1
ลักษณะทั่วไปของทรัพย์สิน

นิยามของทรัพย์และทรัพย์สิน

แก้ไข

ในกฎหมายลักษณะทรัพย์สินปรากฏคำอยู่สองคำ คือ "ทรัพย์" และ "ทรัพย์สิน" ทั้งสองมีความหมายต่างกัน และต้องใช้อย่างระมัดระวังเช่นเดียวกับศัพท์กฎหมายศัพท์อื่น ๆ

ทรัพย์

แก้ไข
  ทรัพย์ หมายความว่า วัตถุมีรูปร่าง
ป.พ.พ. ม. 137

ทรัพย์ (thing[1]) นั้น ป.พ.พ. ม. 137 นิยามไว้ว่า เป็นวัตถุมีรูปร่าง (res corporales, corporeal object) กล่าวคือ วัตถุที่มีรูปและมีร่างอยู่ในตัว มีตัวตน มีสัดส่วน แม้เล็กน้อยจนไม่อาจมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าก็ตาม[2] เช่น สมุด ปากกา โต๊ะ ตู้ เก้าอี้ รถยนต์ เรือ ปรสิต อะมีบา

ตามกฎหมายไทย ทรัพย์หมายความรวมถึงสัตว์ด้วย[3] แต่ตามกฎหมายบางประเทศ ทรัพย์ไม่รวมสัตว์ เช่น กฎหมายเยอรมันระบุไว้ชัดเจนว่า สัตว์ไม่ใช่ทรัพย์ แต่ให้นำบทบัญญัติเรื่องทรัพย์มาใช้บังคับแก่สัตว์โดยอนุโลมเท่าที่ไม่ได้ว่าไว้เป็นอื่น[4]

นักกฎหมายบางคนเห็นว่า นอกจากเป็นวัตถุมีรูปร่างแล้ว ทรัพย์ยังต้องอาจมีราคาและอาจถือเอาได้ด้วย เพราะเห็นว่า ป.พ.พ. ม. 137 ต้องใช้ประกอบ ม. 138 ที่กำหนดนิยามทรัพย์สิน[5][6] นักกฎหมายฝ่ายนี้กล่าวว่า ที่มีความเห็นเช่นนี้ เพราะสิ่งมีรูปร่างบางอย่างไม่อาจมีราคาหรือถือเอาได้ ไม่สมควรจัดเป็นทรัพย์ เช่น มนุษย์มีรูปร่าง แต่มนุษย์ไม่เป็นทรัพย์ เพราะตีราคาหรือถือครองดังสินค้าไม่ได้ แต่อวัยวะมนุษย์ที่ขาดจากร่างกายมนุษย์แล้ว หรือศพมนุษย์ เป็นทรัพย์ได้[7] เป็นต้นว่า ดวงตาที่ขายหรืออุทิศเพื่อการแพทย์ ศพมนุษย์ที่ดองหรือบริจาคเพื่อการศึกษา หรือที่ผู้คนรักษาไว้เพื่อศาสนาประโยชน์หรือเพื่อประโยชน์ทางใจ

แต่ก็มีนักกฎหมายเห็นแย้งว่า ทรัพย์ไม่จำต้องมีราคาหรือถือเอาได้ เพราะถ้าตีความเช่นนั้น จะกลายเป็นว่า ทรัพย์ทุกอย่างสามารถเป็นทรัพย์สินได้ แล้วกฎหมายจะแยกระหว่างทรัพย์กับทรัพย์สินเพื่อเหตุอันใด อนึ่ง ป.พ.พ. ม. 143 ยังนิยาม "ทรัพย์นอกพาณิชย์" ไว้ว่าเป็น "ทรัพย์ที่ไม่สามารถถือเอาได้" ก็แสดงอยู่ว่า ทรัพย์ไม่จำต้องถือเอาได้ ทรัพย์จึงมีความหมายเพียงที่ ป.พ.พ. ม. 137 นิยามไว้ คือ เป็นวัตถุที่มีรูปร่าง[8]

ทรัพย์สิน

แก้ไข

ความหมายของทรัพย์สิน

แก้ไข
  ทรัพย์สิน หมายความรวมทั้ง ทรัพย์ และวัตถุไม่มีรูปร่าง ซึ่งอาจมีราคาและอาจถือเอาได้
ป.พ.พ. ม. 138

ทรัพย์สิน (property) นั้น ป.พ.พ. ม. 138 นิยามไว้ว่า เป็นวัตถุที่มีรูปร่างหรือไม่มีรูปร่างก็ได้ แต่อาจมีราคาและอาจถือเอาได้

วัตถุมีรูปร่าง ก็คือ ทรัพย์ ส่วนวัตถุที่ไม่มีรูปร่าง (res incorporales, incorporeal object) ก็ตรงกันข้าม กล่าวคือ เป็นวัตถุที่ไม่มีสัณฐาน ไม่มีสัดส่วน ไม่กินที่ หรือไม่มีความเต็มอยู่ในตัว[9] เช่น ช้าง ม้า โค กระบือ บ้าน รถ เรือ เรือน ลิขสิทธิ์ สิทธิในเครื่องหมายการค้า และสิทธิเรียกร้อง ล้วนเป็นทรัพย์สิน

ส่วนที่ว่า "อาจมีราคา" (valuable) หมายความว่า มีคุณค่าอยู่ในตัว ซึ่งไม่จำต้องเป็นคุณค่าทางเศรษฐกิจ เพียงมีค่าสำหรับเจ้าของก็นับเป็นทรัพย์สินได้ เช่น จดหมายรัก หรือสลากที่ไม่ถูกรางวัลแล้วแต่เจ้าของเก็บรักษาไว้เป็นที่ระลึก[10][11] และที่ว่า "อาจถือเอาได้" (susceptible of being appropriated) นั้น หมายความว่า อาจถือครองเป็นสิทธิได้[10] หรืออาจเข้าหวงกันไว้เพื่อตนเองได้[12] เช่น ลิขสิทธิ์เป็นสิ่งไม่มีรูปร่าง แต่อาจเป็นเจ้าของได้ ลิขสิทธิ์จึงเป็นทรัพย์สินอย่างหนึ่ง

คำว่า "ทรัพย์สิน" นี้ ครั้งปฏิรูปกฎหมายในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ และก่อนประกาศใช้ ป.พ.พ. เคยเรียกว่า "ทรัพย์สมบัติ"[13]

ประเด็นเกี่ยวกับสิทธิ

แก้ไข

มีนักกฎหมายเห็นว่า สิทธิที่จะนับเป็นทรัพย์สินได้ ต้องได้รับการรับรองตามกฎหมายไทยแล้ว และศาลไทยมีความเห็นในทางนี้[14] เช่น เคยวินิจฉัยว่า "สิทธิเปเต้นท์" (patent right หรือที่ปัจจุบันเรียกว่า "สิทธิตามสิทธิบัตร") ในขณะนี้ (ขณะที่วินิจฉัยนั้น) ยังไม่ปรากฏว่ามีกฎหมายไทยก่อตั้งคุ้มครอง จึงยังไม่เป็นสิทธิตามกฎหมาย และไม่สามารถเรียกร้องให้บังคับบัญชาทางศาลได้[15]

อนึ่ง ศาลไทยวินิจฉัยไว้ว่า สิทธิเรียกร้องเป็นทรัพย์สินที่ซื้อขายกันได้[16] คำวินิจฉัยนี้อาจทำให้เข้าใจผิดเกี่ยวกับการโอนสิทธิเรียกร้องได้ เพราะปรกติแล้ว การโอนสิทธิเรียกร้องต้องทำตามวิธีในกฎหมายลักษณะหนี้ แต่เมื่อซื้อขายกัน อาจเข้าใจได้ว่า เพียงโอนกันตามกฎหมายลักษณะซื้อขายก็พอ ไม่ต้องทำตามวิธีดังกล่าวอีก ข้อนี้ นักกฎหมายเห็นว่า การซื้อขายสิทธิเรียกร้องก็เป็นการโอนสิทธิเรียกร้องรูปแบบหนึ่ง ซึ่งทางกฎหมายเรียกว่า "การโอนสิทธิเรียกร้องโดยมีค่าตอบแทน" เพราะฉะนั้น ยังต้องทำตามวิธีโอนสิทธิเรียกร้องในกฎหมายลักษณะหนี้อยู่[17]

สิ่งที่ศาลไทยเคยวินิจฉัยว่าเป็นทรัพย์สิน

แก้ไข
วัตถุแห่งการวินิจฉัย ฎ.
เช็ค   3567/2525 (เช็คเป็นคำสั่งของผู้สั่งจ่ายซึ่งสั่งธนาคารให้ใช้เงินให้แก่ผู้รับเงิน เช็คจึงเป็นทรัพย์สินซึ่งซื้อขายได้ โจทก์ขายลดเช็ค โจทก์จึงฟ้องบังคับตามสัญญาซื้อขายดังกล่าวได้)
สลากกินแบ่งรัฐบาล   1120/2495 (สลากกินแบ่งรัฐบาลเป็นทรัพย์สิน ซื้อขายเปลี่ยนมือกันได้ อยู่ในมือผู้ใดก็ถือว่าผู้นั้นเป็นเจ้าของ เว้นแต่ได้มาโดยไม่สุจริต)

  393/2503

สิทธิทางหนี้   สิทธิเก็บค่ารักษาความสะอาดจากพ่อค้าแม่ค้าที่ใช้พื้นที่ค้าขาย: 1255/2537

  สิทธิเช่า: 1/2502, 1778/2509, 888/2511, 767/2518, 1512/2519, 2241/2521, 390/2523, 2253/2524, 875/2525, 4001/2530, 4222/2536, 1238/2537, 2227/2537

  สิทธิเช่าซื้อ: 5466/2539

  สิทธิตามสัญญาจะซื้อจะขาย: 1476/2518

  สิทธิในประทานบัตรทำเหมืองแร่: 2855/2519

  สิทธิเป็นลูกวงแชร์: 2095/2525

  สิทธิเรียกค่าชดเชยของลูกจ้าง: 1269/2524

  สิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทน: 1903/2514, 326/2524

หุ้น   1174/2487, 809/2519, 1438/2519, 3853/2524, 1850/2531 (หุ้นในบริษัทจำกัดเป็นทรัพย์สิน แม้โอนกันโดยไม่สมบูรณ์ แต่เมื่อผู้รับโอนได้ครอบครองมาเกินห้าปี ก็ได้กรรมสิทธิ์ในหุ้นเหล่านั้นไปเพราะครอบครองปรปักษ์)

ทรัพย์สินทางปัญญา

แก้ไข

ทรัพย์สินทางปัญญา (intellectual property) หมายถึง ผลผลิตอันเกิดขึ้นจากสติปัญญาของมนุษย์[18][19] แม้มีชื่อว่าทรัพย์สิน แต่ในวงการกฎหมายก็ถกเถียงกันมายาวนานว่า ทรัพย์สินทางปัญญาเป็นทรัพย์สินหรือไม่ เรื่องนี้ เดิมนักกฎหมายเห็นกันเป็นสองฝ่าย

ฝ่ายแรกว่า ทรัพย์สินทางปัญญาเป็นทรัพย์สิน เพราะมีราคาและถือเอาได้ ทั้งสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญานั้นยังเกิด โอน และระงับไปได้ตามที่มีกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญารับรองไว้[18]

ฝ่ายที่สองว่า ทรัพย์สินทางปัญญาไม่เป็นทรัพย์สิน เพราะต่างจากทรัพย์สินในหลาย ๆ ประการ เป็นต้นว่า สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาไม่ได้ตั้งอยู่บนทรัพย์สินที่มีตัวมีตนโดยแท้จริง และทรัพย์สินทางปัญญายังไม่อาจครอบครองปรปักษ์ได้[20] ศาลไทยเองก็อยู่ฝ่ายที่สอง[20]

ปัจจุบัน นักกฎหมายส่วนใหญ่เห็นพ้องกันว่า ทรัพย์สินทางปัญญาเป็นทรัพย์สินรูปแบบหนึ่ง เพราะสามารถใช้แสวงหาประโยชน์ทางเศรษฐกิจได้เช่นเดียวกับทรัพย์สินอื่น ๆ[20]

เนื่องจากทรัพย์สินทางปัญญามีลักษณะพิเศษ ทั้งยังไม่อาจจัดเป็นสังหาริมทรัพย์หรืออสังหาริมทรัพย์ได้ เป็นต้นว่า ทรัพย์สินทั่วไปเมื่อซื้อขายกันกรรมสิทธิ์ย่อมโอนจากผู้ซื้อไปยังผู้ขายด้วย แต่ทรัพย์สินทางปัญญา เป็นต้นว่า ซีดีเพลงหนึ่งแผ่น เมื่อซื้อขายกัน ลิขสิทธิ์ในเพลงตามซีดีแผ่นนั้นไม่ได้โอนจากผู้ซื้อไปยังผู้ขาย และเมื่อครอบครองเพลงไว้เป็นเวลานาน ผู้ครอบครองก็ไม่ได้ลิขสิทธิ์ในเพลงนั้นไปโดยอายุความเช่นเดียวกับการครอบครองปรปักษ์ซึ่งทรัพย์สินอย่างอื่น ฉะนั้น จึงนำบทกฎหมายทั่วไปที่ว่าด้วยทรัพย์สินมาใช้บังคับแก่ทรัพย์สินทางปัญญาไม่ได้ และมีกฎหมายเฉพาะกำกับอยู่แล้ว คือ กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา[21]

ทรัพย์และทรัพย์สินในกฎหมายอาญา

แก้ไข

สภาพปัญหา

แก้ไข

ความหมายของทรัพย์และทรัพย์สินในกฎหมายแพ่งนั้นไม่เป็นปัญหาเท่ากับในกฎหมายอาญา

ในช่วงที่กฎหมายลักษณะอาญา[22] ยังใช้บังคับอยู่ มีการลักกระแสไฟฟ้าเกิดขึ้นหลายครั้ง และเนื่องจากกฎหมายลักษณะอาญาวางนิยามคำว่า "ทรัพย์" ไว้ครอบคลุมถึงวัตถุไม่มีรูปร่าง[23] การลักกระแสไฟฟ้าตามกฎหมายเก่าจึงเป็นการลักทรัพย์

