ปรัชญาเบื้องต้น/อะไรคืออภิปรัชญา

อภิปรัชญาเป็นสิ่งที่ยากที่จะให้นิยาม คำว่าอภิปรัชญาในภาษาอังกฤษ metaphysics สามารถหมายถึง "เหนือฟิสิกส์" แต่การจะนิยามให้แคบลงนั้นทำได้ยากหากไม่ต้องการให้เกิดการโต้เถียง คำนี้ถูกใช้ในช่วงแรกเพื่อหมายถึงแค่หัวข้อซึ่งอยู่ ต่อจาก (จึงใช้คำว่า meta) วรรณกรรมชื่อ Physics ซึ่งเป็นฉบับพิมพ์ของงานของแอริสตอเติลซึ่งถูกเรียบเรียงโดยนักปราชญ์เพริพาเททิกชาวกรีกชื่อแอนโดรนิคัสแห่งโรดส์ เรามาดูกันก่อนว่าอภิปรัชญาไม่ใข่อะไร ทฤษฎีเกี่ยวกับแรงโน้มถ่วงของนิวตัน ทฤษฎีสัมพันธภาพของไอน์สไตน์ และงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับกลศาสตร์ควอนตัมนั้นไม่ใช่อภิปรัชญาอย่างแน่นอน ทฤษฎีเหล่านี้เป็นการคาดการณ์เกี่ยวกับปรากฎการณ์ที่สังเกตได้อย่างหนึ่ง ทฤษฎีเหล่านี้ถูกพิสูจน์ว่าผิดได้เพราะเราสามารถเทียบระหว่างผลการคาดการณ์ทางทฤษฎีกับผลจริงที่เราพบเห็นได้ในโลกจริง ในขณะที่หากเราบอกว่า "มีอะตอมอยู่ในจักรวาลคู่ขนานที่สอดคล้องกันกับอะตอมทุกอะตอมที่ดำรงอยู่ในจักรวาลนี้" นี่ไม่ใช่ฟิสิกส์ เพราะเราไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่ามันจริงหรือเท็จ เพราะ ณ ปัจจุบันเราไม่สามารถตรวจจับการดำรงอยู่ของจักรวาลคู่ขนานและอะตอมที่อยู่ในนั้นได้

ซึ่งปัญหาเหล่านี้เองเป็นที่น่าสนในวิชาอภิปรัชญา เมื่อก่อนนั้น ทฤษฎีอะตอมที่กล่าวว่าสสารทั้งหมดล้วนประกอบขึ้นจากอนุภาคเล็ก ๆ ที่เรียกว่าอะตอมก็เคยเป็นปัญหาทางอภิปรัชญามาก่อน แต่เมื่อผู้คนได้ประดิษฐ์อุปกรณ์ที่สามารถตรวจจับอะตอมได้แล้วนั้น ทฤษฎีอะตอมจึงได้ถูกย้ายจากอาณาเขตของอภิปรัชญามาอยู่ในวิชาฟิสิกส์แทน ดังนั้นแล้ว อภิปรัชญาจึงยังคงอยู่เป็น "ด่านหน้า" ของฟิสิกส์ตลอดมา ซึ่งบางหัวข้อในอภิปรัชญาก็อาจได้เปลี่ยนผ่านไปเป็นหัวข้อในฟิสิกส์ในอนาคต

ศาสนาก็ไม่ใช่อภิปรัชญา ศาสนาอยู่บนฐานของชุดความเชื่อหนึ่ง ซึ่งเป็นการคาดการณ์เกี่ยวกับปรากฎการณ์ที่สังเกตได้อย่างหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นในจักรวาลหรือเกี่ยวกับจักรวาลเองเช่นเดียวกันกับที่กล่าวมา แต่แตกต่างอยู่ที่การเปลี่ยนแปลงในศาสนาบางอย่างไม่สามารถกระทำได้เพื่อคงไว้ซึ่งความมั่นคงของศาสนา ที่กล่าวมานี้ไม่ได้หมายความว่าศาสนาไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ เพียงแต่ศาสนาจำต้องรักษาความมั่นคงของตัวเองให้อยู่ภายในระดับหนึ่ง ตัวอย่างเช่น บางศาสนา (เช่นเทพปกรณัมกรีก) เคยอธิบายปรากฏการณ์ที่แปลกประหลาดผ่านการกระทำของเทพเจ้าองค์ต่าง ๆ และในบริบทของศาสนาที่มีลักษณะเช่นนี้นั้น เป็นไปไม่ได้เลยที่จะสามารถเปลี่ยนแปลงชุดความเชื่อในศาสนานี้มาเป็นความเชื่อที่ปรากฏการณ์เหล่านี้เกิดจากการกระทำของเทพเจ้าองค์เดียวได้ การกระทำเช่นนี้นั้นก็คงจะไม่ต่างจากการสร้างศาสนาใหม่ซึ่งขัดแย้งกันทางความเชื่อ

ซึ่งนี่ก็เป็นอีกปัญหาหนึ่งที่น่าสนใจในอภิปรัชญา หลายครั้งที่อาจจะต้องขัดแย้งหรือเหยียบย่ำลงบนขอบเขตที่ศักดิ์สิทธิ์ของศาสนา นักปราชญ์อย่างโสกราตีสเป็นตัวอย่างหนึ่งของเหยื่อซึ่งได้รับผลกระทบจากสิ่งนั้น

จากการพิจารณาเหล่านี้ เราได้มาซึ่งขอบเขตที่เราสามารถใช้ให้นิยามอภิปรัชญาได้ภายในเส้นแบ่งเขตที่กล่าวมา

อภิปรัชญาสนใจที่จะอธิบายว่าสิ่งต่าง ๆ นั้นดำรงอยู่ในโลกทางกายภาพอย่างไร และสนใจกับอะไรก็ตามตราบใดที่มันดำรงอยู่ แต่อภิปรัชญาไม่ได้สนใจที่จะพิจารณาคุณสมบัติทางกายภาพของสิ่งที่ดำรงอยู่ หากแต่เป็นการศึกษาเกี่ยวกับหลักการเบื้องหลังซึ่งก่อกำเนิดโลกธรรมชาติขึ้นมา ดังนั้น ข้อความเช่น "ความชั่วร้ายไม่มีอยู่จริง" เป็นเชิงอภิปรัชญาเพราะมันเป็นข้อความที่พูดถึงวัตถุ 'ความชั่วร้าย' ซึ่งตรงข้ามกับ 'ความดี' ซึ่งเป็นหัวข้อทางอภิปรัชญา ในขณะที่ข้อความว่า "ทุกสิ่งประกอบขึ้นจากอะตอม ซึ่งประกอบขึ้นจากอิเล็กตรอน โปรตอน และนิวตรอนอีกทีหนึ่ง" ไม่ใช่ข้อความทางอภิปรัชญาแน่นอน แต่เป็นฟิสิกส์

