คู่มือเกี่ยวกับมีแชล ฟูโกสำหรับนักเรียน/เบื้องต้น
ฟูโก (Michel Foucault ค.ศ.1926-1984) ได้แสดงว่าจิตที่ขีปนาความเป็นจริงและความจริงให้กับสังคมนั้นคือความต้องการของผู้มีอำนาจในสังคมที่ขีปนาออกมา โดยผ่านทางปัญญาชนของแต่ละยุคแต่ละสมัย จากภาวะสังคมที่มีการแบ่งความรู้ออกเป็นศาสตร์ต่างๆ ทำให้มนุษย์เราถูกทำให้มีความหลากหลายของสถานภาพ รวมไปถึงถูกทำความเข้าใจ อธิบายอย่างแตกต่างหลากหลาย ไม่มีศาสตร์ใดศาสตร์หนึ่งที่สามารถอธิบายความเป็นจริงของมนุษย์ได้อย่างสมบูรณ์ แต่อย่างไรก็ตามศาสตร์ต่างๆ ก็ยังมีอิทธิพลต่อมนุษย์เรามากมาย สิ่งที่ทำให้กลไกของความรู้เป็นเช่นนี้ก็คือการเกิดขึ้นของสถาบันต่างๆ ที่ทำหน้าที่ในการรองรับและรับใช้ความรู้ ทั้งการทำให้เป็นที่ยอมรับในวงกว้าง การผลิตความรู้ใหม่ และรวมไปถึงการผลิตวรรณกรรมขององค์ความรู้แบบนั้นๆ เพื่อบอกเล่าว่าความรู้แบบใหม่สอนอะไร ให้อะไรแก่คนในสังคมรวมไปถึงมีอำนาจใดในการอธิบายมนุษย์และก่อให้เกิดความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างความรู้แบบใหม่กับความรู้แบบดั้งเดิมอย่างไร ความสัมพันธ์ของมนุษย์กับมนุษย์ สังคมและสิ่งแวดล้อม โดยที่ฟูโกลต์เน้นการเคารพในตัวมนุษย์ในฐานะที่เป็นมนุษย์คนหนึ่งในสังคมๆ หนึ่ง ในวัฒนธรรมหนึ่ง ไม่มีมนุษย์คนใดสำคัญหรือมีค่ามากกว่ามนุษย์อีกคนหนึ่ง หากแต่มนุษย์ต่างกันเพราะการให้ค่าความรู้อย่างหนึ่งในสังคม
ฟูโกได้ให้ความหมายของวาทกรรม (discourse) หมายถึง กระบวนการสร้างความหมายโดยภาษาและสัญลักษณ์ต่างๆที่ดำรงอยู่ในสังคม ประกอบกันเป็นความรู้ ความเข้าใจในเรื่องหนึ่งๆซึ่งส่งผลต่อการกำหนดว่าอะไรคือความรู้ ความจริง และอะไรไม่ใช่วาทกรรมเป็นสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นโดยสังคมทั้งโดยกลุ่มที่ครองอำนาจและกลุ่มที่ต่อต้านอำนาจ จัดเป็นเทคโนโลยีทางอำนาจที่ถูกใช้ทั้งการเก็บกดปิดกั้นและจัดระเบียบวิถีชีวิตของคนในสังคม แต่ในอีกด้านหนึ่งก็ถูกใช้เพื่อต่อต้านอำนาจ(Counter discourse) ต่อต้านระเบียบที่วาทกรรมหลักครอบงำอยู่การวิเคราะห์วาทกรรมทำให้เห็นแง่มุมของอำนาจโดยเฉพาะในแง่มุมของความรู้ได้ละเอียดอ่อนยิ่งขึ้นเมื่อวาทกรรมเป็นสิ่งที่ไม่สามารถอ้างได้ว่ามีผู้ผลิต ผู้ควบคุมวาทกรรมอย่างชัดเจน อำนาจในแง่มุมของวาทกรรม เป็นอำนาจที่กระจายตัว แทรกซึมในแนวระนาบเชื่อมต่ออย่างหลากหลาย ยากที่จะหาจุดกำเนิด จุดศูนย์กลางของการผลิต ดังนั้นไม่ว่าผู้กระทำการใดๆ ล้วนตกอยู่ภายใต้วาทกรรมหรือความสัมพันธ์อำนาจในเรื่องความรู้และความจริงด้วยกันทั้งสิ้นประเด็นของการวิเคราะห์วาทกรรม ไม่ได้อยู่ที่คำพูดนั้นๆเป็นจริงหรือเท็จ แต่อยู่ที่กฎเกณฑ์ชุดหนึ่งที่เป็นตัวกำกับให้การพูดนั้นๆ เป็นไปได้มากกว่าจะเป็นเรื่องของข้อเท็จจริง วาทกรรมจึงไม่ใช่เป็นเพียงผลลัพธ์ซึ่งเกิดจากการต่อสู้ เพื่อเปลี่ยนแปลงระบบของการครอบงำ แต่วาทกรรมในตัวของมันเองนั้น คือการต่อสู้และการครอบงำ ที่มีต่อรูปแบบและวิถีชีวิตของผู้คนในสังคม