พระมหากษัตริย์ไทย/กฎหมายเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์/พระราชสถานะของพระมหากษัตริย์ รัฐธรรมนูญ

พระราชสถานะและพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน ได้บัญญัติรองรับพระราชสถานะและพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ไว้ในหลายๆ เรื่องดังนี้


พระราชสถานะของพระมหากษัตริย์

รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันได้บัญญัติถึงพระราชสถานะของพระมหากษัตริย์ไว้ดังนี้

1 พระราชสถานะที่ทรงเป็นองค์พระประมุขของราชอาณาจักรไทย และของปวงชนชาวไทย ตาม มาตรา 2 “มาตรา 2 ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข”

2 พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ตามมาตรา 8 “มาตรา 8 องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใดๆ มิได้”

3 พระมหากษัตริย์ทรงเป็นพุทธมามกะและทรงเป็นอัครศาสนูปถัมภก ตามมาตรา 9 “มาตรา 9 พระมหากษัตริย์ทรงเป็นพุทธมามกะ และทรงเป็นอัครศาสนูปถัมภก”

เมื่อได้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาสู่ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขแล้ว รัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศทุกฉบับรวมทั้งรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ได้บัญญัติรับรองไว้ในหมวดพระมหากษัตริย์ มาตรา 9 ว่า “พระมหากษัตริย์ทรงเป็นพุทธ มามกะ และทรงเป็นอัครศาสนูปถัมภก” ซึ่ง บทบัญญัติดังกล่าวนี้มีความหมายว่า เนื่องจากประเทศไทยมีประชากรส่วนใหญ่เป็นพุทธศาสนิกชน พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุขของรัฐจึงต้องทรงเป็นพุทธมามกะ คือ เป็นผู้ที่นับถือศาสนาพุทธ และในขณะเดียวกันก็ทรงเป็นอัครศาสนูปถัมภก คือ ทรงทำนุบำรุงอุปถัมภ์ศาสนาทั้งปวงในขอบขัณฑสีมา โดยไม่ทรงแบ่งแยกว่าเป็นศาสนาใดด้วย

บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญที่กำหนดว่า พระมหากษัตริย์ทรงเป็นพุทธมามกะนี้ บัญญัติขึ้นเพื่อสะท้อนความจริงในประวัติศาสตร์ที่ว่าพระมหากษัตริย์ไทยตั้งแต่ครั้งกรุงสุโขทัยเป็นต้นมา ทุกพระองค์ล้วนมีพระราชศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่ง พระมหากษัตริย์บางพระองค์ถึงกับทรงพระผนวชเป็นพระภิกษุในระหว่างเวลาที่ทรงเป็นพระมหากษัตริย์แล้ว ได้แก่ สมเด็จพระมหาธรรมราชาลิไท สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นต้น

ส่วนบทบัญญัติที่กำหนดให้พระมหากษัตริย์ทรงเป็นอัครศาสนูปถัมภกนั้น ได้บัญญัติขึ้นโดยคำนึงถึงความเป็นมาในประวัติศาสตร์ด้วยเช่นเดียวกัน พระมหากษัตริย์ของไทยได้ทรงเป็นตัวแทนของชาติประกาศความมีน้ำใจกว้างขวาง ไม่รังเกียจกีดกันผุ้ที่ศรัทธาเลื่อมใสศาสนาต่างกัน ทุกคนล้วนแต่เป็นข้าแผ่นดินผู้อยู่ในข่ายแห่งพระมหากรุณาเสมอกัน

สารบัญ
  1. พระราชสถานะของพระมหากษัตริย์ รัฐธรรมนูญปี ๒๕๔๐
  2. พระมหากษัตริย์ทรงดำรงตำแหน่งจอมทัพไทย ตาม มาตรา ๑๐
  3. ความสัมพันธ์ของพระมหากษัตริย์กับกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง
  4. กฎมณเทียรบาล
  5. กฎหมายเกี่ยวกับบุคลากรในพระราชสำนัก
  6. พระราชบัญญัติราชองครักษ์ พุทธศักราช ๒๔๘๐
  7. พระราชบัญญัติสมุหมนตรี รัตนโกสินทร์ศก ๑๒๙
  8. กฎหมายเกี่ยวกับทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์
  9. พระราชบัญญัตินายตำรวจราชสำนัก พ.ศ.๒๔๙๕
  10. พระมหากษัตริย์กับกฎหมายอื่นๆ
  11. กฎหมายที่เกี่ยวกับพระราชวงศ์ พระราชฐานหรือระเบียบการปกครองในพระราชสำนัก
  12. กฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง
  13. แนวคำวินิจฉัยในปัญหาข้อกฎหมาย