนิส: อแนกเสอแมนเดอร์ (Anaximander ก.ค.ศ.610-545) ได้แย้งเธลิสว่าน้ำไม่น่าจะเป็นความเป็นจริงอันติมะ เพราะน้ำเป็นของสำเร็จรูปใช้การได้แล้ว ความเป็นจริงอันติมะน่าจะต้องเป็นอะไรเบื้องต้นกว่านั้น ที่พร้อมจะใช้เป็นวัตถุดิบทำอะไรได้ทุกอย่าง สิ่งนั้นไม่มีชื่อเรียก แต่เนื่องจากมีเต็มช่องว่างที่เวิ้งว้างไร้ขอบเขตของท้องฟ้า จึงน่าจะเรียกว่าสารอนันตภาพ (The Infinity) หรือสารไร้รูป (formless material) เอินแนกซีเมอนิส (Anaximenes ก.ค.ศ.588-524) เสนอว่าความเป็นจริงอันติมะนั้นเรียกว่า อนันตภาพก็ยังไม่เข้าท่าอยู่ดี เพราะอาจจะเป็นความว่างเปล่าไม่มีอะไรเลยก็เป็นอนันต์ได้ แต่ก็ไม่ใช่ความเป็นจริง จึงเสนอว่าควรเรียกว่าอายเธอร์ (Aither) อายเธอร์จึงเป็นความเป็นจริงอันติมะที่ฟุ้งกระจายอย่างเจือจางที่สุดในห้วงเทศะ (space) เมื่อรวมตัวกันแน่นหนาขึ้นก็จะกลายเป็นสิ่งนั้นสิ่งนี้ตามระวางความหนาแน่นของแต่ละสิ่ง ทุกสิ่งเกิดจากอายเธอร์และจะคืนสภาพสู่อายเธอร์เป็นวัฏจักรหมุนเวียนอย่างไม่รู้จบสิ้นของธรรมชาติ
  • อภิปรัชญาของแอร์เริสทาทเทิล (Aristotle ก.ค.ศ.384-322) กำหนดหลักการแม่แบบของตนว่า เนื้อหาความรู้พื้นฐานที่สุดคือภวันต์ (entity) อันเป็นความรู้ที่เป็นนามธรรมที่สุด จึงเป็นพื้นฐาน เป็นหลักการแม่แบบที่สุด เป็นความเป็นจริงอันติมะที่สุด เป็นปฐมธาตุที่ลึกลงไปยิ่งกว่าปฐมธาตุของเธลิสและลูกศิษย์ ลึกยิ่งกว่าปรมาณูของเดอมาคเครอเทิส ลึกยิ่งกว่าแม่แบบในโลกแห่งมโนคติของเพลโทว์ เพราะความเป็นจริงทั้งหลายที่เคยมีกล่าวถึงกันมาแล้วทั้งหมด ที่สุดก็หยั่งลงไปได้ว่าล้วนแต่เป็นภวันต์ทั้งสิ้น
  • อภิปรัชญาของเดอมาคเครอเทิส (Democritus ศตวรรษที่ 5 ก.ค.ศ.) สอนว่าสิ่งต่าง ๆ ประกอบด้วยอะตอม ความเป็นจริงทั้งหลายมีอยู่ 3 อย่าง คือ อะตอม ช่องว่าง และการเคลื่อน ช่องว่าง แม้ไม่มีอะไรเลยก็เป็นอะไรสักอย่างที่ต้องมีอยู่จริง มิฉะนั้นอะตอมจะเคลื่อนไหวไม่ได้ เพราะอะตอมต้องเคลื่อนที่ไปในช่องว่าง ถ้ายอมรับว่าอะตอมเคลื่อนที่ได้ก็ต้องยอมรับว่ามีช่องว่างอยู่จริง การเกิดคือการรวมตัวของอะตอม การตาย คือการแยกตัวของอะตอม ไม่มีอะไรใหม่ ไม่มีอะไรสูญหาย ทุก ๆ อย่างเกิดขึ้นตามกฎเกณฑ์กลศาสตร์ คือ สสารเคลื่อนไปในช่องว่างด้วยพลัง นอกนั้นเป็นสิ่งที่เราบัญญัติกันขึ้นมาเองเพื่อความสะดวกในการพูดจา
  • อภิปรัชญาของเพอแทกเกอเริส (Pythagoras ก.ค.ศ.580-500) เสนอความคิดว่า ความเป็นจริงอันติมะคือ กฎคณิตศาสตร์ที่สามารถแถลงออกมาเป็นตัวเลข ทุกสิ่งในจักรวาลเป็นไปตามกฎคณิตศาตร์ ไม่มีข้อยกเว้นหรือผ่อนผันใดๆ การจะรู้กฎเกณฑ์ก็ต้องฝึกฝนตนและเล่าเรียน

การค้นหาความเป็นจริง ตามแนวทางของกลุ่มทวินิยม จะนำแนวคิดของกลุ่มจิตนิยมและสสารนิยมมาคัดสรรเพื่อตอบปัญหาต่างๆ โดยเชื่อว่าสรรพสิ่งมีทั้งความเป็นจิตและสสาร

อ้างอิง แก้ไข

  1. กีรติ บุญเจือ. (2546) “เริ่มรู้จักปรัชญา” ในชุด ปรัชญาและศาสนาเซนต์จอห์น, กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยเซนต์จอห์น.
  2. เอนก สุวรรณบัณฑิต. (2558). เอกสารประกอบการสอนวิชาปรัชญาศึกษา. บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา.