คำจำกัดความ

แก้ไข

ในแง่อุปกรณ์ทางการแพทย์

แก้ไข

กายอุปกรณ์ หมายถึง อุปกรณ์ทางการแพทย์ต่างๆที่ใช้กับร่างกาย

ในความหมายที่ใช้โดยทั่วไปในปัจจุบัน มักจะหมายถึงอุปกรณ์ที่ใช้กับร่างกายเพื่อช่วยเหลือการเคลื่อนไหว เช่น แขนเทียม ขาเทียม อุปกรณ์ประคองหรือดามหลัง อุปกรณ์ดามมือ เป็นต้น แต่แท้จริงแล้วขอบเขตของกายอุปกรณ์ ยังรวมไปถึงอุปกรณ์อื่นๆที่ใช้กับร่างกายด้วย เช่น ลูกตาเทียม (Eye prosthesis) ข้อเข่าเทียมที่ใช้สำหรับผ่าตัดทดแทนเข่าเดิมในผู้ป่วยข้อเข่าเสื่อม (Knee prosthesis) เป็นต้น และอุปกรณ์ช่วยเหลือการเคลื่อนไหวต่างๆ เช่น รถล้อเข็น (Wheelchair) ไม้เท้า (Cane) ไม้ค้ำยัน (Crutches) เป็นต้น

ในแง่กลุ่มงาน

แก้ไข

นอกจากจะใช้เรียกอุปกรณ์แล้ว กายอุปกรณ์ยังถูกใช้เป็นชื่อของกลุ่มงานอีกด้วย โดยกลุ่มงานกายอุปกรณ์ ทำหน้าที่ผลิต ประดิษฐ์ ดัดแปลง แก้ไข ซ่อมแซม กายอุปกรณ์ประเภทที่ช่วยเหลือการเคลื่อนไหวของร่างกายให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย งานกายอุปกรณ์ต้องอาศัยทักษะฝีมือ ความเชี่ยวชาญชำนาญเฉพาะบุคคลค่อนข้างสูง ร่วมกับความรู้ความเข้าใจในเรื่องวัสดุศาสตร์ และเรื่องวิทยาศาสตร์การแพทย์ด้านกายวิภาคประยุกต์ ด้านชีวกลศาสตร์และการเคลื่อนไหวประยุกต์ด้วย

ในทางการแพทย์จัดให้กลุ่มงานกายอุปกรณ์เป็นส่วนหนึ่งงานเวชกรรมฟื้นฟู

การเรียกชื่อในภาษาอังกฤษ

แก้ไข

ในสหรัฐฯ เรียกกายอุปกรณ์ที่เป็นอุปรณ์ว่า Orthosis and Prosthesis (ตัวย่อว่า O&P) แต่ในประเทศไทยและยุโรปนิยมเรียกว่า Prosthesis and Orthosis (ตัวย่อ PO)

อนึ่งคำว่า Prosthesis อาจเขียนว่า Prostheses ก็ได้ และคำว่า Orthosis ก็อาจเขียนว่า Orthoses ได้เช่นกัน

ส่วนคำว่า งานกายอุปกรณ์ ใช้ว่า Prosthetics and Orthotics (ตัวย่อ PO) หรือ Orthotics and Prosthetics (ตัวย่อ O&P) ก็ได้เช่นกัน

คำจำกัดความตามมาตรฐานสากล

แก้ไข

องค์กรมาตรฐานระหว่างประเทศ (ISO) ให้คำจำกัดความคำว่า Prosthesis และ Orthosis ไว้ในข้อกำหนดมาตรฐานเรื่องกายอุปกรณ์สำหรับขาว่า

  • Prosthesis; Prosthetic device: Externally applied device used to replace wholly, or in part, an absent or deficient limb segment. (จากข้อ 2.1.1 ใน ISO 8549-1 : 1989)
  • Orthosis; Orthotic device: Externally applied device used to modify the structural and functional characteristics of the neuro-muscular and skeletal systems. (จากข้อ 2.1.2 ใน ISO 8549-1 : 1989)


