กฎหมายว่าด้วยธงของประเทศจีน
ประเทศจีนถือเป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม เศรษฐกิจ และสังคม ซึ่งกำหนดให้ธงชาติสาธารณรัฐประชาชนจีนเปรียบเสมือนศักดิ์ศรีและจิตวิญญาณ มีการบัญญัติเรื่องของธงชาติไว้ในหมวด 4 มาตรา 114 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน และพึงตรากฎหมายเป็นการเฉพาะว่าด้วยธงชาติของสาธารณรัฐประชาชนจีนประกาศใช้เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2533
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง
แก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน
แก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ประกาศใช้เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2525 อธิบายถึงลักษณะของธงชาติในหมวด 4 – ธงชาติ, เพลงชาติ, ตราแผ่นดิน, และเมืองหลวง มาตรา 144 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน บัญญัติว่า "ธงชาติของสาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นธงสีแดงประกอบด้วยดาวห้าดวง"
กฎหมายว่าด้วยธงชาติแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน
แก้ไขกฎหมายว่าด้วยธงชาติแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ประกาศใช้เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2533 ตามรัฐกฤษฎีกาสาธารณรัฐประชาชนจีน ฉบับที่ 28 และสภาประชาชนแห่งชาติ ชุดที่ 7 รับรองกฎหมายฉบับนี้ไว้ในการประชุมสภาครั้งที่ 4
กฎหมายฉบับนี้มีการแก้ไขเพิ่มเติมในสาระสำคัญของเนื้อหาเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2563 สภาประชาชนแห่งชาติ ชุดที่ 13 รับรองกฎหมายฉบับแก้ไขเพิ่มเติมไว้ในการประชุมครั้งที่ 7
รายละเอียดของกฎหมาย
แก้ไขกฎหมายว่าด้วยธงชาติแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนจักอธิบายเป็นหัวข้อ ดังต่อไปนี้
บททั่วไป
แก้ไขกฎหมายฉบับนี้ตราขึ้นเพื่อธำรงไว้ซึ่งเกียรติภูมิของธงชาติ กำหนดระเบียบการปฏิบัติต่อธงชาติ เสริมภูมิของพลเรือนว่าด้วยเรื่องของรัฐ ส่งเสริมจิตวิญญาณในความหวงแหนในชาติ และปลูกฝังและปฏิบัติตามค่านิยมสังคมนิยมหลัก (มาตรา 1 ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม)
ธงชาติสาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นธงสีแดงประกอบด้วยดาวห้าดวง ซึ่งธงชาติสาธารณรัฐประชาชนจีนจักต้องผลิตตามแนวทางว่าด้วยการผลิตแบบธงชาติของสภากลางในการประชุมใหญ่สมัยแรกของการประชุมฝ่ายการเมืองประชาชนจีน (มาตรา 2)
ธงชาติสาธารณรัฐประชาชนจีนธำรงไว้ในฐานะสัญลักษณ์และเป็นศูนย์รวมจิตใจของสาธารณรัฐประชาชนจีน พลเมืองและองค์การทั้งหมด จักต้องเคารพและพิทักษ์ธงชาติ (มาตรา 4)
การแสดงธงชาติ
แก้ไขสถานที่และหน่วยราชการของรัฐต่อไปนี้ จักต้องแสดงธงชาติในทุกวันราชการ (มาตรา 5)
- จัตุรัสเทียนอันเหมินและซินหัวเหมินที่กรุงปักกิ่ง
- คณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน, คณะกรรมาธิการสามัญประจำสภาประชาชนแห่งชาติ, สภาแห่งรัฐ, คณะกรรมาธิการการทหารกลาง, คณะกรรมาธิการกลางเพื่อการตรวจสอบวินัยแห่งพรรคคอมมิวนิสต์จีน, คณะกรรมาธิการตรวจสอบแห่งชาติ, ศาลประชาชนสูงสุด, และอัยการประชาชนสูงสุด คณะกรรมาธิการปรึกษาฝ่ายการเมืองแห่งชาติประชาชนจีน (มาตรา 5 ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม)
- กระทรวงการต่างประเทศ
- ท่าอากาศยาน ท่าเรือ สถานีรถไฟ และท่าเรือทั้งหมดที่เป็นท่าเทียบเข้าและชายแดนหรือแนวป้องกันชายฝั่ง
สถานที่และหน่วยราชการของรัฐต่อไปนี้ สามารถแสดงธงชาติในทุกวันราชการ (มาตรา 6)
- หน่วยราชการภายใต้คณะกรรมการกลางพรรคหรือคณะกรรมการพรรคในท้องถิ่น
- หน่วยราชการภายใต้สภาแห่งรัฐ
- หน่วยราชการภายใต้คณะกรรมาธิการสามัญประจำสภาประชาชนในท้องถิ่น
- องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่ง
- คณะกรรมาธิการตรวจสอบกลางของพรรคคอมมิวนิสต์จีนและคณะกรรมาธิการในท้องถิ่น
- ศาลประชาชนในท้องถิ่นและศาลชำนัญพิเศษ
- อัยการประชาชนในท้องถิ่นและอัยการชำนัญพิเศษ
- คณะกรรมาธิการปรึกษาฝ่ายการเมืองทุกแห่ง
- พรรคการเมืองฝ่ายประชาธิบไตยและองค์การประชาชนทุกแห่ง
- หน่วยราชการทุกแห่งของรัฐบาลประชาชนกลางในเขตบริหารพิเศษฮ่องกง และหน่วยราชการของรัฐบาลประชาชนกลางในเขตบริหารพิเศษมาเก๊า
โรงเรียนจักต้องแสดงธงชาติในทุกวัน เว้นแต่ปิดภาคการศึกษาในช่วงฤดูหนาว ฤดูร้อน และวันหยุด โรงเรียนอนุบาลที่มีข้อจำกัดในการแสดงธงชาติให้ปฏิบัติตามระเบียบที่กำหนดไว้ของโรงเรียน (มาตรา 6)
สถานที่อเนกประสงค์เกี่ยวกับวัฒนธรรมและกีฬาในสาธารณะ เช่น ห้องสมุด พิพิธภัณฑ์ ศูนย์การเรียนรู้ทางวัฒนธรรม หอศิลป์ พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอนุสรณ์สถาน หอนิทรรศการ โรงยิม และศูนย์นันทนาการสำหรับเยาวชน ให้แสดงและชักธงชาติเวลาเปิดทำการ (มาตรา 6)
ธงชาติสามารถประดับได้เมื่อถึงวันสำคัญ ดังนี้ วันชาติ วันแรงงานสากล วันปีใหม่ เทศกาลฤดูใบไม้ผลิ วันรัฐธรรมนูญ และวันหยุดราชการและวันครบรอบปีสำคัญในทุกระดับของหน่วยราชการ องค์การของประชาชน จัตุรัสมหาสถาน สวนสาธารณะ และสนามกีฬาต่าง ๆ รวมถึงรัฐวิสาหกิจ คณะกรรมการชุมชน คณะกรรมการหมู่บ้าน และที่พักอาศัยขนาดเหมาะสม (มาตรา 7)
เขตปกครองตนเองชาติพันธุ์จักแสดงธงชาติในวันครบรอบสถาปนาเขตปกครองตนเองชาติพันธุ์นั้นและวันหยุดสำคัญตามประเพณีของชาติพันธุ์ (มาตรา 7)