ครั้นกฎหมายลักษณะอาญาถูกยกเลิกและแทนที่ด้วย ป.อ. เมื่อปี 2500 ก็เกิดคดีลักกระแสไฟฟ้าเมื่อปี 2501 เป็นคดีแรก และมีปัญหาเกี่ยวกับความหมายของคำว่า "ทรัพย์" และ "ทรัพย์สิน" อันเป็นคำที่ปรากฏใน ป.อ. แต่ ป.อ. มิได้นิยามไว้ดังกฎหมายลักษณะอาญา เพราะเมื่อไม่ได้นิยามไว้ ก็ต้องถือความหมายตาม ป.พ.พ. อันเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่และกำหนดนิยามไว้[24] และเมื่อถือเช่นนี้แล้ว กระแสไฟฟ้าซึ่งเป็นวัตถุไม่มีรูปร่างย่อมเป็นทรัพย์สิน มิใช่ทรัพย์ และการลักกระแสไฟฟ้าย่อมไม่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์ (ไม่มีความผิดฐานลักทรัพย์สิน) อย่างกรณีตามกฎหมายลักษณะอาญาอีกต่อไป

คำวินิจฉัยของศาล

แก้ไข

ในคดีลักกระแสไฟฟ้าเมื่อปี 2501 ดังกล่าว (คดีระหว่างพนักงานอัยการ กรมอัยการ โจทก์ กับฮั่วเชียง หรือฮวดเชียง แซ่เตีย และพวก จำเลย) จำเลยเอาสายไฟฟ้าของตนต่อเข้าสายไฟฟ้าหลัก (สายเมน) ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาลงมติว่า กระแสไฟฟ้าเป็นทรัพย์ การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ตาม ป.อ. ม. 334 หรือ 335[25]

คำวินิจฉัยนี้ปรากฏใน ฎ. 877/2501 และศาลฎีกาไม่ได้ระบุเหตุผลในการวินิจฉัย[26] แต่ศาสตราจารย์จิตติ ติงศภัทิย์ หมายเหตุไว้ท้าย ฎ. นั้นว่า[25]

หมายเหตุของศาสตราจารย์จิตติ ติงศภัทิย์ ท้าย ฎ. 877/2501

กระแสไฟฟ้าจะเป็นวัตถุแห่งการลักทรัพย์ได้หรือไม่นั้น เมื่อสมัยใช้กฎหมายลักษณะอาญาเดิม เข้าใจกันว่า เป็นความผิดได้ เพราะวิเคราะห์ศัพท์คำว่า ทรัพย์ ในครั้งนั้น (มาตรา 6 ข้อ 10) หมายความถึง บรรดาสิ่งของอันบุคคลสามารถมีกรรมสิทธิ์หรือถืออำนาจเป็นเจ้าของได้ ฯลฯ แม้คำว่า สิ่งของ จะมีนัยไปในทางวัตถุมีรูปร่าง แต่ความสำคัญก็อยู่ที่ความสามารถมีกรรมสิทธิ์หรือถืออำนาจเป็นเจ้าของได้ยิ่งกว่า แต่ตามประมวลกฎหมายอาญา ไม่มีวิเคราะห์ศัพท์ ทำให้เห็นเจตนาที่จะให้ถือตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 98[27] ซึ่งบัญญัติว่า ทรัพย์นั้นได้แก่วัตถุมีรูปร่าง ส่วนวัตถุที่มีราคาและถือเอาได้ตามนัยแห่งกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 6 ข้อ 10 เดิมนั้น ป.พ.พ. มาตรา 99[28] เรียกว่า ทรัพย์สิน ถ้าถือตามนี้ กระแสไฟฟ้าก็ไม่ใช่ทรัพย์ตามมาตรา 98 แต่เป็นทรัพย์สินตามมาตรา 99 และเป็นสังหาริมทรัพย์ตามมาตรา 101[29] อันหมายความรวมถึง กำลังแรงแห่งธรรมชาติที่อาจถือเอาได้ ซึ่งตามอุทาหรณ์ของกรมร่างกฎหมายก็ยกตัวอย่างถึงแรงไฟฟ้าด้วย

เมื่อไม่ใช่ทรัพย์ตามมาตรา 98 ก็ไม่เป็นวัตถุแห่งการลักทรัพย์ เพราะในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334 ใช้คำว่า เอาทรัพย์ของผู้อื่น ฯลฯ ไปเป็นการลักทรัพย์ ส่วนบทมาตราอื่นในเรื่องทรัพย์ บางแห่งก็ใช้คำว่า ทรัพย์สิน เช่น มาตรา 337, 338, 341, 346, 347, 382 วรรคสอง, 353, 354 เป็นต้น แสดงให้ชัดขึ้นอีกว่า ประมวลกฎหมายอาญาได้ตั้งใจใช้คำ ทรัพย์ กับ ทรัพย์สิน โดยมีความหมายอันต่างกัน และคงจะใช้ตามความหมายต่างกันดังปรากฏในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์นั่นเอง

แต่พิจารณาดูให้ดี ก็จะเห็นได้อีกว่า ทั้งในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์และในประมวลกฎหมายอาญา คำว่า ทรัพย์สิน ก็ยังใช้ปะปนกันอยู่นั่นเอง หาได้แยกออกเด็ดขาดดังที่น่าจะเข้าใจเช่นที่กล่าวแล้วไม่ ใน ป.พ.พ. มาตรา 100[30] และ 101 คำว่า อสังหาริมทรัพย์ และ สังหาริมทรัพย์ และทรัพย์อะไรต่ออะไรในมาตราต่อ ๆ มา จะสนธิกับศัพท์อื่นหรือใช้แต่ลำพังคำว่า ทรัพย์ ลอย ๆ เช่น ในมาตรา 104, 105, 106[31] ฯลฯ ก็ใช้ในความหมายของทรัพย์สิน ส่วนในประมวลกฎหมายอาญาก็ใช้สองคำนี้ปะปนอยู่เหมือนกัน เริ่มด้วยจั่วหน้าลักษณะ 12 ความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ ก็รวมความผิดเกี่ยวกับทรัพย์สินอยู่ด้วยในมาตรา 338 การขู่เอาประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สิน เรียกว่า ทำความผิดฐานรีดเอาทรัพย์ มาตรา 352 วรรคสอง ทรัพย์ตกอยู่ในครอบครองผู้ยักยอกเป็นทรัพย์สินหาย ฯลฯ เป็นต้น เมื่อพิจารณาโดยจริงจังเข้า ก็เห็นอยู่ว่า คำว่า ทรัพย์ หรือ ทรัพย์สิน นั้นหาได้แยกใช้ต่างกันโดยเคร่งครัดเสมอไปไม่

นอกจากนี้ การลักทรัพย์ หมายถึง การลักทรัพย์เคลื่อนที่ได้ ซึ่ง ป.พ.พ. เรียกว่า สังหาริมทรัพย์ คำว่า สังหาริมทรัพย์ ใน ป.พ.พ. ก็หมายความถึง กำลังแรงแห่งธรรมชาติ แม้จะถือว่า แรงไฟฟ้าเป็นวัตถุไม่มีรูปร่าง แต่ก็มีราคา ถือเอาได้ และนำพาไปเสียจากเจ้าของได้ ทั้งสามารถวัดประมาณที่เอาไปได้ด้วย ดังนี้ ก็ไม่มีเหตุอะไรที่จะเอาแรงไฟฟ้าของเขาไปโดยเจตนาทุจริตแล้วไม่ผิดฐานลักทรัพย์เหมือนเอาทรัพย์อื่น ๆ ของเขาไป

