การออกแบบสื่อ สำหรับเด็กที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน
สื่อเป็นสิ่งสำคัญในการเรียนรู้ที่จะทำให้เด็กสามารถเข้าใจเนื้อหา เกิดการเรียนรู้ และสามารถสร้างองค์ความรู้ได้ ซึ่งสื่อมีหลากหลายประเภท กระทรวงศึกษาธิการได้กำหนดประเภทสื่อและเทคโนโลยีทางการศึกษาสำหรับคนพิการออกเป็น 4 ประเภทหลัก คือ สื่อสิ่งพิมพ์ สื่ออิเล็กทรอนิกส์ สื่อวัสดุอุปกรณ์ และสื่อประสม ในการจัดการกิจกรรมการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์สำหรับเด็กที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน ก็พบว่าสื่อและเทคโนโลยีมีความสำคัญต่อการเรียนรู้ของเด็กที่มีความบกพร่องทางการได้ยินเป็นอย่างมาก ช่วยให้การเรียนการสอนมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้นักเรียนเกิดทักษะจากการลงมือทำกิจกรรมที่มีความหลากหลาย กระตุ้นให้เกิดความอยากรู้อยากเห็น เอื้อให้เด็กเกิดการเรียนรู้ ดังนั้นการออกแบบสื่อ ให้สอดคล้องกับสภาพปัญหาของเด็กที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน ซึ่งในประเทศไทยนั้นเด็กที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน ยังมีปัญหาในเรื่องของการอ่าน นักเรียนหูหนวกมักอ่านหนังสือไม่ออกหรือไม่เข้าใจความหมายของสิ่งที่อ่านอย่างลึกซึ้งโดยเฉพาะคำที่เป็นนามธรรม อีกทั้งมีข้อจำกัดในการรับรู้ความหมายของคำ กลุ่มคำในบริบทของข้อความ บางครั้งข้อความ 4 บรรทัด นักเรียนจะรู้แค่ความหมายของคำหรือกลุ่มคำเดียว ไม่เข้าใจบริบททั้งหมดของข้อความ หนังสือแบบเรียนที่มีแต่ตัวหนังสือก็ทำให้นักเรียนขาดความสนใจ เนื่องจากอ่านหนังสือไม่ออก (ศูนย์เทคโนโลยีทางการศึกษา สำนักบริหารงานการศึกษานอกโรงเรียน สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ, 2550 )