การปิดทองคำเปลวสมัยโบราณอาจจะดูยุ่งยาก แต่ในยุคสมัยใหม่งานปิดทองคำเปลวกลับทำได้ง่ายดาย และสามารถประยุกต์เป็นอาชีพเสริมหาเลี้ยงครอบครัวได้ด้วย โดยเฉพาะคนที่กำลังมองหางานทำอยู่ เนื่องจากเป็นอาชีพที่ใครๆก็ทำได้ ไม่ต้องจบศิลปะมาเพียงแค่คุณมีความตั้งใจจริง เอาใจใส่เพื่อให้งานออกมาดูดี และสวยงามเป็นที่พอใจของลูกค้าก็เพียงพอแล้ว

วัสดุอุปกรณ์

แก้ไข
  1. สีสเปรย์สีเทา
  2. สีโป๊วแห้งเร็ว
  3. สีเฟลกซ์ (FLEX) สีเหลืองหมายเลข 2613 และสีรองพื้นแดง (RUSTMASTER) หมายเลข 5925 (สีตราทหาร)
  4. กระดาษทรายเบอร์ละเอียด
  5. แปรงสีฟัน แปรงขนกระต่าย
  6. พลาสติกชนิดบาง
  7. พู่กันชนิดแบน หลายขนาดตามเนื้องาน
  8. แผ่นทองคำเปลวแท้ (ทองคัดนะ ไม่ใช่ทองธรรมดาเพราะจะเป็นรอยต่อ)
  9. สำลี

ขั้นตอนการปิดทองคำเปลว

แก้ไข
  1. นำองค์พระที่จะปิดทองคำเปลวทำความสะอาดก่อนโดยล้างน้ำแล้วใช้แปรงสีฟันถูให้ฝุ่นออกให้หมด แล้วล้างอีกครั้งด้วยน้ำสะอาดเช็ดให้แห้งหรือตากแดดเพื่อให้แห้งสนิท
  2. ใช้สเปรย์สีเทาพ่นให้ทั่วทั้งองค์พระ รอจนสีแห้งแล้วใช้กระดาษทรายเบอร์ละเอียดขัดจนทั่วชิ้นงาน จนมองเห็นร่องรอยได้ชัดเจน จากนั้นให้ใช้สีโป๊วอุดที่เกิดร่องรอยแล้วรอให้แห้งแล้วขัดให้เรียบอีกครั้ง ล้างทำความสะอาด รอจนแห้ง (ขั้นตอนนี้อาจละเว้นไปได้)
  3. รองพื้นด้วยสีแดง หมายเลข 5925 รองพื้นชิ้นงาน ทิ้งไว้ข้ามคืน รอจนแห้ง
  4. ตรวจว่าสีแห้งหรือไม่ด้วยหลังมือ ถ้าสีแห้งแล้วให้เริ่มปิดทองได้ตามขั้นตอนต่อไป
  5. ใช้สีเฟลกซ์สีเหลือง หมายเลข 2613 ทาให้ทั่วองค์พระ การทาระวังอย่าทาสีให้หนาเกินไปเพราะจะทำให้สีส่วนนั้นแห้งไม่เท่ากัน และสีส่วนนั้นจะหนาเป็นก้อน เวลาปิดทองทำให้เกิดปัญหาตามมา จากนั้นปล่อยสีที่ทาให้แห้งแต่อย่าแห้งจนเกินไป ใช้เวลาประมาณ 2-3 ชั่วโมง สังเกตจากการใช้หลังฝ่ามือแตะดูว่าสีแห้งหรือยัง ถ้าสีไม่ติดแสดงว่าแห้งพอที่จะปิดทองคำเปลวได้ ถ้ายังติดมือแบบหนืดๆอยู่ ให้ปล่อยไว้ก่อน เพราะการปิดตอนสีหนืดจะทำให้ทองจม
  6. พอสีแห้งได้ที่แล้วนำแผ่นทองคำเปลวมาปิดทับได้ การปิดแผ่นทองคำเปลวควรสังเกตส่วนที่มีเนื้อกว้างก่อน แล้วไล่ปิดขึ้นไปจนเต็มชิ้นงาน และเวลาปิดให้ทับซ้อนกันประมาณสองมิลลิเมตรเพื่อไม่ให้เห็นรอยต่อของเนื้อทอง ส่วนที่มีเว้าหรือนูนให้ปิดทองซ้อนไปอีกแผ่นเพราะเวลากระทุ้งทอง ทองแผ่นแรกจะแตกพอแผ่นที่สองจะช่วยไปประสานรอยแตกแทน ทั้งนี้เศษทองที่ร่วงลงมาสามารถนำมาใช้ในส่วนที่มีรายละเอียดได้ หลังจากปิดแผ่นทองคำเปลวเสร็จแล้วให้ใช้พู่กันกวาดแผ่นทองให้เรียบกระทุ้งทองส่วนที่มีรอยลึกจนเต็ม
  7. เก็บเศษทองคำเปลว โดยใช้พู่กันขนนุ่มปัดเศษทองคำเปลวบนเนื้อองค์พระให้ทั่วจนฝุ่นทองออกหมดเป็นการเก็บงานอีกครั้ง
  8. ใช้สำลีเช็ดเพื่อเกลี่ยเนื้อทองให้เท่ากัน และ ลบรอยนิ้วมือ

