การสร้างแผนที่นำทาง

การสร้างแผนที่นำทาง (roadmap) - เป็นวิธีหนึ่งของการมองอนาคต การสร้างแผนที่นำทาง (roadmap) โดยเฉพาะอย่างยิ่งแผนที่นำทางเทคโนโลยี (technology roadmap) เป็นเทคนิคในด้านการมองอนาคตที่มีประสิทธิภาพสูงในการสนับสนุนการมองอนาคตเพื่อวางแผนภายในองค์กร อุตสาหกรรมหรือประเทศ รวมถึงการจัดการเทคโนโลยีเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติที่ชัดเจน การสร้างแผนที่นำทางเป็นวิธีที่ถูกนำมาใช้อย่างกว้างขวางในอุตสาหกรรม และในระยะหลังแผนที่นำทางถูกนำมาใช้เพื่อสนับสนุนโครงการคาดการณ์อนาคตทั้งในระดับชาติและระดับภาคธุรกิจอุตสาหกรรม ยกตัวอย่างเช่น


แผนที่นำทางเทคโนโลยีระดับชาติของเกาหลี แผนที่นำทางเทคโนโลยีของสมาคมอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ (SIA) (Kostoff and Schaller, 2001) แผนที่นำทางเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมอลูมินั่ม และแผนที่นำทางเทคโนโลยีสำหรับยานพาหนะขนส่งทางบก แผนที่นำทางสามารถสนับสนุนเป้าหมายที่แตกต่างหลากหลายทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน ซึ่งรวมถึงการวางแผนผลิตภัณฑ์ การสำรวจโอกาสใหม่ๆ การจัดสรรและการบริหารจัดการทรัพยากร การปรับปรุงกลยุทธ์ทางธุรกิจ จนถึงการวางแผนและนโยบายสาธารณะ นอกจากนี้ แต่ละองค์กรยังมีความแตกต่าง ในแง่ของบริบทที่เฉพาะเจาะจง วัฒนธรรมองค์กร กระบวนการทางธุรกิจ ทรัพยากรที่หาได้ รูปแบบเทคโนโลยี ฯลฯ ด้วยเหตุนี้ การสร้างแผนที่นำทางจะให้ประโยชน์สูงสุดก็ต่อเมื่อมีการปรับแต่งแนวทางให้เหมาะสมกับการใช้งานที่เฉพาะเจาะจงนั้นๆ


สำหรับแผนที่นำทางเทคโนโลยีนั้น มีอยู่หลายรูปแบบ แต่วิธีที่ใช้กันอย่างแพร่หลายที่สุดย่อรวมอยู่ในรูปแบบทั่วไปที่เสนอโดย EIRMA (1997) (ดูภาพที่ 1) แผนที่เทคโนโลยีทั่วไปอยู่ในรูปแบบแผนภูมิที่ใช้เวลาเป็นเกณฑ์ และแบ่งองค์ประกอบเป็นชั้นๆ ซึ่งมักจะรวมถึงทัศนวิสัยเชิงพาณิชย์และเชิงเทคโนโลยี แผนที่รูปแบบนี้เปิดโอกาสให้มีการสำรวจศึกษาวิวัฒนาการของตลาด ผลิตภัณฑ์ และเทคโนโลยี รวมทั้งความสัมพันธ์ระหว่างทัศนวิสัยหลากหลายมุมมอง

แผนที่นำทางแบบหลายระดับชั้นนี้ เป็นรูปแบบที่แพร่หลายและยืดหยุ่นปรับใช้ได้มากที่สุด ประกอบด้วยมิติด้านต่างๆ ดังนี้

