การทำสมาธิ ไม่ต้องคอยให้ใจสงบ สามารถทำได้ทุกที่ ทุกเวลา แต่ถ้าต้องการความต่อเนื่องยาวนาน และให้ได้ผลการปฏิบัติที่ดีนั้น มีหลักการเบื้องต้นและขั้นตอนดังนี้

  1. บริโภคน้ำอาหารมิให้อิ่มไป หิวไป ถ่ายท้อง แปรงฟัน อาบน้ำ เช็ดตัว ให้เรียบร้อย เตรียมร่างกายให้สะอาด นุ่งชุดที่ไม่คับตัว ผ้าเบาๆ สบายๆ
  2. หามุมสงบ ไม่เสียงดัง ไม่อึกทึก ไม่มีการรบกวนจากภายนอกได้ง่าย มีอุณหภูมิพอดี ๆ ที่นั่งที่รู้สึกสบายกับเรา เช่น อายุมากเข่าไม่ดีอาจนั่งบนเก้าอี้ก็ได้
  3. นั่งขาขวาทับขาซ้าย มือขวาทับมือซ้าย หรือวางมือตามสะดวกที่อื่นๆ จะเป็นที่หน้าตักก็ได้ บนเข่าก็ได้ ถ้าบนเข่าอาจหงายหรือคว่ำมือก็ได้
  4. หลับตาเบาๆ ให้ขนตาชนกัน แต่อย่าเม้มตา
  5. ขยับท่าทางให้รู้สึกว่าสบาย สังเกตตัวเองว่ามีการเกร็งไหม ถ้ามีขยับผ่อนคลายความรู้สึกไม่ให้เกร็ง
  6. ทำใจให้โล่ง โปร่ง เบา สบาย ปล่อยวางสิ่งต่างๆ ในใจ ละปริโพธ หรือความกังวลต่าง ๆ ชั่วคราว อาจตั้งกำหนดเวลาในใจ ว่าจะอุทิศให้เวลาระหว่างนี้แก่การภาวนา ทำใจให้มีความสุขเพราะแค่เราอยากมีความสุข จิตเราก็จะมีความสุขทันที ทำใจให้สนุกกับการปฏิบัติธรรม
  7. เมื่อสบายดีแล้ว ให้ภาวนาในใจ จะใช้ความรู้สึกจับกับลมหายใจ หายใจเข้าสั้นก็รู้ หายใจออกสั้นก็รู้ หายใจเข้ายาวก็รู้ หายใจออกยาวก็รู้ โดยไม่ต้องใช้คำบริกรรมก็ได้ จะใช้คำบริกรรมว่า ว่า พุท เมื่อหายใจออกให้กำหนดว่า โธ ก็ได้ หรือจะใช้คำบริกรรมอื่นๆ เช่น นับ 1,2,3 .. ไปเรื่อยๆ เมื่อหายใจเข้าออกครั้งหนึ่ง หรือ นะมะ-พะธะ ก็ได้เช่นกัน (วิธีการเหล่านี้ เป็นวิธีการของโบราณจารย์)
  8. ในระหว่างการปฏิบัติธรรม อาจจะมีเรื่องฟุ้งซ่านเข้ามาเป็นระยะ อย่าสนใจ ถ้าจิตวอกแวกจนสนใจเรื่องอื่น เมื่อได้สติ ให้เริ่มภาวนาใหม่
  9. อาจรู้สึกเมื่อย คัน ปวด ให้อดทน ถ้าทนไม่ไหวให้เปลี่ยนอิริยาบถแก้ เช่นเกาที่คัน แต่ให้ทำอย่างมีสติ เช่น ภาวนาว่า เมื่อยหนอๆ คันหนอๆ เกาหนอๆ ซึ่งถ้าจะลุกมาเดินจงกรมจนกว่าจะหายเวทนาก็ได้
  10. เมื่อใจเริ่มสงบดีแล้ว จิตกำลังผ่านขณิกสมาธิ กำลังย่างเข้าอุปจารสมาธิ อาจจะมีความรู้สึกแปลกๆ มีอาการต่างๆกันไปตามสภาวะจิต ของแต่ละคน เช่นตัวหมุน ตัวเบา สั่น ขนลุกและอื่นๆ ก็ให้วางเฉยไปตั้งใจภาวนาเรื่อยๆ
  11. เมื่อจิตเป็นสมาธิมากขึ้น คำภาวนาจะหายไป ให้กำหนดสภาวะที่รับรู้ได้เด่นชัดในจิต แล้วให้จิตไปจับไว้แทน เช่น ลมหายใจ
  12. เมื่อจิตมีสมาธิกล้าขึ้นจิตจะนิ่งสงบเหมือนผิวน้ำที่ไร้คลื่น จิตจะกำหนดอะไรเป็นองค์ภาวนาไม่ได้ชั่วคราว เราอาจจะตกใจว่าไม่มีอะไรให้กำหนดได้อาจหลุดจากสมาธิ ให้พิจารณาว่า สภาวะที่กำหนดอะไรมิได้ เป็น ธรรมชาติ คือเป็นความจริงให้กำหนดความจริงนี้แทน
  13. เมื่อทรงอารมณ์ไว้ได้อุคคหนิมิตจะเกิดขึ้น เหมือนน้ำนิ่งจะเห็นก้นสระ จิตจะเห็นภาพสัญญาที่เก็บในภวังคจิต (จิตใต้สำนึก) คือ อารมณ์ภาวนาที่กำหนดไว้ชัดขึ้นในจิต
  14. เมื่อใจนิ่งได้ระดับนึง จะเริ่มเห็นความสว่างจากภายใน เป็นการเห็นด้วยใจ ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น อันให้เกิดความเชื่อทางพุทธศาสนาต่างๆ เช่น เห็นสิ่งลี้ลับ กายทิพย์ต่างๆ หรือมีภาพ ให้เห็นเป็นเรื่องราวต่างๆ เช่นในอดีต หรือชาติที่แล้วมา หรือเหตุการณ์ในอนาคต ให้ทำใจเฉยๆอย่างเดียว หากมีข้อสงสัย หรือมีคำถาม มีสิ่งผิดปกติอะไรก็ช่าง ก็ให้บอกตัวเองว่า คิดไปเอง เพราะเราไม่อาจทราบได้ว่านิมิตรนั้นจริงเท็จเพียงใด จงอย่าสนใจให้ทำสมาธิต่อไป เพราะแม้จะจริงก็จะทำให้เราล่าช้า ถ้าไม่จริงอาจทำเราเป็นมิจฉาทิฏฐิ หรือ อาจเสียสติได้ ถ้าคุมจิตมิได้ก็ให้แผ่เมตตาแก่เจ้ากรรมนายเวร
  15. เมื่อจิตเข้าสู่อัปปนาสมาธิจะเห็นปฏิภาคนิมิตร แต่ถ้ากำหนดอานาปานสติ และวิปัสสนา จะเห็นขันธ์ 5 เกิดดับขึ้น ให้ระวังวิปัสสนูปกิเลส ถ้าผ่านไปได้ก็จะทำลายวิปลาสต่างๆ และบรรลุฌาน (ถ้าเน้นสมถกรรมฐาน) หรือญาน (ถ้าเน้นวิปัสสนา) ตามลำดับ

ข้อแนะนำ คือ ต้องทำให้สม่ำเสมอเป็นประจำ ทำเรื่อยๆ อย่างสบายๆ ไม่เร่ง ไม่บังคับ ทำได้แค่ไหนให้พอใจแค่นั้น ซึ่งเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดความอยากจนเกินไป จนถึงกับทำให้ใจต้องสูญเสียความเป็นกลาง

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้ไข