ปรัชญาดึกดำบรรพ์
คำถามเกิดขึ้นในความคิดของมนุษย์ได้อย่างไร หลายคนอาจตอบได้ว่าเกิดจากความคิดที่แก้ปัญหา คำถามที่เป็นจุดก่อตัวของปรัชญานั้น ย่อมไม่เป็นเพียงปัญหาแรกเท่านั้นเพราะสัตว์เดรัจฉานก็มีปัญหาได้ ปัญหาจากสัญชาตญาณ (problem from instinct) ย่อมเกิดขึ้นได้เสมอโดยไม่ต้องอาศัยปัญญา เฉพาะปัญหาที่เกิดจากการตรึกตรอง (problem from reflection) เท่านั้นจึงจะเป็นคำถามและจุดเริ่มต้นของปรัชญา เพราะสร้างความสนใจให้แสวงหาคำตอบโดยไม่ต้องตอบสนองความต้องการของสัญชาตญาณ
การค้นหาความเป็นจริงตามแนวคิดทางอภิปรัชญาที่เกิดขึ้นตามแนวคิดกระบวนทรรศน์ (กีรติ บุญเจือ, 2546) ได้จำแนกปรัชญากระบวนทรรศน์ที่ 1 ยุคดึกดำบรรพ์ มนุษย์มีความเชื่อว่าเหตุการณ์ทั้งหลายที่เกิดขึ้นเป็นไปด้วยฤทธิ์อำนาจลึกลับในธรรมชาติที่มีแฝงอยู่ในธรรมชาติและมองไม่เห็น เชื่อว่าจะพ้นภัยธรรมชาติได้หากเอาใจหรือตอบสนองความต้องการของอำนาจลึกลับได้อย่างถูกต้อง เชื่อว่าโลกหรือเอกภพไม่มีกฎเกณฑ์ เรียกว่า “กลีภพ” (chaos) จึงค้นหาวิธีรู้ใจ วิธีเอาใจอำนาจดังกล่าว โดยถือคติว่า "มุ่งโลกนี้ให้ดีไว้ โลกหน้าจะดีเอง" ความคิดในยุคดึกดำบรรพ์จะแปรผันได้ง่าย หากฝ่ายใหม่สามารถให้ผลประโยชน์มากกว่า และสามารถคุ้มครองภัยจากฝ่ายตรงข้ามได้ ก็จะยินยอมปฏิบัติตามอย่างไม่มีข้อกังขา
ดังนั้นเมื่อมนุษย์ดึกดำบรรพ์พบอะไรในประสบการณ์ชีวิตของตน ก็จะตีความออกมาเป็นน้ำพระทัยของเบื้องบนทั้งสิ้น และไม่กล้าตีความเป็นอย่างอื่น เพราะกลัวจะถูกลงโทษที่อาจจะเกิดขึ้นอย่างไรและเมื่อใดก็ได้
กระบวนทรรศน์ดึกดำบรรพ์ (primitive paradigm)
มนุษย์ เริ่มนับเป็น Homo เมื่อ 2.5-3 ล้านปีก่อน รู้จักใช้ภาษาเมื่อเป็น homosapiens ราว 2.5 แสนปีที่แล้ว ใช้ชีวิตเป็นหมู่คณะ เมื่อเป็น Neanderthal ราว 5 หมื่นปีก่อน ซึ่งเป็นยุคน้ำแข็งจึงเชื่อได้ว่ามนุษย์ยุคนี้เริ่มที่จะใช้ปัญญาคิดมากขึ้น เกิดเป็นวัฒนธรรมถ้ำ เมื่อเข้าสู่ยุคหินเก่า มนุษย์โครแมกนัน (Cromagnon) ก็อยู่ร่วมกันเป็นสังคมใหญ่ มีระบบเผ่า เกิดศาสนาดึกดำบรรพ์ที่เชื่อในอำนาจเบื้องบน มีเคล็ดลางศักดิ์สิทธิ์ (totem) และข้อห้ามที่ต้องถือปฏิบัติตาม (taboo)
ยุคหินกลางจึงเริ่มทำการเกษตร มีการบันทึกเป็นภาพวาดการอยู่ร่วมกันในลักษณะเมือง เกิดอารยธรรมเมืองรุ่นแรก มนุษย์คิดว่าความน่ากลัวของภัยธรรมชาติเกิดจากอำนาจลึกลับของสิ่งศักดิ์สิทธิ์เบื้องบน ดังนั้นเพื่อความอยู่รอด มนุษย์จึงได้พยายามเอาใจสิ่งศักดิ์สิทธิ์เบื้องบนด้วยการแสดงความเคารพสักการะเบื้องบนโดยหวังว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์จะคุ้มครองพวกเขาให้ปลอดภัยจากภัยธรรมชาติทั้งปวง พยายามเอาใจเบื้องบนให้ท่านพึงพอใจมากที่สุด ท่านจะได้เมตตาตน ไม่ให้เกิดภัยธรรมชาติแก่ตน จึงได้คติแห่งยุคว่า “ทุกอย่างอยู่ที่น้ำพระทัยของเบื้องบน” โลกตามทรรศนะนี้ได้ชื่อว่ากลีภพ (chaos)
ความรู้ที่นักปราชญ์ในยุคดึกดำบรรพ์นั่นก็คือวิธีรู้ใจและรู้วิธีเอาใจอำนาจลึกลับ เกิดผู้รู้ที่เป็นหมอผี (shaman) และนักบวชในศาสนาดึกดำบรรพ์ ที่คนอื่นต้องเชื่อถือ เคารพ และปฏิบัติตาม หัวหน้าของชนเผ่าหรือผู้นำของเมืองนั้นต้องเป็นผู้ที่มีความรู้และมีความสามารถมากกว่าผู้อื่น หัวหน้าเผ่ามักเป็นหมอผีหรือนักบวชหรือผู้ที่หมอผีหรือนักบวชสนับสนุนและใช้ความรู้เพื่อปกครองเผ่าหรือเมือง การถ่ายทอดความรู้คงจะอยู่แต่ในระบบวงศ์ตระกูล การเข้ามาของหมอผีใหม่ที่รู้วิธีเอาใจอำนาจลึกลับที่แสดงว่ามีอำนาจเหนือกว่าเบื้องบนองค์เดิมก็จะเปลี่ยนแปลงเมืองหรือเผ่านั้นได้
อารยธรรมเมืองรุ่นแรกๆ มีการสอนความรู้ เน้นความรักสงบรักถิ่นฐาน พ่ายต่อการรุกรานยึดครองจากชนเผ่าเลี้ยงสัตว์เร่รอนที่เข้ามาปล้นชิงทรัพย์สิน และครอบครองเมือง เมื่อชนะแล้วได้ครอบครองเมือง ชนเผ่าเร่ร่อนก็มักจะอยากตั้งเมืองของตัวเอง เมื่อตั้งเป็นอาณาจักรแล้วก็รับเอาอารยธรรมของเมืองที่ตนชนะมาประยุกต์ใช้กับตน มีการแสวงหากฎเกณฑ์จนแสดงออกให้ผู้อื่นเข้าใจได้ เมื่อมีการคิดค้นตัวอักษร ก็มีการจดบันทึกเพื่อสืบทอดกันต่อมา การเรียนรู้และการศึกษาเป็นเครื่องมือสำคัญจนเกิดเป็นความเจริญในระดับอารยธรรมโบราณขึ้น
กระบวนทรรศน์ดึกดำบรรพ์ มีบทบาทในอารยธรรมต่างๆ ดังนี้
- อารยธรรมอียิปต์ (ก.ค.ศ. 3100- ก.ค.ศ.300)
- อารยธรรมเมโสโปเตเมีย (ก.ค.ศ. 3000-ก.ค.ศ.331)
- อารยธรรมกรีก (ก.ค.ศ. 1200- ค.ศ.529)
- อารยธรรมจีน (ก.ค.ศ. 2100- ค.ศ.1900)
- อารยธรรมอินเดีย (ก.ค.ศ. 3300- ค.ศ.1200)
สุเมเรียนเป็นชนกลุ่มแรกที่รู้จักประดิษฐ์อักษรได้ราว 3,500 ปีก่อนคริสต์ศักราช อักษรลิ่มนี้นับว่าเป็นหลักฐานที่เป็นลายอักษรที่เก่าแก่ที่สุดในทางประวัติศาสตร์ ได้เป็นเครื่องมือสำคัญในการบันทึกเรื่องราวประวัติศาสตร์ วรรณกรรม และความรู้ทางด้านต่างๆ เช่น คณิตศาสตร์ ปฎิทิน การชั่ง ตวง วัด ราว ๆ 2000 ปีก่อนคริสตกาลเริ่มมีอารยธรรมที่มีความรู้ทางการอ่าน-เขียนในยุโรปคืออารยธรรมของพวกมิโนน (Minoans) ที่เกาะครีต และตามด้วยพวกไมเซเนียน (Myceneans, ประเทศกรีซในปัจจุบัน) ความรู้ได้สะสมเพิ่มพูนกลายเป็นวิชาการต่างๆ และได้มีการสะสมความรู้ไว้ในรูปแบบตำรา หนังสือต่างๆ โดยเกิดเป็นห้องสมุด สถานที่ตั้งขึ้นในยุคแรก ได้แก่ ห้องสมุดวัด และห้องสมุดวังกษัตริย์ เพราะเป็นแหล่งรวมของเหล่านักปราชญ์ นักบวชต่างๆ
ชาวเมโสโพเทเมียมีเทคนิคดูดาวสูงจนสามารถพยากรณ์ตำแหน่งต่างๆ ของดวงดาวล่วงหน้า สามารถพยากรณ์การเกิดจันทรคราสและสุริยคราสได้ ชาวอียิปต์เด่นในด้านเคมีทางการแพทย์ และเก่งในด้านคำนวณและการวัดพื้นที่ด้วยเรขาคณิต มีการพัฒนาเครื่องมือเครื่องใช้เพื่ออำนวยความสะดวกต่างๆ ชาวกรีกรับช่วงต่อยอดการพัฒนาและเผยแพร่ความรู้ต่างๆ ห้องสมุดเก่าแก่ที่สุดคือ ห้องสมุดของพระเจ้าซาร์กอนแห่งอาณาจักรอัสซีเรีย (Sargon of Assyria, ครองราชย์ ก.ค.ศ. 722-705) เป็นที่รวบรวมหนังสือความรู้ต่างๆ ในรูปของแท่งดินเหนียวสลักตัวอักษรรูปลิ่ม ห้องสมุดแห่งนี้มีหนังสืออยู่ประมาณ 22,000 แท่ง มีการจัดหมู่หนังสือ และลงบัญชีไว้เรียบร้อย ส่วนมากเป็นเรื่องประวัติศาสตร์ ศาสนา วรรณคดีหลักภาษา วิทยาศาสตร์ และเศรษฐกิจ
กระบวนทรรศน์ดึกดำบรรพ์ถูกสั่นคลอนจนกลายเป็นกระบวนทรรศน์โบราณเมื่อ ธาเลส (Tales of Miletus , 624-546 B.C.) ได้เสนอ the originating principle of nature ซึ่งเป็นการอธิบาย phenomena โดยไม่อ้างอิงตำนานปรัมปรา (mythology) และเสนอว่า Nature of matter was a single material substance: water
ตำนานปรัมปรา (mythology) ในกรอบปรัชญาดึกดำบรรพ์ ได้แก่
