มรดก/บททั่วไป
ลักษณะแห่งมรดก
แก้ไขทรัพย์สิน หมายความรวมทั้ง ทรัพย์ และวัตถุไม่มีรูปร่าง ซึ่งอาจมีราคาและอาจถือเอาได้ |
ป.พ.พ. ม. 138 |
ภายใต้บังคับของบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ กองมรดกของผู้ตาย ได้แก่ ทรัพย์สินทุกชนิดของผู้ตาย ตลอดทั้งสิทธิ หน้าที่ และความรับผิดต่าง ๆ เว้นแต่ตามกฎหมายหรือว่าโดยสภาพแล้ว เป็นการเฉพาะตัวของผู้ตายโดยแท้ |
ป.พ.พ. ม. 1600 |
ทายาทไม่จำต้องรับผิดเกินกว่าทรัพย์มรดกที่ตกทอดได้แก่ตน |
ป.พ.พ. ม. 1601 |
ทรัพย์สินทั่วไป
แก้ไขคำว่า "มรดก" แผลงมาจาก "มฤดก" หรือ "มฤตก" ในภาษาสันสกฤต รากของคำเหล่านี้ คือ "มฤต" แปลว่า ตายแล้ว โดย "มฤตก" (รวมถึง "มฤดก" และ "มรดก") มีความหมายตามตัวอักษรว่า ผู้ตายแล้ว[1]
ในทางกฎหมายนั้น มรดก หมายถึง ทรัพย์สินทุกชนิดของผู้ตาย ซึ่งเรียกรวม ๆ กันว่า "กองมรดก" ทรัพย์สินนี้รวมเอาสิทธิ หน้าที่ และความรับผิดต่าง ๆ ของผู้ตายด้วย เว้นแต่บรรดาที่ตามกฎหมายแล้ว หรือโดยสภาพแล้ว เป็นเรื่องเฉพาะตัวของผู้ตายโดยแท้ ตาม ป.พ.พ. ม. 1600[2]
กล่าวได้ว่า "ทรัพย์สิน" ตาม ป.พ.พ. ม. 1600 มีความหมายตาม ป.พ.พ. ม. 138 คือ เป็นได้ทั้งวัตถุที่มีรูปร่าง ซึ่งกฎหมายเรียกว่า "ทรัพย์" และวัตถุที่ไม่มีรูปร่าง แต่อาจมีราคาและอาจถือเอาได้[2] โดยทรัพย์สินจำพวกที่เป็นสิทธินั้น เช่น ลิขสิทธิ์, สิทธิในผลิตภัณฑ์, สิทธิในเครื่องหมายการค้า เป็นต้น[2] ส่วนที่เป็นหน้าที่และความรับผิดนั้น ปรกติคือความผูกพันที่บุคคลจะต้องทำหรือไม่ทำการอย่างใด ๆ ซึ่งเรียกว่า "หนี้"[2] เช่น ผู้ตายขับรถยนต์ชนผู้อื่นบาดเจ็บ มีหนี้ต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้เขา แต่ผู้ตายตายลงเสียก่อน หนี้นั้นก็รวมเข้าเป็นมรดกของผู้ตาย ทายาทผู้รับมรดกส่วนนี้ต้องรับชำระค่าสินไหมทดแทนให้ผู้เสียหายต่อไป แต่ไม่เกินส่วนมรดกที่ทายาทนั้นได้รับ ตาม ป.พ.พ. ม. 1601 ยกตัวอย่างลงไปอีกคือ ถ้าค่าสินไหมทดแทนดังกล่าวนั้นมีจำนวนหนึ่งล้านบาท และทายาทรับมรดกมูลค่าห้าแสนบาทมา ทายาทจำต้องชำระค่าสินไหมทดแทนเพียงห้าแสนบาทเท่านั้น ที่เหลือผู้เสียหายอาจไปเรียกเอาจากกองมรดกหรือที่อื่น ๆ ตามแต่มีสิทธิต่อไป[3]
ที่ ป.พ.พ. ม. 1600 ว่า "ภายใต้บังคับของบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้" หมายความว่า อาจมีบทบัญญัติใน ป.พ.พ. ว่าไว้เป็นอื่นได้ ซึ่งถ้ามี ก็ให้เป็นไปตามบทบัญญัตินั้นแทน เป็นต้นว่า กรณีภิกษุมรณภาพ ทรัพย์สินของภิกษุอาจตกแก่วัดตาม ป.พ.พ. ม. 1623 โดยไม่เป็นทรัพย์มรดกของภิกษุอันจะตกทอดแก่ทายาท[3]
ทรัพย์สินบางประเภท
แก้ไขทรัพย์สินเฉพาะตัวของผู้ตายโดยแท้
แก้ไขป.พ.พ. ม. 1600 ยกเว้นไว้ว่า สิทธิและหนี้ของผู้ตายอันเป็นเรื่องเฉพาะตัวของผู้ตายโดยแท้ กล่าวคือ มีแต่ผู้ตายเท่านั้นที่จะใช้สิทธิหรือชำระหนี้นั้น ๆ ได้ หามีบุคคลอื่นต่างผู้ตายได้ไม่ ไม่ว่าเพราะสภาพของมันเป็นอย่างนั้นก็ดี หรือกฎหมายบัญญัติให้เป็นก็ดี จะไม่เป็นมรดกของผู้ตาย และไม่ตกทอดแก่ทายาท[3]
เรื่องเฉพาะตัวตามสภาพนั้น เช่น ก หมั้นหมายกับ ข ไว้ ต่อมา ก ไปสงครามแล้วตายลง หนี้ที่ ก ต้องสมรสกับ ข ไม่เป็นมรดกของ ก เพราะเป็นเรื่องเฉพาะตัวของ ก โดยแท้ เนื่องจากการเลือกคู่ครองนั้นย่อมอาศัยความชอบพอระหว่างบุคคลเป็นพื้น และไม่มีใครสามารถสมรสกับ ข แทน ก ได้ ฉะนั้น หนี้สมรสนั้นก็เป็นอันสิ้นสุดลง ฝ่าย ข เรียกให้ทายาทของ ก มาสมรสกับตนไม่ได้
ส่วนที่กฎหมายให้เป็นเรื่องเฉพาะตัวนั้น อาจเป็นการบัญญัติไว้โดยแจ้งชัดหรือไม่ก็ได้ กรณีแจ้งชัด เช่น ป.พ.พ. ม. 1404 ว่า "สิทธิอาศัยนั้น จะโอนกันไม่ได้ แม้โดยทางมรดก" หรือ ป.พ.พ. ม. 1447 ว. 2 ว่า "สิทธิเรียกร้องค่าทดแทนตามหมวดนี้...ไม่อาจโอนกันได้ และไม่ตกทอดไปถึงทายาท..." และกรณีไม่แจ้งชัด เช่น ป.พ.พ. ม. 606 ว่า "ถ้าจ้างแรงงานรายใดมีสาระสำคัญอยู่ที่ตัวบุคคลผู้เป็นนายจ้าง ท่านว่า สัญญาจ้างเช่นนั้นย่อมระงับไปด้วยมรณะแห่งนายจ้าง" หมายความว่า ความผูกพันในกรณีจ้างแรงงานโดยคำนึงถึงตัวนายจ้างเป็นสำคัญนั้น จะสิ้นสุดเมื่อนายจ้างตาย กล่าวคือ ไม่ทำให้ทายาทของนายจ้างผู้ตายเข้ามาเป็นนายจ้างคนใหม่ในสัญญานั้น และถ้าทายาทต้องการจ้างลูกจ้างคนนั้นอยู่ต่อไป ก็ต้องตกลงทำสัญญากันใหม่เอาเอง[4]
ภายในบังคับแห่งกฎหมาย เจ้าของทรัพย์สินมีสิทธิใช้สอยและจำหน่ายทรัพย์สินของตน และได้ซึ่งดอกผลแห่งทรัพย์สินนั้น กับทั้งมีสิทธิติดตามและเอาคืนซึ่งทรัพย์สินของตนจากบุคคลผู้ไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้ และมีสิทธิขัดขวางมิให้ผู้อื่นสอดเข้าเกี่ยวข้องกับทรัพย์สินนั้นโดยมิชอบด้วยกฎหมาย |
ป.พ.พ. ม. 1336 |
ทรัพย์สินที่ได้มาเพราะตายหรือหลังตาย
แก้ไขทรัพย์สินที่ได้มาเพราะตายหรือหลังตายนั้น คือ ทรัพย์สินที่จะให้แก่กันโดยถือเอาความตายของบุคคลเป็นเหตุ เช่น บำนาญพิเศษที่รัฐจ่ายให้เมื่อข้าราชการตาย ตามพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. 2494 เป็นต้น[5]
เนื่องจากมรดกคือทรัพย์สินของผู้ตาย ดังนั้น ทรัพย์สินที่จะเป็นมรดกได้ ต้องเป็นของผู้ตายอยู่แล้วในเวลาที่เขาตาย[6]
บุคคลเมื่อตายแล้ว กฎหมายก็ไม่นับว่าเป็นบุคคลอีก เพราะสภาพบุคคลสิ้นสุดลงเมื่อตาย และบุคคลเท่านั้นที่มีสิทธิและหน้าที่ต่าง ๆ ได้ ฉะนั้น บุคคลที่ตายแล้วไม่อาจมีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินได้ โดยนัยนี้ ทรัพย์สินที่บุคคลได้มาเพราะตนตายหรือเมื่อตนตายแล้วจึงไม่เป็นมรดกของเขา[5]