อภิปรัชญาเป็นสาขาหนึ่งของปรัชญา และส่วนหนึ่งของคำตอบว่า "อะไรคืออภิปรัชญา" บังคับให้เราให้นิยามว่าวิทยาศาสตร์และปรัชญาต่างกันอย่างไร 'วิทยาศาสตร์' ในที่นี้หมายถึงทั้งวิทยาศาสตร์เชิงประจักษ์หรือเชิงไม่ประจักษ์ ในวิทยาศาสตร์เชิงกายภาพ เป็นสิ่งสำคัญที่คำอธิบายใหม่ ๆ จะสามารถทำการคาดการณ์ได้ ซึ่งสามารถทดสอบได้ด้วยการทดลอง แต่ในปรัชญา โดยเฉพาะอภิปรัชญา นั่นไม่ใช่สิ่งที่จำเป็น แต่เราจะลดรูปข้อความเชิงปรัชญาทุกข้อความจนเหลือแต่แนวคิดหรือประพจน์พื้นฐานแทน และแนวคิดพื้นฐานของอภิปรัชญาคือการดำรงอยู่ และประพจน์พื้นฐานคือกฎแห่งการไร้ความขัดแย้ง ในกรณีของตัวอย่างที่ยกไว้ก่อนหน้านี้ ข้อความว่าทุกสิ่งประกอบขึ่นจากสิ่งที่เล็กลงไปและต่อไปเรื่อย ๆ เป็นอนันต์ ชัดเจนว่าคำอธิบายนี้เป็นข้อความที่ทดสอบไม่ได้ เพราะเราไม่มีวันที่จะมีเครื่องมือที่สามารถตรวจจับอะไรก็ตามที่มีขนาดเล็กเป็นกณิกนันต์ แต่ในอภิปรัชญา เรามั่นใจได้ว่าเป็นไปไม่ได้ที่วัตถุจะสามารถแยกองค์ประกอบลงไปเรื่อย ๆ เป็นอนันต์ได้ และในท้ายที่สุดก็จะจบลงที่อนุภาคของสสารพื้นฐานที่เล็กที่สุด แต่นักปราชญ์ก็อาจถามต่ออีกว่า แล้วอนุภาคของสสารนี้มีองค์ประกอบพื้นฐานเป็นอะไร ทีนี้คำตอบไม่ใช่ 'อนุภาคของสสารที่เล็กที่สุด' อีกต่อไป เพราะอนุภาคของสสารที่เล็กที่สุดก็ยังคงเป็นสสาร ดังนั้นคำถามของเธลีสว่า 'สิ่งพื้นฐานที่สุดคืออะไร' เป็นคำถามเชิงอภิปรัชญา และไม่ใช่คำถามเชิงประจักษ์ คำถามนี้แบ่งแยกวิทยาศาสตร์ออกจากปรัชญา แอริสตอเติลให้คำตอบไว้ นั่นคือหลักการสสารรูปนิยมซึ่งกล่าวว่า ความเป็มจริงเชิงวัตถุใด ๆ โดยพื้นฐานแล้วประกอบไปด้วยสสารดั้งเดิมสุด (prime matter) ซึ่งเป็นสสารคนละอย่างกับที่เรารู้จัก และแบบสาร (substantial form)

อภิปรัชญาไม่ใช่ศาสนาเพราะศาสนาใช้ความศรัทธา โดยศรัทธานำเหตุผล ในขณะที่ของอภิปรัชญาจำกัดความเชื่อมั่นไว้ในเหตุผลอย่างเดียว ต่อไปนี้คือคำตอบหนึ่งโดยสรุปของคำถามว่า "อะไรคืออภิปรัชญา":

อภิปรัชญาไม่ใช่สาขาของปรัชญาที่อธิบายปรากฏการณ์ทางกายภาพด้วยเหตุผลและตรรกะซึ่งอยู่นอกเหนือขอบเขตของศาสนาหรือวิทยาศาสตร์ แต่เป็นศาสตร์เชิงปรัชญาซึ่งจัดการกับแนวคิดอุตรวิสัยเช่น ภาวะการดำรงอยู่ ความเป็นหนึ่ง ความจริง และความดี ซึ่งในรูปที่เรียบง่ายที่สุดคือ 'การดำรงอยู่อย่างที่เป็น' สิ่งที่ทำให้การให้นิยามอภิปรัชญาทำได้ยากคือวัตถุประสงค์ของมัน คือการดำรงอยู่ เราไม่สามารถให้นิยามการดำรงอยู่ได้อย่างแน่ชัด แต่ทำได้เชิงพรรณนาเท่านั้น

กลับไปหน้าแรก | พูดคุยเกี่ยวกับบทนี้ | บทต่อไป