ประวัติศาสตร์กฎหมายไทย

กฎหมายเป็นเครื่องควบคุมประพฤติการณ์ในสังคม พัฒนาขึ้นมาจากศีลธรรม ขนบธรรมเนียม จารีตประเพณี ศาสนา และกฎเกณฑ์ข้อบังคับ ตามลำดับ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อธำรงความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของสมาชิกในสังคม กับทั้งเพื่อให้การอยู่ร่วมกันในสังคมนั้นเป็นไปโดยราบรื่น สนองความต้องการของภาคส่วนต่าง ๆ อย่างเหมาะสม ดังภาษิตละตินที่ว่า "ที่ใดมีมนุษย์ ที่นั้นมีสังคม ที่ใดมีสังคม ที่นั้นมีกฎหมาย ด้วยเหตุนั้น ที่ใดมีมนุษย์ ที่นั้นจึงมีกฎหมาย" (ละติน: Ubi homo, ibi societas. Ubi societas, ibi ius. Ergo ubi homo, ibi ius) ด้วยเหตุนี้กฎหมายจึงได้ชื่อว่าเป็น "ปทัสถานทางสังคม" (อังกฤษ: social norms) ซึ่งบางทีก็เรียก "บรรทัดฐานของสังคม"

วิวัฒนาการกฎหมายไทย

แก้ไข

ระเบียบกฎหมายไทยเป็นดังนี้มาจนถึงช่วงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ไทยก็ได้ยึดแนวทางตรากฎหมายอย่างอังกฤษ กระนั้น คำเรียกกฎหมายก็เฝืออยู่ เช่น บางฉบับตราเป็นพระราชกำหนดแต่ให้ชื่อว่าพระราชบัญญัติก็มี ราชบัณฑิตยสถานสันนิษฐานว่าเหตุที่เป็นเช่นนั้นเพราะพระราชกำหนดและพระราชบัญญัติสมัยนั้นมีความหมายอย่างเดียวกัน ครั้นต่อมาเมื่อมีรัฐธรรมนูญสำหรับปกครองแผ่นดินขึ้นแล้ว ก็มีการแบ่งแยกอำนาจเป็นฝ่าย ๆ ไป อำนาจในการออกกฎหมายจึงตกแก่ฝ่ายนิติบัญญัติ และกฎหมายก็เป็นระบบระเบียบดังกาลปัจจุบัน

กฎหมายในแต่ละยุค

แก้ไข

กฎหมายในยุคสุโขทัย

แก้ไข

ปรากฎอยู่ในศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง ( ปี พ.ศ. ๑๘๒๘-๑๘๓๕ ) เรียกกันว่า กฎหมายสี่บท ได้แก่ ๑.) บทเรื่องมรดก ๒.)บทเรื่องที่ดิน ๓.) บทวิธีพิจารณาความ ๔.)บทลักษณะฎีกา

และมีการเพิ่มเติมกฎหมายลักษณะโจรลงไปในครั้งรัชสมัยพญาเลอไทย กษัตริย์สุโขทัยองค์ที่ ๔ ซึ่งมีส่วนของการนำกฎหมายพระธรรมศาสตร์มาใช้ ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากพราหม ซึ่งได้มีส่วนขยาย ที่เรียกว่า ‘พระราชศาสตร์’ มาใช้

กฎหมายกรุงศรีอยุธยา

แก้ไข

กรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีแห่งที่สองของไทย ได้ก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๑๘๙๓ - ๒๓๑๐ พระมหากษัตริย์ในยุคนั้น ได้สร้างกฎหมายซึ่งเรียกว่าพระราชศาสตร์ไว้มากมาย พระราชศาสตร์เหล่านี้ เมื่อเริ่มต้นได้อ้างถึงพระธรรมศาสตร์ฉบับของมนูเป็นแม่บท เรียกกันว่า ‘มนูสาราจารย์’ พระธรรมศาสตร์ฉบับของมนูสาราจารย์นี้ เป็นกฎหมายที่มีต้นกำเนิดในอินเดีย เรียกว่าคำภีร์พระธรรมศาสตร์ ต่อมามอญได้เจริญและปกครองดินแดนแหลมทองมาก่อน ได้แปลต้นฉบับคำภีร์ภาษาสันสกฤตมาเป็นภาษาบาลีเรียกว่า ‘คำภีร์ธรรมสัตถัม’ และได้ดัดแปลงแก้ไขบทบัญญัติบางเรื่องให้มีความเหมาะสมกับชุมชนของตน ต่อจากนั้นนักกฎหมายไทยในสมัยพระนครศรีอยุธยาจึงนำเอาคำภีร์ของมอญของมอญมาเป็นหลักในการบัญญัติกฎหมายของตน ลักษณะกฎหมายในสมัยนั้นจะเป็นกฎหมายอาญาเสียเป็นส่วนใหญ่ ในยุคนั้น การบันทึกกฎหมายลงในกระดาษเริ่มมีขึ้นแล้ว เชื่อกันว่าการออกกฎหมายในสมัยก่อนนั้น จะคงมีอยู่ในราชการเพียงสามฉบับเท่านั้น ได้แก่ ฉบับที่พระมหากษัตริย์ทรงใช้งาน ฉบับให้ขุนนางข้าราชการทั่วไปได้อ่านกัน หรือคัดลอกนำไปใช้ ฉบับสุดท้ายจะอยู่ที่ผู้พิพากษาเพื่อใช้ในการพิจารณาอรรถคดี