เทียบตามกฎหมายต่างประเทศก็มีปัญหาอยู่เช่นกัน ตามกฎหมายอักษรและอเมริกาไม่ถือว่าลักกระแสไฟฟ้าเป็นความผิดตาม Common Law แต่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ. ที่เรียกว่า Larceny Act 1916[32] ของอังกฤษ (Archibald, Pleading & Practice. ed. 32. pp. 550, 581) ในอเมริกามักจะมี พ.ร.บ. ในเรื่องนี้บัญญัติให้เป็นความผิด แต่แม้จะไม่มี พ.ร.บ. โดยเฉพาะ ศาลก็ลงโทษฐานลักทรัพย์เหมือนกัน ไม่ถือการมีรูปร่างหรือไม่มีรูปร่างเป็นสำคัญยิ่งกว่าการที่จะถือเอาได้ แรงไฟฟ้าเช่นเดียวกับแก๊สเป็นวัตถุมีค่าแห่งสินค้า ซื้อขายกันได้ดังสังหาริมทรัพย์อื่น ซึ่งคนอื่นอาจเข้าถือเอาได้ วัดปริมาณได้โดยเครื่องวัด (Corpus Juris, 1924, Vol. 36, p. 738, Perkins, Criminal Law 1957, p. 194, Perkins, Cases & Material on Criminal Law, p. 110)

กฎหมายอินเดียก็ถือว่า การลักไฟฟ้าเป็นความผิดฐานลักทรัพย์เช่นเดียวกัน แม้ในประมวลกฎหมายอาญาอินเดียจะมีวิเคราะห์ศัพท์คำว่า สังหาริมทรัพย์ (movable property) ว่า รวมทั้งวัตถุมีรูปร่างทุกชนิด เว้นแต่ที่ดินและสิ่งซึ่งติดกับพื้นดิน ฯลฯ จนกว่าจะขาดหลุดออกจากที่ดิน[33] (Mayne, pp. 607, 609)

ส่วนกฎหมายฝรั่งเศส เรื่องลักทรัพย์ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 179 ใช้คำว่า choses แทนคำว่า biens[34] โดยมุ่งหมายให้เข้าใจถึงความสามารถที่จะถือเอาได้ และศาลก็ตัดสินว่า แรงไฟฟ้าเป็นทรัพย์ที่ลักกันได้ เช่นเดียวกับกฎหมายอิตาเลียน แต่ผิดกันกับกฎหมายเยอรมัน[35] นักนิติศาสตร์ฝรั่งเศสเห็นว่า การลักแรงไฟฟ้าเป็นความผิดโดยไม่ต้องมี พ.ร.บ. พิเศษโดยเฉพาะ (Garraud, Droit Penal, ed. 3, t. 6 no. 2375, pp. 109-113)

เหตุนี้จึงไม่น่าประหลาดอันใดที่ศาลฎีกาตีความว่า การลักกระแสไฟฟ้าก็เป็นความผิดฐานลักทรัพย์ (จิตติ ติงศัภทิย์)

ความเห็นของนักกฎหมาย

แก้ไข

มีผู้วิพากษ์วิจารณ์คำวินิจฉัยข้างต้นของศาลฎีกาเป็นสองฝ่าย[36] ฝ่ายแรกไม่เห็นด้วย โดยมีความเห็นว่า กฎหมายอาญามีหลักอยู่ว่า ต้องตีความโดยเคร่งครัด เมื่อ ป.อ. ไม่ได้วางนิยามไว้ นิยามของ "ทรัพย์" และ "ทรัพย์สิน" ที่ใช้ใน ป.อ. ควรเป็นไปตาม ป.พ.พ. ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้อยู่และวางนิยามไว้ ฉะนั้น กระแสไฟฟ้าย่อมเป็นทรัพย์สิน เพราะโดยสภาพแล้วไม่มีรูปร่าง การที่ศาลตีความว่า กระแสไฟฟ้าเป็นทรัพย์อันหมายถึงวัตถุมีรูปร่างนั้น เป็นการขยายบทกฎหมายออกไปให้เป็นโทษแก่บุคคล ทำให้การกระทำที่กฎหมายไม่ได้กำหนดว่าเป็นความผิดต้องกลายเป็นความผิดขึ้นมา ขัดกับหลักกฎหมายที่ว่า "ไม่มีโทษถ้าไม่มีกฎหมายกำหนด" (nulla poena sine lege, no penalty without law)[37]

ส่วนฝ่ายที่สองเห็นด้วยกับศาลฎีกา โดยให้ความเห็นว่า กระแสไฟฟ้าเป็นวัตถุที่พาไปจากเจ้าของได้ วัดปริมาณที่พาไปนั้นได้ และมีราคาด้วย จึงพอถือได้ว่า กระแสไฟฟ้ามีรูปมีร่าง มีราคา และถือเอาได้ กระแสไฟฟ้าจึงเป็นทรัพย์ตาม ป.อ. แล้ว การตีความดังนี้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของ ป.อ. มิใช่การขยายความ ป.อ. แต่ประการใด ทั้งยังชอบด้วยความยุติธรรมและสามารถธำรงความสงบเรียบร้อยได้ เพราะผู้ลักกระแสไฟฟ้าสมควรรับโทษอยู่แล้ว[38]

ปัญหาเรื่องทรัพย์และทรัพย์สินใน ป.อ. นี้ ได้นำเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการพิจารณาปรับปรุงประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 1 ในช่วงปี 2534-2535 โดยมีประเด็นว่า ควรขยายนิยามคำว่า "ทรัพย์" ใน ป.พ.พ. ให้รวมพลังงานธรรมชาติและพลังงานอื่นที่ควบคุมได้ด้วยหรือไม่[39] กรรมการมีความเห็นเป็นสองฝ่าย คือ เห็นควรแก้ไขเพิ่มเติมเช่นนั้น เพื่อให้เป็นไปตามคำวินิจฉัยของศาลฎีกา กับไม่สมควรแก้ไขเพิ่มเติม เพราะตามกฎหมายปัจจุบัน พลังงานซึ่งเป็นวัตถุไม่มีรูปร่างจัดเป็นทรัพย์สินประเภทสังหาริมทรัพย์ ถ้าให้พลังงานเป็นทรัพย์ ก็จะขัดกับนิยามของทรัพย์ที่หมายถึงวัตถุมีรูปร่าง และไปซ้อนกับนิยามของทรัพย์สิน ที่สุด คณะกรรมการมีมติเห็นชอบตามฝ่ายที่สอง ส่วนเรื่องการลักกระแสไฟฟ้าในทางอาญาควรไปบัญญัติเป็นอีกเรื่องหนึ่งต่างหาก นิยาม "ทรัพย์" กับ "ทรัพย์สิน" ใน ป.พ.พ. จึงคงเดิม[39]

คดีอื่น

แก้ไข

หลังจากคดีลักกระแสไฟฟ้านั้นแล้ว ก็มีคดีลักวัตถุไม่มีรูปร่างทำนองเดียวกันอีกหลายคดี ซึ่งศาลไทยวินิจฉัยคละกันไป ทั้งว่าเป็นลักทรัพย์ตาม ป.อ. และไม่เป็น เช่น

ฎ. วัตถุแห่งการวินิจฉัย วินิจฉัยว่า
4792/2536 สัญญาณโทรศัพท์   จำเลยดักรับสัญญาณโทรศัพท์ขององค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยมาใช้ เป็นการลักทรัพย์
5354/2539   จำเลยดักรับสัญญาณโทรศัพท์มือถือของผู้เสียหายมาใช้ เป็นเพียงการใช้สัญญาณโทรศัพท์ของผู้อื่นโดยไม่มีสิทธิ ไม่ใช่การเอาทรัพย์ของผู้อื่นไปอันจะเป็นการลักทรัพย์
1880/2542   จำเลยดักรับสัญญาณโทรศัพท์จากตู้โทรศัพท์สาธารณะขององค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยมาใช้ เป็นการลักทรัพย์
8177/2543   จำเลยดักรับคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่ผู้เสียหายผลิตขึ้นแล้วนำมาใช้เพื่อการคมนาคมและสื่อสารของตน เป็นเพียงการใช้สัญญาณโทรศัพท์ของผู้อื่นโดยไม่มีสิทธิ ไม่ใช่การเอาทรัพย์ของผู้อื่นไปอันจะเป็นการลักทรัพย์
2286/2545   จำเลยดักรับสัญญาณโทรศัพท์จากสายโทรศัพท์ซึ่งอยู่ในความครอบครองของผู้เสียหายมาใช้ เป็นการลักทรัพย์
5161/2547 ข้อมูลคอมพิวเตอร์   ข้อมูลคอมพิวเตอร์ไม่เป็นวัตถุมีรูปร่าง ส่วนตัวอักษร ภาพ แผนผัง และตราสารเป็นเพียงสัญลักษณ์ที่ถ่ายทอดความหมายของข้อมูลดังกล่าว มิใช่รูปร่างของข้อมูล การที่จำเลยนำแผ่นบันทึกข้อมูลเปล่าลอกข้อมูลจากแผ่นบันทึกข้อมูลของโจทก์ จึงไม่เป็นการลักทรัพย์
4944/2549 สัญญาณโทรศัพท์   จำเลยใช้สายไฟของโทรศัพท์ตนต่อเข้ากับขั้วสายไฟข้างตู้โทรศัพท์สาธารณะ เพื่อจะได้ต่อโทรศัพท์โดยไม่ต้องหยอดเหรียญชำระราคา และจำเลยใช้วิธีการดังกล่าวต่อโทรศัพท์ออกไป ทำให้โทรศัพท์สาธารณะเครื่องนั้นมีการโทรออก แต่จำนวนเงินที่บันทึกขาดจำนวนไป การกระทำของจำเลยเป็นการเอาสัญญาณโทรศัพท์ของผู้อื่นไปใช้แสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย จึงเป็นการลักทรัพย์

ทรัพยสิทธิและบุคคลสิทธิ

แก้ไข

กล่าวมาแล้วว่า กองทรัพย์สินของบุคคลประกอบด้วยทรัพย์สิน สิทธิเรียกร้อง และหนี้ สิทธิเรียกร้องและหนี้นั้นปรากฏตัวอยู่ในรูปสิทธิที่เรียก "บุคคลสิทธิ" ส่วนสิทธิทางทรัพย์สินนั้นเรียกว่า "ทรัพยสิทธิ"

กฎหมายลักษณะทรัพย์สินว่าด้วยทรัพยสิทธิเป็นหลัก ส่วนบุคคลสิทธินั้นปรากฏอยู่ในกฎหมายส่วนอื่นที่ว่าด้วยนิติสัมพันธ์ระหว่างบุคคล เช่น กฎหมายลักษณะหนี้ กับกฎหมายลักษณะนิติกรรมและสัญญา และตลอดเวลาที่ศึกษากฎหมายลักษณะทรัพย์สิน จะได้พบทั้งทรัพยสิทธิและบุคคลสิทธิ

ในโอกาสนี้ จึงสมควรเรียนรู้ว่า บุคคลสิทธิและทรัพยสิทธิคืออะไรและต่างกันเช่นไร

ความหมายของบุคคลสิทธิ

แก้ไข

บุคคลสิทธิ (ius in personam, personal right) เป็นสิทธิเหนือบุคคล กล่าวคือ บุคคลสิทธิมีสาระเป็นบุคคล ใช้อ้างเพื่อบังคับเอาประโยชน์จากตัวบุคคลได้โดยตรง ซึ่งก็คือ อ้างให้บุคคลกระทำการ งดเว้นกระทำการ หรือส่งมอบทรัพย์สิน[40]

เช่น หม่ำจ้างเท่งเป็นนักร้องในสังกัดบริษัทจีเอ็งเอ็งแกร็มม่าของหม่ำ ตกลงกันว่า เท่งจะทำอัลบัมเพลงจำนวนสิบชุดกับบริษัทในเวลาสิบปี และระหว่างนั้นห้ามทำงานเพลงให้แก่บริษัทอื่น ภายในเวลาสิบปีดังกล่าว หม่ำมีสิทธิเรียกให้เท่งทำอัลบัมเพลงสิบชุด และมีสิทธิห้ามเท่งทำงานเพลงให้แก่บริษัทอื่น สิทธิดังกล่าวของหม่ำเป็นบุคคลสิทธิประเภทสิทธิเรียกร้อง และหม่ำก็มีหน้าที่ต้องจ่ายค่าจ้างให้แก่เท่งตามตกลง หน้าที่นี้ของหม่ำเรียกว่าหนี้ ในขณะเดียวกัน เท่งมีหน้าที่จะต้องอัลบัมเพลงให้แก่บริษัทจีเอ็งเอ็งแกร็มม่าและไม่ทำงานเพลงให้แก่บริษัทอื่น หน้าที่นี้ของเท่งเรียกว่าหนี้ และเท่งก็มีสิทธิเรียกให้หม่ำจ่ายค่าจ้างตามตกลง สิทธินี้ของเท่งคือสิทธิเรียกร้องซึ่งเป็นบุคคลสิทธิ

ความหมายของทรัพยสิทธิ

แก้ไข

ทรัพยสิทธิ (ius in rem, real right) เป็นสิทธิเหนือทรัพย์สิน กล่าวคือ ทรัพยสิทธิมีสาระเป็นทรัพย์สิน ใช้อ้างเพื่อบังคับเอาประโยชน์จากตัวทรัพย์สินได้โดยตรง[40][41]

ตัวอย่างของทรัพยสิทธิ เช่น กรรมสิทธิ์ อันเป็นสิทธิที่เจ้าของทรัพย์สินจะใช้สอยและจำหน่ายทรัพย์สินนั้น ได้ดอกผลจากทรัพย์สินนั้น ติดตามและเอาคืนซึ่งทรัพย์สินนั้น ตลอดขัดขวางมิให้ผู้อื่นสอดเข้า เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินนั้นโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งจะได้ศึกษากันข้างหน้า

ความแตกต่างระหว่างบุคคลสิทธิกับทรัพยสิทธิ

แก้ไข
ประเด็น บุคคลสิทธิ ทรัพยสิทธิ
การเกิด   บุคคลสิทธิเกิดขึ้นเพราะคู่กรณีตกลงกัน (นิติกรรม) หรือเพราะกฎหมายกำหนด (นิติเหตุ) ก็ได้   ทรัพยสิทธิเกิดขึ้นเพราะกฎหมายกำหนดเท่านั้น ตาม ป.พ.พ. ม. 1298
สาระ   วัตถุแห่งสิทธิ (subject of right) คือ บุคคล

  เพราะผู้ทรงสิทธิ (principal of right) สามารถอ้างให้คู่กรณีกระทำการ งดเว้นไม่กระทำการ หรือส่งมอบทรัพย์สินเพื่อประโยชน์ของผู้ทรงสิทธิได้

  วัตถุแห่งสิทธิ คือ ทรัพย์สิน

  เพราะทรัพยสิทธิเกาะเกี่ยวอยู่กับทรัพย์สินเสมอ เมื่อมีทรัพย์สินจึงมีทรัพยสิทธิ เมื่อทรัพย์สินเปลี่ยนมือ ทรัพยสิทธิก็เปลี่ยนมือตามกันไป และเมื่อทรัพย์สินแตกดับ ทรัพยสิทธิก็ระงับสิ้นลงพร้อมกัน นอกจากนี้ ทรัพยสิทธิยังมุ่งที่การได้ประโยชน์จากทรัพย์สินด้วย

การใช้ยัน   บุคคลสิทธินั้นใช้อ้าง หรือที่ภาษากฎหมายมักเรียกว่า "ใช้ยัน" (assert against) ได้ในระหว่างผู้ทรงสิทธิกับคู่กรณีเท่านั้น เช่น ระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้   ทรัพยสิทธิใช้อ้างต่อบุคคลทุกคนได้ กล่าวคือ ใครจะขัดขวางเจ้าของทรัพย์สินไม่ให้ใช้ประโยชน์ซึ่งทรัพย์สินของตนมิได้
การบังคับใช้   ผู้ทรงสิทธิไม่อาจบังคับให้คู่กรณีต้องปฏิบัติการตามความมุ่งหมายแห่งสิทธิได้ด้วยตนเอง ต้องขอให้ศาลบังคับบัญชาให้ เช่น เจ้าหนี้จะบังคับให้ลูกหนี้ชำระหนี้ ต้องตั้งเป็นคดีต่อศาลตามหลักเรื่องบังคับชำระหนี้   ผู้ทรงสิทธิบังคับใช้สิทธิของตนได้เอง ไม่ต้องอาศัยอำนาจศาล เช่น ปรกติแล้ว เจ้าของทรัพย์สินจะขายทรัพย์สินของตนเอง ก็ชอบจะทำได้เอง
การระงับสิ้นลง   บุคคลสิทธิสิ้นสุดลงเมื่อพ้นระยะเวลาหนึ่งซึ่งเรียก "อายุความ"   ทรัพยสิทธิประจำอยู่กับทรัพย์สินเรื่อยไป ไม่ว่าทรัพย์สินจะเจ้าของกี่ราย และไม่ว่ากาลเวลาจะผ่านไปนานเท่าใดก็ตาม ทั้งนี้ จนกว่าทรัพย์สินจะเปลี่ยนรูปหรือสูญสลายไปโดยสิ้นเชิง

ยกเว้นกรณีภาระจำยอม กับภาระติดพันในอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งมีอายุความกำกับ ดังจะได้ศึกษากันต่อไปเบื้องหน้า

เชิงอรรถ

แก้ไข
  1. ในคำแปลอย่างเป็นทางการของประมวลกฎหมายแพ่งญี่ปุ่นขึ้นพิมพ์ใหญ่ว่า "Thing" เสมอ เพราะต้องการสื่อว่าเป็นศัพท์เฉพาะ เช่น ม. 85 ว่า

    "Article 85 (Definition)

    "The term 'Things' as used in this Code shall mean tangible thing."

    ส่วนประมวลกฎหมายแพ่งเยอรมันและประมวลกฎหมายแพ่งฝรั่งเศสใช้ "thing" ตามธรรมดา เช่น ประมวลกฎหมายแพ่งเยอรมัน ม. 90 ว่า

    "Section 90 Concept of the thing

    "Only corporeal objects are things as defined by law."

  2. มานิตย์ จุมปา, 2551: 15.
  3. มานิตย์ จุมปา, 2551: 5.
  4. ประมวลกฎหมายแพ่งเยอรมัน ม. 90 ก ว่า

    "Section 90a Animals

    "Animals are not things. They are protected by special statutes. They are governed by the provisions that apply to things, with the necessary modifications, except insofar as otherwise provided."

  5. ศาสตราจารย์บัญญัติ สุชีวะ (2555: 3-4) ว่า

    "เพื่อจะให้ได้ความหมายอันแท้จริงของคำว่า ทรัพย์ และทรัพย์สิน จำเป็นที่จะต้องอ่านมาตรา 137 และ 138 ประกอบกัน กล่าวคือ คำว่า ทรัพย์ นอกจากจะหมายถึง วัตถุมีรูปร่างแล้ว ยังต้องเป็นวัตถุมีรูปร่างซึ่งอาจมีราคาได้และอาจถือเอาได้ด้วย...ที่ต้องนำมาตรา 138 มาอ่านประกอบกับมาตรา 137 ด้วยนั้น ก็เพราะเหตุว่า มาตรา 138 ได้ให้ความหมายของคำว่า ทรัพย์สิน ไว้ว่า ต้องอาจมีราคาได้และอาจถือเอาได้ เมื่อทรัพย์ตามมาตรา 137 ก็เป็นทรัพย์สินส่วนหนึ่ง ฉะนั้น ทรัพย์จึงต้องเป็นวัตถุมีรูปร่างซึ่งอาจมีราคาได้และอาจถือเอาได้เช่นเดียวกัน"

  6. เสนีย์ ปราโมช, 2521: 11.
  7. บัญญัติ สุชีวะ, 2555: 3-4.
  8. รองศาสตราจารย์มานิตย์ จุมปา (2551: 5) ว่า

    "…[ถ้ามองว่า] ทรัพย์ต้องเป็นสิ่งที่มีรูปร่างซึ่งอาจมีราคาได้และอาจถือได้ ก็จะหมายความว่า ทรัพย์ทุกอย่างเป็นทรัพย์สินอยู่ในตัว เช่นนี้ เหตุใดจะต้องแยกบัญญัติความหมายของทรัพย์ไว้เป็นมาตราหนึ่งต่างหากให้ยุ่งยาก ดังนั้น ผู้เขียนจึงเห็นว่า ทรัพย์นั้นหมายถึงแต่สิ่งที่รูปร่างเท่านั้น โดยไม่จำเป็นต้องเป็นสิ่งที่อาจมีราคาและอาจถือเอาได้...สิ่งใดเป็น 'ทรัพย์' จึงไม่จำเป็นต้องเป็น 'ทรัพย์สิน' เสมอไป...ทรัพย์ใดมีรูปร่างเฉย ๆ แต่ไม่อาจมีราคาและถือเอาได้ ก็ไม่เป็นทรัพย์สิน เช่น พระจันทร์ ดวงอาทิตย์ ดาวเคราะห์อื่น ๆ เป็นต้น ส่วนหากทรัพย์ใดมีรูปร่างและยังอาจมีราคาและถือเอาได้แล้ว ทรัพย์นั้นย่อมเป็นทรัพย์สินด้วย"

  9. มานิตย์ จุมปา, 2551: 16.
  10. 10.0 10.1 มานิตย์ จุมปา, 2551: 15.
  11. บัญญัติ สุชีวะ, 2555: 7-8.
  12. บัญญัติ สุชีวะ, 2555: 8.
  13. เช่น พระราชบัญญัติกระบวนพิจารณาความแพ่ง รัตนโกสินทรศก 115 ม. 10 ว่า

    "มาตรา 10 คดีที่สัญญากันให้ตัดสิน

    "คู่ความมีคดีอยู่ จะขอให้ตัดสินในข้อความว่าเท็จจริงอย่างไรก็ดี ฤๅว่าผิดชอบอย่างไรก็ดี จะทำเปนหนัง สือสัญญากะข้อประเด็นนั้น ๆ ลงเปนคดีอันหนึ่งสำหรับที่ศาลจะตัดสินก็ได้ ในหนังสือสัญญานั้นต้องมีความว่า เมื่อศาลได้พิจารณาตัดสินในข้อความนั้น ๆ แล้ว จะยอมทำตามความอย่างใด ๆ ในสามอย่างที่กล่าวต่อไปนี้ คือ

    "(1)   อย่างหนึ่ง จำนวนเงินที่คู่ความได้ตกลงกันกำหนดลงไว้ก็ดี ฤๅที่สัญญาว่าจะให้ศาลกำหนดลงเมื่อพิจารณาแล้วก็ดี คู่ความฝ่ายหนึ่งจะต้องใช้ให้แก่อีกฝ่ายหนึ่งตามที่ศาลตัดสินให้แก่ฝ่ายนั้น ฤๅ

    "(2)   อีกอย่างหนึ่ง ทรัพย์สมบัติอันใดที่พึงเคลื่อนจากที่ได้ ฤๅไม่พึงเคลื่อนจากที่ได้ก็ดี อันเปนของที่ได้กล่าวกำหนดลงไว้ในสัญญาแล้วนั้น คู่ความฝ่ายหนึ่งจะต้องส่งมอบให้แก่อีกฝ่ายหนึ่งตามที่ศาลตัดสินให้แก่ฝ่ายนั้น ฤๅ

    "(3)   อีกอย่างหนึ่ง คู่ความฝ่ายหนึ่งผู้เดียวก็ดี ฤๅหลายคนก็ดี จะต้องกระทำการฤๅจะต้องงดเว้นจากกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดที่ได้กล่าวกำหนดลงไว้ในสัญญาแล้ว จะยอมตามที่ศาลตัดสินทุกประการ

    "คดีทุกเรื่องดังที่กล่าวมาในมาตรานี้ ต้องให้ยกข้อความขึ้นเปนข้อ ๆ มีลำดับหมายเลขเรียงกัน (ตามแบบที่ 1 ท้ายพระราชบัญญัตินี้) แลจะต้องกล่าวความลงไว้สั้น ๆ ให้ชัดเจนตามความที่เป็นอย่างไร แลมีหนังสือสำคัญอันใดเปนหลักฐานที่อ้างอันจำเปนจะให้ศาลทราบแลจัดสินข้อซึ่งเถียงกันนั้นด้วย"

  14. บัญญัติ สุชีวะ, 2555: 7.
  15. ดู ฎ. 837/2507.
  16. มานิตย์ จุมปา, 2551: 18.
  17. มานิตย์ จุมปา, 2551: 18-19.
  18. 18.0 18.1 มานิตย์ จุมปา, 2551: 20.
  19. ไชยยศ เหมะรัชตะ, 2540: 4.
  20. 20.0 20.1 20.2 มานิตย์ จุมปา, 2551: 21.
  21. ด้วยเหตุผลเดียวกันนี้ กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาจึงแยกศึกษาต่างหากจากกฎหมายลักษณะทรัพย์สิน และตำรานี้ว่าด้วยกฎหมายลักษณะทรัพย์สิน ไม่รวมกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา.
  22. กฎหมายลักษณะอาญา เป็นชื่อประมวลกฎหมายฉบับหนึ่งและเป็นประมวลกฎหมายสมัยใหม่ฉบับแรกของประเทศไทย ประกาศใช้เมื่อปี 2451 ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ ยกเลิกและแทนที่ด้วย ป.อ. เมื่อปี 2500 ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ป.อ. ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2500 มาจนปัจจุบัน
  23. กฎหมายลักษณะอาญา ม. 6 ข้อ (10) ว่า

    "ทรัพย์ นั้น ท่านหมายความว่า บรรดาสิ่งของอันบุคคลสามารถมีกรรมสิทธิ์หรือถืออำนาจเปนเจ้าของได้ เปนต้นว่า เงินตรา แลบรรดาสิ่งของอันพึงเคลื่อนจากที่ได้ก็ดี แลเคลื่อนจากที่มิได้ก็ดี ท่านก็นับว่าเปนทรัพย์อันกล่าวมาในข้อนี้"

    และมีต้นร่างเป็นภาษาอังกฤษว่า (The Penal Code for the Kingdom of Siam (Draft Version), 1908: 3)

    "Property denotes anything capable of being the object of a right or ownership. It includes money as well as anything movable or immovable."

  24. ศาสตราจารย์บัญญัติ สุชีวะ (2555: 5-6) ว่า

    "...ประมวลกฎหมายอาญามิได้ให้คำจำกัดความของคำว่า ทรัพย์ หรือ ทรัพย์สินไว้ ทั้งได้ออกมาเมื่อมีประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บัญญัติความหมายของคำว่า ทรัพย์ และ ทรัพย์สิน ไว้แล้ว ฉะนั้น คำว่า ทรัพย์ ในประมวลกฎหมายอาญาจึงน่าจะต้องมีความหมายอย่างเดียวกับคำว่า ทรัพย์ ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 137..."

  25. 25.0 25.1 มานิตย์ จุมปา, 2551: 8-9.
  26. ศาสตราจารย์บัญญัติ สุชีวะ (2555: 5-6) ว่า

    "คำพิพากษาฎีกาที่ 877/2501 มิได้ให้เหตุผลว่า เหตุใดการลักกระแสไฟฟ้าจึงเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ ซึ่งอาจเป็นการตัดสินตามแนวคำพิพากษาฎีกาเดิม ๆ ที่ตัดสินตามกฎหมายลักษณะอาญาว่า การลักกระแสไฟฟ้าเป็นการลักทรัพย์ก็ได้ แต่กฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 6 (10) ได่ให้คำอธิบายคำว่า ทรัพย์ ไว้ว่าหมายถึง บรรดาสิ่งของอันบุคคลสามารถมีกรรมสิทธิ์หรือถืออำนาจเป็นเจ้าของได้ ฉะนั้น ตามกฎหมายลักษณะอาญา กระแสไฟฟ้าจึงเป็นทรัพย์ แต่เมื่อประมวลกฎหมายอาญามิได้ให้วิเคราะห์ศัพท์คำว่า ทรัพย์ ไว้อย่างกฎหมายลักษณะอาญาแล้ว คำว่า ทรัพย์ ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334 และ 335 จึงไม่น่าจะมีความหมายอย่างเดิมต่อไป อย่างไรก็ตาม โดยที่กระแสไฟฟ้าแม้จะเห็นด้วยตาจับต้องไม่ได้ แต่ก็ประกอบด้วยพลังอณูต่าง ๆ ซึ่งอาจจะพอถือว่าเป็นวัตถุมีรูปร่างได้กระมัง"

  27. ป.พ.พ. ม. 98 ปัจจุบันคือ ป.พ.พ. ม. 137.
  28. ป.พ.พ. ม. 99 ปัจจุบันคือ ป.พ.พ. ม. 138.
  29. ป.พ.พ. ม. 101 ปัจจุบันคือ ป.พ.พ. ม. 140.
  30. ป.พ.พ. ม. 100 ปัจจุบันคือ ป.พ.พ. ม. 139.
  31. ป.พ.พ. ม. 104, 105 และ 106 ปัจจุบันคือ ป.พ.พ. ม. 141, 142 และ 143 ตามลำดับ.
  32. พระราชบัญญัติลักทรัพย์ ค.ศ. 1961 (Larceny Act 1916) ของสหราชอาณาจักร ถูกยกเลิกและแทนที่โดยพระราชบัญญัติลักทรัพย์ ค.ศ. 1968 (Theft Act 1968).
  33. ประมวลกฎหมายอาญาอินเดีย (Indian Penal Code) หรือชื่ออย่างเป็นทางการว่า พระราชบัญญัติที่ 45 ค.ศ. 1860 (Act No. 45 of 1860) ม. 22 ว่า

    "22. 'Movable property'. — The words 'movable property' are intended to include corporal property of every description, except land and things attached to the earth or permanently fastened to anything which is attached to the earth."

  34. คำภาษาฝรั่งเศส "chose" (โชส) แปลเป็นภาษาอังกฤษว่า "thing" ส่วน "biens" (เบียง) แปลว่า "goods" ทั้งสองคำแปลเป็นไทยได้ว่า "ทรัพย์" เหมือนกัน อนึ่ง ประมวลกฎหมายอาญาฝรั่งเศส ม. 179 ที่เอ่ยถึงนั้น ยังค้นไม่พบว่าหมายถึงฉบับใด อย่างไรก็ดี ประมวลกฎหมายอาญาฝรั่งเศสฉบับปัจจุบันยังปรากฏการใช้ "chose" และ "biens" ดังข้างต้นอยู่ เช่น ม. 311-1 ว่า

    "Article 311-1. Le vol est la soustraction frauduleuse de la chose d'autrui."

    แปลเป็นภาษาอังกฤษว่า

    "Article 311-1. Theft is the fraudulent appropriation of a thing belonging to another person."

    และ ม. 321-3 ว่า

    "Article 321-3. Les peines d'amende prévues par les articles 321-1 et 321-2 peuvent être élevées au-delà de 375000 euros jusqu'à la moitié de la valeur des biens recelés."

    แปลเป็นภาษาอังกฤษว่า

    "Article 321-3. The fines provided by articles 321-1 and 321-2 may be raised beyond €375,000 to reach half the value of the goods handled."

  35. ประมวลกฎหมายอาญาเยอรมันกำหนดความผิดฐานลักพลังงานไฟฟ้า (theft of electric energy) ไว้เป็นการเฉพาะใน ม. 248 ค ซึ่งว่า

    "Section 248c Theft of electrical energy

    "(1)   Whosoever taps the electrical energy of another from an electrical facility or installation by means of a conductor which is not intended for the regular withdrawal of energy from the facility or installation, shall, if the offence was committed with the intent of appropriating the electrical energy for himself or a third person, be liable to imprisonment not exceeding five years or a fine.

    "(2)   The attempt shall be punishable.

    "(3)   Section 247 and section 248a shall apply mutatis mutandis.

    "(4)   If the offence under subsection (1) above is committed with the intent of unlawfully inflicting damage on another the penalty shall be imprisonment not exceeding two years or a fine. The offence may only be prosecuted upon request."

  36. ประภาศน์ อวยชัย, 2536: 3472-3473.
  37. มานิตย์ จุมปา, 2551: 7-9.
  38. ฝ่ายที่เห็นด้วย เช่น ศาสตราจารย์จิตติ ติงศภัทิย์ (อ้างถึงใน มานิตย์ จุมปา, 2551: 10) ว่า

    "ไม่มีเหตุอะไรที่จะเอาแรงไฟฟ้าของเขาไปโดยเจตนาทุจริตแล้วไม่มีความผิดฐานลักทรัพย์เหมือนเอาทรัพย์อื่น ๆ ของเขาไป"

    ศาสตราจารย์ประภาศน์ อวยชัย (2536: 3474) ว่า

    "การที่มิได้ยกเหตุผลในคำวินิจฉัย ก็เพราะเป็นการชอบด้วยความยุติธรรม และนับว่าเป็นบรรทัดฐานและเป็นแบบอย่างในปัจจุบันและในอนาคตต่อไปว่า การลักกระแสไฟฟ้า การลักแก๊ส หรือสิ่งที่ไม่มีรูปร่างอื่น ๆ ที่มีราคาและถือเอาได้ ก็อาจเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ได้เช่นกัน"

    รองศาสตราจารย์ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ (2529: 50) ว่า

    "ไม่ว่าไฟฟ้าในทางวิทยาศาสตร์จะถือว่ามีรูปร่างหรือไม่ก็ตาม แต่ในทางกฎหมาย พอจะมองเห็นว่า การร่างมาตรา 334 นั้นประสงค์จะให้คลุมไปถึงกรณีของการลักกระแสไฟฟ้าด้วย กระแสไฟฟ้าจึงเป็นเจตนารมณ์ของกฎหมาย ให้ได้รับความคุ้มครองในเรื่องลักทรัพย์ด้วย เพราะไฟฟ้าสามารถควบคุมได้ วัดปริมาณคำนวณออกมาได้ จึงเป็นวัตถุแห่งการเอาไปได้ตามกฎหมาย โดยไม่จำเป็นต้องมีบัญญัติเป็นความผิดขึ้นใหม่แต่อย่างใด คำพิพากษาฎีกาฉบับนี้จึงไม่ใช่การตีความให้เป็นผลร้ายหรือขยายความให้เป็นโทษแก่จำเลย เพราะเป็นความประสงค์ของกฎหมายที่จะรวมถึงอยู่แล้ว"

  39. 39.0 39.1 สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา, 2534: 309.
  40. 40.0 40.1 มานิตย์ จุมปา, 2551: 23.
  41. บัญญัติ สุชีวะ, 2555: 61.



ขึ้น บทที่ 2 ประเภทของทรัพย์สิน