อย่างไรก็ดี ทรัพย์สินที่ได้มาหลังตายในบางกรณีไม่เข้าเกณฑ์ข้างต้น โดยเฉพาะเมื่อเป็นทรัพย์สินที่เปลี่ยนรูปหรืองอกเงยมาจากทรัพย์สินเดิม เพราะหาใช่ทรัพย์สินใหม่แต่ประการใดไม่ เช่น ก ซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาลหนึ่งใบ ต่อมา ก ตายลง สลากใบนั้นถูกรางวัลที่หนึ่ง เงินรางวัลที่หนึ่งเป็นมรดกของ ก เพราะเป็นทรัพย์สินซึ่ง ก ได้มาตามสัญญาสลากกินแบ่งที่ทำไว้กับรัฐบาลตั้งแต่ก่อนตาย และเป็นส่วนหนึ่งของสลากที่ ก ได้เป็นเจ้าของอยู่เดิมแล้ว เมื่อ ก ตาย สลากเป็นทรัพย์มรดกของ ก ฉันใด เงินรางวัลย่อมเป็นทรัพย์มรดกด้วยฉันนั้น[7] ตัวอย่างอันชัดเจนของกรณีเช่นว่านี้ คือ ดอกเบี้ยเงินกู้ และค่าเช่าทรัพย์สิน เป็นต้น ซึ่งเป็นดอกผลของทรัพย์สินแม่ และย่อมรวมอยู่ในกองมรดกพร้อม ๆ กับทรัพย์สินแม่[7] แต่ถ้าดอกผลเพิ่มพูนขึ้นมาเมื่อแบ่งมรดกกันเรียบร้อยแล้ว ดอกผลจะตกแก่ทายาทผู้ได้รับทรัพย์สินแม่แทน ตาม ป.พ.พ. ม. 1336 ไม่กลับไปรวมอยู่ในกองมรดก (ซึ่งสิ้นสุดลง เพราะแบ่งกันจบแล้ว) อีก[7]
ถ้าผู้เอาประกันภัยได้เอาประกันภัยไว้ โดยกำหนดว่า เมื่อตนถึงซึ่งความมรณะ ให้ใช้เงินแก่ทายาททั้งหลายของตน โดยมิได้เจาะจงระบุชื่อผู้หนึ่งผู้ใดไว้ไซร้ จำนวนเงินอันจะพึงใช้นั้น ท่านให้ฟังเอาเป็นสินทรัพย์ส่วนหนึ่งแห่งกองมรดกของผู้เอาประกันภัยซึ่งเจ้าหนี้จะเอาใช้หนี้ได้
|
ป.พ.พ. ม. 897 |
เงินประกันชีวิต
แก้ไขป.พ.พ. ม. 897 ว่า ให้ถือว่า เงินประกันชีวิต กล่าวคือ เงินที่ผู้รับประกันพึงจ่ายให้แก่ผู้รับประโยชน์ ในกรณีที่ผู้ตายซึ่งเอาประกันนั้นไม่ได้เจาะจงตัวผู้รับประโยชน์ไว้ก็ดี หรือเบี้ยประกันที่ผู้ตายส่งไปก่อนตายแล้ว ในกรณีที่เขาได้เจาะจงตัวผู้รับประโยชน์ไว้ก็ดี เป็นทรัพย์มรดกของผู้ตาย อาจชวนสงสัยว่า กฎหมายให้นับเงินประกันชีวิตดังกล่าวเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตายด้วย แต่โดยลักษณะแล้ว เงินประกันชีวิตเช่นว่ามิได้จ่ายให้ผู้ตาย จึงไม่เป็นมรดกของผู้ตาย ที่กฎหมายให้ถือว่าเป็นมรดก ก็เพื่อคุ้มครองเจ้าหนี้ของผู้ตายมิให้เสียหาย เมื่อผู้ตายใช้อุบายเลี่ยงหนี้ด้วยการส่งเงินไปเป็นเบี้ยประกันภัยแทนที่จะส่งใช้ชำระหนี้ ซึ่งปรกติแล้ว เจ้าหนี้ไม่มีสิทธิเรียกชำระหนี้จากเงินประกันชีวิต (แต่มีสิทธิเรียกชำระหนี้จากกองมรดก กฎหมายจึงให้นับว่าเงินประกันชีวิตเป็นมรดก)[8]
เมื่อเงินประกันชีวิตข้างต้นไม่เป็นมรดก จึงไม่ตกทอดแก่ทายาทของผู้ตาย แต่ตกแก่ผู้รับประโยชน์ที่ผู้ตายระบุไว้ ตาม ป.พ.พ. ม. 897 นั้น ซึ่งอาจเป็นทายาทของผู้ตายหรือไม่ก็ได้[8]
การตกทอดแห่งมรดก
แก้ไข ถ้าบุคคลใดได้ไปจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่ และไม่มีใครรู้แน่ว่าบุคคลนั้นยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ตลอดระยะเวลาห้าปี เมื่อผู้มีส่วนได้เสียหรือพนักงานอัยการร้องขอ ศาลจะสั่งให้บุคคลนั้นเป็นคนสาบสูญก็ได้
(1) นับแต่วันที่การรบหรือสงครามสิ้นสุดลง ถ้าบุคคลนั้นอยู่ในการรบหรือสงคราม และหายไปในการรบหรือสงครามดังกล่าว (2) นับแต่วันที่ยานพาหนะที่บุคคลนั้นเดินทาง อับปาง ถูกทำลาย หรือสูญหายไป (3) นับแต่วันที่เหตุอันตรายแก่ชีวิตนอกจากที่ระบุไว้ใน (1) หรือ (2) ได้ผ่านพ้นไป ถ้าบุคคลนั้นตกอยู่ในอันตรายเช่นว่านั้น |
ป.พ.พ. ม. 61 |
บุคคลซึ่งศาลได้มีคำสั่งให้เป็นคนสาบสูญ ให้ถือว่าถึงแก่ความตาย เมื่อครบกำหนดระยะเวลาดังที่ระบุไว้ในมาตรา 61 |
ป.พ.พ. ม. 62 |
เมื่อบุคคลผู้ถูกศาลสั่งให้เป็นคนสาบสูญนั้นเอง หรือผู้มีส่วนได้เสีย หรือพนักงานอัยการร้องขอต่อศาล และพิสูจน์ได้ว่า บุคคลผู้ถูกศาลสั่งให้เป็นคนสาบสูญนั้นยังคงมีชีวิตอยู่ก็ดี หรือว่าตายในเวลาอื่นผิดไปจากเวลาดังระบุไว้ในมาตรา 62 ก็ดี ให้ศาลสั่งถอนคำสั่งให้เป็นคนสาบสูญนั้น แต่การถอนคำสั่งนี้ย่อมไม่กระทบกระเทือนถึงความสมบูรณ์แห่งการทั้งหลายอันได้ทำไปโดยสุจริตในระหว่างเวลาตั้งแต่ศาลมีคำสั่งให้เป็นคนสาบสูญจนถึงเวลาถอนคำสั่งนั้น
|
ป.พ.พ. ม. 63 |
เมื่อบุคคลใดตาย มรดกของบุคคลนั้นตกทอดแก่ทายาท
|
ป.พ.พ. ม. 1599 |
เมื่อบุคคลใดต้องถือว่าถึงแก่ความตายตามความในมาตรา 62 แห่งประมวลกฎหมายนี้ มรดกของบุคคลนั้นตกทอดแก่ทายาท
|
ป.พ.พ. ม. 1602 |
เวลาตกทอด
แก้ไขมรดกของบุคคลจะตกทอดแก่ทายาทเขาต่อเมื่อเขาตาย ตาม ป.พ.พ. ม. 1599 ว. 1 โดยนัยนี้ เจ้ามรดกจึงเป็นได้แต่บุคคลธรรมดา เพราะนิติบุคคลไม่อาจตายได้ เมื่อนิติบุคคลสิ้นสภาพบุคคล ทรัพย์สินของนิติบุคคลนั้นจะได้รับการจัดการด้วยวิธีอื่นซึ่งมิใช่วิธีตามกฎหมายลักษณะมรดก[9]
ป.พ.พ. ม. 1599 ว่า มรดกจะตกทอดแก่ทายาทเมื่อเจ้ามรดกตาย แต่ไม่ได้ระบุว่าให้ตกทอดไปเมื่อไร ดังนั้น มรดกย่อมตกทอดทันทีที่เจ้ามรดกตาย[10] และทายาทต้องเป็นบรรดาที่มีสิทธิได้รับมรดกอยู่ในเวลานั้นเอง เพราะฉะนั้น ใครเป็นทายาทของผู้ตายบ้าง และทายาทคนใดรับมรดกได้หรือไม่ ต้องพิจารณาในเวลาที่เจ้ามรดกตายเท่านั้น ถึงแม้ว่าจะมารู้ภายหลังว่ามีสิทธิ หรือถึงแม้ต่อมาจะสูญสิทธิไปก็ตาม[11] แต่ก็เป็นไปได้ที่ทายาทจะเกิดมีสิทธิขึ้นหลังเจ้ามรดกตายไปแล้วระยะหนึ่ง เช่น ในกรณีพินัยกรรมมีเงื่อนไขบังคับก่อน คือ ระบุว่าให้พินัยกรรมมีผลเมื่อเกิดเหตุการณ์บางอย่างขึ้นเสียก่อน[12]
กรณีทายาทมีสิทธิอยู่แล้ว แต่สูญสิทธิไปภายหลัง เช่น ฮ ตาย และในเวลานั้น ฮ มีทายาทซึ่งมีสิทธิรับมรดกอยู่สามคน คือ ห, ฬ และ อ ทั้งสามจึงได้รับมรดกเป็นส่วนเท่า ๆ กัน สองปีต่อมา พนักงานอัยการฟ้องว่า อ ฆ่า ฮ ตาย และศาลพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษ ดังนี้ ฮ จึงกลายเป็นผู้ไม่สมควรรับมรดก และต้องถูกกำจัดมิให้รับมรดก โดยมีผลย้อนหลังไปถึงเวลาที่ ฮ ตาย กล่าวคือ สิทธิทั้งหลายที่ อ เคยมีเมื่อสองปีก่อนเป็นอันว่าถูกลบล้างไป และเท่ากับว่า อ ไม่เคยเป็นทายาทที่มีสิทธิรับมรดกของ ฮ เลย ตาม ป.พ.พ. ม. 1606 (1)
ความตาย
แก้ไขบุคคลตายได้สองกรณี คือ ตายตามธรรมชาติ ซึ่งเรียกว่า "ตายจริง" และตายเพราะกฎหมายสันนิษฐาน ซึ่งเรียกว่า "ตายโดยสันนิษฐาน" หรือ "ตายเพราะเป็นผู้ไม่อยู่"[9]
การตายโดยสันนิษฐานนั้น คือ เมื่อศาลสั่งว่าบุคคลใดเป็นคนสาบสูญ กฎหมายจะสันนิษฐานว่าบุคคลนั้นตายในวันที่ครบกำหนดห้าปี นับตั้งแต่เขาละภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่ไป แล้วไม่มีใครทราบข่าวคราวเลยเป็นเวลาติดต่อกัน หรือครบกำหนดสองปี นับตั้งแต่เขาหายไปในสงคราม อุบัติเหตุ หรือภยันตรายอื่น ๆ (มิใช่ตายเมื่อศาลสั่งให้เป็นคนสาบสูญ) ตาม ป.พ.พ. ม. 62 ประกอบ ม. 61[13] การตายกรณีนี้จึงต่างจากการตายจริงตรงที่เป็นเพียงข้อสันนิษฐานของกฎหมายว่าบุคคลตายแล้ว ส่วนเขาจะตายจริงหรือไม่ไม่ทราบ[9] แต่การตายทั้งสองกรณีมีผลไม่ต่างกัน คือ บุคคลย่อมสิ้นสภาพบุคคล และมรดกของเขาจะตกทอดแก่ทายาทต่อไป[14]
สำหรับบุคคลที่ตายโดยสันนิษฐานนั้น ป.พ.พ. ม. 1602 ว. 2 ประกอบ ม. 63 ว. 1 ว่า ถ้าปรากฏภายหลังว่าเขายังไม่ตาย ศาลจะได้ถอนคำสั่งให้เขาเป็นคนสาบสูญ อันจะมีผลให้มรดกที่ได้ตกทอดแก่ทายาทต้องกลับสู่สถานะเดิม คือ กลับไปเป็นทรัพย์สินของบุคคลที่เคยสันนิษฐานว่าตายแล้วนั้นดังเดิม ราวกับไม่เคยตกทอดแก่ผู้ใด[14] ถ้าเขาตายคนละเวลากับที่กฎหมายสันนิษฐาน ศาลก็จะถอนคำสั่งดังกล่าวเช่นกัน แต่ไม่ทำให้มรดกกลับสู่สถานะเดิม มรดกคงตกทอดอยู่ เพราะถึงอย่างไรเขาก็ตายแล้ว เพียงจะตกทอดแก่ทายาทผู้มีสิทธิอยู่ในเวลาที่เขาตายจริง ซึ่งอาจไม่ใช่ทายาทคนเดียวกับที่ได้รับมรดกไปแล้วก็ได้[14]
เช่น ก ถูกศาลสั่งเป็นคนสาบสูญ และกฎหมายสันนิษฐานว่าเขาตายเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2555 ในวันนั้น ทายาทของ ก มีอยู่สามคน คือ ข, ค และ ง ทั้งสามได้รับมรดกของ ก เป็นส่วนเท่า ๆ กัน ต่อมา พนักงานอัยการพิสูจน์ทราบว่า ก ตายจริงเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2555 ขณะที่ ง ประสบอุบัติเหตุถึงแก่ชีวิตไปเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2555 และศาลถอนคำสั่งให้ ก เป็นคนสาบสูญในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2555 ดังนั้น ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2555 จึงมีทายาทของ ก อยู่สองคน คือ ข และ ค ในการนี้ ทายาทของ ง ต้องส่งทรัพย์มรดกคืนเข้ากองมรดกเพื่อให้ตกทอดแก่ ข และ ค ต่อไป แต่มีข้อยกเว้นตาม ป.พ.พ. ม. 1602 ว. 2 ประกอบ ม. 63 ว. 1
ข้อยกเว้นดังกล่าวนั้น มีอยู่ว่า การทั้งหลายที่ได้ทำลงไปโดยสุจริต ตั้งแต่ศาลมีคำสั่งให้เป็นคนสาบสูญ จนถึงเวลาที่ศาลถอนคำสั่งนั้น กล่าวคือ ได้ทำลงโดยไม่รู้ว่าคนสาบสูญยังไม่ตายจริง ๆ หรือไม่รู่ว่าเขาตายคนละเวลากับที่กฎหมายสันนิษฐาน การนั้นคงสมบูรณ์อยู่ ไม่เสียไป[10] จากตัวอย่างข้างต้น ถ้าก่อน ง ประสบอุบัติเหตุตาย ง ได้ขายทรัพย์มรดกที่ตนได้รับมา แล้วนำเงินที่ขายได้ไปเล่นพนันจนหมด โดย ง ไม่รู้เลยว่า ก ตายผิดเวลากับที่กฎหมายสันนิษฐาน ดังนี้ ทายาทของ ง ก็ไม่ต้องคืนทรัพ์มรดกเข้ากองมรดก เพราะได้รับคุ้มครองตาม ป.พ.พ. ม. 1602 ว. 2 ประกอบ ม. 63 ว. 1 นั้น
ถ้ามีทายาทหลายคน ทายาทเหล่านั้นมีสิทธิและหน้าที่เกี่ยวกับทรัพย์มรดกร่วมกัน จนกว่าจะได้แบ่งมรดกกันเสร็จแล้ว และให้ใช้มาตรา 1356 ถึงมาตรา 1366 แห่งประมวลกฎหมายนี้บังคับ เพียงเท่าที่ไม่ขัดกับบทบัญญัติแห่งบรรพนี้ |
ป.พ.พ. ม. 1745 |
กรรมสิทธิ์ในทรัพย์มรดก
แก้ไขเมื่อมรดกตกทอดแก่ทายาท ถ้ามีทายาทคนเดียวคงไม่เป็นปัญหา เพราะเขาย่อมได้รับมรดกทั้งหมดไปแต่ผู้เดียว[12] แต่ถ้ามีหลายคน ป.พ.พ. ม. 1745 ว่า ทุกคนมีสิทธิและหน้าที่เกี่ยวกับทรัพย์มรดกร่วมกัน จนกว่าจะแบ่งกันเสร็จเรียบร้อย โดยให้นำ ป.พ.พ. ม. 1356-1366 มาใช้บังคับเท่าที่ไม่ขัดกับบทบัญญัติใน ป.พ.พ. บรรพ 6 (มรดก) ด้วย[15]
ป.พ.พ. ม. 1356-1366 ดังกล่าว เป็นกฎหมายลักษณะทรัพย์สิน ซึ่งว่าด้วยกรรมสิทธิ์รวม และตามบทบัญญัติเหล่านี้ เมื่อทายาทคนใดได้ทรัพย์มรดกชิ้นใดไปแล้ว ย่อมได้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์มรดกนั้นเป็นเด็ดขาด[2] แต่ถ้ายังไม่ได้แบ่ง ทายาททุกคนเป็นเจ้าของทรัพย์มรดกที่ยังไม่ได้แบ่งนั้นร่วมกัน แต่ละคนมีสิทธิอย่างเป็นเจ้าของรวม จนกว่าจะแบ่งทรัพย์มรดก เว้นแต่ ป.พ.พ. บรรพ 6 ว่าไว้เป็นอย่างอื่น ซึ่งก็มีอยู่ เป็นต้นว่า เจ้าของรวมแต่ละคนมีส่วนในทรัพย์สินรวมนั้นเท่ากันตาม ป.พ.พ. ม. 1357 ทว่า ทายาทแต่ละคนอาจมีส่วนในทรัพย์มรดกไม่เท่ากัน อาจได้รับคนละมากคนละน้อยต่างกันไป, หรือเจ้าของรวมอาจขอให้แบ่งทรัพย์สินรวมนั้นเมื่อไรก็ได้ ไม่มีอายุความตาม ป.พ.พ. ม. 1363 แต่ถ้าทายาทจะขอให้แบ่งทรัพย์มรดก ต้องเรียกร้องภายในอายุตาม ป.พ.พ. ม. 1754 เท่านั้น[2]
ทายาท
แก้ไข กองมรดกย่อมตกทอดแก่ทายาทโดยสิทธิตามกฎหมายหรือโดยพินัยกรรม
|
ป.พ.พ. ม. 1603 |
ลักษณะและประเภทแห่งทายาท
แก้ไขกฎหมายไม่ได้นิยาม "ทายาท" ไว้โดยตรง แต่พิจารณาบทบัญญัติต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องแล้ว (เช่น ป.พ.พ. ม. 1599 และ ม. 1602) เข้าใจได้ว่า ทายาท คือ ผู้มีสิทธิได้รับมรดก และสิทธินั้นจะเกิดขึ้นเมื่อเจ้ามรดกตายแล้วเท่านั้น[16] ส่วนที่กฎหมายบัญญัติว่า ทายาทประเภทนี้มีลำดับอย่างนี้อย่างนั้นเป็นต้น เป็นแต่วางตำแหน่งผู้มีสิทธิรับมรดกก่อนหลังกัน เพราะตราบที่เจ้ามรดกยังไม่ตาย ก็ยังถือไม่ได้ว่าผู้อยู่ในลำดับเหล่านั้นมีสิทธิรับมรดก[16] เช่น เมื่อบิดายังมีชีวิตอยู่ บุตรก็เป็นเพียงผู้สืบสันดานเท่านั้น ยังไม่เป็นทายาทของบิดา
ทายาทมีสองประเภทตาม ป.พ.พ. ม. 1603 ได้แก่ ทายาทโดยธรรม คือ ผู้มีสิทธิรับมรดกตามที่กฎหมายบัญญัติ และ ผู้รับพินัยกรรม คือ ผู้มีสิทธิรับมรดกตามที่พินัยกรรมกำหนด[17]
ทายาทโดยธรรมนั้นเป็นได้แต่บุคคลธรรมดา เพราะไม่มีกฎหมายให้นิติบุคคลรับมรดกได้[17] ส่วนวัดและแผ่นดินซึ่งเป็นนิติบุคคลและมีสิทธิรับทรัพย์สินของผู้ตายนั้น ไม่ใช่กรณีกฎหมายให้วัดและแผ่นดินเป็นทายาทโดยธรรม แต่กฎหมายมีเหตุผลเฉพาะจึงบัญญัติเช่นนั้น กับทั้งวัดและแผ่นดินก็ไม่ได้รับทรัพย์สินในฐานะเป็นทายาทด้วย[17] อย่างไรก็ดี นิติบุคคลเป็นผู้รับพินัยกรรมได้[17]
ทายาทโดยธรรมและผู้รับพินัยกรรมอาจเป็นบุคคลธรรมดาคนเดียวกันหรือไม่ก็ได้[17] เช่น ก มีทรัพย์สินหลายอย่าง และมีบุตรสามคน คือ ข, ค และ ง โดย ก ทำพินัยกรรมว่า ขอยกรถยนต์เก๋งให้แก่ ข ส่วนทรัพย์สินอื่น ๆ ไม่ได้ว่าไว้อย่างไรในพินัยกรรม ดังนี้ นอกจาก ข จะได้รับรถยนต์เก๋งในฐานะที่เป็นผู้รับพินัยกรรมแล้ว ข ยังมีสิทธิในทรัพย์สินอื่น ๆ ซึ่งต้องจัดการตามกฎหมายเพราะพินัยกรรมไม่ได้ว่าไว้ ในฐานะที่ ข เป็นทายาทโดยธรรมด้วย เว้นแต่ ข หมดสิทธิโดยธรรมไป เป็นต้นว่า ก ทำพินัยกรรมระบุว่า ให้ ข รับแต่รถยนต์เก๋งนั้นอย่างเดียว ซึ่งแสดงว่า มิให้ ข ได้ทรัพย์สินอย่างอื่นอีก
สิทธิตามพินัยกรรมสำคัญกว่าสิทธิโดยธรรม เพราะสิทธิตามพินัยกรรมเกิดจากเจตนาของผู้ตาย ส่วนสิทธิโดยธรรมเกิดเพราะกฎหมายสั่งแทนผู้ตายโดยอ้างอิงเจตนาของเจ้าของทรัพย์สินทั่ว ๆ ไปเท่านั้น ฉะนั้น ทายาทโดยธรรมจะได้รับทรัพย์มรดกก็แต่ที่ไม่มีพินัยว่าไว้เป็นประการใด และต้องยอมให้ผู้รับพินัยกรรมได้ส่วนแบ่งของผู้รับพินัยกรรมเสียก่อน[17]
สภาพบุคคลย่อมเริ่มแต่เมื่อคลอดแล้วอยู่รอดเป็นทารก และสิ้นสุดลงเมื่อตาย
|
ป.พ.พ. ม. 15 |
บุคคลธรรมดาจะเป็นทายาทได้ ก็ต่อเมื่อมีสภาพบุคคล หรือสามารถมีสิทธิได้ตามมาตรา 15 แห่งประมวลกฎหมายนี้ ในเวลาที่เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย
|
ป.พ.พ. ม. 1604 |
การเป็นทายาท
แก้ไขจะเป็นทายาทได้ อันดับแรกสุดต้องเป็นบุคคล กล่าวคือ มีสภาพบุคคล เพราะเมื่อมีสภาพบุคคลแล้วจึงสามารถมีสิทธิและหน้าที่ได้ แล้วจึงเป็นทายาทได้ ต่างจากสัตว์ สิ่งของ หรือสถานที่ที่ไม่มีสภาพบุคคล ไม่มีสิทธิและไม่มีหน้าที่ทั้งนั้น สิ่งเหล่านี้จึงไม่อาจเป็นทายาท[18] แม้เคยปรากฏเนือง ๆ ว่า มีผู้ทำพินัยกรรมยกมรดกให้สัตว์ ก็เป็นแต่ให้บุคคลอื่นใช้ทรัพย์มรดกเพื่อประโยชน์ของสัตว์นั้นเท่านั้น ตัวสัตว์หาอาจใช้ทรัพย์มรดกได้เองไม่
สำหรับบุคคลธรรมดา จะเป็นทายาทไม่ว่าประเภทใด ได้ ต้องเป็นไปตาม ป.พ.พ. ม. 1604 ประกอบ ม. 15 คือว่า (1) มีสภาพบุคคลอยู่ ณ เวลาที่เจ้ามรดกตาย กล่าวคือ เมื่อเจ้ามรดกตาย บุคคลผู้นั้นยังมีชีวิตอยู่, หรือ (2) อย่างน้อยก็สามารถมีสิทธิได้อยู่ในเวลาที่เจ้ามรดกตาย กล่าวคือ เมื่อเจ้ามรดกตาย บุคคลผู้นั้นเป็นทารกอยู่ในครรภ์มารดา และต่อมาเมื่อคลอดแล้วก็มีชีวิตรอดด้วย[19] แต่เพราะพิสูจน์ยากว่า เด็กคนนี้คลอดมาหลังเจ้ามรดกตายแล้ว ได้อยู่ในครรภ์มารดาตอนเจ้ามรดกตาย หรือเพิ่งมาอยู่เมื่อเจ้ามรดกตายไปแล้ว เป็นต้น กฎหมายจึงบัญญัติไว้เสียเลยใน ป.พ.พ. ม. 1604 ว. 2 ว่า ถ้าเด็กคลอดมาภายในสามร้อยสิบวันหลังเจ้ามรดกตาย ก็ให้ถือว่า เด็กนั้นได้อยู่ในครรภ์มารดา ณ เวลาที่เจ้ามรดกตาย ตามหลักวิทยาศาสตร์ที่ว่า ทารกสามารถอยู่ในครรภ์มารดาได้ไม่เกินสามร้อยสิบวัน[19]
อย่างไรก็ดี ธรรมชาติเป็นสิ่งลี้ลับ ก็อาจมีได้ที่ทารกอยู่ในครรภ์มารดาตอนเจ้ามรดกตาย และมารดาก็อุ้มท้องนานกว่าสามร้อยสิบวัน ในกรณีเช่นนี้ ผู้เกี่ยวข้องสามารถกล่าวอ้างและนำสืบเพื่อพิสูจน์ได้ ไม่มีกฎหมายห้าม แต่จะฟังขึ้นหรือไม่ มีเหตุผลหรือไม่ ประการใด ศาลย่อมใช้ดุลพินิจเอง[19]
ส่วนนิติบุคคลนั้น จะเป็นทายาท (ประเภทผู้รับพินัยกรรม) ได้ ก็ต้องมีสภาพบุคคลอยู่ในเวลาที่เจ้ามรดกตายเช่นกัน กล่าวคือ ได้ตั้งนิติบุคคลถูกต้องตามกฎหมาย และเมื่อเจ้ามรดกตาย นิติบุคคลนั้นยังไม่สิ้นสุดลง มิฉะนั้น ข้อกำหนดพินัยกรรมเกี่ยวกับนิติบุคคลจะไร้ผลไป[19] และด้วยนัยนี้ เมื่อพินัยกรรมสั่งตั้งมูลนิธิซึ่งเป็นนิติบุคคลประเภทหนึ่ง ป.พ.พ. ม. 1678 จึงรับรองไว้เป็นพิเศษว่า ให้ทรัพย์มรดกตามพินัยกรรมเป็นของมูลนิธิดังกล่าวได้ (มูลนิธิตั้งตามพินัยกรรม จึงไม่มีสภาพบุคคลอยู่ในเวลาที่เจ้ามรดกตาย)[19]
เชิงอรรถ
แก้ไข- ↑ ราชบัณฑิตยสถาน; 2551, 7 กุมภาพันธ์: ออนไลน์.
- ↑ 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 2.5 เพรียบ หุตางกูร; 2552, ธันวาคม: 29.
- ↑ 3.0 3.1 3.2 เพรียบ หุตางกูร; 2552, ธันวาคม: 30.
- ↑ เพรียบ หุตางกูร; 2552, ธันวาคม: 31.
- ↑ 5.0 5.1 เพรียบ หุตางกูร; 2552, ธันวาคม: 38.
- ↑ เพรียบ หุตางกูร; 2552, ธันวาคม: 37-38.
- ↑ 7.0 7.1 7.2 เพรียบ หุตางกูร; 2552, ธันวาคม: 40.
- ↑ 8.0 8.1 เพรียบ หุตางกูร; 2552, ธันวาคม: 39.
- ↑ 9.0 9.1 9.2 เพรียบ หุตางกูร; 2552, ธันวาคม: 25.
- ↑ 10.0 10.1 เพรียบ หุตางกูร; 2552, ธันวาคม: 27.
- ↑ เพรียบ หุตางกูร; 2552, ธันวาคม: 27-28.
- ↑ 12.0 12.1 เพรียบ หุตางกูร; 2552, ธันวาคม: 28.
- ↑ เพรียบ หุตางกูร; 2552, ธันวาคม: 25-26.
- ↑ 14.0 14.1 14.2 เพรียบ หุตางกูร; 2552, ธันวาคม: 26.
- ↑ เพรียบ หุตางกูร; 2552, ธันวาคม: 28-29.
- ↑ 16.0 16.1 เพรียบ หุตางกูร; 2552, ธันวาคม: 41.
- ↑ 17.0 17.1 17.2 17.3 17.4 17.5 เพรียบ หุตางกูร; 2552, ธันวาคม: 42.
- ↑ เพรียบ หุตางกูร; 2552, ธันวาคม: 42-43.
- ↑ 19.0 19.1 19.2 19.3 19.4 เพรียบ หุตางกูร; 2552, ธันวาคม: 43.
ขึ้น | การเสียสิทธิรับมรดก → |