กฎหมายกรุงรัตนโกสินทร์

แก้ไข

ในสมัยนั้น พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่๑ เห็นว่ากฎหมายที่ใช้กันแต่ก่อนมานั้นขาดความชัดเจน และไม่ได้รับการจัดเรียงไว้เป็นหมวดหมู่ง่ายต่อการศึกษาและนำมาใช้ จึงโปรดเกล้าให้มีการชำระกฎหมายขึ้นมาใหม่ ในคำภีร์พระธรรมศาสตร์ โดยนำมารวบรวมกฎหมายเดิมเข้าเป็นลักษณะๆ สำเร็จเมื่อ พ.ศ. ๒๓๔๘ และนำมาประทับตราเข้าเป็นตราพระราชสีห์ ซึ่งเป็นตราของกระทรวงมหาดไทย ตราคชสีห์ ของพระทรวงกลาโหม และตราบัวแก้ว ซึ่งเป็นตราของคลัง บนหน้าปกแต่ละเล่ม ตามลักษณะระของการปกครองในสมัยนั้น กฎหมายฉบับนั้นเรียกกันว่า ‘กฎหมายตราสามดวง’ กฎหมายตราสามดวงนี้ ถือเป็นประมวลกฎหมายของแผ่นดินที่ได้รับการปรับปรุงให้มีความรัดกุม ยุติธรรมทั้งทางแพ่งและอาญา นอกจากจะได้บรรจุพระธรรมศาสตร์ตั้งแต่สมัยอยุธยาแล้ว ยังคงมีกฎหมายสำคัญๆอีกหลายเรื่อง อาทิ กฎหมายลักษณะพยาน ลักษณะทาส ลักษณะโจร และต่อมาได้มีการตราขึ้นอีกหลายฉบับ ต่อมาประเทศไทยมีการติดต่อสัมพันธ์ไมตรีกับประเทศต่างๆมาก พึงเห็นได้ว่ากฎหมายเดิมนั้นไม่ได้รับการยอมรับจากนานาอารยประเทศ จนทำให้ไทยต้องเสียสิทธิสภาพนอกอาณาเขต นอกจากนั้นยังไม่สามารถนำมาใช้บังคับได้ทุกกรณี พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงตรากฎหมายขึ้นใหม่ อาทิ พระราชบัญญัติมารดาและสินสมรส ครั้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงจัดวางระบบศาลขึ้นมาใหม่ และได้ให้ผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมายทั้งจากอังกฤษ ฝรั่งเศส เบลเยี่ยม ญี่ปุ่น และลังกามาเป็นที่ปรึกษากฎหมาย และในสมัยนั้น พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ก็ได้แก้ไขชำระกฎหมายตราสามดวงเดิมขึ้นใหม่ และจัดพิมพ์ขึ้นในชื่อของ ‘กฎหมายราชบุรี’ ในปี พ.ศ. ๒๔๔๐ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจชำระและร่างกฎหมายขึ้นมาใหม่ ทำการร่างกฎหมายลักษณะอาญา กฎหมายว่าด้วยการเลิกทาส กฎหมายวิธีบัญญัติ ร่างประมวลกฎหมายแพ่งและกฎหมายที่สำคัญหลายๆฉบับ และในรัชสมัยต่อมา กฎหมายไทยได้ถูกพัฒนาสืบต่อกันยาวนาน ตราบจนทุกวันนี้ มีการจัดทำประมวลกฎหมาย และร่างกฎหมายต่างๆเป็นจำนวนมาก ซึ่งกฎหมายไทยนั้น ได้รับอิทธิพลทั้งจากกฎหมายภาคพื้นยุโรป อาทิกฎหมายอังกฤษ กฎหมายฝรั่งเศส รวมทั้งจารีตประเพณีเดิมของไทยด้วย (มีอยู่ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๕ และ ๖ ว่าด้วยเรื่องครอบครัวและมรดก) และได้รับการแก้ไขให้มีความสอดคล้องกับสังคมที่เปลี่ยนไปอยู่ตลอดเวลา มีกฎหมายที่ทันสมัยถูกตราขึ้นใหม่ๆตลอด เช่น กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา หรือที่เกี่ยวกับการค้าระหว่างประเทศ[1]

อ้างอิง

แก้ไข

สารบัญ

แก้ไข
  1. http://www.thailaws.com/aboutthailaw/thai_06.htm