บุคลากรด้านกายอุปกรณ์

แก้ไข

บุคลากรที่ทำหน้าที่ผลิตและดัดแปลงซ่อมแซมกายอุปกรณ์ มีชื่อเรียกในทางราชการว่า ช่างกายอุปกรณ์ (PO technician) ซึ่งใช้เรียกผู้ที่สำเร็จการศึกษาระดับอนุปริญญา และใช้คำว่า นักกายอุปกรณ์ (Prosthetist/Orthotist)หากสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาขึ้นไป

เหตุเพราะในอดีต หลักสูตรด้านกายอุปกรณ์ในประเทศไทยเหมือนกับอีกหลายๆหลักสูตร เช่น พยาบาล(เทคนิค), ครู (ประกาศนียบัตรชั้นสูง) เป็นต้นคือ ไม่มีการจัดเป็นหลักสูตรปริญญา แต่ในปัจจุบันมีการเรียนการสอนในหลักสูตรระดับปริญญาตรี

ปัจจุบันในหลายๆประเทศ เช่น ญี่ปุ่น ปัจจุบันยังมีหลักสูตรกายอุปกรณ์ทั้งระดับปริญญา (เรียน 4 ปี) และระดับอนุปริญญา (เรียน3 ปี) เช่นกัน

หากเป็นการผลิตกายอุปกรณ์เสริมสำหรับมือ และอุปกรณ์ช่วยเหลือการเคลื่อนไหวของมือ มักเป็นหน้าที่ของ นักกิจกรรมบำบัด (Occupational therapist หรือ OT)

นอกเหนือไปจากนี้ ผู้ที่ทำหน้าที่สั่งการรักษาและตรวจสอบกายอุปกรณ์กับผู้ป่วยคือ แพทย์ ซึ่งมักเป็น แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู หรือ ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์


การจำแนกประเภท

แก้ไข

การแบ่งประเภท

แก้ไข

แบ่งออกได้เป็น

  1. กายอุปกรณ์เทียม (prosthesis)
  2. กายอุปกรณ์เสริม (orthosis)

คำจำกัดความเพิ่มเติม

แก้ไข
  • กายอุปกรณ์เทียม คืออุปกรณ์ต่างๆที่นำมาจากภายนอก(ร่างกาย) ซึ่งใช้ทดแทนอวัยวะหรือชิ้นส่วนของอวัยวะที่ขาดหายไป เช่น ขาเทียม แขนเทียม นิ้วมือเทียม เป็นต้น
    • ในทางกายอุปกรณ์สำหรับแขนขา หมายถึง อุปกรณ์ใดๆก็ตามภายนอกร่างกาย ที่นำมาทดแทนส่วนของระยางค์(แขน-ขา)ทั้งหมดหรือบางส่วนซึ่งไม่เคยมีอยู่เลยหรือขาดหายไป
  • กายอุปกรณ์เสริม คือ กายอุปกรณ์ต่างๆที่ใช้เพื่อเสริมการทำหน้าที่ของอวัยวะที่มีปัญหาในการทำงาน (เช่น อ่อนแรง, เจ็บปวด, เสื่อมสมรรถภาพ เป็นต้น) อาจเรียกชื่อสามัญว่า อุปกรณ์เสริม, อุปกรณ์ดาม หรือที่ประคอง (Splint หรือ Brace) ก็ได้
    • ในทางกายอุปกรณ์สำหรับแขนขา หมายถึง อุปกรณ์ใดๆก็ตามภายนอกร่างกาย ที่นำมาดัดแปลงลักษณะโครงสร้างหรือการทำหน้าที่ของระบบประสาท-กล้ามเนื้อและระบบค้ำจุนร่างกาย(กระดูก-กล้ามเนื้อ)ของร่างกาย
    • เมื่อดูจากคำจำกัดความตาม ISO อุปกรณ์ช่วยเหลือการเคลื่อนไหว (Mobility aids) ชนิดต่างๆ เช่น รถล้อเข็น (Wheelchair), ไม้เท้า (Cane), ไม้ค้ำยัน (Crutches) ก็จัดได้ว่าเป็นกายอุปกรณ์เสริมชนิดหนึ่งเช่นกัน แต่ตามปรกติในทางปฏิบัติ มักไม่ถูกรวมอยู่ในกายอุปกรณ์เสริม มักจัดเป็นอีกกลุ่มซึ่งแยกออกมา