ชาวอิยิปต์เชื่อตาม cosmogony ที่ว่า ก่อนจะเกิดโลก ทุกๆ แห่งเต็มไปด้วยน้ำ เรียกว่า nun เป็นผืนน้ำแห่งความสับสนอลหม่าน ใต้ผืนน้ำมีไข่ห่านใบใหญ่ วันหนึ่งไข่ห่านแตกออกมา เป็นผืนดินลอยขึ้นมาเหนือผืนน้ำ มีเทพอตุม (Atum) ยืนเหนือผืนดิน ต่อมาเทพอตุมจึงได้จามออกมาเป็นเทพ Shu และเทพี Tefnut เทพชูกับเทฟนุชมีลูกคือ Geb และ Nut ซึ่งแต่งงานกันมีลูกเป็นดวงดาวต่างๆ Geb กับ Nut ทะเลาะกัน Geb จึงนอนลงเป็นผืนดิน ส่วน Nut โค้งตัวเป็นผืนฟ้า ในกลุ่มลูกๆ ถือว่า Ra (สุริยเทพ) มีอำนาจมาก ต่อมาศาสนาโบราณได้นำมารวมกันเป็น Atum-Ra
ชาวเมโสโปเตเมียเชื่อตาม cosmogony ว่า หลังกำเนิดพิภพ มีเทพอีอา (EA) เป็นจอมเทพ มีมังกรเพศเมียชื่อ Tiamat เป็นเทพีแห่งน้ำเค็ม น้ำเค็มได้ผสมกับน้ำจืดของเทพ Apsu เกิดเป็นเทพเจ้าต่างๆ ต่อมา Apsu จึงร่วมมือกับ Tiamat จะแย่งอำนาจจาก EA เทพ Marduk มาช่วย EA ไว้ แล้วผ่าร่าง Tiamat เป็น 2 ซีก เกิดเป็นหลังคาสวรรค์ และท้องมหาสมุทร และได้เอาดาบเสียบลูกตาของ Tiamat ทำให้มีเลือดไหลออกมาเป็นแม่น้ำไทกริส-ยูเฟรติส
ชาวกรีกเชื่อตาม cosmogony of Hesiod (7-8 ร้อยปี ก่อน ค.ศ.) ว่าด้วยกำเนิดโลกจาก chaos มีการแบ่งฟ้า (sky) และดิน (earth) พื้นที่ตรงกลางเรียกว่าโลก (world) เทพแห่งฟ้าคือ Urenus และเทพแห่งดิน คือ Gaia เกิดเทพไททัน ได้แก่ Oceanus, Coeus, Creus, Hyperion, Iapetus, Chronos และ เทพธิดา Thea, Rhea, Themis, Thetis, Nemosyne, Phoebe Urenus จับลูกๆ ขังไว้ในคุกนรกทาร์ทารัส ต่อมา Gaia จึงปล่อย Cronos ออกมายึดอำนาจจาก Urenus ได้ Cronos กับ Aether ให้กำเนิดเทพ แต่ก็จับขังในคุกทาร์ทารัส จนกระทั่ง Zeus ได้ออกมายึดอำนาจของ Cronos เกิดเรื่องราวของมหาเทพแห่งโอลิมปัส
ชาวจีนเชื่อตาม cosmogony ในคัมภีร์ไคเพ็ก (ราชวงศ์หมิง) จักรวาลไร้ท้องฟ้า ทุกสิ่งล้วนเวิ้งว้าง มืดมน จักรวาลเหมือนไข่ไก่ใบใหญ่ มีสิ่งมีชีวิตชื่อ ผานกู่ ค่อยๆ เติบโตขึ้นวันละหนึ่งวา 18,000 ปีผ่านไป ผานกู่ตื่นขึ้น ไม่ชอบความอึดอัดจึงใช้เรี่ยวแรงขยายออก 4 ทิศ และพยายามยืนขึ้น จักรวาลจึงได้ขยายออก ผานกู่ถอนฟันซี่หนึ่งมาทำขวาน ผ่าอากาศและธาตุต่างๆ ให้แยกออกจากกัน