การใช้คอมพิวเตอร์และระบบสารสนเทศในไอซียู/การรักษาพยาบาลและการตรวจวินิจฉัยโรค

ด้านการรักษาพยาบาลและการวินิจฉัยโรค

การประยุกต์ใช้คอมพิวเตอร์ในการรักษาพยาบาลและให้การดูแลผู้ป่วยนั้น จะเป็นการกระทำผ่านระบบสื่อสารแบบต่าง ๆ เช่น ระบบโทรศัพท์หรือระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ซึ่งปัจจุบันกำลังได้รับความนิยมสูงมากขึ้นในต่างประเทศ รวมทั้งงานวิจัยในด้านนี้ก็ได้ถูกนำมาใช้ในชีวิตประจำวันแล้ว เช่น การโมนิเตอร์คลื่นไฟฟ้าหัวใจของผู้ป่วยโรคหัวใจผ่านระบบเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ GSM ในประเทศอังกฤษ หรือโครงการ An integral care telemedicine system for HIV/AIDS patients ที่ให้บริการรักษา ดูแลและให้คำปรึกษาแก่ผู้ป่วยโรคเอดส์ผ่านทางระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตของประเทศสเปนเป็นต้น ซึ่งโครงการหรือการกระทำต่างๆ นี้อาจเรียกได้อีกแบบว่า ระบบโทรเวช (Tele – Medicine)

ระบบโทรเวช คือ การรวมศาสตร์ทางด้าน วิศวกรรมคอมพิวเตอร์ วิศวกรรมเครือข่ายและวิทยาศาสตร์การแพทย์เข้าด้วยกันอย่างมีระบบแบบแผน จุดเริ่มต้นของโครงการนี้เกิดขึ้นเมื่อองค์การบริหารการบินอวกาศของสหรัฐอเมริกา (National Aeronautics and Space Administration (NASA)) ได้ส่งมนุษย์ขึ้นไปในอวกาศเป็นครั้งแรก โดยครั้งนั้นเป็นการวัดสัญญาณชีพพื้นฐานของมนุษย์ ประกอบด้วยความดันโลหิต อัตราการเต้นของหัวใจ อัตราการหายใจ คลื่นไฟฟ้าหัวใจ ของนักบินอวกาศภายในยานอวกาศผ่านทางชุดอวกาศและส่งสัญญาณเหล่านั้นกลับมาทางศูนย์ควบคุมการบินตลอดระยะเวลาการเดินทาง หลังจากนั้นก็ได้มีโครงการวิจัยในลักษณะนี้เกิดขึ้นอีกหลายโครงการ จนกระทั่งพัฒนามาเป็น ระบบโทรเวช เพื่อมุ่งให้การรักษาพยาบาลแก่ประชาชนในท้องถิ่นที่ห่างไกลความเจริญ และลดอัตราความเสี่ยงของผู้ป่วยจากโรคอันตรายเฉียบพลันบางโรค เช่น โรคหัวใจ เป็นต้น นอกจากนี้ยังพัฒนาระบบเพื่อให้คำปรึกษาแก่ผู้ป่วยจาก ที่บ้านเพื่อลดระยะเวลาการนอนโรงพยาบาลของผู้ป่วยลง โดยทั้งหมดนี้ทำงานผ่านระบบเครือข่ายความเร็วสูงชนิดต่างๆ การบริการของระบบการแพทย์ทางไกล

บริการของระบบโทรเวชมีหลายสาขาการแพทย์ ซึ่งมีความเกี่ยวพันธ์กับระบบงานไอซียู มีดังนี้

(1) Tele - Consultation

เป็นระบบการปรึกษาระหว่างโรงพยาบาลกับโรงพยาบาล (One to One) ซึ่งสามารถใช้งานพร้อมกันได้ เช่น ในขณะที่โรงพยาบาลที่ 1 ปรึกษากับ โรงพยาบาลที่ 2 อยู่ โรงพยาบาลที่ 3 สามารถขอคำปรึกษากับโรงพยาบาลที่ 4 และโรงพยาบาลที่ 5 ปรึกษากับ โรงพยาบาลที่ 6 ได้ โดยใช้อุปกรณ์ร่วมกับระบบการประชุมทางไกล (Tele-Video conference)

(2) ระบบ Tele - Radiology

เป็นระบบการรับส่งภาพ X-ray โดยผ่านการ Scan Film จาก High Resolution Scanner ลงในเครื่องคอมพิวเตอร์ เพื่อส่งไปยังโรงพยาบาลที่จะขอคำปรึกษา โดยโรงพยาบาลทั้งสองแห่ง (ผู้ส่ง-ผู้รับ) สามารถโต้ตอบถึงพูดคุยถึงภาพ X-ray ได้โดยผ่านไมโครโฟนของระบบการประชุมทางไกล หรือจอภาพของเครื่องคอมพิวเตอร์แต่ละฝ่าย คุณภาพของภาพ x-ray ของทั้งสองฝ่ายจะมีรายละเอียดสูงอยู่ใน Grey Shade Scale

(3) Tele - Cardiology

เป็นระบบการรับส่งคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (ECG) ผ่านอุปกรณ์เชื่อมต่อระหว่างเครื่องคอมพิวเตอร์กับร่างกายผู้ป่วยเพื่อรับสัญญาณไฟฟ้าของหัวใจ ส่งผ่านเครื่องคอมพิวเตอร์ไปยัง เครื่องคอมพิวเตอร์ของโรงพยาบาลอีกแห่งได้โดยคลื่น ECG ของผู้ป่วยจะปรากฏบนจอภาพ ในลักษณะ Real Time ได้

(4) Tele - Pathology

เป็นการรับส่งภาพจากกล้องจุลทรรศน์ (Microscope) ซึ่งอาจจะเป็นภาพเนื้อเยื่อหรือภาพใดๆ จากกล้องจุลทรรศน์ ทั้งชนิด Monocular และ Binocular อีกทั้งสามารถเก็บบันทึกในรูปของแฟ้มข้อมูล (File) ลงในเครื่องคอมพิวเตอร์เพื่อส่งต่อไปยังโรงพยาบาลอื่นได้ โดยภาพที่ได้จะเป็นภาพที่มีรายละเอียดสูง

(5) Tele - Surgeries

เนื่องจากมีการพัฒนาระบบคอมพิวเตอร์ หุ่นยนต์ และการผ่าตัดผ่านกล้องมากขึ้นในปัจจุบัน จึงได้มีการประยุกต์นำมาใช้ในการช่วยผ่าตัด โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญแต่อยู่ห่างไกลจากพื้นที่จะช่วยแพทย์ในพื้นที่ในการผ่าตัด ไม่ว่าจะเป็นทั้งการให้คำปรึกษาขณะผ่าตัด หรือการบังคับหุ่นมือกล เพื่อช่วยทำการผ่าตัด

(6) Telemedicine Store and Forward

เป็นระบบการเก็บข้อมูลทางการแพทย์ เช่น รูปภาพผู้ป่วย ภาพถ่ายเอ็กซเรย์ ประวัติการตรวจร่างกาย ผลทางห้องปฏิบัติการ อาจรวมไปถึงภาพเคลื่อนไหว บทสนทนาระหว่างแพทย์กับคนไข้ และการส่งไปให้แพทย์เฉพาะทางที่อยู่ในศูนย์การแพทย์ที่มีความพร้อมมากกว่า เพื่อทำการวิเคราะห์ วินิจฉัย และวางแผนการรักษา ซึ่งการแพทย์ทางไกลแบบนี้ใช้กันอย่างแพร่หลายในการแพทย์สาขาขาดแคลน เช่น การช่วยวินิจฉัยภาวะ Autism ในเด็กโดยจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น หรือการวินิจฉัยรอยโรคทางผิวหนังจากแพทย์เฉพาะทางผิวหนัง การช่วยอ่าน Film X-ray ECG หรือการอ่านผลชิ้นเนื้อทางพยาธิวิทยา ในโรงพยาบาลที่ขาดแคลนแพทย์เฉพาะทางเหล่านี้ด้วย โดยวิธีนี้มักจะใช้กับโรคที่ไม่รุนแรงและสามารถรอการวินิจฉัยโรคได้ในช่วง 24 - 48 ชม.

ข้อกำหนดมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับระบบโทรเวช

ข้อกำหนดมาตรฐานที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้นั้นเป็นข้อกำหนดมาตรฐานที่ใช้จัดเก็บรูปภาพทางการแพทย์ การรับ – ส่งข้อมูลภาพผ่านทางระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์เท่านั้น เนื่องจากมาตรฐานที่ใช้กำหนดรูปแบบการจัดเก็บรูปภาพทางการแพทย์นั้น ได้มีการพัฒนาขึ้นเมื่อไม่นานมานี้เท่านั้น โดยก่อนที่จะมีมาตรฐานนี้ออกมา ผู้ประกอบการซึ่งเป็นเจ้าของเทคโนโลยี จะมีมาตรฐานของระบบจัดเก็บภาพที่แตกต่างกัน ทำให้เกิดปัญหาในการเปิดภาพจากเครื่องที่ต่างยี่ห้อกัน เนื่องจากระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์นั้นถูกพัฒนาอย่างมีระบบ มีข้อกำหนดมาตรฐานชัดเจนและได้รับความนิยมอย่างมาก การแลกเปลี่ยนข้อมูลทางการแพทย์จึงเกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง ดังนั้นจึงมีการประชุมร่วมกันเพื่อสร้างข้อกำหนดมาตรฐานในการรับ – ส่งภาพและข้อมูลทางการแพทย์ขึ้น ส่วนข้อกำหนดมาตรฐานของระบบการสื่อสารนั้น ใช้ข้อกำหนดมาตรฐานของระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์เป็นสำคัญ