  • เวลา: มิติด้านเวลาสามารถปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เฉพาะเจาะจงในแง่ของช่วงเวลา (โดยทั่วไปมักจะแบ่งเป็นช่วงเวลาสั้นๆ สำหรับภาคธุรกิจอย่างเช่น อีคอมเมิร์ส และซอฟต์แวร์ และช่วงเวลาที่ยาวขึ้นสำหรับโครงการใหญ่ เช่น การมองอนาคตโครงการอวกาศ หรือการมองอนาคตโครงสร้างพื้นฐานของระบบรถไฟ) นอกจากนี้ อาจมีการแบ่งเนื้อที่บนแผนที่ไว้สำหรับ “วิสัยทัศน์” และประเด็นสำหรับการพิจารณาในระยะไกลมาก และเนื้อที่สำหรับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยคำนึงถึงการแข่งขันหรือเพื่อชี้ช่องว่างระหว่างตำแหน่งในปัจจุบันกับ “วิสัยทัศน์” นั้นๆ
  • ระดับชั้น: แกนแนวตั้งของแผนที่นำทางมีความสำคัญมาก เนื่องจากจำเป็นต้องออกแบบให้เหมาะสมกับองค์กร และปัญหาที่กำลังจัดการแก้ไข บ่อยครั้งที่ความพยายามส่วนใหญ่ในการสร้างแผนที่นำทางเบื้องต้นพุ่งตรงไปที่การกำหนดระดับชั้นหลัก และระดับชั้นรอง ซึ่งจะกลายเป็นโครงร่างของแผนที่นำทางต่อไป โดยทั่วไปแผนที่นำทางในภาพรวมมักจะมีระดับชั้นสูงสุดเกี่ยวข้องกับ “วัตถุประสงค์” ขององค์กรที่ขับเคลื่อนแผนที่นำทางนั้นๆ ว่าต้องการตอบโจทย์อะไร (“ทราบเหตุผล” หรือ know-why) ระดับชั้นล่างเกี่ยวข้องกับ “ทรัพยากร” (เช่น ความรู้ บุคคลที่มีความเชี่ยวชาญ หรืองบประมาณ) ซึ่งจะถูกนำมาใช้เพื่อตอบสนองอุปสงค์ของระดับชั้นบนในแผนที่ ระดับชั้นกลางของแผนที่เป็นตัวแปรสำคัญ เพราะเป็นส่วนที่สร้างกลไก “เชื่อมโยง” ระหว่างจุดประสงค์และทรัพยากร (“ทราบสิ่งที่ต้องการ” หรือ know-what) บ่อยครั้งที่ระดับชั้นกลางมุ่งเน้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ เนื่องจากเป็นเส้นทางที่เทคโนโลยีถูกนำมาใช้เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดและลูกค้า อย่างไรก็ตาม ในการใช้งานด้านอื่นๆ ระดับชั้นกลางควรจะเน้นไปที่ระบบ ความสามารถ บริการ ความเสี่ยง หรือโอกาส จึงจะเหมาะสมกว่า เพื่อให้ทราบว่ากิจกรรมที่ต้องการทำนั้น จะเกิดประโยชน์ต่อองค์กรหรือผู้มีส่วนร่วมเป็นเจ้าของอย่างไร
  • การให้คำจำกัดความประกอบ: นอกจากข้อมูลในระดับชั้นต่างๆ แล้ว ยังสามารถใส่ข้อมูลอื่นๆ ไว้ด้วย ถ้าเป็นแผนที่นำทางที่ใช้เวลาเป็นเกณฑ์ ข้อมูลประกอบอาจรวมถึง
  1. การเชื่อมโยง ระหว่างวัตถุในระดับชั้นหลักกับระดับชั้นรอง (ที่มีหลากหลายประเภท)
  2. ข้อมูลเสริม เช่น เนื้อหาสำคัญของกลยุทธ์ทางธุรกิจ หรือตัวขับเคลื่อนตลาด บุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาแผนที่และสมมุติฐานต่างๆ
  3. เครื่องมือกราฟิกอื่นๆ เช่น รูป หมายเหตุ รหัสสี เพื่อชี้จุดตัดสินใจที่สำคัญ ช่องว่าง เส้นทางสำคัญ โอกาส และอุปสรรค
  • ขั้นตอน: โดยทั่วไปขั้นตอนต่างๆ ที่จำเป็นสำหรับการร่างแผนที่ชิ้นแรกให้สำเร็จ และการนำขั้นตอนนี้ไปดำเนินการต่อไป หลังจากนั้น มักจะแตกต่างกันไปในองค์กรแต่ละแห่ง (และมักจะแตกต่างกันเองภายในองค์กรเดียวกันด้วย) ขั้นตอนที่เหมาะสมที่สุดขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง เช่น ทรัพยากรที่มีอยู่ (บุคลากร, เวลา, งบประมาณ) ลักษณะของประเด็นที่หยิบยกมาพิจารณา (วัตถุประสงค์และขอบเขต) ข้อมูลที่หาได้ (ตลาดและเทคโนโลยี) ขั้นตอนอื่นๆ และวิธีการจัดการที่เกี่ยวข้อง (กลยุทธ์ การจัดสรรงบประมาณ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ การจัดการโครงการ และการวิจัยตลาด
  • การวางแผนและกรรมสิทธิ์: เป็นข้อพิจารณาที่สำคัญที่สุดในการปรับแผนที่ และขั้นตอนการสร้างแผนที่ให้เหมาะสมกับองค์กรที่เฉพาะเจาะจง เพื่อชี้ให้เห็นเป้าหมายทางธุรกิจและกระบวนการอย่างชัดเจน และเพื่อพิจารณาให้ถี่ถ้วนว่ากระบวนการสร้างแผนที่ทั่วไปช่วยให้องค์กรบรรลุตามวัตถุประสงค์เหล่านั้นได้อย่างไร โดยคำนึงถึงสถานการณ์และบริบทที่เฉพาะเจาะจง นอกจากนี้ การถือกรรมสิทธิ์ (ownership) แผนที่นำทางก็เป็นเรื่องที่สำคัญมาก ในเบื้องต้นแผนที่เป็นของบุคคลคนเดียวที่ได้รับมอบหมายหรือกลุ่มบุคคล (คณะกรรมการ หรือคณะทำงาน) จากนั้นจึงเป็นของบุคลากรที่มีส่วนร่วมในการสร้างแผนที่ ท้ายที่สุด กรรมสิทธิ์ขยายวงกว้างขึ้นจนองค์กรกลายเป็นเจ้าของแผนที่ ซึ่งถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือสื่อสารประเภทหนึ่ง วิธีที่ได้ประโยชน์มากที่สุด คือ การมอบหมายให้บุคคลหนึ่งคน ซึ่งควรเป็นผู้เชี่ยวชาญในการสร้างแผนที่ มาเป็นผู้จัดการกระบวนการและอำนวยความสะดวกในการจัดประชุมกลุ่มเชิงปฏิบัติการ การปรับคุณสมบัติของแผนที่ให้สอดคล้องกับเป้าหมายและบริบททางธุรกิจตั้งแต่ขั้นตอนการวางแผนเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง เพื่อนำไปสู่การพัฒนาโครงสร้างแผนที่และกระบวนการทำงานที่มีคุณภาพต่อไป

หลังจากที่องค์กรได้พัฒนาแผนที่นำทางเทคโนโลยีแล้วการที่จะสามารถใช้แผนที่นำทางให้ได้ประโยชน์สูงสุดองค์กรควรคำนึงถึงเสมอว่าแผนที่นำทางนี้ ควรปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอย่างสม่ำเสมอเมื่อมีเหตุที่ต้องปรับปรุง เช่น เมื่อมีแนวโน้มในตลาดใหม่ๆ นโยบาย หรือเหตุการณ์ต่างๆที่ คาดว่าจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกับองค์กรหรือระบบธุรกิจ สิ่งเหล่านี้ที่ผ่านมาอาจยังไม่ได้รับการคำนึงถึงในแผนที่นำทางอย่างเต็มที่นัก จึงควรมีการหาข่าวและวิเคราะห์ข้อมูลข่าวกรองเกี่ยวกับตลาด (market intelligence) รวมไปถึงการศึกษาเทคโนโลยีใหม่ๆ (emerging technologies) อยู่เสมอ และในช่วงเวลาทุกๆ สามเดือน หรือหกเดือนก็ควรมีกิจกรรม นำเอาแผนที่นำทางที่มีอยู่กับข้อมูลที่ได้มาใหม่มาใช้ใน การปรับปรุงแผนที่นำทางให้มีความคล่องตัวและเหมาะสมกับสภาพความเป็นจริงยิ่งขึ้นต่อไป