การบริหารราชการแผ่นดิน/การจัดระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน

ความหมายของการจัดระเบียบบริหาราชการแผ่นดิน

แก้ไข

การจัดระเบียบบริหารราชการแผ่นดินคือการจัดโครงสร้างหน่วยงานราชการและองค์กรภาครัฐ รวมถึงการจัดสรรอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบ เพื่อให้หน่วยงานดำเนินการตามอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ของรัฐ

แนวคิดรูปแบบการจัดระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน

แก้ไข

แนวคิดรูปแบบการจัดระเบียบบริหารราชการแผ่นดินมีอยู่ 3 หลักใหญ่คือ

1.หลักการรวมอำนาจการปกครอง (Centralization) หมายถึงการรวมอำนาจปกครองทั้งหมดไว้ที่รัฐส่วนกลาง คือการบริหารราชการส่วนกลาง อันได้แก่กระทรวง ทบวง กรม เป็นผู้ดำเนินการปกครอง มีลักษณะสำคัญดังนี้

1) มีการรวมอำนาจในการบังคับหน่วยการปกครองต่างๆไว้ที่ส่วนกลาง เพื่อให้ส่วนกลางสามารถใช้อำนาจในการบังคับบัญชาได้อย่างเด็ดขาดและทันต่อสถานการณ์

2) มีการรวมอำนาจในการวินิจฉัยสั่งการไว้ที่ส่วนกลาง เมื่อเกิดปัญหาต้องมีการตัดสินใจ อำนาจในการตัดสินใจวินิจฉัยสั่งการขั้นสุดท้ายจะอยู่ที่ส่วนกลาง หน่วยการปกครองส่วนกลางจะมีอำนาจในการสั่งการครอบคลุมพื้นที่ทั้งประเทศ

3) มีการรวมอำนาจในการบังคับบัญชาไว้ที่ส่วนกลาง

2.หลักการแบ่งอำนาจการปกครอง (Deconcentralization) คือการที่ราชการบริหารส่วนกลางแบ่งอำนาจหน้าที่ที่เป็นของราชการบริหารส่วนกลางบางส่วนให้กับราชการบริหารส่วนภูมิภาค แต่เจ้าหน้าที่ การแต่งตั้งโยกย้าย การบังคับบัญชายังเป็นของราชการบริหารส่วนกลางอยู่ โดยมีลักษณะสำคัญดังนี้

1) มีการแบ่งอำนาจที่เป็นของราชการบริหารส่วนกลางบางส่วน

2) อำนาจในการสั่งการ ควบคุมบังคับบัญชา ยังเป็นของราชการบริหารส่วนกลาง

3.หลักการกระจายอำนาจการปกครอง (Decentralization) คือการมอบอำนาจการบริหารราชการแผ่นดิน โดยมอบอำนาจทั้งในด้านการเมืองและบริหารให้กับราชการบริหารส่วนท้องถิ่น โดยมีลักษณะสำคัญดังนี้

1) มีการแยกหน่วยการปกครองเป็นนิติบุคคลต่างหากจากราชการบริหารส่วนกลาง มีความเป็นอิสระในการกำหนดนโยบาย การบริหารงาน การจัดทำบริการสาธารณะและจัดทำงบประมาณ มีเจ้าหน้าที่ของตนเอง

2) ผู้บริหารมาจากการเลือกตั้ง

3) มีความเป็นอิสระในการดำเนินงาน ราชการบริหารส่วนกลางมีเพียงอำนาจในการกำกับมิให้มีการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

การจัดระเบียบบริหารราชการแผ่นดินตาม พ.ร.บ. ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534

แก้ไข

การจัดระเบียบบริหารราชการแผ่นดินของไทยเป็นไปตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 มีสาระสำคัญดังนี้คือ

1.มาตรา 4 ให้จัดระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน ดังนี้

1)ระเบียบบริหารราชการส่วนกลาง

2)ระเบียบบริหารราชการส่วนภูมิภาค

3) ระเบียบบริหารราชการส่วนท้องถิ่น

2. การจัดระเบียบบริหารราชการส่วนกลาง ได้บัญญัติในมาตรา 7 โดยให้แบ่งส่วนราชการ ดังนี้

1)สำนักนายกรัฐมนตรี

2)กระทรวง หรือทบวงซึ่งมีฐานะเทียบเท่ากระทรวง

3) ทบวง ซึ่งสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรีหรือกระทรวง

4) กรม หรือส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นและมีฐานะเป็นกรม ซึ่งสังกัดหรือไม่สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวง หรือทบวง โดยให้สำนักนายกรัฐมนตรีมีฐานะเป็นกระทรวงและส่วนราชการทั้งสี่มีฐานะเป็นนิติบุคคล

3.การบริหารราชการส่วนกลางให้นายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้ารัฐบาลมีอำนาจหน้าที่ตามมาตรา 11 ดังนี้

1) กำกับโดยทั่วไปซึ่งการบริหารราชการแผ่นดิน เพื่อการนี้จะสั่งให้ราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาค และส่วนราชการซึ่งมีหน้าที่ควบคุมราชการส่วนท้องถิ่น ชี้แจง แสดงความคิดเห็น ทำรายงานเกี่ยวกับการปฏิบัติราชการ ในกรณีจำเป็นจะยับยั้งการปฏิบัติราชการใด ๆ ที่ขัดต่อนโยบายหรือมติของคณะรัฐมนตรีก็ได้และมีอำนาจสั่งสอบสวนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการปฏิบัติราชการของราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาค และราชการส่วนท้องถิ่น

2) มอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรีกำกับการบริหารราชการของกระทรวง หรือทบวงหนึ่งหรือหลายกระทรวงหรือทบวง

3) บังคับบัญชาข้าราชการฝ่ายบริหารทุกตำแหน่งซึ่งสังกัดกระทรวง ทบวง กรม และส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเป็นกรม

4) สั่งให้ข้าราชการซึ่งสังกัดกระทรวง ทบวง กรมหนึ่งมาปฏิบัติราชการสำนักนายกรัฐมนตรี โดยจะให้ขาดจากอัตราเงินเดือนทางสังกัดเดิมหรือไม่ก็ได้ ในกรณีที่ให้ขาดจากอัตราเงินเดือนทางสังกัดเดิม ให้ได้รับเงินเดือนในสำนักนายกรัฐมนตรีในระดับ และขั้นที่ไม่สูงกว่าเดิม

5) แต่งตั้งข้าราชการซึ่งสังกัดกระทรวง ทบวง กรมหนึ่งไปดำรงตำแหน่งของอีกกระทรวง ทบวง กรมหนึ่ง โดยให้ได้รับเงินเดือนจากกระทรวง ทบวง กรมเดิม ในกรณีเช่นว่านี้ให้ข้าราชการซึ่งได้รับแต่งตั้งมีฐานะเสมือนเป็นข้าราชการสังกัดกระทรวง ทบวง กรม ซึ่งตนมาดำรง ตำแหน่งนั้นทุกประการ แต่ถ้าเป็นการแต่งตั้งข้าราชการตั้งแต่ตำแหน่งอธิบดีหรือเทียบเท่าขึ้นไป ต้องได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี

6) แต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิเป็นประธานที่ปรึกษา ที่ปรึกษาหรือคณะที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี หรือเป็นคณะกรรมการเพื่อปฏิบัติราชการใด ๆ และกำหนดอัตราเบี้ยประชุมหรือค่าตอบแทนให้แก่ผู้ซึ่งได้รับแต่งตั้ง

7) แต่งตั้งข้าราชการการเมืองให้ปฏิบัติราชการในสำนักนายกรัฐมนตรี

8) วางระเบียบปฏิบัติราชการ เพื่อให้การบริหารราชการแผ่นดินเป็นไปโดยรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ เท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับพระราชบัญญัตินี้หรือกฎหมายอื่น

9) ดำเนินการอื่น ๆ ในการปฏิบัติตามนโยบาย

นอกจากนี้ มาตรา 12 ได้บัญญัติ ให้ในกรณีที่นายกรัฐมนตรีเป็นผู้บังคับบัญชาส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นและมีฐานะเป็นกรม แต่มิได้สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรีหรือทบวง นายกรัฐมนตรีจะมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีปฏิบัติราชการแทนก็ได้

4.ให้การจัดระเบียบบริหารราชการส่วนภูมิภาค มาตรา 51 ดังนี้

1)จังหวัด

2)อำเภอ

ในระดับจังหวัด มาตรา 54 ได้บัญญัติให้มีผู้ว่าราชการจังหวัดคนเป็นผู้รับนโยบายและคำสั่งจากนายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้ารัฐบาล คณะรัฐมนตรี กระทรวง ทบวง กรม มาปฏิบัติการให้เหมาะสมกับท้องที่และประชาชน และเป็นหัวหน้าบังคับบัญชาข้าราชการฝ่ายบริหาร ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ในราชการส่วนภูมิภาคในเขตจังหวัด และรับผิดชอบในราชการจังหวัดและอำเภอ

มาตรา 55 ได้บัญญัติให้มีปลัดจังหวัดและหัวหน้าส่วนราชการประจำจังหวัดซึ่งกระทรวง ทบวง กรมต่าง ๆ ส่งมาประจำทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยเหลือผู้ว่าราชการจังหวัด และมีอำนาจบังคับบัญชาข้าราชการฝ่ายบริหารส่วนภูมิภาคซึ่งสังกัดกระทรวง ทบวง กรมนั้น ในจังหวัดนั้น

มาตรา 62 ให้มีนายอำเภอเป็นหัวหน้าปกครองบังคับบัญชาบรรดาข้าราชการในอำเภอ และรับผิดชอบงานบริหารราชการของอำเภอ

5.การจัดระเบียบบริหารราชการส่วนท้องถิ่นตามมาตรา 70 ให้มีการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น ดังนี้

1)องค์การบริหารส่วนจังหวัด

2)เทศบาล

3)องค์การบริหารส่วนตำบล

4) ราชการส่วนท้องถิ่นอื่นตามที่มีกฎหมายกำหนด ซึ่งในปัจจุบันมีอยู่ 2 รูปแบบคือ กรุงเทพมหานคร ตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2528และเมืองพัทยาตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา พ.ศ. 2542

ข้อมูลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

แก้ไข

ที่มา: ส่วนวิจัยและพัฒนาระบบ รูปแบบและโครงสร้าง, สำนักพัฒนาระบบ รูปแบบและโครงสร้าง กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (9 มิถุนายน 2557)

หนังสืออ่านประกอบ

แก้ไข

ธันยวัฒน์ รัตนสัค, (2555), การบริหารราชการไทย,เชียงใหม่ : คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

มานิตย์ จุมปา, (2548), คำอธิบายกฎหมายปกครองว่าด้วยการจัดระเบียบราชการบริหาร,กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 และที่แก้ไขเพิ่มเติม