หมายเหตุของศาสตราจารย์จิตติ ติงศภัทิย์ ท้าย ฎ. 877/2501

กระแสไฟฟ้าจะเป็นวัตถุแห่งการลักทรัพย์ได้หรือไม่นั้น เมื่อสมัยใช้กฎหมายลักษณะอาญาเดิม เข้าใจกันว่า เป็นความผิดได้ เพราะวิเคราะห์ศัพท์คำว่า ทรัพย์ ในครั้งนั้น (มาตรา 6 ข้อ 10) หมายความถึง บรรดาสิ่งของอันบุคคลสามารถมีกรรมสิทธิ์หรือถืออำนาจเป็นเจ้าของได้ ฯลฯ แม้คำว่า สิ่งของ จะมีนัยไปในทางวัตถุมีรูปร่าง แต่ความสำคัญก็อยู่ที่ความสามารถมีกรรมสิทธิ์หรือถืออำนาจเป็นเจ้าของได้ยิ่งกว่า แต่ตามประมวลกฎหมายอาญา ไม่มีวิเคราะห์ศัพท์ ทำให้เห็นเจตนาที่จะให้ถือตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 98[1] ซึ่งบัญญัติว่า ทรัพย์นั้นได้แก่วัตถุมีรูปร่าง ส่วนวัตถุที่มีราคาและถือเอาได้ตามนัยแห่งกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 6 ข้อ 10 เดิมนั้น ป.พ.พ. มาตรา 99[2] เรียกว่า ทรัพย์สิน ถ้าถือตามนี้ กระแสไฟฟ้าก็ไม่ใช่ทรัพย์ตามมาตรา 98 แต่เป็นทรัพย์สินตามมาตรา 99 และเป็นสังหาริมทรัพย์ตามมาตรา 101[3] อันหมายความรวมถึง กำลังแรงแห่งธรรมชาติที่อาจถือเอาได้ ซึ่งตามอุทาหรณ์ของกรมร่างกฎหมายก็ยกตัวอย่างถึงแรงไฟฟ้าด้วย

เมื่อไม่ใช่ทรัพย์ตามมาตรา 98 ก็ไม่เป็นวัตถุแห่งการลักทรัพย์ เพราะในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334 ใช้คำว่า เอาทรัพย์ของผู้อื่น ฯลฯ ไปเป็นการลักทรัพย์ ส่วนบทมาตราอื่นในเรื่องทรัพย์ บางแห่งก็ใช้คำว่า ทรัพย์สิน เช่น มาตรา 337, 338, 341, 346, 347, 382 วรรคสอง, 353, 354 เป็นต้น แสดงให้ชัดขึ้นอีกว่า ประมวลกฎหมายอาญาได้ตั้งใจใช้คำ ทรัพย์ กับ ทรัพย์สิน โดยมีความหมายอันต่างกัน และคงจะใช้ตามความหมายต่างกันดังปรากฏในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์นั่นเอง

แต่พิจารณาดูให้ดี ก็จะเห็นได้อีกว่า ทั้งในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์และในประมวลกฎหมายอาญา คำว่า ทรัพย์สิน ก็ยังใช้ปะปนกันอยู่นั่นเอง หาได้แยกออกเด็ดขาดดังที่น่าจะเข้าใจเช่นที่กล่าวแล้วไม่ ใน ป.พ.พ. มาตรา 100[4] และ 101 คำว่า อสังหาริมทรัพย์ และ สังหาริมทรัพย์ และทรัพย์อะไรต่ออะไรในมาตราต่อ ๆ มา จะสนธิกับศัพท์อื่นหรือใช้แต่ลำพังคำว่า ทรัพย์ ลอย ๆ เช่น ในมาตรา 104, 105, 106[5] ฯลฯ ก็ใช้ในความหมายของทรัพย์สิน ส่วนในประมวลกฎหมายอาญาก็ใช้สองคำนี้ปะปนอยู่เหมือนกัน เริ่มด้วยจั่วหน้าลักษณะ 12 ความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ ก็รวมความผิดเกี่ยวกับทรัพย์สินอยู่ด้วยในมาตรา 338 การขู่เอาประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สิน เรียกว่า ทำความผิดฐานรีดเอาทรัพย์ มาตรา 352 วรรคสอง ทรัพย์ตกอยู่ในครอบครองผู้ยักยอกเป็นทรัพย์สินหาย ฯลฯ เป็นต้น เมื่อพิจารณาโดยจริงจังเข้า ก็เห็นอยู่ว่า คำว่า ทรัพย์ หรือ ทรัพย์สิน นั้นหาได้แยกใช้ต่างกันโดยเคร่งครัดเสมอไปไม่

นอกจากนี้ การลักทรัพย์ หมายถึง การลักทรัพย์เคลื่อนที่ได้ ซึ่ง ป.พ.พ. เรียกว่า สังหาริมทรัพย์ คำว่า สังหาริมทรัพย์ ใน ป.พ.พ. ก็หมายความถึง กำลังแรงแห่งธรรมชาติ แม้จะถือว่า แรงไฟฟ้าเป็นวัตถุไม่มีรูปร่าง แต่ก็มีราคา ถือเอาได้ และนำพาไปเสียจากเจ้าของได้ ทั้งสามารถวัดประมาณที่เอาไปได้ด้วย ดังนี้ ก็ไม่มีเหตุอะไรที่จะเอาแรงไฟฟ้าของเขาไปโดยเจตนาทุจริตแล้วไม่ผิดฐานลักทรัพย์เหมือนเอาทรัพย์อื่น ๆ ของเขาไป

เทียบตามกฎหมายต่างประเทศก็มีปัญหาอยู่เช่นกัน ตามกฎหมายอักษรและอเมริกาไม่ถือว่าลักกระแสไฟฟ้าเป็นความผิดตาม Common Law แต่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ. ที่เรียกว่า Larceny Act 1916[6] ของอังกฤษ (Archibald, Pleading & Practice. ed. 32. pp. 550, 581) ในอเมริกามักจะมี พ.ร.บ. ในเรื่องนี้บัญญัติให้เป็นความผิด แต่แม้จะไม่มี พ.ร.บ. โดยเฉพาะ ศาลก็ลงโทษฐานลักทรัพย์เหมือนกัน ไม่ถือการมีรูปร่างหรือไม่มีรูปร่างเป็นสำคัญยิ่งกว่าการที่จะถือเอาได้ แรงไฟฟ้าเช่นเดียวกับแก๊สเป็นวัตถุมีค่าแห่งสินค้า ซื้อขายกันได้ดังสังหาริมทรัพย์อื่น ซึ่งคนอื่นอาจเข้าถือเอาได้ วัดปริมาณได้โดยเครื่องวัด (Corpus Juris, 1924, Vol. 36, p. 738, Perkins, Criminal Law 1957, p. 194, Perkins, Cases & Material on Criminal Law, p. 110)

กฎหมายอินเดียก็ถือว่า การลักไฟฟ้าเป็นความผิดฐานลักทรัพย์เช่นเดียวกัน แม้ในประมวลกฎหมายอาญาอินเดียจะมีวิเคราะห์ศัพท์คำว่า สังหาริมทรัพย์ (movable property) ว่า รวมทั้งวัตถุมีรูปร่างทุกชนิด เว้นแต่ที่ดินและสิ่งซึ่งติดกับพื้นดิน ฯลฯ จนกว่าจะขาดหลุดออกจากที่ดิน[7] (Mayne, pp. 607, 609)

ส่วนกฎหมายฝรั่งเศส เรื่องลักทรัพย์ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 179 ใช้คำว่า choses แทนคำว่า biens[8] โดยมุ่งหมายให้เข้าใจถึงความสามารถที่จะถือเอาได้ และศาลก็ตัดสินว่า แรงไฟฟ้าเป็นทรัพย์ที่ลักกันได้ เช่นเดียวกับกฎหมายอิตาเลียน แต่ผิดกันกับกฎหมายเยอรมัน[9] นักนิติศาสตร์ฝรั่งเศสเห็นว่า การลักแรงไฟฟ้าเป็นความผิดโดยไม่ต้องมี พ.ร.บ. พิเศษโดยเฉพาะ (Garraud, Droit Penal, ed. 3, t. 6 no. 2375, pp. 109-113)

เหตุนี้จึงไม่น่าประหลาดอันใดที่ศาลฎีกาตีความว่า การลักกระแสไฟฟ้าก็เป็นความผิดฐานลักทรัพย์ (จิตติ ติงศัภทิย์)

  1. ป.พ.พ. ม. 98 ปัจจุบันคือ ป.พ.พ. ม. 137.
  2. ป.พ.พ. ม. 99 ปัจจุบันคือ ป.พ.พ. ม. 138.
  3. ป.พ.พ. ม. 101 ปัจจุบันคือ ป.พ.พ. ม. 140.
  4. ป.พ.พ. ม. 100 ปัจจุบันคือ ป.พ.พ. ม. 139.
  5. ป.พ.พ. ม. 104, 105 และ 106 ปัจจุบันคือ ป.พ.พ. ม. 141, 142 และ 143 ตามลำดับ.
  6. พระราชบัญญัติลักทรัพย์ ค.ศ. 1961 (Larceny Act 1916) ของสหราชอาณาจักร ถูกยกเลิกและแทนที่โดยพระราชบัญญัติลักทรัพย์ ค.ศ. 1968 (Theft Act 1968).
  7. ประมวลกฎหมายอาญาอินเดีย (Indian Penal Code) หรือชื่ออย่างเป็นทางการว่า พระราชบัญญัติที่ 45 ค.ศ. 1860 (Act No. 45 of 1860) ม. 22 ว่า

    "22. 'Movable property'. — The words 'movable property' are intended to include corporal property of every description, except land and things attached to the earth or permanently fastened to anything which is attached to the earth."

  8. คำภาษาฝรั่งเศส "chose" (โชส) แปลเป็นภาษาอังกฤษว่า "thing" ส่วน "biens" (เบียง) แปลว่า "goods" ทั้งสองคำแปลเป็นไทยได้ว่า "ทรัพย์" เหมือนกัน อนึ่ง ประมวลกฎหมายอาญาฝรั่งเศส ม. 179 ที่เอ่ยถึงนั้น ยังค้นไม่พบว่าหมายถึงฉบับใด อย่างไรก็ดี ประมวลกฎหมายอาญาฝรั่งเศสฉบับปัจจุบันยังปรากฏการใช้ "chose" และ "biens" ดังข้างต้นอยู่ เช่น ม. 311-1 ว่า

    "Article 311-1. Le vol est la soustraction frauduleuse de la chose d'autrui."

    แปลเป็นภาษาอังกฤษว่า

    "Article 311-1. Theft is the fraudulent appropriation of a thing belonging to another person."

    และ ม. 321-3 ว่า

    "Article 321-3. Les peines d'amende prévues par les articles 321-1 et 321-2 peuvent être élevées au-delà de 375000 euros jusqu'à la moitié de la valeur des biens recelés."

    แปลเป็นภาษาอังกฤษว่า

    "Article 321-3. The fines provided by articles 321-1 and 321-2 may be raised beyond €375,000 to reach half the value of the goods handled."

  9. ประมวลกฎหมายอาญาเยอรมันกำหนดความผิดฐานลักพลังงานไฟฟ้า (theft of electric energy) ไว้เป็นการเฉพาะใน ม. 248 ค ซึ่งว่า

    "Section 248c Theft of electrical energy

    "(1)   Whosoever taps the electrical energy of another from an electrical facility or installation by means of a conductor which is not intended for the regular withdrawal of energy from the facility or installation, shall, if the offence was committed with the intent of appropriating the electrical energy for himself or a third person, be liable to imprisonment not exceeding five years or a fine.

    "(2)   The attempt shall be punishable.

    "(3)   Section 247 and section 248a shall apply mutatis mutandis.

    "(4)   If the offence under subsection (1) above is committed with the intent of unlawfully inflicting damage on another the penalty shall be imprisonment not exceeding two years or a fine. The offence may only be prosecuted upon request."