มาตรฐาน Health Level Seven (HL 7) เป็นหนึ่งในมาตรฐานข้อมูล (Protocol) ที่พัฒนาโดย ANSI-accredited Standards Developing Organizations (SDOs) สำหรับใช้เป็นมาตรฐานใช้ในการแลกเปลี่ยนข้อมูลผู้ป่วยระหว่างโรงพยาบาล เพื่อให้การบริหารข้อมูลผู้ป่วยมีประสิทธิภาพมากกว่าภาวะที่เป็นอยู่เหมาะสมที่จะใช้กับโรงพยาบาล, โพลีคลินิก, คลินิก, สาธารณสุขจังหวัด, สาธารณสุขอำเภอ และองค์กรทางการแพทย์อื่นๆ เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลของผู้ป่วยได้จากทุกๆ องค์กรสาธารณสุข เพื่อผลในการวินิจฉัยโรคที่แม่นยำขึ้น เนื่องจากคนไข้ส่วนใหญ่มักจะไม่ได้เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลแห่งเดียว อาจจะรักษาหลายๆ ที่ตามแต่สภาพโรคของตนเอง

ดังนั้น จึงสร้างมาตรฐาน HL7 ขึ้น เพื่อให้เป็นมาตรฐานในการที่จะสามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลของผู้ป่วยในฐานข้อมูล ซึ่งมาจากโรงพยาบาลที่แตกต่างกันได้ ตัวอย่างเช่น นาย ก จะสามารถตรวจเลือดที่โรงพยาบาลใกล้บ้านที่กรุงเทพฯ ตอนเช้า แล้วนั่งเครื่องบินไปเชียงใหม่แล้วแวะพบคุณหมอที่โรงพยาบาลแถวเชียงใหม่ เพื่อฟังผลการตรวจเลือด เป็นต้น

มาตรฐาน PACS (Picture Archiving and Communication System)

เป็นระบบที่ใช้ในการจัดเก็บรูปภาพทางการแพทย์ (Medical Images) และรับ-ส่งข้อมูลภาพ ในรูปแบบ Digital โดยใช้การจัดการรับส่งข้อมูล ผ่านทางระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ โดยการส่งภาพข้อมูลตามมาตรฐาน DICOM

โดยระบบ PACS ก็เป็นระบบเทคโนโลยีสารสนเทศทางการแพทย์ ที่พัฒนาเริ่มแรกมาเพื่อใช้กับแผนกรังสีโดยตรง เนื่องจากภาพถ่ายทางรังสีมีความจำเป็นในการช่วยวิเคราะห์โรค และรักษาผู้ป่วย ระบบ PACS จะช่วยให้แพทย์ ได้รับภาพถ่ายทางรังสี และผลวิเคราะห์จากรังสีแพทย์อย่างรวดเร็ว ทำให้แพทย์วินิจฉัยโรค และให้การรักษา ผู้ป่วยได้เร็วยิ่งขึ้นโดยเฉพาะผู้ป่วยหนัก นอกจากนี้ ปัญหาการจัดเก็บ และค้นหาฟิล์มเอ็กซเรย์ ก็ทำให้เกิดความล่าช้า ของการรายงานผลเอ็กซเรย์ได้ บางครั้งเราอาจจะพบว่ามีการสูญหายของฟิล์มเอ็กซเรย์ ซึ่งมีความจำเป็น ในการใช้เปรียบเทียบ การเปลี่ยนแปลงของโรค และการให้การรักษาต่อเนื่อง ระบบ PACS มีการจัดเก็บข้อมูล ไว้ในคอมพิวเตอร์ซึ่งมีระบบเก็บข้อมูลสำรอง จึงช่วยแก้ปัญหานี้ได้

มาตรฐาน DICOM (Digital Imaging and Communications in Medicine)

เป็นมาตรฐานที่กำหนด โดย National Electrical Manufacturers Association (NEMA) มีจุดประสงค์ เพื่อการเผยแพร่ ภาพทางการแพทย์ เช่น CT scans, MRIs, CR หรือ ultrasound และ ภาพทางการแพทย์อื่นๆ ให้เป็นมาตรฐานเดียวกันเพื่อภาพจะสามารถแลกเปลี่ยนกันได้ในระหว่าง เครื่องมือทางการแพทย์ หรือ Software ทางการแพทย์ ให้สามารถอ่านข้อมูลของผู้ป่วยที่มาจากเครื่องมือต่างชนิดหรือต่างบริษัทได้

DICOM File จะประกอบด้วยข้อมูลในส่วน หัวของ File หรือที่เรียกว่า Header (โดย Header จะประกอบไปด้วยข้อมูลเกี่ยวกับผู้ป่วย ชื่อ นามสกุล รูปแบบ ของภาพ จำนวนภาพ ลักษณะของภาพและอื่นๆ)