พิธีสาบานตนต่อรัฐธรรมนูญให้มีการแสดงธงชาติ ณ สถานที่ประกอบพิธีนั้น (มาตรา 7)
งานเฉลิมฉลองที่สำคัญ งานรำลึก มหกรรมทางวัฒนธรรมและกีฬา และงานนิทรรศการขนาดเหมาะสม จะแสดงธงชาติย่อมกระทำได้ (มาตรา 8)
รัฐพึงสนับสนุนประชาชนและองค์การในการแสดงธงชาติและการประดับธงชาติในโอกาสที่เหมาะสมเพื่อให้มีความหวงแหนในชาติ (มาตรา 9)
ประชาชนและองค์การประสงค์ออกแบบการประดับธงชาติในออนไลน์ ให้ถือปฏิบัติตามข้อกำหนดการจัดการทางเน็ตเวิร์ก และจักต้องไม่กระทำเป็นการลบหลู่เกียรติภูมิของชาติ (มาตรา 9)
การประดับธงชาติสำหรับออนไลน์ให้ถือการออกแบบที่เผยแพร่บนเว็บไซต์รัฐบาลจีนและเว็บไซต์สภาประชาชนแห่งชาติ (มาตรา 9)
ในกรณีตามบัญญัติไว้ตามมาตรา 5, 6, และ 7 ให้มีการชักธงชาติ โดยให้ชักธงขึ้นสู่ยอดเสาในตอนเช้าและชักธงลงจากยอดเสาในตอนเย็น (มาตรา 13)
ในกรณีอื่นเกิดมีเหตุสุดวิสัยในการชักธงชาติ เนื่องด้วยสภาพอากาศอันเลวร้ายอาจงดการชักธงโดยอนุโลม (มาตรา 13)
เมื่อมีการชักธงชาติ สามารถกระทำการพิธีเชิญธงได้ ต้องคำนึงถึงเกียรติศักดิ์ของชาติ เมื่อกระทำพิธีเชิญธงชาติให้มีการบรรเลงและขับร้องเพลงชาติ ในระหว่างพิธีเชิญธง ประชาชนผู้ร่วมพิธีพึงหันหน้าเข้าหาธงโดยให้มีการปฏิบัติและการเคารพตามระเบียบที่เกี่ยวข้อง และห้ามกระทำการใดไปในทางเสื่อมเสียเป็นการลบหลู่เกียรติศักดิ์ของธงชาติ พิธีเชิญธงชาติจัดให้มีในทุกวันที่จัตุรัสเทียนอันเหมินในกรุงปักกิ่ง เว้นแต่วันหยุดราชการให้มีพิธีเชิญธงที่โรงเรียนพึงกระทำสัปดาห์ละครั้ง (มาตรา 14)
หน่วยราชการจำเพาะ
แก้ไขให้กระทรวงการต่างประเทศจัดให้มีระเบียบในการใช้ การชัก และการแสดงธงในกิจการทางการทูตและสถานทูต สถานกงสุล และสถานทำการผู้แทนทางการทูตประจำการในต่างประเทศ (มาตรา 10)
ให้คณะกรรมาธิการทหารกลางจัดให้มีระเบียบว่าด้วยการแสดงธงชาติของกองทัพปลดปล่อยประชาชนจีนและกองกำลังตำรวจแห่งชาติ (มาตรา 11)
ให้กระทรวงคมนาคมภายใต้สภาแห่งรัฐจัดให้มีระเบียบการใช้ และการแสดงธงชาติบนเรือพลเรือนและเรือต่างชาติในพื้นที่น่านน้ำจีน (มาตรา 12)
ให้กระทรวงความมั่นคงสาธารณะภายใต้สภาแห่งรัฐจัดให้มีระเบียบการใช้ และการแสดงธงชาติบนเรือตรวจการณ์ในภารกิจทางเรือบริเวณเข้าหรือออกในพื้นที่น่านน้ำ การจัดการในพื้นที่ชายแดน และงานบริหารความมั่นคงสาธารณะ (มาตรา 12)
ให้กระทรวงจัดการสภาวะฉุกเฉินภายใต้สภาแห่งรัฐจัดให้มีระเบียบการแสดงธงชาติบนเรือกู้ภัยของหน่วยดับเพลิงกู้ภัยครบวงจรแห่งชาติ (มาตรา 12)
บรรณานุกรม
แก้ไข- The five-star red flag - The national flag of The People's Republic of China, Beijing: Morning Glory Publishers, 1997.