กายอุปกรณ์เทียมในงานกายอุปกรณ์

แก้ไข

การแบ่งประเภท

แก้ไข

แบ่งออกตามอวัยวะได้แก่

  1. กายอุปกรณ์สำหรับระยางค์ล่าง หรือเรียกง่ายๆว่า ขาเทียม
  2. กายอุปกรณ์เทียมสำหรับระยางค์บน หรือเรียกแบบง่ายว่า แขนเทียม
    • หมายเหตุ
      • ระยางค์ล่าง (Lower extremity) หมายถึง ขา (ตั้งแต่ปลายนิ้วเท้าจนถึงข้อสะโพก) และกระดูกเชิงกราน (ทำหน้าที่เป็นโครงให้ขายึดกับแกนกลางร่างกายที่กระดูกสันหลัง)
      • ระยางค์บน (Upper extremity) หมายถึง แขน (ตั้งแต่ปลายนิ้วมือจนถึงข้อไหล่) กระดูกไหปลาร้าและกระดูกสะบัก (ทำหน้าที่เป็นโครงให้ขายึดกับแกนกลางร่างกายที่กระดูกซี่โครง)

การเรียกชื่อชนิดต่างๆของแขนเทียมและขาเทียม

แก้ไข

สามารถทำได้ 2 แบบคือ

  • เรียกตามตำแหน่งที่ระยางค์ล่างโดนตัด แบ่งได้เป็น (จากด้านล่างขึ้นมาด้านบน)
  1. สำหรับระยางค์ล่าง แบ่งได้เป็น
    1. กายอุปกรณ์เทียมทดแทนนิ้วเท้า (Toe prosthesis)
    2. กายอุปกรณ์เทียมทดแทนบางส่วนของเท้า (Partial foot prosthesis)
    3. ขาเทียมสำหรับผู้ถูกตัดขาผ่านข้อเท้า (Ankle disarticulation(AD) prosthesis)
    4. ขาเทียมสำหรับผู้ถูกตัดขาผ่านกระดูกหน้าแข้ง (Transtibial(TT) prosthesis)
    5. ขาเทียมสำหรับผู้ถูกตัดขาผ่านข้อเข่า (Knee disarticulation(KD) prosthesis)
    6. ขาเทียมสำหรับผู้ถูกตัดขาผ่านกระดูกต้นขา (Transfemoral(TF) prosthesis)
    7. ขาเทียมสำหรับผู้ถูกตัดขาผ่านข้อสะโพก (Hip disarticulation(HD) prosthesis)
    8. ขาเทียมสำหรับผู้ถูกตัดขาและเอากระดูกเชิงกรานออกไปด้วย 1 ข้าง(Hemipelvectomy prosthesis)
  2. สำหรับระยางค์บน แบ่งได้เป็น
    1. กายอุปกรณ์เทียมทดแทนนิ้วมือ (Finger prosthesis)
    2. กายอุปกรณ์เทียมทดแทนบางส่วนของมือ (Partial hand prosthesis)
    3. แขนเทียมสำหรับผู้ถูกตัดขาผ่านข้อมือ (Wrist disarticulation(WD) prosthesis)
    4. แขนเทียมสำหรับผู้ถูกตัดขาผ่านกระดูกปลายแขน (Transradial(TR) prosthesis)
    5. แขนเทียมสำหรับผู้ถูกตัดขาผ่านข้อศอก (Elbow disarticulation(ED) prosthesis)
    6. แขนเทียมสำหรับผู้ถูกตัดขาผ่านกระดูกต้นแขน (Transhumeral(TH) prosthesis)
    7. แขนเทียมสำหรับผู้ถูกตัดขาผ่านกระดูกต้นแขนที่คอกระดูกต้นแขน (Humeral-neck amputation prosthesis)
    8. แขนเทียมสำหรับผู้ถูกตัดขาผ่านข้อไหล่ ("True" shoulder disarticulation prosthesis)
    9. แขนเทียมสำหรับผู้ถูกตัดแขนร่วมกับเอากระดูกสะบักและกระดูกไหปลาร้าออกไปด้วย 1 ข้าง(Forequater amputation prosthesis)
  • เรียกโดยอ้างอิงจากตำแหน่งของข้อต่อ เป็นการแบ่งง่ายๆและเป็นระบบเดิมที่นิยมใช้กันมา ได้แก่
  1. ขาเทียม มักใช้ข้อเข่าเป็นจุดอ้างอิง โดย
    1. ใช้ ขาเทียมระดับใต้เข่า (Below-knee(BK) prosthesis) แทน ขาเทียมสำหรับผู้ถูกตัดขาผ่านกระดูกหน้าแข้ง
    2. ใช้ ขาเทียมระดับข้อเข่า (Through-knee(TK) prosthesis) แทน ขาเทียมสำหรับผู้ถูกตัดขาผ่านข้อเข่า
    3. ใช้ ขาเทียมระดับเหนือเข่า (Above-knee(AK) prosthesis) แทน ขาเทียมสำหรับผู้ถูกตัดขาผ่านกระดูกต้นขา
  2. แขนเทียม มักใช้ข้อศอกเป็นจุดอ้างอิง โดย
    1. ใช้ แขนเทียมระดับใต้ศอก (Below-elbow(BE) prosthesis) แทน ขาเทียมสำหรับผู้ถูกตัดขาผ่านกระดูกปลายแขน
    2. ใช้ แขนเทียมระดับข้อศอก (Through-elbow(TE) prosthesis) แทน ขาเทียมสำหรับผู้ถูกตัดขาผ่านข้อศอก
    3. ใช้ แขนเทียมระดับเหนือศอก (Above-elbow(AE) prosthesis) แทน ขาเทียมสำหรับผู้ถูกตัดขาผ่านกระดูกต้นแขน
    • นอกจากนี้ สำหรับแขนเทียม ยังสามารถแบ่งตามคุณสมบัติได้แก่
      • ประเภทสวยงาม (Cosmetic type) ประเภทนี้ไม่สามารถเคลื่อนไหวมือเทียม/ข้อมือ/ข้อศอก/ข้อไหล่ได้
      • ประเภทใช้งานได้ (Functional type) สามารถเคลื่อนไหวส่วนต่างๆของแขนเทียมได้ตามความต้องการของผู้พิการ โดยยังสามารถแบ่งลงไปได้ตามประเภทของการควบคุมการเคลื่อนไหวเป็น
        • ควบคุมโดยการใช้การเคลื่อนไหวของร่างกาย (Body controlled)
        • ควบคุมโดยใช้พลังงานภายนอก (External-power controlled) ซึ่งควบคุมการจ่ายไฟฟ้าด้วยปุ่มสวิตช์กด (Switch controlled) หรือ ตัวรับสัญญาณไฟฟ้าในกล้ามเนื้อ (Myoelectric)


กายอุปกรณ์เสริม

แก้ไข

หน้าที่

แก้ไข

เช่น

  1. จำกัดการเคลื่อนไหวของอวัยวะ
  2. ช่วยให้มีการเคลื่อนไหวของอวัยวะ
  3. บรรเทาอาการเจ็บปวด
  4. ช่วยส่งเสริมให้กระดูกที่หักติดเป็นปรกติ
  5. ป้องกันภาวะแทรกซ้อนต่างๆ เช่น ข้อเคลื่อนหลุด เอ็นฉีกขาด เป็นต้น

การแบ่งประเภท

แก้ไข

มักแบ่งประเภทใหญ่ๆตามอวัยวะที่ใช้เป็น 4 ประเภทได้แก่

  1. กายอุปกรณ์สำหรับศีรษะ (Head orthosis)
  2. กายอุปกรณ์สำหรับกระดูกสันหลัง (Spinal orthosis)
  3. กายอุปกรณ์สำหรับระยางค์บน (Upper-extremity orthosis) (รวมถึงมือและนิ้ว)
  4. กายอุปกรณ์สำหรับระยางค์ล่าง (Lower-extremity orthosis) รวมถึงกายอุปกรณ์เสริมสำหรับเท้า (Foot orthosis) และการดัดแปลงรองเท้า (Shoe modification) อีกด้วย
  5. อุปกรณ์ช่วยเหลือการเคลื่อนไหว(Mobility aids) (บางตำราไม่จัดว่าเป็นกายอุปกรณ์เสริม)

การเรียกชื่อ

แก้ไข
  • การเรียกชื่อสำหรับกายอุปกรณ์เสริมแต่ละชนิด สามารถเรียกชื่อได้หลายแบบตามแต่ละระบบมาตรฐานทางการแพทย์ โดยแบ่งเป็นกลุ่มตามข้อด่อที่กายอุปกรณ์เสริมพาดผ่าน เช่น
    • กายอุปกรณ์เสริมสำหรับมือ-ข้อมือ (Wrist-hand orthosis: WHO)
    • กายอุปกรณ์เสริมสำหรับเท้า-ข้อเท้า (Ankle-foot orthosis: AFO)
    • กายอุปกรณ์เสริมสำหรับกระดูกสันหลังส่วนอก-ส่วนหลัง-ส่วนกระเบนเหน็บ (Thoracolumbosacaral spinal orthosis: TLSO) เป็นต้น
  • นอกจากนี้ มักเพิ่มเติมคำอธิบายต่างๆลงในชื่อกายอุปกรณ์เสริมแต่ละชนิดเพื่อให้จำเพาะเจาะจงไปมากกว่านี้ เช่น
    • คำบ่งหน้าที่การทำงาน เช่น ป้องกันการเหยียด (Extension-stopped), ช่วยการงอ (Flexion-assisted)
    • คำบ่งตำแหน่ง"ด้าน"ที่อยู่บนร่างกาย เช่น ด้านหลังมือ (Dorsal), ด้านฝ่ามือ (Volar) เป็นต้น
  • อาจเรียกตามชื่อสามัญ ซึ่งเป็นชื่อเดิมที่มีมาก่อนจะจัดระบบ เช่น
    • อุปกรณ์เสริมชนิดจีเว็ตต์ เบรซ (Jewette brace)
    • อุปกรณ์เสริมชนิดไนท์เบรซ (Knight brace)
    • ยูนิเวอร์ซัล คัฟฟ์ (Universal cuff) เป็นต้น

อุปกรณ์ช่วยเหลือการเคลื่อนไหว(Mobility aids)

แก้ไข

หากยึดตามคำจำกัดความของ ISO อุปกรณ์ช่วยเหลือการเคลื่อนไหวต่างๆ จัดว่าเป็นกายอุปกรณ์เสริมชนิดหนึ่ง แต่ในทางปฏิบัติมักแยกออกจากกายอุปกรณ์เสริมเป็นอีกกลุ่มหนึ่ง

  • ตัวอย่างอุปกรณ์ช่วยเหลือการเคลื่อนไหว ได้แก่
  1. ไม้เท้า (Cane)เช่น
    1. ไม้เท้าขาเดียว (Single cane)
    2. ไม้เท้าสามขา (Tripod cane)
  2. ไม้ค้ำยัน (Crutches) เช่น
    1. ไม้ค้ำยันรักแร้ (Axillary crutches)
    2. ไม้ค้ำยันปลายแขน (Forearm crutches)
  3. ที่ช่วยเดิน หรือวอล์กเกอร์ (Walkerette or Walker) เช่น
    1. ที่ช่วยเดินชนิดไม่มีล้อ (Walker)
    2. ที่ช่วยเดินชนิดมีล้อ (Wheeled walker)
      1. ใช้ด้านหน้าของร่างกาย (Anterior wheeled walker)
      2. ใช้ด้านหลังของร่างกาย (Posterior wheeled walker)
  4. เก้าอี้ล้อเข็น (Wheelchair) เช่น
    1. เก้าอี้ล้อเข็นมือหมุน (Manual wheelchair)
      1. เก้าอี้ล้อเข็นมือหมุนใช้งานทั่วไป
      2. เก้าอี้ล้อเข็นมือหมุนใช้งานพิเศษ (เช่น สำหรับใช้แข่งขันกีฬา เป็นต้น)
    2. เก้าอี้ล้อเข็นไฟฟ้า (Electric wheelchair)
  5. อื่นๆ (Others) เช่น เครื่องปรับยืน (Tiltable) ฯลฯ

ดูเพิ่ม

แก้ไข