กลายเป็นท้องฟ้า และผืนดิน ที่จะไม่มีวันกลับมารวมกันได้ ระหว่างนั้นเกิดสัตว์วิเศษคือมังกร เต่าดำ หงส์แดง กิเลนเขาเดียวมาช่วยแยกฟ้า ต่อมาได้เป็นต้นกำเนิดสิ่งมีชีวิตต่างๆ เมื่อผานกู่ตายลงก็ได้กลายเป็นภูเขา เลือดกลายเป็นทะเล แม่น้ำ ขนได้กลายเป็นต้นไม้ ลูกตาซ้ายเป็นพระอาทิตย์ ลูกตาขวาเป็นพระจันทร์ เส้นผมกลายเป็นดวงดาว กระดูกและฟันเป็นแร่ธาตุและอัญมณี พลันปรากฏเทพธิดาหนี่วา ท่องบนเป็นมนุษย์ท่อนล่างเป็นงู หนี่วาได้ให้กำเนิด/สร้างมนุษย์ขึ้น
ชาวอินเดียเชื่อตาม cosmogony จากคัมภีร์ปัทมปุราณะ ว่าเดิมมีพระเป็นเจ้าองค์เดียว คือ พระพรหม (อาตมภู) ทรงสร้างน้ำ ว่านเชื้อลงน้ำเกิดเป็นไข่ทอง ทรงเข้าไปอยู่ในไข่ทอง 1 ปี ออกจากไขมาเป็นพระพรหมบิดร แบ่งเป็น 3 ภาค คือ พระพรหม พระวิษณุ พระศิวะ แต่ก็ได้เกิดปัญหามากมายขึ้นบนโลกมนุษย์ พระศิวะจึงได้ทำลายโลกแล้วก็ได้มีการสร้างโลกขึ้นมาใหม่ โดยสร้างพระนารายณ์ขึ้นมาเป็นผู้ดูแลรักษาด้วย มีเทพประจำแผ่นดิน ทะเล ท้องฟ้า ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ และอื่น พระพรหมสร้างมนุษย์ จากอวัยวะของพระองค์ ซึ่งได้เกิดเป็นวรรณะต่างๆ ดังนี้ วรรณะพราหมณ์ เกิดจากเศียรของพระองค์ วรรณะกษัตริย์ เกิดจากบ่าของพระองค์ วรรณะแพศย์ เกิดจากส่วนท้องของพระองค์ วรรณะศูทร เกิดจากเท้าของพระองค์
แนวทางการตอบปัญหาในกระบวนทรรศน์ดึกดำบรรพ์
- ทำไมน้ำจึงไหลลงสู่ที่ต่ำ คำตอบคือเบื้องบนประสงค์อย่างนั้น ถ้าประสงค์จะไหลขึ้นบนก็ทำได้
- ทำอย่างไรให้พระเจ้าพอใจ ก็ทำตามที่เบื้องบนบอก เบื้องบนบอกเองไม่ได้ก็ต้องทำตามที่นักบวช คนทรง หมอผีบอก ไม่มีสิทธิขัดขืน
- ขอเพียงทำให้เบื้องบนพอใจ โลกนี้ก็จะดี โลกไหนๆ ก็จะดีด้วย
- คติแห่งกระบวนทรรศน์ดึกดำบรรพ์คือ “ทุกสิ่งขึ้นอยู่กับน้ำพระทัยของเบื้องบน”
อ้างอิง
แก้ไข- กีรติ บุญเจือ. (2546). เริ่มรู้จักปรัชญา ในชุด ปรัชญาและศาสนาเซนต์จอห์น , พิมพ์ครั้งที่ ๑, กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยเซนต์จอห์น.
- เอนก สุวรรณบัณฑิต. (2558). เอกสารประกอบการสอนวิชาปรัชญาศึกษา. บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา.