ประวัติศาสตร์ไทย/ประวัติศาสตร์ไทยสมัยอยุธยา

อาณาจักรอยุธยา เป็นอาณาจักรของชนชาติไทยในอดีตตั้งแต่ พ.ศ. 1893-2310 มีเมืองหลวงที่ กรุงศรีอยุธยาเป็นอาณาจักรซึ่งมีความเจริญรุ่งเรืองจนอาจถือได้ว่าเป็นอาณาจักรที่รุ่งเรืองมั่งคั่งที่สุดในภูมิภาคสุวรรณภูมิ อีกทั้งยังเป็นอาณาจักรที่มีความสัมพันธ์ทางการค้ากับหลายชาติ จนถือได้ว่าเป็นศูนย์กลางการค้าในระดับนานาชาติ เช่น จีน เวียดนาม อินเดีย ญี่ปุ่น เปอร์เซีย รวมทั้งชาติตะวันตก เช่น โปรตุเกส สเปน ดัตช์ และฝรั่งเศส เคยมีอาณาเขตกว้างใหญ่ไพศาล โดยมีประเทศราชแผ่ขยายไปจนถึงรัฐฉานของพม่า อาณาจักรล้านนา มณฑลยูนนานและมณฑลชานสี อาณาจักรล้านช้าง อาณาจักรขอม และคาบสมุทรมมลายูในปัจจุบัน

กรุงศรีอยุธยา

แก้ไข

กรุงศรีอยุธยาตั้งอยู่บนบริเวณซึ่งมีแม่น้ำล้อมรอบถึง 3 สาย อันได้แก่ แม่น้ำป่าสักทางทิศเหนือ, แม่น้ำเจ้าพระยาทางทิศตะวันตกและทิศใต้ และแม่น้ำลพบุรีทางทิศตะวันออก เดิมทีบริเวณนี้ไม่ได้มีสภาพเป็นเกาะ แต่พระเจ้าอู่ทองทรงดำริให้ขุดคูเชื่อมแม่น้ำทั้ง 3 สาย เพื่อให้เป็นปราการธรรมชาติป้องกันข้าศึก ที่ตั้งกรุงศรีอยุธยายังอยู่ห่างจากอ่าวไทยไม่มากนัก ทำให้กรุงศรีอยุธยาเป็นศูนย์กลางการค้ากับชาวต่างประเทศด้วย ปัจจุบันบริเวณนี้เป็นส่วนหนึ่งของอำเภอพระนครศรีอยุธยา ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา

ประวัติ

แก้ไข

จุดเริ่มต้น

แก้ไข

ชาวไทยเริ่มตั้งถิ่นฐานบริเวณตอนกลาง และตอนล่างของลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยามาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 18 แล้ว ทั้งยังเคยเป็นที่ตั้งของเมืองสังขบุรี อโยธยา เสนาราชนคร และกัมโพชนคร ต่อมา ราวปลายพุทธศตวรรษที่ 19 อาณาจักรขอมและสุโขทัยเริ่มเสื่อมอำนาจลง พระเจ้าอู่ทองทรงดำริจะย้ายเมืองและพิจารณาชัยภูมิเพื่อตั้งอาณาจักรใหม่ และตัดสินพระทัยสร้างราชธานีแห่งใหม่บริเวณตำบลหนองโสน (บึงพระราม)  และสถาปนากรุงศรีอยุธยาขึ้นเป็นราชธานี เมื่อวันศุกร์ ขึ้น 6 ค่ำ เดือน 5 ปีขาล จุลศักราช 712 ตรงกับวันศุกร์ที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 1893 (พ.ศ.นี้เทียบจาก จ.ศ. แต่จะตรงกับ ค.ศ. 1351) ชื่อว่า กรุงเทพมหานคร บวรทวาราวดี ศรีอยุธยา มหาดิลก ภพนพรัตน์ราชธานี บุรีรมย์อุดมมหาสถาน ประวัติศาสตร์บางแห่งระบุว่าเกิดโรคระบาดขึ้น พระเจ้าอู่ทองจึงทรงย้ายเมืองหลวงมายังกรุงศรีอยุธยา

การขยายดินแดน

แก้ไข

กรุงศรีอยุธยาดำเนินนโยบายขยายอาณาจักรด้วย 2 วิธีคือ ใช้กำลังปราบปราม ซึ่งเห็นได้จากชัยชนะในการยึดครองเมืองนครธม (พระนคร) ได้อย่างเด็ดขาดในสมัยสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 และอีกวิธีหนึ่งคือ การสร้างความสัมพันธ์แบบเครือญาติ อันเห็นได้จากการผนวกกรุงสุโขทัยเข้าเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักร

การล่มสลายของอาณาจักร

แก้ไข

ช่วงสมัยรัชกาลของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ เกิดการแย่งชิงราชสมบัติระหว่างพระเจ้าเอกทัศกับพระเจ้าอุทุมพร เนื่องจากพระองค์ทรงเลือกพระอนุชาขึ้นเป็นกษัตริย์ไม่เป็นไปตามราชประเพณี แต่พระเจ้าเอกทัศก็ทวงบัลลังก์ ได้ขึ้นเป็นกษัตริย์องค์สุดท้ายแห่งกรุงศรีอยุธยา ครั้นในปี พ.ศ. 2303 พระเจ้าอลองพญาทรงนำทัพมารุกรานอาณาจักรอยุธยา พระเจ้าอุทุมพรทรงถูกเรียกตัวมาบัญชาการตั้งรับพระนคร แต่ภายหลังจากที่กองทัพพม่ายกกลับนั้น พระองค์ก็ได้ลาผนวชดังเดิม

ในปี พ.ศ. 2308 พระเจ้ามังระ พระราชบุตรของพระเจ้าอลองพญา ก็ได้รุกรานอาณาจักรอยุธยาอีกครั้งหนึ่ง โดยแบ่งกองกำลังออกเป็น 2 ส่วน คือ ฝ่ายเหนือภายใต้การบังคับของเนเมียวสีหบดี และฝ่ายใต้ภายใต้การนำของมังมหานรธา และมุ่งเข้าตีอาณาจักรอยุธยาพร้อมกันทั้งสองด้าน ฝ่ายอยุธยาทำการตั้งรับอย่างเข้มแข็ง และสามารถต้านทานการปิดล้อมของกองทัพพม่าไว้ได้นานถึง 14 เดือน แต่ก็ไม่อาจหยุดยั้งการล่มสลายได้ กองทัพพม่าสามารถเข้าเมืองได้ในวันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2310