เคล็ดลับและเกร็ดสำคัญ

แก้ไข
  1. ผิวพระ สำหรับผิวพระนั้นจะต้องเตรียมผิวพระให้เหมาะสมก่อนปิดทองจริง ต้องสะอาดที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
  2. ทองคำเปลว ส่วนทองคำเปลวมีจุดที่ควรจะพิจารณาเป็นพิเศษคือ เป็นทองเนื้อดี มันวาว และเนื้อทองที่ช่างตีจะต้องเต็ม แต่ส่วนมากแล้วก็ไม่เต็ม (ทดสอบโดยนำแผ่นทองคำเปลวไปส่องกับแสงสว่าง จะเห็นได้ชัดเจนว่า เหมือนมีรูมีช่องว่างอยู่ภายในแผ่นทองนั้น) เวลาเลือกจึงควรให้ความสำคัญ และการปิดต้องรอให้สีแห้งก่อนไม่อย่างนั้นจะทำให้ทองคำหมอง
  3. สีเฟลกซ์สีเหลืองมีส่วนสำคัญเพราะเป็นตัวช่วย ช่วยให้แผ่นทองคำเปลวที่ปิดมีความมันวาวเพิ่มขึ้นและช่วยปกปิดตำแหน่งที่ ทองคำเปลวคลุมผิวไม่ทั่ว
  4. การรองพื้นหากต้องการลดต้นทุนอาจจะใช้การรองพื้นด้วยสีสเปรย์ทองคำแทนสีเฟลกซ์สีแดง เพราะมีเนื้อทองคำผสมอยู่ จึงเป็นตัวช่วยที่ดีมาก ๆ ของแผ่นทองคำเปลว (ต้นทุนสูง) ให้ใช้น้อยลง
  5. การทาสี ควรทาให้บางโดยเก็บรายละเอียดของผิวพระไม่ให้หาย เช่น บริเวณปาก ต้องพยายามทาสีให้ทั่วแต่ขณะเดียวกันต้องใช้พู่กันเก็บสีส่วนเกินให้หมด ลายเส้นต่าง ๆ จะต้องมองเห็น

อ้างอิง

แก้ไข

คอลัมภ์งานค้นคน คนค้นงาน หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 16 มกราคม 2553

การสนทนาในเวปบอร์ดของpalungjit.com

บันทึกวิธีปิดทอง

บริษัท เอกเกษม จำกัด