รายพระนามพระมหากษัตริย์

แก้ไข
ลำดับ พระนาม พระราชสมภพ เริ่มครองราชย์ สิ้นรัชกาล สวรรคต รวมปีครองราชย์
ราชวงศ์อู่ทอง (ครั้งที่ 1)
1 สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1
(พระเจ้าอู่ทอง)
พ.ศ. 1855 พ.ศ. 1893 พ.ศ. 1912 20 ปี
2
(1)
สมเด็จพระราเมศวร พ.ศ. 1885 พ.ศ. 1912 พ.ศ. 1913 พ.ศ. 1938 ไม่ถึง 1 ปี
ราชวงศ์สุพรรณภูมิ (ครั้งที่ 1)
3 สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1
(ขุนหลวงพะงั่ว)
พ.ศ. 1853 พ.ศ. 1913 พ.ศ. 1931 18 ปี
4 สมเด็จพระเจ้าทองลัน
(เจ้าทองจันทร์)
พ.ศ. 1917 พ.ศ. 1931 7 วัน
ราชวงศ์อู่ทอง (ครั้งที่ 2)
2
(2)
สมเด็จพระราเมศวร พ.ศ. 1885 พ.ศ. 1931 พ.ศ. 1938 7 ปี
5 สมเด็จพระรามราชาธิราช พ.ศ. 1899 พ.ศ. 1938 พ.ศ. 1952 ? 15 ปี
ราชวงศ์สุพรรณภูมิ (ครั้งที่ 2)
6 สมเด็จพระอินทราชา
(เจ้านครอินทร์)
พ.ศ. 1902 พ.ศ. 1952 พ.ศ. 1967 15 ปี
7 สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2
(เจ้าสามพระยา)
พ.ศ. 1929 พ.ศ. 1967 พ.ศ. 1991 24 ปี
8 สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ พ.ศ. 1974 พ.ศ. 1991 พ.ศ. 2031 40 ปี
9 สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 3 พ.ศ. 2005 พ.ศ. 2031 พ.ศ. 2034 3 ปี
10 สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 พ.ศ. 2015 พ.ศ. 2034 พ.ศ. 2072 38 ปี
11 สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 4
(หน่อพุทธางกูร)
พ.ศ. 2040 พ.ศ. 2072 พ.ศ. 2076 4 ปี
12 พระรัษฎาธิราช พ.ศ. 2072 พ.ศ. 2077 5 เดือน
13 สมเด็จพระไชยราชาธิราช พ.ศ. 2045 พ.ศ. 2077 พ.ศ. 2089 12 ปี
14 พระยอดฟ้า
(พระแก้วฟ้า)
พ.ศ. 2078 พ.ศ. 2089 พ.ศ. 2091 2 ปี
- ขุนวรวงศาธิราช พ.ศ. 2049 พ.ศ. 2091 42 วัน
(ไม่ได้รับการยกย่อง แต่ผ่านพระราชพิธีบรมราชาภิเษก)
15 สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ
(พระเจ้าช้างเผือก)
พ.ศ. 2048 พ.ศ. 2091 พ.ศ. 2111 20 ปี
16 สมเด็จพระมหินทราธิราช พ.ศ. 2082 พ.ศ. 2111 7 สิงหาคม พ.ศ. 2112 1 ปี
เสียกรุงครั้งที่ 1
ราชวงศ์สุโขทัย
17 สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช
(สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 1)
พ.ศ. 2059 พ.ศ. 2112 พ.ศ. 2133 21 ปี
18 สมเด็จพระนเรศวรมหาราช
(สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 2)
พ.ศ. 2098 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2133 25 เมษายน พ.ศ. 2148 15 ปี
19 สมเด็จพระเอกาทศรถ
(สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 3)
พ.ศ. 2104 25 เมษายน พ.ศ. 2148 พ.ศ. 2153 5 ปี
20 พระศรีเสาวภาคย์
(สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 4)
? พ.ศ. 2153 2 เดือน
21 สมเด็จพระเจ้าทรงธรรม
(สมเด็จพระบรมราชาที่ 1)
พ.ศ. 2125 พ.ศ. 2154 12 ธันวาคม พ.ศ. 2171 17 ปี
22 สมเด็จพระเชษฐาธิราช พ.ศ. 2156 พ.ศ. 2171 พ.ศ. 2173 1 ปี 8 เดือน
23 พระอาทิตยวงศ์ พ.ศ. 2161 พ.ศ. 2173 พ.ศ. 2173 พ.ศ. 2178 36 วัน
ราชวงศ์ปราสาททอง
24 สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง
(สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 5)
พ.ศ. 2143 พ.ศ. 2173 พ.ศ. 2199 25 ปี
25 สมเด็จเจ้าฟ้าไชย
(สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 6)
? พ.ศ. 2199 9 เดือน
26 สมเด็จพระศรีสุธรรมราชา
(พระสรรเพชญ์ที่ 7)
? พ.ศ. 2199 2 เดือน 17 วัน
27 สมเด็จพระนารายณ์มหาราช
(สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 3)
พ.ศ. 2175 พ.ศ. 2199 พ.ศ. 2231 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2231 32 ปี
ราชวงศ์บ้านพลูหลวง
28 สมเด็จพระเพทราชา พ.ศ. 2175 พ.ศ. 2231 พ.ศ. 2246 15 ปี
29 สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 8
(สมเด็จพระสุริเยนทราธิบดี)
(พระเจ้าเสือ)
พ.ศ. 2204 พ.ศ. 2246 พ.ศ. 2251 5 ปี
30 สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 9
(สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ)
พ.ศ. 2221 พ.ศ. 2251 พ.ศ. 2275 24 ปี
31 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ พ.ศ. 2223 พ.ศ. 2275 พ.ศ. 2301 26 ปี
32 สมเด็จพระเจ้าอุทุมพร
(ขุนหลวงหาวัด)
พ.ศ. 2265 พ.ศ. 2301 พ.ศ. 2339 2 เดือน
33 สมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อัมรินทร์
(พระเจ้าเอกทัศ)
พ.ศ. 2252 พ.ศ. 2301 7 เมษายน พ.ศ. 2310 26 เมษายน พ.ศ. 2311 9 ปี
เสียกรุงครั้งที่ 2

การกอบกู้เอกราชครั้งที่ 1

แก้ไข
คราวเสียกรุงครั้งที่ 1 พม่าได้ราชาภิเษก พระมหาธรรมราชาธิราช(ขุนพิเรนทรเทพ) เป็นพระเจ้าแผ่นดินอยุธยา ข้าขอบขัณฑสีมาของกรุงหงสาวดี 

ต่อมาพระนเรศ พระราชโอรสในสมเด็จพระศรีสรรเพชญ์ (พระมหาธรรมราชาธิราช-ขุนพิเรนทรเทพ) ทรงเสด็จหนีออกจากพม่าได้และประกาศเอกราช ครั้งนั้นพระบรมชนกนาถยังคงมีพระชนมชีพอยู่ การกอบกู้เอกราชนั้นมากระทำในสมัยพระนเรศ ได้รับพระราชบัณฑูรเป็นสมเด็จพระมหาอุปราช ประทับ ณ พระราชวังจันทรฯ(วังหน้า) 

ฉะนั้นพระวีรกรรมในคราวกอบกู้เอกราชจริงๆนั้น สมเด็จพระนเรศวรราชาธิราช จึงยังอยู่ในพระฐานะรัชทายาททั้งสิ้น

และถือได้ว่าพระองค์คือพระมหากษัตริย์ไทยที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในหน้าประวัติศาสตร์ชาติไทย

การกอบกู้เอกราชครั้งที่ 2

แก้ไข

ครั้นต่อมา พระยาวชิรปราการได้รวบรวมชุมนุมทั้งหมดที่เมืองจันทร์ แล้วได้ขับไล่พม่า และสามารถกอบกู้เอกราชครั้งที่ 2 ได้สำเร็จในวันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2310 จากนั้นในวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2310 พระยาวชิรปราการได้ทำพิธีปราบดาภิเษกทำนองเป็นพระมหากษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา (แต่นักประวัติศาสตร์นับเป็นสมัยธนบุรี) เฉลิมพระนามว่า "สมเด็จพระบรมราชาที่ 4" แต่ส่วนมากคนมักเรียกท่านว่า สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ขณะมีพระชนมายุได้ 33 พรรษา ก่อนจะย้ายราชธานีไปยังกรุงธนบุรีเป็นการชั่วคราว

 พระราชวงศ์

แก้ไข

ราชวงศ์กษัตริย์ของกรุงศรีอยุธยา ประกอบด้วย 5 ราชวงศ์ คือ

  1. ราชวงศ์อู่ทอง มีกษัตริย์ 3 พระองค์
  2. ราชวงศ์สุพรรณภูมิ มีกษัตริย์ 13 พระองค์
  3. ราชวงศ์สุโขทัย มีกษัตริย์ 7 พระองค์
  4. ราชวงศ์ปราสาททอง มีกษัตริย์ 4 พระองค์
  5. ราชวงศ์บ้านพลูหลวง มีกษัตริย์ 6 องค์

ซึ่งรวมเป็นกษัตริย์รวม 34 (นับรวมขุนวรวงศาธิราช ) พระองค์ ซึ่งถือว่ามีมาก ซึ่ง อาณาจักรกรุงศรีอยุธยา เป็นราชธานีมาตั้งแต่วันที่ 3 เมษายน 1893 จนถึงวันที่ 7 เมษายน 2310 เป็นเวลายาวนานถึง 417 ปีเลยทีเดียว

การปกครอง

แก้ไข

การจัดการปกครองในสมัยอยุธยาสามารถแบ่งออกได้เป็นสามช่วง คือ ช่วงก่อนการปฏิรูปการปกครองของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ (1893-1991) ช่วงสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถจนถึงสมัยสมเด็จพระเพทราชา (1991-2231) และการปฏิรูปการปกครองของสมเด็จพระเพทราชาเป็นต้นไป (2231-2310)

อยุธยาตอนต้น (1893-1991)

แก้ไข

มีการปกครองคล้ายคลึงกับในช่วงสุโขทัย ในราชธานี พระมหากษัตริย์มีสิทธิ์ปกครองโดยตรง หากก็ทรงใช้อำนาจผ่านข้าราชการและขุนนางเช่นกัน นอกจากนี้ยังมีระบบการปกครองภายในราชธานีที่เรียกว่า จตุสดมภ์ ตามการเรียกของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพอันได้แก่ กรมเวียง กรมวัง กรมคลัง และกรมนา

การปกครองนอกราชธานีประกอบด้วย เมืองหน้าด่าน เมืองชั้นใน เมืองพระยามหานคร และเมืองประเทศราช โดยมีรูปแบบกระจายอำนาจออกจากศูนย์กลางค่อนข้างมากเมืองหน้าด่าน ได้แก่ ลพบุรี นครนายก พระประแดง และสุพรรณบุรี ตั้งอยู่รอบราชธานีทั้งสี่ทิศ ระยะเดินทางจากราชธานีสองวัน พระมหากษัตริย์ทรงส่งเชื้อพระวงศ์ที่ไว้วางพระทัยไปปกครอง หากก็นำมาซึ่งปัญหาการแย่งชิงราชสมบัติอยู่บ่อยครั้ง เมืองชั้นในทรงปกครองโดยผู้รั้ง ถัดออกไปเป็นเมืองพระยามหานครหรือหัวเมืองชั้นนอก ปกครองโดยเจ้าเมืองที่สืบเชื้อสายมาแต่เดิม มีหน้าที่จ่ายภาษีและเกณฑ์ผู้คนในราชการสงคราม และสุดท้ายคือเมืองประเทศราช พระมหากษัตริย์ปล่อยให้ปกครองกันเอง เพียงแต่ต้องส่งเครื่องบรรณาการมาให้ราชธานีทุกปี

สมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถถึงพระเพทราชา (1991-2231)

แก้ไข

สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงยกเลิกระบบเมืองหน้าด่านเพื่อขจัดปัญหาการแย่งชิงราชสมบัติ และขยายอำนาจของราชธานีโดยการกลืนเมืองรอบข้างเข้าเป็นส่วนหนึ่งของราชธานี สำหรับระบบจตุสดมภ์ ทรงแยกกิจการพลเรือนออกจากกิจการทหารอย่างชัดเจน ให้อยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของสมุหนายกและสมุหกลาโหมตามลำดับ นอกจากนี้ยังมีการเปลี่ยนชื่อกรมและชื่อตำแหน่งเสนาบดี แต่ยังคงไว้ซึ่งหน้าที่ความรับผิดชอบเดิม       ส่วนการปกครองส่วนภูมิภาคมีลักษณะเปลี่ยนไปในทางการรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางให้มากที่สุด โดยให้เมืองชั้นนอกเข้ามาอยู่ภายใต้อำนาจของราชธานี มีระบบการปกครองที่ลอกมาจากราชธานี มีการลำดับความสำคัญของหัวเมืองออกเป็นชั้นเอก โท ตรี สำหรับหัวเมืองประเทศราชนั้นส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองมากนัก หากแต่พระมหากษัตริย์จะมีวิธีการควบคุมความจงรักภักดีต่อราชธานีหลายวิธี เช่น การเรียกเจ้าเมืองประเทศราชมาปรึกษาราชการ หรือมาร่วมพระราชพิธีบรมราชาภิเษกหรือถวายพระเพลิงพระบรมศพในราชธานี การอภิเษกสมรสโดยการให้ส่งราชธิดามาเป็นสนม และการส่งข้าราชการไปปกครองเมืองใกล้เคียงกับเมืองประเทศราชเพื่อคอยส่งข่าว ซึ่งเมืองที่มีหน้าที่ดังกล่าว เช่น พิษณุโลกและนครศรีธรรมราช

 สมัยตั้งแต่พระเพทราชา (2231-2310)

แก้ไข

ในสมัยพระเพทราชา ทรงกระจายอำนาจทางทหารซึ่งเดิมขึ้นอยู่กับสมุหกลาโหมแต่ผู้เดียวออกเป็นสามส่วน โดยให้สมุหกลาโหมเปลี่ยนไปควบคุมกิจการทหารในราชธานี กิจการทหารและพลเรือนของหัวเมืองทางใต้ ให้สมุหนายกควบคุมกิจการพลเรือนในราชธานี กิจการทหารและพลเรือนของหัวเมืองทางเหนือ และพระโกษาธิบดี ให้ดูแลกิจการทหารและพลเรือนของหัวเมืองตะวันออก ต่อมา สมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ (2275-2301) ทรงลดอำนาจของสมุหกลาโหมเหลือเพียงที่ปรึกษาราชการ และให้หัวเมืองทางใต้ไปขึ้นกับพระโกษาธิบดีด้วย

นอกจากนี้ ในสมัยพระมหาธรรมราชา ยังได้จัดกำลังป้องกันราชธานีออกเป็นสามวัง ได้แก่ วังหลวง มีหน้าที่ป้องกันพระนครทางเหนือ วังหน้า มีหน้าที่ป้องกันพระนครทางตะวันออก และวังหลัง มีหน้าที่ป้องกันพระนครทางตะวันตก ระบบดังกล่าวใช้มาจนถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ประชากรศาสตร์

แก้ไข

ในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 20 อาณาจักรอยุธยามีประชากรประมาณ 1,900,000 คน ซึ่งนับชายหญิงและเด็กอย่างครบถ้วน แต่ลาลูแบร์กล่าวว่า ตังเลขดังกล่าวน่าจะไม่ถูกต้องเนื่องจากมีผู้หนีการเสียภาษีอากรไปอยู่ตามป่าตามดงอีกมาก มีกลุ่มชาติพันธุ์หลักคือไทยสยาม ซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ในตระกูลภาษาไท-กะได ซึ่งบรรพบุรุษของไทยสยามปรากฏหลักแหล่งของกลุ่มคนที่ใช้ภาษาตระกูลไท-กะไดเก่าแก่ที่สุดอายุกว่า 3,000 ปี ซึ่งมีหลักแหล่งแถบกวางสี คาบเกี่ยวไปถึงกวางตุ้งและแถบลุ่มแม่น้ำดำ-แดงในเวียดนามตอนบน ซึ่งกลุ่มชนนี้มีความคลื่นไหวไปมากับดินแดนไทยในปัจจุบันทั้งทางบกและทางทะเลและมีการคลื่นไหวไปมาอย่างไม่ขาดสาย ในยุคอาณาจักรทวารวดีในแถบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาช่วงหลังปี พ.ศ. 1100 ก็มีประชากรตระกูลไทย-ลาว เป็นประชากรพื้นฐานรวมอยู่ด้วย ซึ่งเป็นกลุ่มชนอพยพลงมาจากบริเวณสองฝั่งโขงลงทางลุ่มน้ำน่านแล้วลงสู่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาฟากตะวันตกแถบสุพรรณบุรี ราชบุรี ถึงเพชรบุรีและเกี่ยวข้องไปถึงเมืองนครศรีธรรมราช ซึ่งในส่วนนี้ลาลูแบร์ เอกอัครราชทูตฝรั่งเศสในรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ได้บันทึกเกี่ยวกับชาวสยามว่า ชาวลาวกับชาวสยามเกือบจะเป็นชนชาติเดียวกัน

เอกสารจีนที่บันทึกโดยหม่าฮวนได้กล่าวไว้ว่า ชาวเมืองพระนครศรีอยุธยาพูดจาด้วยภาษาอย่างเดียวกับกลุ่มชนทางตะวันออกเฉียงใต้ของจีน คือพวกที่อยู่ในมณฑลกวางตุ้งกับกวางสี และด้วยความที่ดินแดนแถบอุษาคเนย์เป็นดินแดนที่อุดมสมบูรณ์จึงมีกลุ่มชาติพันธุ์หลากหลายตั้งหลักแหล่งอยู่ปะปนกันจึงเกิดการประสมประสานทางเผ่าพันธุ์ วัฒนธรรม และภาษาจนไม่อาจแยกออกจากกันได้อย่างชัดเจน และด้วยการผลักดันของรัฐละโว้ ทำให้เกิดรัฐอโยธยาศรีรามเทพนคร ภายหลังปี พ.ศ. 1700 ก็ได้มีการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมหลายอย่าง

ด้วยเหตุที่กรุงศรีอยุธยาเป็นอาณาจักรที่มีความเจริญรุ่งเรืองกลุ่มชาติพันธุ์กลุ่มอื่นๆ ได้อพยพเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร เชลยที่ถูกกวาดต้อน ตลอดจนถึงชาวเอเชียและชาวตะวันตกที่เข้ามาเพื่อการค้าขาย ในกฎมนเทียรบาลยุคต้นกรุงศรีอยุธยาได้เรียกชื่อชนพื้นเมืองต่างๆได้แก่ "แขกขอมลาวพม่าเมงมอญมสุมแสงจีนจามชวา..." ซึ่งมีการเรียกชนพื้นเมืองที่อาศัยปะปนกันโดยไม่จำแนกว่า ชาวสยามในจำนวนนี้มีชาวมอญอพยพเข้ามาในสมัยสมเด็จพระมหาธรรมราชา, สมเด็จพระนเรศวรมหาราช, สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง, สมเด็จพระนารายณ์มหาราช และสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ เนื่องจากชาวมอญไม่สามารถทนการบีบคั้นจากการปกครองของพม่าในช่วงราชวงศ์ตองอู จนในปี พ.ศ. 2295 พม่าได้ปราบชาวมอญอย่างรุนแรง จึงมีการลี้ภัยเข้ามาในกรุงศรีอยุธยาจำนวนมากโดยชาวมอญในกรุงศรีอยุธยาตั้งถิ่นฐานอยู่ริมแม่น้ำ เช่น บ้านขมิ้นริมวัดขุนแสน ตำบลบ้านหลังวัดนก ตำบลสามโคก และวัดท่าหอยชาวเขมรอยู่วัดค้างคาวชาวพม่าอยู่ข้างวัดมณเฑียรส่วนชาวตังเกี๋ยและชาวโคชินไชน่า (ญวน) ก็มีหมู่บ้านเช่นกันเรียกว่าหมู่บ้านโคชินไชน่า นอกจากนี้ชาวลาวก็มีจำนวนมากเช่นกัน โดยในรัชสมัยของสมเด็จพระราเมศวรครองราชย์ครั้งที่สอง ได้กวาดต้อนครัวลาวเชียงใหม่ส่งไปไว้ยังจังหวัดพัทลุง สงขลา นครศรีธรรมราชและจันทบุรี และในรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชที่ทรงยกทัพไปตีล้านนาในปี พ.ศ. 2204 ได้เมืองลำปาง ลำพูนเชียงใหม่ เชียงแสน และได้กวาดต้อนมาจำนวนหนึ่งเป็นต้น โดยเหตุผลที่กวาดต้อนเข้ามา ก็เพื่อวัตถุประสงค์ทางด้านเศรษฐกิจและการทหาร และนอกจากกลุ่มประชาชนแล้วกลุ่มเชื้อพระวงศ์ที่เป็นเชลยสงครามและผู้ที่เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร มีทั้งเชื้อพระวงศ์ลาว, เชื้อพระวงศ์เชียงใหม่ (Chiamay), เชื้อพระวงศ์พะโค (Banca), และเชื้อพระวงศ์กัมพูชา             นอกจากชุมชนชาวเอเชียที่ถูกกวาดต้อนมาแล้วก็ยังมีชุมชนของกลุ่มผู้ค้าขายและผู้เผยแผ่ศาสนาทั้งชาวเอเชียจากส่วนอื่นและชาวตะวันตก เช่น ชุมชนชาวฝรั่งเศสที่บ้านปลาเห็ด ปัจจุบันอยู่ทางทิศใต้นอกเกาะอยุธยาใกล้กับวัดพุทไธสวรรย์ ซึ่งภายหลังบ้านปลาเห็ตได้เปลี่ยนชื่อเป็นบ้านเซนต์โยเซฟ หมู่บ้านญี่ปุ่นอยู่ริมแม่น้ำระหว่างหมู่บ้านชาวมอญและโรงกลั่นสุราของชาวจีน ถัดไปเป็นชุมชนชาวฮอลันดาทางใต้ของชุมชนฮอลันดาเป็นถิ่นพำนักของชาวอังกฤษ, มลายู และมอญจากพะโค นอกจากนี้ก็ยังมีชุมชนของชาวอาหรับ เปอร์เซีย และกลิงก์ (คนจากแคว้นกลิงคราฎร์จากอินเดีย)ส่วนชุมชนชาวโปรตุเกสตั้งอยู่ตรงข้ามชุมชนญี่ปุ่น ชาวโปรตุเกสส่วนใหญ่มักสมรสข้ามชาติพันธุ์กับชาวสยาม จีน และมอญ ส่วนชุมชนชาวจามมีหลักแหล่งแถบคลองตะเคียนทางใต้ของเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยาเรียกว่า ปทาคูจาม มีบทบาทสำคัญด้านการค้าทางทะเล และตำแหน่งในกองทัพเรือ เรียกว่า อาษาจาม และเรียกตำแหน่งหัวหน้าว่า พระราชวังสัน

 ภาษา

แก้ไข

         สำเนียงดั้งเดิมของกรุงศรีอยุธยามีความเชื่อมโยงกับชนพื้นเมืองตั้งแต่ลุ่มน้ำยมที่เมืองสุโขทัยลงมาทางลุ่มน้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันตกในแถบสุพรรณบุรี, ราชบุรี,เพชรบุรี ซึ่งสำเนียงดังกล่าวมีความใกล้ชิดกับสำเนียงหลวงพระบาง โดยเฉพาะสำเนียงเหน่อของสุพรรณบุรีมีความใกล้เคียงกับสำเนียงหลวงพระบาง ซึ่งสำเนีงเหน่อดังกล่าวเป็นสำเนียงหลวงของกรุงศรีอยุธยา ประชาชนชาวกรุงศรีอยุธยาทั้งพระเจ้าแผ่นดินจนถึงไพร่ฟ้าราษฏรก็ล้วนตรัสและพูดจาในชีวิตประจำวัน ซึ่งปัจจุบันเป็นขนบอยู่ในการละเล่นโขนที่ต้องใช้สำเนียงเหน่อ โดยหากเปรียบเทียบกับสำเนียงกรุงเทพฯในปัจจุบันนี้ ที่ในสมัยนั้นถือว่าเป็นสำเนียงบ้านนอกถิ่นเล็กๆของราชธานีที่แปร่งและเยื้องจากสำเนียงมาตรฐานของกรุงศรีอยุธยา และถือว่าผิดขนบ            ภาษาดั้งเดิมของกรุงศรีอยุธยาปรากฏอยู่ในโองการแช่งน้ำ ซึ่งเป็นร้อยกรองที่เต็มไปด้วยฉันทลักษณ์ที่แพร่หลายแถบแว่นแคว้นสองฝั่งลุ่มแม่น้ำโขงมาแต่ดึกดำบรรพ์ และภายหลังได้พากันเรียกว่าโคลงมณฑกคติ เนื่องจากเข้าใจว่าได้รับแบบแผนมาจากอินเดีย ซึ่งแท้จริงคือโคลงลาว หรือ โคลงห้า ที่เป็นต้นแบบของโคลงดั้นและโคลงสี่สุภาพ โดยในโองการแช่งน้ำเต็มไปด้วยศัพท์แสงพื้นเมืองของไทย-ลาวส่วนคำที่มาจากบาลี-สันสกฤต และเขมรอยู่น้อย โดยหากอ่านเปรียบเทียบก็จะพบว่าสำนวนภาษาใกล้เคียงกับข้อความในจารึกสมัยสุโขทัย และพงศาวดารล้านช้างด้วยเหตุที่กรุงศรีอยุธยาตั้งอยู่ใกล้ทะเลและเป็นศูนย์กลางการค้านานาชาติทำให้สังคมและวัฒนธรรมเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ต่างกับบ้านเมืองแถบสองฝั่งโขงที่ห่างทะเลเป็นเหตุที่ทำให้มีลักษณะที่ล้าหลังจึงสืบทอดสำเนียงและระบบความเชื่อแบบดั้งเดิมไว้ได้เกือบทั้งหมด ส่วนภาษาในกรุงศรีอยุธยาก็ได้รับอิทธิพลของภาษาจากต่างประเทศจึงรับคำในภาษาต่างๆมาใช้ เช่นคำว่ากุหลาบ ที่ยืมมาจากคำว่า กุล้อบ ในภาษาเปอร์เซีย ที่มีความหมายเดิมว่า น้ำดอกไม้ และยืมคำว่า ปาดรื (Padre) จากภาษาโปรตุเกส แล้วออกเสียงเรียกเป็น บาทหลวงเป็นต้น

ระบบไพร่

แก้ไข

        อาณาจักรอยุธยามีการใช้ระบบไพร่อันเป็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างมากเมื่อเทียบกับสมัยสุโขทัย โดยกำหนดให้ชายทุกคนที่สูงตั้งแต่ 1.25 เมตรขึ้นไปต้องลงทะเบียนไพร่ ไพร่จะต้องทำงานที่ได้รับมอบหมายเดือนเว้นเดือน โดยไม่มีค่าตอบแทนหรือเสบียงอาหารใด ๆ ระบบไพร่มีความสำคัญต่อการรักษาอำนาจทางการเมืองของพระมหากษัตริย์ เพราะหากมีการเบียดบังไพร่โดยเจ้านายหรือขุนนางไว้เป็นจำนวนมากแล้ว ย่อมส่งผลต่อเสถียรภาพของราชบัลลังก์ได้ ตลอดจนส่งผลให้กำลังในการป้องกันอาณาจักรก็จะอ่อนแอ ไม่เป็นปึกแผ่น นอกจากนี้ ระบบไพร่ยังเป็นการเกณฑ์แรงงานเพื่อใช้ประโยชน์ในโครงการก่อสร้างต่าง ๆ ซึ่งล้วนแต่เกี่ยวข้องกับมาตรฐานชีวิตและความมั่นคงของอาณาจักร

ความสัมพันธ์กับต่างประเทศ

แก้ไข

          อาณาจักรอยุธยามักส่งเครื่องราชบรรณาการไปถวายจักรพรรดิจีนเป็นประจำทุกสามปี เครื่องบรรณาการนี้เรียกว่า "จิ้มก้อง" นักประวัติศาสตร์เชื่อว่าการส่งเครื่องราชบรรณาการดังกล่าวแฝงจุดประสงค์ทางธุรกิจไว้ด้วย คือ เมื่ออาณาจักรอยุธยาได้ส่งเครื่องราชบรรณาการไปถวายแล้วก็จะได้เครื่องราชบรรณาการกลับมาเป็นมูลค่าสองเท่า ทั้งยังเป็นธุรกิจที่ไม่มีความเสี่ยง จึงมักจะมีขุนนางและพ่อค้าเดินทางไปพร้อมกับการนำเครื่องราชบรรณาการไปถวายด้วย อาณาจักรอยุธยามีความสัมพันธ์กับชาติตะวันตกในด้านการค้าขายและการเผยแผ่ศาสนา โดยชาวตะวันตกได้นำเอาวิทยาการใหม่ ๆ เข้ามาด้วย ต่อมา คอนสแตนติน ฟอลคอนได้เข้ามามีอิทธิพลและยังมีหลักฐานว่าคบคิดกับฝรั่งเศสจะยึดครองกรุงศรีอยุธยา บรรดาขุนนางจึงประหารฟอลคอนเสีย และลดระดับความสำคัญกับชาติตะวันตกตลอดช่วงเวลาที่เหลือของอาณาจักรอยุธยา

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้ไข

สารบัญ

แก้ไข